สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ)
สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) | |
---|---|
คำนำหน้าชื่อ | เจ้าประคุณ |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2349 (86 ปี) |
มรณภาพ | 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | เปรียญธรรม 9 ประโยค |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดโสมนัสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดโสมนัสราชวรวิหาร เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ |
สมเด็จพระวันรัตน์[1] นามเดิม ทับ ฉายา พุทฺธสิริ (6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2349 — 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434) เป็นสมเด็จพระวันรัตรูปที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระ 10 องค์ผู้เป็นต้นวงศ์ธรรมยุติกนิกาย[2] ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ และเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโสมนัสราชวรวิหาร นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระมหาเถระที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ชอบธุดงค์ และเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง[3]
ประวัติ
[แก้]ชาติกำเนิด
[แก้]สมเด็จพระวันรัตน์ มีนามเดิมว่า ทับ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2349 แรม 10 ค่ำ เดือน 11[1] ในรัชกาลที่ 1 ณ หมู่บ้านสกัดน้ำมันปากคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งตะวันออก ใกล้วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร กรุงเทพมหานคร โยมบิดาชื่ออ่อน ผู้คนนิยมเรียกว่าท่านอาจารย์อ่อน โยมมารดาชื่อคง ท่านเป็นบุตรคนโตในตระกูลนี้ กล่าวกันว่าครอบครัวของท่านเป็นชาวกรุงเก่า แต่เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. 2310 ก็ได้อพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ[3]
การศึกษาขณะเป็นฆราวาส
[แก้]ในรัชกาลที่ 2 เมื่อท่านมีอายุ 9 ขวบ ได้เข้าเรียนอักษรสมัยอยู่ที่วัดภคินีนาถวรวิหาร ต่อมาได้เข้าเรียนภาษาบาลีตามสูตรมูลกัจจายน์ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหารตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้บวช ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพอพระราชหฤทัยในตัวท่านจึงทรงให้อุปการะในการเล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมของท่าน ทรงจัดสอบความรู้ผู้ที่เรียนสูตรเรียนมูลที่วังเนือง ๆ ท่านได้ไปสอบถวาย โปรดประทานรางวัล และทรงเมตตาในตัวท่านแต่นั้นมา[4]
อุปสมบท 7 ครั้ง
[แก้]ท่านได้บรรพชาเมื่ออายุเท่าไรยังไม่ปรากฏหลักฐาน ทราบแต่ว่าท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสังเวชวิศยารามวรวิหาร บางลำพู ครั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสมัยที่ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้โปรดให้ท่านไปอยู่วัดราชโอรสารามราชวรวิหารที่ทรงสร้างขึ้น ให้อยู่เรียนในสำนักของพระโพธิวงศ์ (ขาว) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณไตรโลก ต่อมาเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักพระพุทธโฆษาจารย์ (คง) วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร แต่ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระวินัยมุนี ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระอิสสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎประทับที่พระราชวังเดิม ได้เสด็จไปวัดอรุณฯ อยู่เสมอ จึงรู้จักคุ้นเคยกับท่านมาแต่ครั้งนั้น[4]
ครั้นเมื่ออายุครบอุปสมบทแล้ว คุณโยมของท่านจึงให้ท่านมาอุปสมบทที่วัดเทวราชกุญชรอันเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านเดิม ท่านจึงได้อุปสมบทเมื่อปีจอ พ.ศ. 2369 ที่วัดเทวราชกุญชร โดยมีพระธรรมวิโรจน์ (เรือง) วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระวินัยมุนี (คง) วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์[3]
เมื่อบวชได้ 2 พรรษา ได้อุปสมบทซ้ำตามแบบมอญตามคำแนะนำของเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะผนวช) โดยทรงนิมนต์พระอุดมญาณ วัดชนะสงคราม มาเป็นพระอุปัชฌาย์ และทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ด้วยพระองค์เองได้ฉายาทางธรรมว่า พุทฺธสิริ ภายหลังมีรับสั่งกับพระทับว่าสำเนียงและอักขระของพระองค์อาจไม่ชัดเจนอย่างพระมอญแท้ จึงทรงอนุญาตให้พระทับบวชอีกเป็นครั้งที่ 3 โดยพระอุดมญาณเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมหาเกิด (หรือเกื้อ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วตามเสด็จมาอยู่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร[5]
เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทราบว่ามีพระมอญซึ่งอุปสมบทในกัลยาณีสีมา (เชื่อว่าพระอรหันต์ผูกไว้) ในราชอาณาจักร จึงโปรดให้นิมนต์มา 18 รูป ทำการอุปสมบทพระองค์เองและศิษย์หลวงรวมทั้งพระทับ ณ อุทกุกเขปสีมา (โบสถ์แพ) หน้าวัดราชาธิวาส โดยมีพระสุเมธมุนี (ซาย พุทฺธวํโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ นับเป็นอุปสมบทครั้งที่ 4 แต่ภายหลังท่านสงสัยในพระกรรมวาจารย์ จึงนิมนต์พระมอญมาบวชท่านซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 5 ณ อุทกุกเขปสีมา หน้าวัดปรัก เมืองปทุมธานี
ต่อมาเจ้าฟ้ามงกุฎทรงพระดำริว่าการอุปสมบทที่โบสถ์แพหน้าวัดราชาธิวาสนั้นสวดเฉพาะญัตติจตุตถกรรม ไม่ได้สวดบุพพกิจ ทรงสงสัยว่าการบวชจะไม่ถูกต้อง จึงรับสั่งให้อุปสมบทใหม่ ท่านจึงไปที่วัดดอนกระฎี นิมนต์พระมอญมาบวชให้ท่านอีก ณ โบสถ์แพหน้าวัดนั้น ถือเป็นอุปสมบทครั้งที่ 6
เมื่อท่านไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ได้อธิษฐานปฏิญาณตนเป็นอุปสัมบันภิกษุเฉพาะต่อพระพุทธเจ้า ท่านถือว่าครั้งนี้เป็นอุปสมบทกรรมครั้งที่ 7[6]
การศึกษาขณะเป็นบรรพชิต
[แก้]ขณะอยู่วัดราชาธิวาส ท่านได้ศึกษาในสำนักของพระธรรมวิโรจน์ (เรือง) วัดราชาธิวาส และศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระอาจารย์อาจ พนรัตน ที่วัดไทรทอง (วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร) บ้าง ที่พระมหาเกื้อ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร บ้างเนือง ๆ
เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฏผนวชอยู่ที่วัดมหาธาตุ ได้เสด็จไปวัดราชาธิวาสบ่อยครั้ง และพบท่านบวชอยู่ที่นั่น ด้วยความที่คุ้นเคยกันมาก่อนจึงตรัสชวนให้มาอยู่วัดมหาธาตุ ท่านก็ได้ถวายตัวเป็นศิษย์ เล่าเรียนปริยัติธรรมในสำนักเจ้าฟ้าพระมงกุฎบ้าง ในสำนักพระวิเชียรปรีชา (ภู่) บ้าง นับแต่ที่ท่านบวชได้ 2 พรรษา
เมื่อบวชแปลงแล้วได้เล่าเรียนในสำนักเจ้าฟ้าพระมงกุฎต่อมา และได้ตามเสด็จออกธุดงค์อยู่เสมอ จึงไม่ได้เข้าสอบเปรียญ
ถึงปีวอก พ.ศ. 2379 เมื่อท่านมีพรรษา 11 อายุ 31 ปี ยังเป็นพระอันดับอยู่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอาราธนาเจ้าฟ้าพระมงกุฎไปครองวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และในสมัยนั้นพระสงฆ์วัดราชาธิวาสมีทั้งพระมหานิกายและพระธรรมยุตอยู่ด้วยกัน แต่อธิบดีสงฆ์เป็นมหานิกายจึงได้โปรดให้ท่านอยู่ครองฝ่ายธรรมยุตที่วัดราชาธิวาส ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหารเรียบร้อยแล้ว พระทับเพิ่งกลับจากธุดงค์ จึงโปรดให้ท่านเข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ครั้งแรกท่านแปลได้ถึงเปรียญธรรม 7 ประโยค แล้วท่านไม่แปลต่อ ภายหลังจึงเข้าแปลอีกได้ 2 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค[7]
เป็นเจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร
[แก้]หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวชและขึ้นครองราชย์ในปี 2394 แล้ว พระองค์ได้ทรงสร้างวัดโสมนัสวิหารขึ้น ด้วยพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ได้พระราชทานนามว่า "วัดโสมนัสวิหาร" โดยทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2396 ทรงสร้างเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ในเนื้อที่ 31 ไร่เศษ[3] ครั้งสิ่งก่อสร้างสำเร็จลงบ้าง พอเป็นที่อาศัยอยู่จำพรรษาของภิกษุสามเณรได้บ้างแล้ว ใน พ.ศ. 2399 พระองค์ก็ได้ทรงอาราธนาพระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) จากวัดราชาธิวาส พร้อมด้วยคณะสงฆ์ประมาณ 40 รูป โดยขบวนแห่ทางเรือ ให้มาอยู่ครองวัดโสมนัสวิหาร ท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้ ท่านปกครองวัดโสมนัสวิหารมาจนกระทั่งได้ถึงแก่มรณภาพ
สมณศักดิ์
[แก้]- ในปีใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่หลังจากเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยคแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระอริยมุนี[7]
- พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระพรหมมุนี คัมภีรญาณนายก ตรีปิฎกปัญญาคุณาลังกรณ์ มหาคฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]
- พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายเหนือที่ พระพิมลธรรม มหันตคุณวิบุลยปรีชาญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูษิต อุดรทิศคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[8]
- พ.ศ. 2422 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ที่ สมเด็จพระวันรัตน์ ปริยัติพิพัฒน์พงศ์ วิสุทธิสงฆ์ปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลญาณสุนทร มหาทักษิณคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี[9]
มรณภาพ
[แก้]สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) เริ่มสุขภาพอ่อนแอลงตามอายุขัย จนวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434 อาการเริ่มทรุดหนักลง จนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 12 เวลา 16:10 น. สิริอายุได้ 86 ปี พรรษา 65[8] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปสรงน้ำศพและพระราชทานโกศไม้สิบสองเป็นเกียรติยศ[10] ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2435[11]
ศิษย์ที่สำคัญ
[แก้]- พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี)
- พระธรรมราชานุวัตร (ต่าย วารโณ)
- พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต)
- สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว จนฺทสิริ)
- พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร)
- พระราชพงษ์ปฏิพัทธ (หม่อมราชวงศ์ล้น ญาณวโร)
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์
- พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เดช ฐานจาโร)
- สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง เขมาภิรโต)
- พระธรรมราชานุวัตร (แสง พุทฺธทตฺโต)
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
- พระยาอนุชิตชาญไชย (สาย สิงหเสนี)
- พระยาสิงห์เสนี (สอาด สิงหเสนี)
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 123
- ↑ ประวัติคณะธรรมยุต, หน้า 25-29
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 "ลำดับเจ้าอาวาส ๑.สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)". วัดโสมัสราชวรวิหาร. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2553.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 4.0 4.1 ตำนานสมณศักดิ์ พระวันรัต และ สมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์ สมเด็จพระวันรัตในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์, หน้า 28
- ↑ ประวัติผลงานและรวมธรรโมวาท, หน้า (62)
- ↑ ประวัติผลงานและรวมธรรโมวาท, หน้า (63)
- ↑ 7.0 7.1 7.2 เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 124
- ↑ 8.0 8.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประวัติสมเด็จพระวันรัต, เล่ม 8, ตอน 33, 15 พฤศจิกายน ร.ศ. 110, หน้า 286-7
- ↑ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 125
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวตาย, เล่ม 8, ตอน 32, หน้า 278
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การศพสมเด็จพระวันรัต, เล่ม 8, ตอน 49, 6 มีนาคม 2435, หน้า 437-9
- บรรณานุกรม
- ธนิต อยู่โพธิ์. ตำนานสมณศักดิ์ พระวันรัต และ สมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์ สมเด็จพระวันรัตในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : ศิวพร, 2516. 447 หน้า.
- ประวัติคณะธรรมยุต. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547. 219 หน้า. ISBN 974-399-612-5
- สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริมหาเถร). ประวัติผลงานและรวมธรรโมวาท. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2550. 236 หน้า. ISBN 978-974-399-919-2
- สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3
ก่อนหน้า | สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระวันรัตน์ (สมบุรณ์) | เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ (พ.ศ. 2444) |
สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) | ||
พระพิมลธรรม (ยิ้ม) | เจ้าคณะรองคณะเหนือ (ที่พระพิมลธรรม) (พ.ศ. 2415 — พ.ศ. 2422) |
พระพิมลธรรม (อ้น) |