รางวัลพูลิตเซอร์
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
รางวัลพูลิตเซอร์ | |
---|---|
ด้านหน้าและด้านหลังเหรียญทองของรางวัลพูลิตเซอร์ สาขาบริการสาธารณะ ออกแบบโดยแดเนียล เชสเตอร์ เฟรนช์ เมื่อ พ.ศ. 2460 | |
รางวัลสำหรับ | ความเป็นเลิศทางด้านการหนังสือพิมพ์, ความสำเร็จทางวรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี |
ประเทศ | สหรัฐ |
จัดโดย | มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย |
รางวัลแรก | พ.ศ. 2460 |
เว็บไซต์ | pulitzer |
รางวัลพูลิตเซอร์ (อังกฤษ: Pulitzer Prizes, /ˈpʊlɪtsər/)[1] เป็นรางวัลของสหรัฐ ตั้งขึ้นเพื่อมอบแก่ผู้ได้รับเกียรติสูงสุดระดับชาติในวงการสิ่งพิมพ์ การบรรลุความสำเร็จทางวรรณกรรม และการประพันธ์เพลง บริหารจัดการโดยมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนครนิวยอร์ก
รางวัลพูลิตเซอร์จัดมอบเป็นรายปีแบ่งเป็น 21 ประเภท ในแต่ละประเภทผู้ได้รับรางวัลจะได้รับกิตติบัตรและเงินรางวัล 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ[2] ผู้รับรางวัลการหนังสือพิมพ์ในสาขาการบริการสาธารณะจะได้รับเหรียญทองซึ่งมักตกแก่หนังสือพิมพ์มาโดยตลอด แม้จะมีชื่อบุคคลได้รับการกล่าวยกย่องไว้ด้วย
รางวัลพูลิตเซอร์ก่อตั้งโดยโจเซฟ พูลิตเซอร์ นักหนังสือพิมพ์และผู้พิมพ์โฆษณาชาวฮังการี-อเมริกัน ซึ่งได้มอบเงินจำนวน 2 ล้านเหรียญไว้ในพินัยกรรมแก่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียหลังการเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2454 เงินส่วนหนึ่งของกองมรดกนี้ได้ถูกนำไปใช้ในการก่อตั้งสถาบันวิชาการหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2456 ได้มีการมอบรางวัลพูลิตเซอร์รางวัลแรกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2460 ปัจจุบันมีการประกาศรางวัลทุก ๆ เดือนเมษายน การคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลดำเนินการโดยกรรมการอิสระ
ประเภทรางวัล
[แก้]การจัดแบ่งประเภทรางวัลแบ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการหนังสือพิมพ์ ศิลปะ และวรรณกรรมลายลักษณ์ โดยคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ได้รับรางวัลจากรายงานการตีพิมพ์และภาพถ่ายของหนังสือพิมพ์รายวัน หรือ องค์การข่าวที่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศสหรัฐฯ เท่านั้น และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นไปจึงจะเริ่มพิจารณาการให้รางวัลจากการทำข่าวในโดยการพิมพ์รูปแบบต่าง ๆ ทุกประเภทที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ยกเว้นประเภทภาพข่าวซึ่งยังคงเข้มงวดตัดสินจากภาพนิ่งบนกระดาษเท่านั้น[3]
ประเภทของรางวัลที่ได้กำหนดนิยามไว้ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2550 มีประเภทตามที่ได้มอบรางวัลไปแล้วมีดังนี้
- บริการสาธารณะ (Public Service)
- รายงานข่าวด่วน (Breaking News Reporting)
- รายงานข่าวสอบสวนสืบสวน (Investigative Reporting)
- รายงานข่าวชี้แจง (Explanatory Reporting)
- รายงานข่าวท้องถิ่น (Local Reporting)
- รายงานข่าวระดับชาติ (National Reporting)
- รายงานข่าวนานาชาติ (International Reporting)
- งานเขียนเรื่องเด่นเฉพาะ (Feature Writing)
- งานวิจารณ์ (Commentary)
- งานวิพากษ์ข่าว (Criticism)
- งานเขียนบทบรรณาธิการ (Editorial Writing)
- งานบรรณาธิการภาพการ์ตูน (Editorial Cartooning)
- ภาพข่าวด่วน (Breaking News Photography)
- ภาพถ่ายหลัก (Feature Photography)
งานวรรณกรรมจดหมายและบทละครแบ่งออกเป็น 6 ประเภทดังนี้
- บันเทิงคดี (Fiction)
- บทละคร (Drama)
- ประวัติศาสตร์ (History)
- ชีวประวัติ หรือ อัตชีวประวัติ (Biography or Autobiography)
- กวีนิพนธ์ (Poetry)
- สารคดีทั่วไป (General Non-Fiction)
สำหรับรางวัลเพื่องานดนตรีมี 1 รางวัลคือ
- รางวัลพูลิตเซอร์สำหรับงานดนตรี
นอกจากนี้ยังมีการประกาศกิตติคุณและการให้รางวัลพิเศษเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการให้ทุนเดินทางแก่นักศึกษาที่โดดเด่นในบัณฑิตวิทยาลัยการหนังสือพิมพ์ที่คณาจารย์เป็นผู้คัดเลือกจำนวน 4 ทุน
รายชื่อผู้ได้รับรางวัล
[แก้]คณะกรรมการตัดสินรางวัลพูลิตเซอร์จะแยกความแตกต่างระหว่าง "ผู้เข้ารับการพิจารณา" กับ "ผู้ได้รับการเสนอชื่อที่เข้ารอบสุดท้าย" ผู้เข้ารับการพิจารณาเป็นเพียงผู้ใดก็ได้[4] ที่ผู้พิมพ์และโฆษณานำงานของบุคคลนั้น ๆ เข้าขอรับการพิจารณาตามกระบวนการขั้นตอนทั่วไปของกรรมการ ซึ่งไม่ถือว่าดีเด่นมาก ส่วน "ผู้ได้รับการเสนอชื่อที่เข้ารอบสุดท้าย" ดังกล่าวที่ถือว่าเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการตัดสินจะได้รับการประกาศชื่อพร้อมกับผู้ได้รับรางวัลตามประเภทนั้น ๆ [5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "FAQ". The Pulitzer Prizes. Columbia University. สืบค้นเมื่อ April 15, 2019.
24. How is 'Pulitzer' pronounced? The correct pronunciation is 'PULL it sir.'
- ↑ Answer to FAQ 13, จากเว็บไซต์ของรางวัลพูลิตเซอร์
- ↑ Pulitzer Board Widens Range of Online Journalism in Entries, จากเว็บไซต์ของรางวัลพูลิตเซอร์
- ↑ Guidelines and Forms, จากเว็บไซต์ของรางวัลพูลิตเซอร์
- ↑ Terminology, จากเว็บไซต์ของรางวัลพูลิตเซอร์