กระต่ายขูดมะพร้าว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กระต่ายขูดมะพร้าว เป็นเครื่องมือสำหรับขูดมะพร้าวที่ยังไม่ได้กะเทาะเปลือกออก เดิมทีการขูดเนื้อมะพร้าวคั้นกะทิ จะใช้ช้อนทำจากกะลามะพร้าวขูดให้เป็นฝอย ต่อมาทำเป็นฟันซี่โดยรอบ บางแห่งใช้ซีกไม้ไผ่บากรอยเป็นซี่สำหรับขูดมะพร้าว จนกระทั่งเมื่อมีการใช้เหล็กมาทำของใช้ในครัวเรือน จึงได้ตีเหล็กแผ่นบาง ๆ ตัดรูปโค้งมน ใช้ตะไบถู ทำซี่ละเอียดปลายเหล็กคมเรียกว่า "ฟันกระต่าย" นำส่วนเหล็กขูดฟันกระต่ายนี้ไปประกบหรือเข้าเดือยกับรูปตัวสัตว์ที่เตรียมไว้จนเป็นกระต่ายขูดมะพร้าว[1]

ศัพทมูล[แก้]

การเรียกชื่อ "กระต่ายขูดมะพร้าว" อาจเนื่องมาจาก ฟันที่ใช้ขูดเนื้อมะพร้าวมีลักษณะเป็นซี่ยาวเหมือนฟันกระต่าย ประกอบกับการทำโครงไม้ซึ่งใช้เสียบฟันขูดและนั่งเวลาขูดมะพร้าว มักทำเป็นตัวกระต่ายมากกว่าสัตว์ประเภทอื่น แม้ว่าจะมีการประดิดประดอยโครงไม้เป็นตัวแมว สุนัข และนก เป็นต้น

นอกจากคำว่า "กระต่ายขูดมะพร้าว" ยังมีคำอื่นอีก เช่น คำว่า "เหล็กขูด" ที่พูดกันมากในภาคใต้ของประเทศไทย และคำว่า "แมว" ที่พูดกันมากในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นต้น โดยเมื่อดูความนิยมใช้คำศัพท์เมื่อคิดเป็นร้อยละ ยกเว้นคำว่า "กระต่ายขูดมะพร้าว" ที่นิยมกันมาก ยังมีคำว่า "เหล็กขูด" คิดเป็นร้อยละ 15.64 รองลงมา และนิยมพูดกันมากกว่า 2 คำศัพท์ คิดเป็นร้อยละ 8.96[2]

ลักษณะ[แก้]

ลักษณะของกระต่ายขูดมะพร้าว มักทำเป็นรูปสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น แมว สุนัข นก หนู สิงห์ เต่า และตะกวด แต่ชาวบ้านก็ยังเรียกว่า กระต่ายขูดมะพร้าวอยู่ดี ส่วนลำตัวทำมาจากไม้เนื้อแข็งรูปสัตว์ชนิดต่าง ๆ ส่วนหัวเหมือนรูปกระต่าย หรือส่วนเหล็กขูดฟันกระต่ายนี้ไปประกบหรือเข้าเดือยกับรูปตัวสัตว์ที่เตรียมไว้ มีขากระต่าย 4 ขา หรือ 2 ขา[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. กระต่ายขูดมะพร้าว[ลิงก์เสีย]. 30 พฤศจิกายน 2542. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
  2. กระต่ายขูดมะพร้าว[ลิงก์เสีย]. โครงการภูมิศาสตร์ภาษาของประเทศไทยบนระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. กระต่ายขูดมะพร้าว[ลิงก์เสีย]. 12 พฤศจิกายน 2555. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม