ข้ามไปเนื้อหา

วัดชลธาราสิงเห

พิกัด: 6°15′43″N 102°03′00″E / 6.262°N 102.05°E / 6.262; 102.05
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดชลธาราสิงเห
แผนที่
ชื่อสามัญวัดชลธาราสิงเห
ที่ตั้งตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ 96110
นราธิวาส
ไทย ประเทศไทย
ประเภทพระอารามหลวงชั้นพิเศษ
พระประธานหลวงพ่อใหญ่
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธรูปปางไสยาสน์ อนุสาวรีย์รูปปั้นหลวงพ่อพุฒ
พระจำพรรษาพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา 7 รูป
จุดสนใจวิหารพระนอน หอพระนารายณ์ ศาลากลางน้ำ ศาลาธรรม โบสถ์ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
กิจกรรมเทศนาธรรมในวันพระ
การถ่ายภาพไม่ควรใช้แฟลช ในถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนัง
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดชลธาราสิงเห พระอารามหลวง หรือ วัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย) ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ก่อสร้างโดยพระคุณโอภาสพุทธคุณ (พุด) เมื่อปี พ.ศ. 2403 ในปลายรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนการตั้งอำเภอตากใบ 49 ปี

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

วัดชลธาราสิงเหตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

ประวัติ

[แก้]

วัดชลธาราสิงเหเดิมชื่อว่า "วัดท่าพรุ" หรือ "วัดเจ๊ะเห" ตามสถานที่ตั้งที่วัด ณ หมู่บ้านเจ๊ะเห ในอดีตเมื่ออำเภอตากใบยังเป็นส่วนหนึ่งของรัฐกลันตัน ในครั้งนั้นพระคุณโอภาสพุทธคุณได้เดินทางมาถึงบริเวณดังกล่าว เห็นว่า พื้นที่เป็นป่ากว้างว่างเปล่าไม่มีผู้คนอาศัย ที่ดินติดริมแม่น้ำตากใบมีทิวทัศน์สวยงามและเหมาะสมต่อการสร้างวัด พระคุณโอภาสพุทธคุณจึงขอที่ดินเพื่อสร้างวัดชลธาราสิงเหจากพระยากลันตัน (ต่วนสนิปากแดง) ซึ่งภายหลังได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาเดชานุชิตมหิศรายานุกูลวิบูลย์ภักดี

จนกระทั่งขุนสมานธาตุวฤทธิ์ หรือ เปลี่ยน กาญจนารัณย์ นายอำเภอคนแรกของตากใบ ได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดชลธาราสิงเห ซึ่งหมายถึง วัดที่ติดกับสายแม่น้ำ และ สิงเห ในที่นี้หมายถึงชื่อท่านพระครูโอภาสพุทธคุณ ผู้ซึ่งบุคคลทั่วไปต่างเกรงกลัวทั่วไปดั่งราชสีห์

ความสำคัญ

[แก้]

วัดชลธาราสิงเหนั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พรมแดนไทย-มาเลเซีย เนื่องจากเป็นสถานที่ที่รัฐบาลสยามใช้เป็นเหตุผลอ้างอิงในการปักปันเขตแดนใน สมัย รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2452 ในเวลานั้นเมื่อแหลมมลายูได้ตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิบริติช จากสนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452 อังกฤษได้พยายามที่จะผนวกจังหวัดนราธิวาสให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพมาลายาด้วย ซึ่งอังกฤษได้อ้างการปักปันเขตแดนโดยใช้สันเขาและแม่น้ำเป็นแนวตามหลักสากล เข้ามาถึงบ้านปลักเล็กเลยจากวัดชลธาราสิงเห 25 กิโลเมตร ซึ่งเส้นแบ่งเขตรัฐกลันตันกับประเทศไทยจะอยู่ที่ตำบลบ้านสะปอม ในเขตอำเภอเมืองและอำเภอตากใบในปัจจุบัน

แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลสยามจึงถือยกเอาพระพุทธศาสนา วัด และศิลปะในวัดเป็นเครื่องต่อรองการแบ่งปันเขตแดน โดยให้เหตุผลว่าวัดชลธาราสิงเหเป็นวัดไทยที่มีความสำคัญ เป็นมรดกทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอตากใบ มีอาคารสถานที่และถาวรวัตถุเป็นแบบไทย ประชาชนนับถือศาสนาพุทธเป็นเวลาช้านาน ประกอบกับท้องที่อำเภอตากใบมีวัด ชาวพุทธอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงควรไม่รวมพื้นที่เหล่านี้ไปในเขตรัฐกลันตันที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

สุดท้ายอังกฤษยอมจำนนต่อเหตุผลและยอมรับให้เป็นจังหวัดนราธิวาสในประเทศไทยต่อไป ฝ่ายอังกฤษจึงยอมเลื่อนการปักปันเขตแดนถอยลงไปทางใต้จนถึงลำน้ำแม่น้ำโก-ลก ทำให้พื้นที่ทางตอนเหนือแม่น้ำตากใบของจังหวัดนราธิวาสอยู่ในการปกครองของราชอาณาจักรไทยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผลให้ 4 อำเภอชายแดนไทย คือ อำเภอตากใบ อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดี และ อำเภอสุไหงโก-ลก ไม่ต้องผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย วัดชลธาราสิงเหจึงเป็นที่รู้จักในอีกนามหนึ่งว่า "วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย"

นอกจากนั้น วัดชลธาราสิงเห ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำจากป่าชายเลนที่ปลูกริมชายฝั่งแม่น้ำของบริเวณวัด และเนื่องด้วยวัดชลธาราสิงเห ติดต่อกับแม่น้ำตากใบทำให้มีสภาพแวดล้อมและธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่ง และเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมของภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย วัดชลธาราสิงเหจึงถือเป็นวัดที่มีความสำคัญอันทรงคุณค่าและเป็นศูนย์กลางด้านภูมิทัศน์วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยก วัดชลธาราสิงเห ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นกรณีพิเศษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ตั้งแต่วันที่ 22 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2543

วัดลธาราสิงเหได้รับคัดเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่นเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ณ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยกรมการศาสนา

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดชลธาราสิงเหเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 และได้ดำเนินการบรูณะปรับภูมิทัศน์โบราณสถานภายในวัดชลธาราสิงเหอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 มาจวบจนปัจจุบัน เพื่อรักษาโบราณสถานแห่งนี้ไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมสืบไป

สิ่งก่อสร้างภายในวัด

[แก้]

พระครูโอภาสพุทธคุณเป็นผู้สร้างพระอุโบสถโดยมอบให้พระไชยวัดเกาะสะท้อนเป็นช่างก่อสร้างและเขียนภาพในพระอุโบสถ พระธรรมวินัย (จุ้ย) และทิดมี ชาวสงขลาช่วยกันเขียนภาพในพระอุโบสถ กุฏิ สร้างพระประธานในพระอุโบสถและกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถ ในปี พ.ศ. 2426 สมัยต่อมาวัดชลธาราสิงเห ได้รับการบูรณะ ปรับปรุง ซ่อมแซม และก่อสร้างอาคารเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยอาคารต่าง ๆ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมภาคใต้ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก คือ การประดับลวดลายไม้ฉลุ เรียกว่า ลวดลายขนมปังขิง

พระอุโบสถ

[แก้]

เป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังคาซ้อน 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน ประดับลวดลายปูนปั้น เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นรูปปางมารวิชัยภายในซุ้มเรือนแก้ว นอกจากนี้ยังปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยลักษณะจิตรกรรมเป็นสีฝุ่น เขียนโดยพระภิกษุชาวสงขลา ลายเทพชุมนุม ภาพชีวิตความเป็นอยู่ในอดีต ไตรภูมิ และลำดับภาพพุทธประวัติ เริ่มจากมุมด้านทิศใต้มาทางทิศตะวันออก โดยแบ่งฝาผนังในแนวตั้งเป็น 4 ช่องเสา ในแต่ละช่องเสายังแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ บน,กลางและล่าง

ตอนบนสุดเป็นวิทยาธร ต่อมาเป็นเทพชุมนุม 1 ชั้น นั่งประณมหัตถ์ถือดอกไม้ ถัดลงมาเป็นช่องสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 2 ชั้น เขียนภาพพุทธประวัติเริ่มตั้งแต่ตอนลาพระนางยโสธราและราหุล แล้วเรียงลำดับเรื่องจนถึงตอนประทับรอยพระพุทธบาท ด้านหน้าพระประธานมีภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ เป็นภาพขนาดใหญ่ ผนังด้านล่างเป็นพื้นที่ว่างมีแต่ภาพมณฑปเหนือเศียรพระ เพดานเขียนลายบนพื้นแดง

และยังเป็นที่ประดิษฐานพระประธานปิดทองทั้งองค์ ทำให้ไม่เห็นลักษณะเดิมที่พระโอษฐ์เป็นสีแดง พระเกศาเป็นสีดำ ประดิษฐานอยู่บนบุษบกทรงสอบสูง 1.5 เมตร จากลักษณะบุษบก สันนิษฐานว่าเป็นพระมอญ ตามผนังประดับด้วยเครื่องถ้วยสังคโลกจากประเทศจีน

พลับพลาที่ประทับในรัชกาลที่ 6

[แก้]

สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จประพาสวัดชลธาราสิงเห และทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพลับพลาริมแม่น้ำตากใบเป็นที่ประทับ เพื่อสำหรับทอดพระเนตรการแข่งเรือยาวในอดีต ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำสำหรับนักท่องเที่ยว โดยสามารถชมทัศนียภาพรอบของแม่น้ำตากใบ และยังสามารถมองเห็นเกาะยาวของจังหวัดนราธิวาสได้

หอพระนารายณ์

[แก้]

เป็นอาคารเครื่องก่อ ขนาด 5.45 เมตร ยาว 6.30 เมตร มีมุขขนาดกว้าง 3.40 เมตร ยาว 4.06 เมตร มีหน้าต่างด้านๆละ 1 ช่อง ส่วนทางด้านหน้าทางทิศตะวันออกมีประตู 3 บาน หลังคาทรงมณฑป 4 ชั้นยอดแหลม มุงกระเบื้องดินเผาเกาะยอ ฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐ มุมหลังคาแต่ละชั้นประดับด้วยหัวนาค ส่วนยอดของหลังคาหล่อด้วยปูนซีเมนต์ ตรงหน้าบันมีจารึก “ปฏิสังขรณ์ พ.ศ. 2499” เพดานมุขมี 2 ห้อง ตกแต่งลวดลายเป็นภาพดวงดารา ภายในมณฑปมีรูปพระนารายณ์ 4 กร บนฐานชุกชีมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย 3 องค์

เพดานด้านในประธานตกแต่งลายดวงดารา พื้นหลังประดับด้วยภาพผีเสื้อ หงส์ ช่อดอกไม้และดาวดวงเล็กๆกระจายอยู่ทั่วไป พื้นหลังมีสีขาว ตกแต่งลวดลายดอกไม้ร่วง คอสองเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ คานตกแต่งลายก้านปู ด้านนอกมีการตกแต่งลายเขียนสีและประดับกระจก กรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะตัวหลังคาและโครงสร้างหอพระนารายณ์ในปี พ.ศ. 2541

กุฏิสิทธิสารประดิษฐ์ หรือ กุฏิพระครสิทธิสารวิหารวัตร (อาคารพิพิธภัณฑ์วัดชลธาราสิงเห)

[แก้]

กุฏิสิทธิสารประดิษฐ์ (อาคารพิพิธภัณฑ์วัดชลธาราสิงเห) สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2498 โดยพระครูสิทธิสารวิหารวัตร เป็นอาคารไม้ยกพื้นสูง หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องดินเผา มีหลังคาซ้อนกันหลายชั้น ตรงยอดหลังคาและปลายมุมหลังคาทำเป็นรูปตัวนาคและหางหงส์ ภายในกุฏิตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรม เช่น บริเวณหน้าบันเป็นภาพพระพุทธประวัติตอนปรินิพพาน บานประตูเป็นภาพทวารบาล ฝ้าเพดานตกแต่งด้วยรูปพระอาทิตย์ พระจันทร์และเหล่าเทวดา ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นพิพิธภัณฑสถานวัดชลธาราสิงเหเพื่อเก็บโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของวัด โดยกุฏิหลังนี้ใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์วัดชลธาราสิงเหตั้งแต่ พ.ศ. 2553

กุฏิพระครูวิมลถาปนกิจ

[แก้]

กุฏิพระครูวิมลถาปนกิจ สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2482 เป็นกุฏิไม้ยกพื้นสูง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกุฏิสิทธิสารประดิษฐ์ หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องดินเผา มีไม้ฉลุประดับหลังคา ตอนหน้าเป็นมุข หลังคามุขประดับช่อฟ้าและหางหงส์ ภายในกุฏิตกแต่งด้วยจิตรกรรมแสดงฝีมือช่างพื้นถิ่นภาคใต้ เช่น รูปพระจันทร์ทรงราชรถเทียมม้า และพระอาทิตย์ทรงราชรถเทียมราชสีห์ เป็นต้น

หอระฆังจัตุรมุข

[แก้]

หอระฆังจัตุรมุข ตั้งอยู่บริเวณหมู่กฏิสิทธิสารประดิษฐ์ เดิมเป็นหอไตรกลางน้ำ เมื่อชำรุดจึงได้ย้ายมาสร้างบนบกและดัดแปลงกลายเป็นหอระฆัง โดยมีลักษณะเป็นอาคารไม้ สูง 2 ชั้น ยอดมณฑปมุงกระเบื้องดินเผาประดับช่อฟ้าและหางหงส์

หอระฆัง (หอกลอง)

[แก้]

หอระฆัง (หอกลอง) ภายในวัดชลธาราสิงเห มีหอระฆัง 2 หลัง โดยหอระฆังทางด้านตะวันออกของกุฏิเจ้าอาวาสมีลักษณะเป็นหอระฆัง 3 ชั้น หลังทรงมณฑป ฝาผนังหอระฆังชั้นบนเป็นฝาไม้ มีช่องหน้าต่างขนาดเล็ก มีลวดลายประดับคล้ายฝาผนังกุฏิเจ้าอาวาส โดยภายในหอระฆังมีระฆัง 2 ใบ

วิหารพระพุทธไสยาสน์

[แก้]

ตั้งอยู่บริเวณหน้าเจดีย์ เป็นวิหารคลุมพระไสยาสน์มีขนาดกว้าง 5.90 เมตร ยาว 9.90 เมตร สร้างโดยพระครูสิทธิสารวิหารวัตรเมื่อปี พ.ศ. 2484 ภายในวิหารมีพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ตอนท้ายของวิหารโถงและติดกับฐานเจดีย์เป็นอาคารเครื่องก่อ มีฝาผนังทั้งสี่ด้าน มีประตูทางเข้าทางทิศตะวันตก (สันนิษฐานว่าอาคารโถงน่าจะเป็นการต่อเติมในสมัยหลัง) องค์พระพุทธไสยาสน์เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ประดับด้วยกระจกสีทองโดยประทับอยู่บนนาค ประดิษฐานอยู่ในคูหาที่ประดับด้วยเครื่องถ้วยยุโรป จีน และ ญี่ปุ่น

ศาลาธรรม

[แก้]

เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะภาคใต้และผสมอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมจีน มีการตกแต่งด้วยใบระกา หางหงส์และปูนปั้น

เจดีย์

[แก้]

เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังบนฐานสี่เหลี่ยม ขนาด 4.55 เมตร ยาว 5.50 เมตร ทรงฐานสูงมีลานประทักษิณรอบเจดีย์ มีพนักกั้นเป็นขอบลายประทักษิณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยครูจันทร์เป็นเจ้าอาวาส (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2456 - 2462) แต่สร้างไม่เสร็จ จากนั้นมาสร้างอีกครั้งในปี พ.ศ. 2484 ลักษณะตัวเจดีย์เป็นทรงระฆังก่อิฐถือปูนบนฐานทรงสี่เหลี่ยมทรงสูงล้อมรอบด้วยลานประทักษิณ ต่อขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตร ไม่มีเสาหาน แล้วเป็นแผ่นปล้องไฉนลดหลันกันไปเป็นรูปทรงกรวยจนถึงปลียอดและลูกแก้ว

การเดินทางและการเข้าชม

[แก้]

การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 4084 นราธิวาส-ตากใบ ถึงสี่แยกตลาดอำเภอตากใบ เลี้ยวซ้าย 100 เมตร จะถึงปากทางเข้าวัด หรือรถนั่งรถโดยสารประจำทางเส้นที่จะไปอำเภอตากใบ มีรถสองแถว รถตู้ และรถบัส ขึ้นที่สถานีขนส่งนราธิวาส ลงสามแยกอำเภอตากใบ เดินเข้าไปอีก 500 เมตร เปิดให้ชมทุกวันระหว่างเวลา 08.00 น. - 17.00 น. ยกเว้นพิพิธภัณฑ์หยุดวันสุดสัปดาห์ โดยไม่เสียค่าบริการทั้งคนไทยและต่างชาติ

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

6°15′43″N 102°03′00″E / 6.262°N 102.05°E / 6.262; 102.05