สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาบันทักษิณคดีศึกษา
ที่ตั้ง
เว็บไซต์/ สถาบันทักษิณคดีศึกษา

สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

ประวัติ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2511 เป็นปีแรกที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้เปิดวิทยาเขตขึ้นที่จังหวัด สงขลา ศาสตราจารย์ สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ซึ่งรับผิดชอบการสอนรายวิชาคติชนวิทยา ของภาควิชา ภาษาไทย ได้นำนิสิตออกเก็บข้อมูลภาคสนามในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2513 ในพื้นที่อำเภอ สทิงพระ และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา การออกเก็บข้อมูล ในครั้งนั้นทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณค่าด้านวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นวัตถุของจริง ข้อมูลมุขปาฐะ สมุดข่อย และข้อมูลอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เห็นถึงความสำคัญของ "วัฒนธรรมพื้นบ้าน" ชัดเจนขึ้น ท่านเล็งเห็นถึงการพัฒนาประเทศ ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีข้อมูลทางด้านวัฒนธรรมเป็นพื้นฐาน ดังนั้นจึงคิดทำ "โครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมภาษา และวัฒนธรรมภาคใต้" ขึ้น และพยายามผลักดันทุกวิถีทางที่จะผนวกเข้าเป็นแผนงานส่วนหนึ่งของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จนกระทั่งได้รับการยอมรับ และได้รับงบประมาณแผ่นดินเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 โดยได้รับงบประมาณจำนวน 4,589,200 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ขึ้นภายในบริเวณมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา (ในขณะนั้น) อาคารดังกล่าวสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนิน เปิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2522 สถาบันทักษิณคดีศึกษาเติบโตและพัฒนามาตามลำดับ แต่โดยเจตนาเดิมที่ต้องการจัดสร้างสถาบันให้เป็นต้นแบบของสถาบัน ทางวัฒนธรรมที่ครบวงจร สามารถนำ "อดีตมารับใช้ปัจจุบัน" ได้อย่าง สมสมัยในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และความมั่นคงของชาติ ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ สถาบันในห้วงเวลาดังกล่าว จึงมีโครงการย้ายที่ตั้งสถาบันจาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้เดิมมาตั้ง ณ บริเวณ บ้าน อ่าวทราย ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และพัฒนา สร้างสรรค์จน เป็นสถาบันทักษิณคดีศึกษาอย่างที่ได้ ประจักษ์ในปัจจุบัน

หลักสูตร[แก้]

ระดับปริญญาเอก[แก้]

  • หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา

ภาระหน้าที่[แก้]

สถาบันทักษิณคดีศึกษามีภาระปฏิบัติในเรื่องราวที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมภาคใต้ที่สำคัญคือ รวบรวมและประมวลข้อมูล ศึกษาวิจัย อนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่และพัฒนาวัฒนธรรม จากภาระงานดังกล่าวจึงมีภาระหน้าที่ดังนี้

  1. งานเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมภาคใต้ทุกลักษณะ ทั้งที่เป็นวัตถุของจริง วรรณกรรม (ทั้งที่เป็นลายลักษณ์ ข้อมูลมุขปาฐะ) เอกสารท้องถิ่น ภาพ เสียง และอื่น ๆ เพื่อประมวลและจัดระบบทางวิชาการ
  2. งานพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา เป็นการจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรมทุกด้าน เช่น ประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ ศาสนา การศึกษา อาชีพ วิถีการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม เป็นต้น
  3. งานทักษิณสนเทศ เป็นงานให้บริการข้อมูลเกี่ยวข้องกับภาคใต้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เอกสารท้องถิ่น วรรณกรรมท้องถิ่น ภาพและเสียง รวมถึงการบริการฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์
  4. งานศึกษาวิจัย เป็นงานวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลในประเด็นสำคัญ ๆ ทางสังคมเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาและพัฒนาภูมิภาค
  5. งานส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนาวัฒนธรรม เป็นการเผยแพร่ผลงานของสถาบันฯ ในรูปแบบต่าง ๆ มีทั้งการจัดแสดง การผลิตสื่อเพื่อการเผยแพร่ การจัดนิทรรศการ การจัดการสัมมนา-อภิปราย การจัดฝึกอบรมและอื่น ๆ ทั้งภายในและนอกสถาบัน
  6. งานหอศิลปกรรมทักษิณ ดำเนินการส่งเสริมเกี่ยวกับงานศิลปกรรมภาคใต้ในรูปแบบหอศิลป์ โดยจัดแสดงงานศิลปะทั้งรูปแบบนิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียน ทั้งที่เป็นงานศิลปะสมัยใหม่และศิลปะพื้นบ้าน
  7. งานบริการทางวิชาการและด้านอื่น ๆ ให้บริการการบรรยายสรุปการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา ชมวีดิทัศน์แนะนำสถาบัน ให้บริการสำเนาข้อมูลทางด้านวัฒนธรรม เช่น ภาพ เสียง วรรณกรรมท้องถิ่น ให้คำปรึกษาทั่วไปเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และเป็นวิทยากรด้านวัฒนธรรมให้หน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังมีงานบริการด้านอื่น ๆ เช่น

- บริการสารสนเทศและฐานข้อมูลพื้นฐานของสถาบันทักษิณดคีศึกษา ข้อมูลเกี่ยวกับภาคใต้ และฐานข้อมูลต่าง ๆ เช่น ฐานข้อมูลเอกสารภาคใต้ ฐานข้อมูลวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ ฐานข้อมูลสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้

- บริการห้องประชุมสัมมนา มีห้องประชุมที่สะดวกสบายหลายขนาดตามความเหมาะสมกับการประชุมไว้เพื่อบริการ ทั้งขนาดประชุมได้ 20 คน 30 คน 100 คน จนถึง 1,500 คน

- บริการสินค้าพื้นเมือง มีร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน เช่น ผลิตภัณฑ์จากปาหนัน ย่านลิเพา หนัง ผ้าทอเกาะยอ ผลิตภัณฑ์จากเปลือกหอย ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผาและเซรามิค เป็นต้น

- บริการห้องพัก มีห้องไว้บริการในลักษณะโรงแรมและรีสอร์ท ห้องมีความสะดวกสบาย ออกแบบตกแต่งอย่างปราณีต ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้

พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา[แก้]

  • เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา

พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา

ตั้งอยู่ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่จัดแสดงข้อมูล เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวใต้และขนบนิยมในท้องถิ่นซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ ตลอดจนประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปหัตถกรรมอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของกลุ่มชนซึ่งอาศัยอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาเริ่มเปิดเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารกลุ่มบ้านหลังคาจั่ว อาคารกลุ่มบ้านหลังคาปั้นหยา อาคารกลุ่มบ้านหลังคาบลานอ ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอสาธิราชสยามบรมราชกุมารพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดอาคารนวมภูมินทร์

การจัดพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา ใช้วัตถุของจริงประมาณ 49,000 ชิ้น นอกจากนี้ยังมี หุ่นจำลอง เสียง ภาพ วีดิทัศน์และมัลติมีเดีย (Multimedia) แสดงประกอบเนื้อหา เป็นแบบนิทรรศการถาวร ในอาคาร 4 กลุ่มดังกล่าวมาแล้วคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 3,300 ตารางเมตร ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวทางทักษิณคดีศึกษาโดยจัดแบ่งเป็นห้อง

อาคารนวมภูมินทร์[แก้]

  • ห้องประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ (History and Ethnology)

จัดแสดงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี อาทิโบราณวัตถุที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น และโบราณวัตถุที่แสดงว่ามีการติดต่อระหว่างคนพื้นเมืองภาคใต้กับกลุ่มชนภายนอก เช่น จีน อินเดีย มลายู อาหรับ และกลุ่มประเทศ ทางตะวันตก เป็นต้น

นอกจากนี้ยังจัดแสดงเกี่ยวกับศูนย์กลางทางวัฒนธรรมอาณาจักรโบราณในภาคใต้ ได้แก่ อาณาจักรตามพรลิงก์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช อาณาจักรลังกาสุกะที่จังหวัดปัตตานี-ยะลา อาณาจักรศรีวิชัยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสทิงปุระ-พัทลุง ที่บริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา ตลอดจนจัดแสดงเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยในภาคใต้ ได้แก่ ชาวเล และชาวซาไกหรือเงาะป่า

อาคารกลุ่มบ้านหลังคาบลานอ[แก้]

  • ห้องกระต่ายขูดมะพร้าว (Coconut Graters)

จัดแสดงเหล็กขูด หรือกระต่ายขูดมะพร้าวรูปทรงต่าง ๆ ซึ่งทำมากจากวัสดุหลายชนิด เช่น ไม้ เหล็ก กระดูกช้าง เป็นต้น ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จะนำเนื้อมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ เช่น เหล็กปอกเปลือกมะพร้าว เหล็กแงะเนื้อมะพร้าว กรามช้าง และตรอง ที่ใช้กรองน้ำกะทิ สำหรับทำอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องดนตรี (ซออู้) เป็นต้น

  • ห้องเครื่องมือช่างไม้และงานศิลปหัตถกรรม (Carpenter's Tools and Handicrafts)

จัดแสดงเครื่องใช้ช่างไม้ ชนิดต่าง ๆ เช่น เลื่อย รางทัด กบไสไม้ เครื่องเจาะ เครื่องกลึง เป็นต้น และงาน หัตถกรรม ได้แก่ งานไม้แกะสลัก ที่ใช้ตกแต่งอาคารและเรือกอและ พิมพ์ทำขนม งานแกะสลัก รูปหนังตะลุง จัดแสดงลวดลาย และขั้นตอน งานจักสาน เสื่อกระจูดและย่านลิเพา นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์จักสานจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ไม่ไผ่ ใยตาล เตย หวาย คล้า คลุ้ม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ให้เห็นถึงภูมิปัญญาและฝีมือ เชิงช่าง ของชาวใต้ในการปรับใช้พืชที่มีในท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์

  • ห้องการศึกษา (Educational Organization in the South)

จัดแสดงเกี่ยวกับการศึกษาตามประเพณีโบราณของชาวใต้ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษา จัดการศึกษาในมณฑลเทศาภิบาลมีการจัดตั้งโรงเรียนประจำมณฑลขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาด้านฝึกหัดครู อาชีวะ และมหาวิทยาลัยตลอดจนการศึกษาของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้

  • ห้องนันทนาการ (Recreation)

จัดแสดงอุปกรณ์ตัวอย่างจำลอง และภาพถ่ายเกี่ยวกับการเล่นและกีฬาในท้องถิ่นภาคใต้ เช่น กรือโต๊ะ บานอ สะบ้า ลูกข่าง ซัดต้ม หมากขุม ซัดราว ชักว่าว ชนวัว ชนแพะ ฟันควาย ตีไก่ เป็นต้น ซึ่งการเล่นและกีฬาบางอย่าง เป็นการแข่งขันเพื่อบันเทิงสนุกสนาน แต่บางอย่างนอกจากเล่นเพื่อความสนุกรื่นเริงแล้วก็ยังเป็นการพนันอีกด้วย

  • ห้องเครื่องประทีป (Lamps for Lighting)

จัดแสดงเกี่ยวกับ เครื่องกำเนิดไฟและเครื่องตามไฟ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการการใช้ไฟให้แสงสว่างของชาวใต้ เช่น เหล็กไฟตบ เหล็กไฟตี และตะเกียงรูปแบบต่าง ๆ เช่น ตะเกียงคางคก ตะเกียงไข่เป็ด ตะเกียงเจ้าพายุ ตะเกียงแสงจันทร์ ตะเกียงกลีบบัว ตะเกียงรั้ว ตะเกียงกล้อง เป็นต้น

  • ห้องเครื่องแก้ว (Glassware)

จัดแสดงเครื่องแก้วที่พบและใช้กันในภาคใต้ มีการใช้แก้วเป็นเครื่องประดับมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ลูกปัด กำไลแก้ว เป็นต้น จัดแสดงภาชนะแก้วชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในครัวเรือน โดยจำแนกตามสี ภาชนะแก้วที่ใช้ใส่เครื่องสำอาง เครื่องหอม ขวดแก้วและขวดโหล หลายรูปแบบตลอดจนทุ่นแก้วอวนทะเล และลูกแก้วซึ่งเป็นของเล่นสำหรับเด็ก

อาคารกลุ่มบ้านหลังคาปั้นหยา[แก้]

  • ห้องวัฒนธรรมโลหะและโลหัช (Metalware)

จัดแสดงเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะ และโลหะผสม เช่น เงิน ตะกั่ว ทองแดง สำริด นาก ทองเหลือง เป็นต้น ซึ่งภาชนะบางชนิดจัดแสดงให้เห็นถึงลักษณะการใช้สอย เช่น ขันหมาก เครื่องเชี่ยน กระบอกขนมจีน เป็นต้น

  • ห้องอิสลามศึกษา (Islam Studies)

จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติพัฒนาการ และการแพร่กระจายของศาสนาอิสลามในภาคใต้ รวมทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวใต้ที่นับถือศาสนาอิสลาม

  • ห้องการละเล่นพื้นเมือง (Folk Plays and Music Instruments)

จัดแสดงเกี่ยวกับการละเล่นและดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ด้วยระบบมัลติมีเดีย (Multimedia) ได้แก่ หนังตะลุง โนรา กาหลอ ลิเกป่า ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีโรงหนังตะลุงจำลอง รูปหนังตะลุง หุ่นแสดงท่ารำโนรา หุ่นนักดนตรีโนรา เครื่องดนตรีพื้นบ้าน และประวัติศิลปินแห่งชาติที่เป็นชาวใต้

  • ห้องเหรียญและเงินตรา (Coins and Currencies)

จัดแสดงพัฒนาการของเหรียญและเงินตราที่ใช้ในประเทศไทย และในภาคใต้ รวมทั้งเหรียญและ เงินตราต่างชาติที่พบในภาคใต้ เช่น เหรียญจีนสมัยราชวงศ์ต่าง ๆ เหรียญเงินตราของชาวชวา มลายู ตลอดจนเหรียญเงินตราของประเทศในยุโรปที่ใช้ในประเทศอาณานิคม เป็นต้น

  • ห้องศาสนา (Religion)

จัดแสดงเกี่ยวกับศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ในภาคใต้ โดยใช้ศาสนวัตถุที่เป็นวัตถุของจริง จำลองภาพเขียนและภาพถ่าย เช่น ฐานศิวลึงค์ ใบเสมา ธรรมาสน์ ภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนัง วัดมัชฌิมาวาสฯ จังหวัดสงขลา วัดชลธาราสิงเห จังหวัดนราธิวาส วัดวัง จังหวัดพัทลุง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนท่านพุทธทาสภิกขุ และท่านปัญญานันทะภิกขุ อีกด้วย

อาคารกลุ่มบ้านหลังคาจั่ว[แก้]

  • อาคารหลังที่ 1 (ห้องที่ 1)

จัดแสดงรูปหล่อสามสมเด็จเพื่อนเกลอ ได้แก่ สมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) สมเด็จเจ้าเกาะยอและสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ และจัดแสดงประเพณีการเกิดแบบโบราณ หมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด การอยู่ไฟ เครื่องใช้ในการบริบาลทารก และการเลี้ยงดูทารก เช่น จัดแสดงหุ่นเด็กหัดเดินโดยใช้กระบอกเวียน

  • อาคารหลังที่ 2 (ห้องที่ 2) )

จัดแสดงการละเล่นของเด็ก โดยใช้หุ่นแสดงการละเล่นของเด็ก ได้แก่ การเล่นซัดราว การเล่นว่าว การเล่นปั้นวัวปั้นควาย นอกจากนี้ยังแสดงของเล่นเด็กพื้นบ้านภาคใต้จากวัตถุจริง เช่น ว่าว ฉับโผง ลูกข่าง เป็นต้น

  • อาคารหลังที่ 3 (ห้องที่ 3)

จัดแสดงการฝากตัวเข้าเรียน ผูกเกลอ การช่วยการ โดยใช้หุ่นแสดงประกอบการนำเด็กไปฝากตนเข้าเรียนกับพระสงฆ์ที่วัด หุ่นการตกลงเป็นเพื่อนเกลอ และหุ่นที่แสดงกิจกรรมช่วยกันทำงานหรือเรียกว่า "ช่วยการ" เช่น การช่วยกันสร้างบ้าน เป็นต้น

  • อาคารหลังที่ 4 (ห้องที่ 4)

จัดแสดงประเพณีการบวช โดยใช้หุ่นจัดแสดงการลาบิดามารดาไปบวช การโกนผม การแห่นาค พิธีบวชภายในอุโบสถ และพระสงค์บวชใหม่ ออกบิณฑบาตร

  • อาคารหลังที่ 5 (ห้องที่ 5, 6, 7)

จัดแสดง 3 เรื่อง ได้แก่ จัดแสดงความเชื่อโชคชะตาราศี และวัฒนธรรมการรักษาพยาบาล โดยจัดหุ่นจำลองการแสดงดูหมอ การรักษาโดยการนวด และห้องแสดงการรักษาพยาบาลแบบโบราณ จัดแสดงการออกปากกินวาน โดยใช้หุ่นแสดงการเตรียมอาหารเพื่อเลี้ยงแขกที่มาช่วยงาน การช่วยกันเก็บข้าวในนา และการเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง นอกจากนี้ยังจัดแสดงประเพณีขึ้นเบญจารดน้ำดำหัว โดยจำลองเรือนยอดเบญจา ท่อน้ำที่แกะสลักเป็นรูปพญานาค และเรือสำหรับใส่น้ำ รวมทั้งเสื้อผ้าสำหรับผลัดเปลี่ยนเมื่ออาบน้ำเสร็จแล้ว โดยแยกเป็น 2 สำรับ ได้แก่ สบงจีวร สำหรับพระสงฆ์ และเสื้อผ้าใหม่สำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน

ลานบนอาคารนวภูมินทร์[แก้]

  • ห้องสงขลาศึกษา (Songkhla Studies)

จัดแสดงข้อมูลที่เกี่ยวกับเมืองสงขลาทั้งที่เป็นวัตถุของจริง เอกสารหรือสื่อที่ให้ความรู้ในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีรวมทั้งสถานที่สำคัญ เช่น แผนที่เมืองสงขลา หัวเขาแดง เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน เมืองสงขลาปัจจุบัน ตลอดจนหุ่นจำลองประตูเมืองสงขลา เป็นตน นอกจากนี้ยังจัดทำบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองสงขลา และรวบรวมประวัติบุคคลชาวเมืองสงขลาที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอีกด้วย

  • ห้องวรรณกรรมท้องถิ่น (Local Literature)

จัดแสดงวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ประเภทลายลักษณ์ ได้แก่ หนังสือบุดหรือสมุดข่อย และสมุดใบลาน นอกจากนี้ ได้จัดแสดงวรรณกรรมท้องถิ่นที่ปริวรรตแล้ว และเปิดบริการข้อมูลให้แก่บุคคลภายนอกเข้าศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับวรรณกรรมท้องถิ่น

  • ห้องเอกสารท้องถิ่น (Local Documentation)

จัดเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ทักษิณคดีที่ใช้สิ่งพิมพ์เป็นสื่อ ทั้งที่เป็นข่าวสาร บทความ บทวิจารณ์ รายงานประจำปี เอกสารประกอบการประชุมสัมมนา ตำรา งานวิจัย และรวบรวมเอกสารเก่า ๆ ที่เกี่ยวกับทักษิณคดีโดยวิธีถ่ายสำเนา นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้าให้บริการข้อมูลแก่ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป

  • ห้องพิพิธภัณฑ์เสียง (Sound Collection)

จัดเก็บรวบรวมข้อมูลประเภท เสียง ในรูปของเทปบันทึกเสียง โดยจำแนกหมวดหมู่ตามเนื้อหา เป็นคลังข้อมูลเสียงที่ให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ ซึ่งเปิดบริการให้บุคคลทั่วไปได้ศึกษาค้นคว้า ด้วยเครื่องบริการที่ทันสมัย สะดวก และรวดเร็ว

  • ห้องพิพิธภัณฑ์ภาพ (Visual Collection)

จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับทักษิณคดี ด้วยระบบภาพ ทั้งภาพถ่าย ภาพพิมพ์ ภาพลายเส้น สไลด์ แถบวีดีทัศน์ และภาพยนตร์ รวมทั้งผลิตรายการเป็นโสตทัศนูปกรณ์เกี่ยวกับทักษิณคดี ด้วยระบบวีดีทัศน์ และ CD-ROM ซึ่งเปิดบริการด้านข้อมูลแก่นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป

  • ห้องศูนย์บริการข้อมูล (Information Service Center)

จัดรวบรวมและบริการข้อมูลที่เกี่ยวกับทักษิณคดี ด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมโยงกับสถาบันทางวัฒนธรรมอื่น ๆ และให้บริการสืบค้นข้อมูลทางวัฒนธรรมภาคใต้

อาศรมศิลปกรรมทักษิณ[แก้]

อาศรมศิลปกรรมทักษิณ ฝ่ายส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนา สถาบันทักษิณคดีศึกษา มีภาระหน้าที่ในการเก็บรวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการศิลปกรรม และนำผลงานทาง ศิลปกรรมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนกระทั่งสมัยปัจจุบันมาจัดระบบ จัดเก็บ และจัดแสดงข้อมูลเป็นห้องนิทรรศการถาวร ประกอบด้วย

  • ห้องประวัติศาสตร์ศิลปะในภาคใต้

จัดแสดงศิลปะถ้ำ โดยการจำลองบรรยากาศในถ้ำและนำเสนอภาพถ่ายศิลปะถ้ำตามแหล่งโบราณคดีในภาคใต้ และจัดแสดงภาพจิตรกรรมไทยบนฝาผนังวัดสำคัญต่าง ๆ ในภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยภาพพุทธประวัติประกอบกับลวดลายต่าง ๆ แบบไทยโบราณ

  • ห้องอัครศิลปิน

จัดแสดงพระราชประวัติด้านศิลปะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และแสดงผลงานศิลปกรรมจากฝีพระหัตถ์

  • ห้องศิลปินเกียรติคุณ

จัดแสดงประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติชาวภาคใต้ทุกสาขา อาทิ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ คีตศิลป์ และศิลปะพื้นบ้าน นับตั้งแต่เริ่มประกาศรางวัลศิลปินแห่งชาติจนกระทั่งปัจจุบัน

  • ห้องนิทรรศการศิลปกรรมศิลปินและเยาวชนภาคใต้

แสดงประวัติและผลงานของศิลปินภาคใต้ ผู้มีชื่อเสียงและมีคุณูปการต่อสังคมภาคใต้รวมทั้งผลงานของเยาวชนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานศิลปกรรมเยาวชนทักษิณ

นอกจากนี้ยังมีภาระงานส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ การจัดกิจกรรมทางศิลปกรรม การประกวดศิลปกรรมเยาวชนทักษิณ การแสดงนิทรรศการศิลปกรรม การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการทางศิลปะ การอบรมสัมมนาทางวิชาการศิลปกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยในการส่งเสริมและพัฒนางานทางศิลปกรรมให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เพื่อสนองตอบต่อภารกิจของสถาบันทักษิณคดีศึกษา ในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าเป็นศูนย์กลางของการศึกษาข้อมูล และส่งเสริมเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ และ ผลงานทางศิลปกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]