พระอาจารย์อาจ พนรัตน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระอาจารย์อาจ พนรัตน เป็นพระภิกษุชาวไทย เคยดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพนรัตน ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร แต่ภายหลังถูกถอดจากสมณศักดิ์เนื่องจากมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ

ประวัติ[แก้]

พระอาจารย์อาจ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือนยี่ ตรงกับวันที่ 7/8 มกราคม พ.ศ. 2301 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2302) ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ชีวประวัติในช่วงต้นไม่ปรากฏ ต่อมาได้อุปสมบทและในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ท่านอยู่วัดสระเกศราชวรมหาวิหารมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระพรหมมุนี ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้เลื่อนเป็นพระพิมลธรรม

ต่อมาวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2359 สมเด็จพระพนรัตน (มี) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช[1] ในคราวเดียวกันนี้จึงโปรดให้สถาปนาพระพิมลธรรม (อาจ) เป็นสมเด็จพระพนรัตน ปริยัติวรา วิสุทธิสังฆาปรินายก ตรีปิฎกธราจารย์ สฤทธิขัติยสารสุนทร มหาคณิศร บวรวามะคณะสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี[2] ถึงเดือน 12 มีผู้ฟ้องร้องว่าพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ พระญาณสมโพธิ (เค็ม) วัดนาคกลาง และพระมงคลเทพมุนี (จีน) วัดหน้าพระเมรุ ต้องอาบัติปาราชิกมานานแล้ว เนื่องจากเสพเมถุนจนมีบุตรหลายคน เมื่อไต่สวนพบว่าเป็นจริงก็โปรดให้นำทั้ง 3 คนไปจำคุก แล้วโปรดให้สมเด็จพระสังฆราช (มี) และสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) แต่งหนังสือโอวาทานุสาสนี[ลิงก์เสีย] เกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติอันสมควรแก่สมณะเพื่อคัดแจกจ่ายไปตามพระอารามต่าง ๆ[3]

หลังจากสมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์และรับพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2362 มีพระประสงค์จะสถาปนาสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) เป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงโปรดให้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ ในเดือน 4 ในปีถัดมาเกิดอหิวาตกโรคระบาดหนักจนทำให้การสถาปนาต้องเลื่อนออกไป จนถึงเดือน 11 มีผู้ฟ้องร้องว่าท่านชอบหยอกเอินศิษย์หนุ่มด้วยกิริยาไม่เหมาะสม ท่านรับสารภาพแต่ยืนยันว่าไม่ถึงปาราชิก จึงรับสั่งให้ถอดจากสมณศักดิ์แล้วเนรเทศออกจากพระอารามหลวง[4] ท่านจึงไปอยู่วัดไทรทอง (ปัจจุบันคือวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร)[5] [6]จนกระทั่งมรณภาพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[2]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒ : ๔๒. สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (มี)
  2. 2.0 2.1 เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 64
  3. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒ : ๔๔. เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์
  4. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒ : ๕๙. ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
  5. พระมหาสักชาย นะวันรัมย์. (2551). การศึกษาวิเคราะห์เรื่องบัณเฑาะก์ในกลุ่มพระภิกษุสามเณรไทยในปัจจุบัน. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. พระระพิน พุทฺธิสาโร. (2555). บัณเฑาะก์ในคัมภีร์เถรวาท: กรณีศึกษาปัญหาการบวชในสังคมไทยปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  6. มัลลิกา ภูมะธน, พระปลัดระพิน พุทธิสาโร, ดิเรก ด้วงลอย . พระพุทธศาสนาเถรวาท: สิทธิทางเพศกับการบวชในสังคมไทย. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (2564): มกราคม - เมษายน.[1] หน้า 16-28
บรรณานุกรม
  • ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยา (2459). "พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒". ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  • ธนิต อยู่โพธิ์ตำนานสมณศักดิ์ พระวันรัต และ สมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์ สมเด็จพระวันรัตในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : ศิวพร, 2516. 447 หน้า.
  • สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 63-64. ISBN 974-417-530-3