คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
คติพจน์นิติเป็นเลิศ เทิดคุณธรรม นำยุติธรรมสู่สังคม
คณบดีศาสตราจารย์ ดร.กรกฎ ทองขะโชค
ที่ตั้ง
140 หมู่ที่ 4 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000 222 หมูที่ 2 ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง 93210
เว็บไซต์http://www.law.tsu.ac.th

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ทำการเรียนการสอน ณ 2 วิทยาเขต คือ

  1. วิทยาเขตสงขลา ตั้งอยู่ที่ 140 หมู่ที่ 4 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000
  2. วิทยาเขตพัทลุง ตั้งอยู่ที่ 222 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง 93210

ประวัติ[แก้]

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ในสังคมปัจจุบัน กฎหมายมีความจำเป็นที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการ การดำเนินธุรกิจทุกสาขาอาชีพ ตลอดจนชีวิตประจำวันของทุกคน ประกอบจากการรวบรวมข้อมูลการศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ในสถาบันการศึกษาภาครัฐส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) พบว่านิสิต นักศึกษา ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในจังหวัดทางภาคใต้ คิดเป็นอัตราส่วนที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้เห็นว่า กฎหมายเป็นที่นิยมของคนภาคใต้ ทั้งนี้นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลบังคับใช้และผลจากการปฏิรูประบบราชการในกระบวนการยุติธรรม ทำให้มีการจัดตั้งหน่วยงานราชการ และองค์กรอิสระด้านกฎหมายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการบุคลากรทางด้านกฎหมายสูงขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา กรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น รวมถึงบุคลากรสายอาจารย์ทางด้านกฎหมาย ซึ่งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาอีกหลายสถาบันได้เล็งเห็นความสำคัญ และริเริ่มจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ ประกอบกับอัตราค่าตอบแทนทางวิชาชีพที่ค่อนข้างสูง เช่น ผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บุคลากรในภาครัฐและเอกชนสนใจและมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนสายงานไปสู่วิชาชีพดังกล่าว และเมื่อพิจารณาแหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา แล้ว ยังพบว่า เป็นศูนย์รวมของหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมหลายแห่ง อันได้แก่ ศาลจังหวัดสงขลา ศาลปกครองสงขลา สำนักงานอัยการจังหวัดสงขลา เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 สำนักงานอธิบดีอัยการเขต 9 สำนักงานตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติให้แก่นิสิต โดยการศึกษาดูงานและฝึกงานในหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นได้อีกด้วย

ดังนั้นมหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะสถาบันการศึกษาของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ให้การบริการด้านการศึกษาและบริการด้านสังคม ได้ตระหนักถึงภารกิจนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ ตามคำสั่งที่ 772/2547 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2547 ดังรายชื่อต่อไปนี้

  1. ศ.ดร สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกรรมการ
  2. ผศ.ดร.สมศักดิ์ โชคนุกูล (รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ) กรรมการ
  3. รศ.ดร.กิตติพงษ์ หัสพฤกษ์ กรรมการ
  4. รศ.ภิญโญ ตันพิทยคุปต์ กรรมการ
  5. นายอภิชาติ เทพหนู กรรมการ
  6. นายสัตยา อรุณธาร กรรมการ
  7. นายตรีรัตน์ จุ๋ยมณี กรรมการ และเลขานุการ

ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่จัดทำหลักสูตรและจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ โดยได้จัดทำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ (หลักสูตร 4 ปี) สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการรับสมัครและเปิดสอนในภาคเรียนต้น ปีการศึกษา 2548 และได้จัดทำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ (หลักสูตร 3 ปี) สำหรับ ผู้ที่สำเร็จปริญญาตรีทุกสาขา (ปริญญาตรีใบที่สอง) ซึ่งจะรับสมัครและเปิดทำการสอนในภาคเรียนปลาย ปีการศึกษา 2547 โดยทำการสอนนอกเวลาราชการ ในวันศุกร์ เวลา 17.00 - 20.00 น. และวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 08.00 - 17.00 น.

ต่อมา สภามหาวิทยาลัย ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะนิติศาสตร์ เป็นหน่วยงานภายใน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2547 ในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 5/2547 คณะนิติศาสตร์ จึงถือว่าวันที่ 25 กันยายน 2547 เป็นวันสถาปนาคณะนิติศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นผู้รักษาการคณบดีคณะนิติศาสตร์

ข้อมูลคณะ[แก้]

  • ปรัชญา นิติเป็นเลิศ เทิดคุณธรรม นำยุติธรรมสู่สังคม
  • สีประจำคณะ สีขาว สีของความบริสุทธิ์ ยุติธรรม

วัตถุประสงค์[แก้]

  • เพื่อสนองความต้องการของสังคมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่กำหนดให้ "คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา"
  • เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาวิชากฎหมาย ให้ผู้สนใจในระดับภูมิภาคทั้งผู้สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า และผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสาขาวิชาชีพอื่น ซึ่งประกอบอาชีพอยู่แล้วทั้งในภาครัฐบาลและ เอกชนให้สามารถเข้าฟังคำบรรยายในชั้นเรียน และมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนนอกเวลาราชการ
  • เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายอันเป็นประโยชน์ต่อการบังคับใช้กฎหมาย และรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยและ ศีลธรรมอันดีงามของสังคม

โครงสร้างการบริหารงาน[แก้]

การบริหารงานคณะนิติศาสตร์ ปฏิบัติงานตามภารกิจหลัก 4 ด้าน คือ

  • การผลิตบัณฑิตและพัฒนานิสิต
  • การวิจัย
  • การบริการวิชาการแก่สังคม และ
  • การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

ซึ่งคณบดีรองคณบดี และผู้ช่วยคณบดี ทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารงานภายในคณะตามนโยบาย ภารกิจ และแผนงาน มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน อันได้แก่ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน นักวิชาการศึกษา นักวิชาการเงินและบัญชี และนักวิชาการพัสดุ คอยให้การสนับสนุนและประสานการดำเนินงานของคณะทั้งหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก

หลักสูตร[แก้]

หลักสูตรที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี นิติศาสตรฺบัณฑิต (น.บ.)
  • หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคปกติ
  • หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคสมทบ(ภาคพิเศษ) 4 ปี
  • หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคบัณฑิต 3 ปี
ทุกหลักสูตรมี 6 สาขา ดังนี้
  • สาขาเนติบัณฑิต
  • สาขากฎหมายธุรกิจ
  • สาขากฎหมายอาญา
  • สาขากฎหมายมหาชน
  • สาขากฎหมายระหว่างประเทศ
  • สาขากฎหมายเอกชนและการพาณิชย์

เพลงประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ[แก้]

มาร์ชคณะนิติศาสตร์

นิติศาสตร์ เป็นเลิศแห่งทักษิณ
นำชีวินสู่สังคมใหม่
ยุติธรรม คุณธรรม เทิดทูนไว้
ในหัวใจผองเราทุกคน
เลือดของเราสีขาวชาวนิติศาสตร์
ล้วนองอาจ มุ่งมั่น ชี้ทางชน
ซื่อสัตย์ สุจริต และอดทน
ปัญญาชน เบิกทางสร้างวันใหม่
ลูกหลานพระองค์เจ้ารพี
พร้อมยอมพลี ชีพวาย ทั้งกายใจ
เพื่อชาติศาสน์ กษัตริย์ ประเทศไทย
ดำรงไว้บนความยุติธรรม
นิติศาสตร์ เป็นเลิศแห่งทักษิณ
ทั่วธานินทร์ ถิ่นเทา เราชี้นำ
อีกปรัชญา มหาวิทยาลัยจงจำไว้
นี่คือคำปฏิญาณ ลูกนิติศาสตร์

งานบอลประเพณีลูกรพีสัมพันธ์[แก้]

งานบอลประเพณีลูกรพีสัมพันธ์ เป็นการแข่นขันกีฬาฟุตบอลร่วมกันระหว่าง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อสร้างความสามัคคีกันระหว่างคณะนิติศาสตร์ของทั้ง 2 มหาวิทยาลัย โดยจะจัดกันปีละ 1 ครั้งเป็นประจำทุกปี ซึ่งในงานบอลประเพณีลูกรพีสัมพันธ์ดังกล่าวจะมีการแข่งขันฟุตบอลกันระหว่างนิสิตนักศึกษาของทั้ง 2 คณะ การแข่งขันฟุตบอลระหว่างบุคลากรของทั้ง 2 คณะ การประกวดกองเชียร์ ขบวนพาเหรด และผู้นำเชียร์ของทั้ง 2 มหาวิทยาลัย ซึ่งในงานบอลประเพณีลูกรพีสัมพันธ์ดั่งกล่าวจะทำให้นิสิตของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และ นักศึกษาของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สร้างความสามัคคีกลมเกลียวกัน และได้ร่วมทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งกันระหว่างคณะนิติศาสตร์ของทั้ง 2 มหาวิทยาลัย ซึ่งงานบอลประเพณีลูกรพีสัมพันธ์จะมีการสลับผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพกันระหว่างกันของทั้ง 2 คณะ ซึ่งงานบอลประเพณีลูกรพีสัมพันธ์ได้มีการจัดครั้งแรกขึ้นที่ มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณได้รับเป็นเจ้าภาพในการจัดงานดังกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขันฟุตบอลจะมีการเลี้ยงสังสรรค์ การร้องเพลง การเล่นดนตรี และการแสดงโชว์ต่างๆ เพื่อให้นิสิตและนักศึกษาของทั้ง2มหาวิทยาลัย ได้มีการผ่อนคลายสังสรรค์กันภายหลังจากเสร็จสิ้นงานบอลประเพณีลูกรพีสัมพันธ์

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]