โอลิมปิกฤดูร้อน 1972

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 20
Spiele der XVI. Olympiade
เมืองเจ้าภาพเยอรมนีตะวันตก มิวนิก เยอรมนีตะวันตก
คำขวัญเกมอันชื่นบาน
(เยอรมัน: Glückliche Spiele)
ประเทศเข้าร่วม121 ประเทศ
นักกีฬาเข้าร่วม7,170 (6,075 ชาย 1,059 หญิง)
กีฬา21 ชนิด
พิธีเปิด26 สิงหาคม พ.ศ. 2515
พิธีปิด10 กันยายน พ.ศ. 2515
ประธานพิธีกุสทัฟ ไฮเนอมัน
(ประธานาธิบดีแห่งเยอรมนีตะวันตก)
สนามกีฬาหลักโอลึมเพียชตาดิโยน

มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 20 ประจำปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) จัดขึ้นที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตกในขณะนั้น)

สหภาพโซเวียตมองเห็นช่องทางในการเผยแพร่ลัทธิทางการเมืองของตนโดยอาศัยการแข่งขันโอลิมปิก โดยพยายามที่จะเป็นผู้นำในการแข่งขัน และโน้มน้าวชาติอื่น ๆ ให้เห็นว่าสหภาพโซเวียตเป็นประเทศมหาอำนาจ ภายหลังพบว่านักกีฬาโซเวียตเป็นนักกีฬาอาชีพที่รัฐบาลว่าจ้างให้เข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกครั้งนั้น และยังพบอีกว่านักกีฬาจากสหภาพโซเวียตใช้ยาเสริมกำลัง ในปีนั้นสหภาพโซเวียตสามารถพิชิตเหรียญทองได้ถึง 99 เหรียญ นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์ก่อการร้ายขึ้นในเมืองมิวนิก นับเป็นโศกนาฏกรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์โอลิมปิก

ในการแข่งขันบาสเกตบอลนักกีฬาจากสหรัฐอเมริกาได้พ่ายแพ้แก่นักกีฬาจากสหภาพโซเวียต เป็นการพ่ายแพ้ครั้งแรกจากการแข่งขัน 63 ครั้ง ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ปฏิเสธไม่ขึ้นรับเหรียญเงิน

ในปีนี้นั้นมีนักกีฬาจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการแข่งขันถึง 122 ประเทศ

ชนิดกีฬา[แก้]

195 รายการ 21 ชนิดกีฬา:

กีฬาสาธิต[แก้]

ประเทศที่เข้าร่วมแข่งขัน[แก้]

แผนที่แสดงประเทศที่เข้าร่วมแข่งขัน

สรุปเหรียญการแข่งขัน[แก้]

ตารางสรุปเหรียญรางวัล 10 อันดับแรก

 อันดับ  ประเทศ ทอง เงิน ทองแดง รวม
1 สหภาพโซเวียต 50 27 22 99
2 สหรัฐ 33 31 30 94
3 เยอรมนีตะวันออก 20 23 23 66
4 เยอรมนีตะวันตก (เจ้าภาพ) 13 11 16 40
5 ญี่ปุ่น 13 8 8 29
6 ออสเตรเลีย 8 7 2 17
7 โปแลนด์ 7 5 9 21
8 ฮังการี 6 13 16 35
9 บัลแกเรีย 6 10 5 21
10 อิตาลี 5 3 10 18

เหตุการณ์กันยาทมิฬ[แก้]

ในเวลา 04.30 น. ของวันที่ 5 กันยายน ระหว่างที่มหกรรมการแข่งขันดำเนินอยู่นั้น ได้มีกลุ่มโจรผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด 8 คน จากกลุ่มกันยาทมิฬ พร้อมอาวุธปืนและระเบิดมือ บุกเข้าโจมตีหอพักนักกีฬาชาวอิสราเอลในหมู่บ้านนักกีฬา สังหารนักกีฬาอิสราเอลลงทันที 2 คน แล้วจับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่รวม 9 คน เป็นตัวประกัน เรียกร้องให้อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ 234 คน และอีก 2 คนที่ถูกคุมขังอยู่ที่เยอรมนี แต่รัฐบาลอิสราเอลปฏิเสธ

ท่ามกลางสถานการณ์อันตึงเครียด เวลา 15.30 น. ได้มีการยุติการแข่งขันกีฬาไว้ชั่วคราว หลังจากนั้นกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ขอเครื่องบินเจ็ตเพื่อบินไปลงที่สนามบินกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และขอเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ เพื่อขนตัวประกันกับสมาชิกในกลุ่มไปลงที่สนามบินมิวเซิน ฝ่ายตำรวจเยอรมันจัดให้ และในเวลา 22.30 น. เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ บรรทุกผู้ก่อการร้ายและตัวประกันจากหมู่บ้านโอลิมปิกไปลงยังฐานบินฟูลสเตนเฟลด์บรูก ซึ่งมีเครื่องบินโบอิ้ง 727 จอดรออยู่ โดยที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายคิดว่าที่นั่นเป็นสนามบินเรียม ซึ่งเป็นท่าอากาศยานสากลของมิวเซิน พร้อมเครื่องบินโบอิ้งที่เตรียมไว้ แต่จริง ๆ แล้วเป็นหุ่นจำลอง

เมื่อล่วงมาจนถึงเวลา 00.30 น. ของวันที่ 6 กันยายน ด้วยการไม่ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของอิสราเอล ตำรวจเยอรมันก็ลงมือทันที จากนั้นการยิงต่อสู้กันก็เริ่มขึ้น ผู้ก่อการร้ายได้กราดปืนยิงเร็วและขว้างระเบิดมือซ้ำถล่มเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 2 ลำที่กักตัวประกันไว้ ทำให้ตัวประกันเสียชีวิตทั้งหมด

เวลาประมาณ 01.30 น. การยิงต่อสู้จบลง ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตไป 3 คน ถูกจับ 3 คน ฝ่ายตำรวจเยอรมันเสียชีวิต 1 นาย ส่วนทางฝ่ายอิสราเอลสูญเสียตัวประกันทั้ง 9 คน กับอีก 2 คนที่เสียชีวิตในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายที่บ้านพักนักกีฬา

หลังจากการปะทะกันแล้ว การแข่งขันได้หยุดลงเป็นเวลา 36 ชั่วโมง ได้มีการชักธงครึ่งเสาเพื่อเป็นการไว้อาลัย และนักกีฬาอิสราเอลทั้งหมดเดินทางกลับประเทศทันที แต่การแข่งขันก็ยังคงดำเนินต่อไป[1][2]

อ้างอิง[แก้]

  1. ก่อนจะถึง 'ลอนดอน เกม 2012' เรื่องเล่าจากต่างแดน, หน้า 22 เดลินิวส์: อาทิตย์: 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
  2. มิวนิกโอลิมปิก 1972 รู้ไปโม้ด, โดย น้าชาติ ประชาชื่น ข่าวสด: 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552