ข้ามไปเนื้อหา

ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว (พิพิธภัณฑ์สิรินธร)
Phukumkhao Dinosaur Museum (Sirindhorn Museum)
หุ่นจำลองไดโนเสาร์ภายในพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่ตั้งภูกุ้มข้าว ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ประเทศไทย
ภัณฑารักษ์กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เว็บไซต์www.sdm.dmr.go.th/service.htm

ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว หรือ พิพิธภัณฑ์สิรินธร (อังกฤษ: Sirindhorn Museum) เป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์และ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ภูกุ้มข้าวซึ่งเป็นเขาโดดสูงประมาณ 300 เมตร[1] ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์[2]

พิพิธภัณฑ์สิรินธรเป็นพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยา ที่มีการจัดแสดงซากกระดูกไดโนเสาร์และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในมุมมองต่าง ๆ ทั้งเชิงวิชาการ การอนุรักษ์ รวมไปถึงความสัมพันธ์ต่าง ๆ จนได้รับขนานนามว่าเป็นแหล่งไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์[3] โดยได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า "พิพิธภัณฑ์สิรินธร"[2]

ประวัติ

[แก้]
ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ที่ภูกุ้มข้าว

ภูกุ้มข้าวเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 โดยพระญาณวิสาลเถร เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน (ต่อมาได้มีสมณศักดิ์ในราชทินนามที่ พระเทพมงคลวชิรมุนี (หา สุภโร)) และได้ทำการขุดค้นและศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบโดยคณะสำรวจโบราณชีววิทยาไทย-ฝรั่งเศส

ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ที่ภูกุ้มข้าว ได้เริ่มทำการขุดค้นอย่างเป็นระบบ โดยคณะสำรวจไดโนเสาร์จากกรมทรัพยากรธรณี ตั้งแต่ปลายปี 2537 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2538 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรซากกระดูกไดโนเสาร์ ซึ่งได้มีการจัดตั้งโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวขึ้น โดยสร้างอาคารหลุมขุดค้นเป็นการชั่วคราวเพื่อใช้ป้องกันซากกระดูก รวมทั้งใช้บังร่มเงาแก่นักวิชาการในการขุดแต่งกระดูก ต่อมาในปี 2539 กรมทรัพยากรธรณีได้สร้างอาคารวิจัยมีพื้นที่ใช้งาน 375 ตารางเมตร เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติงานศึกษาวิจัย อนุรักษ์เก็บรวบรวมตัวอย่างอ้างอิงซากไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตร่วมสมัยที่สำรวจพบในประเทศไทย และนำข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่แก่นักท่องเที่ยวในรูปของพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ มีความเป็นมาและรายละเอียดของการจัดการ

ภูกุ้มข้าวเป็นแหล่งไดโนเสาร์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย โดยพบกระดูกไดโนเสาร์เกือบทั้งตัว กองรวมอยู่กับกระดูกไดโนเสาร์กินพืชอีกชนิดหนึ่ง กระดูกทั้งหมดอยู่ในชั้นหินที่วางตัวอยู่บนไหล่เขาของภูกุ้มข้าวซึ่งมี รูปร่างคล้ายลอมฟาง มีความสูงประมาณ 240 เมตร มีการขุดค้นซากไดโนเสาร์พบกระดูกมากกว่า 700 ชิ้น ในชั้นหินยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 130 ล้านปีก่อน เป็นกลุ่มของกระดูกส่วนขา สะโพก ซี่โครง คอ และหางของไดโนเสาร์กินพืชไม่น้อยกว่า 7 ตัว นอกจากนี้ยังพบฟันของไดโนเสาร์ทั้งกินพืช และกินเนื้ออีกอย่างละ 2 ชนิด จากลักษณะของกระดูกพบว่าเป็นไดโนเสาร์กินพืชสกุล ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae) ซึ่งมีการค้นพบก่อนหน้าที่แหล่งซากดึกดำาบรรพ์ ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 ในนาม "แหล่งซากไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว" เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557

โซน

[แก้]
โซนที่ 1 : จักรวาลและโลก
โซนที่ 1
จักวาลและโลก
สิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลก รวมทั้งไดโนเสาร์ได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกนานแล้ว นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์นั้น เกิดจากอุกกาบาตชนโลก ทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกได้สูญพันธุ์ไป และนักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาเรื่องราวการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ ตั้งแต่การระเบิดครั้งใหญ่ของ “บิ๊กแบง”
โซนที 2 : เมื่อชีวิตแรกปรากฏ
โซนที่ 2
เมื่อสิ่งมีชีวิตแรกปรากฏ
จากดาวเคราะห์ร้อนจัดและปั่นป่วน อันเนื่องจากภูเขาไฟระเบิดและการพุ่งชนของอุกกาบาต โลกของเรา ค่อย ๆ เย็นตัวลง ทั้งบรรยากาศและน้ำช่วยนำทางไปสู่พัฒนาการของสารเคมีอันสลับซับซ้อน ความอิ่มตัวในน้ำภายในชั้นบรรยากาศกลายเป็นฝน โดยน้ำฝนจะชะล้างเอาแร่ธาตุต่าง ๆ มารวมกันเป็นซุบข้นทางเคมี เมื่อราว 3,400 ล้านปีก่อน ได้มีการเกิดฟ้าผ่าลงไปยังซุบข้น ซึ่งเรียกว่าชีวิต สิ่งมีชีวิตยุคแรกเริ่มที่มีรูปร่างง่ายๆ และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าได้ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของโลกด้วยการเติมออกซิเจนสู่มหาสมุทรและบรรยากาศ จนกลายเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตพวกสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว โดยพวกมันได้เปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลก จากที่เคยไม่มีออกซิเจนมาเป็นอุดมด้วยออกซิเจนคล้ายกับพืชในปัจจุบัน
โซนที่ 3
มหายุคพาลีโอโซอิก
542 ล้านปีที่แล้ว สิ่งมีชีวิตบนโลกเกิดการขยายเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่จากพวกที่มีรูปแบบง่ายๆ ไม่กี่ประเภท วิวัฒนาการไปสู่สิ่งมีชีวิตหลากรูปแบบ จากสัตว์ตัวอ่อนนุ่มไปสู่สัตว์ที่มีเปลือกแข็งหุ้ม ปลาโบราณขนาดใหญ่ยาวกว่า 5 เมตร แหวกว่ายผ่านแนวปะการังมหึมาที่แผ่ไปทั้งท้องทะเลเขตร้อน สิ่งมีชีวิตบางประเภทพากันรุกคืบขึ้นบก เปลี่ยนแผ่นดินอันเวิ้งว้างว่างเปล่าให้กลายเป็นป่าทึบที่อุดมไปด้วยแมลง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน ก่อนที่มหันตภัยปริศนาจะกวาดล้างสรรพชีวิตบนโลกไปจนเกือบหมดสิ้น พาลีโอโซอิก หรือ มหายุคแห่งวิวัฒนาการของสิงมีชีวิต แบ่งออกเป็นทั้งหมด 6 สมัย คือ ยุคแคมเบรียน, ยุคออร์โดวิเชียน, ยุคไซลูเรียน, ยุคดีโวเนียน, ยุคคาร์บอนิเฟอรัส, ยุคเพอร์เมียน
โซนที่ 4
มหายุคมีโซโซอิค หรือ มหายุคแห่งสัตว์เลื้อยคลานและไดโนเสาร์
4.1 ในช่วงปลายมหายุคพาลีโอโซอิก แผ่นทวีปทั้งหมดได้เคลื่อนมารวมกันเป็นผืนเดียว เรียกว่า “แพนเจีย”
ความใหญ่โตของแผ่นดินทำให้ตอนกลางของทวีปซึ่งห่างไกลจากทะเลที่สภาพแห้งแล้งเป็นทะเลทรายกว้างใหญ่ จึงเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของสัตว์เลื้อยคลานมากที่สุด หลังการสูญพันธ์ครั้งยิ่งใหญ่ตอนสิ้นสุดมหายุคพาลีโอโซอิก สัตว์เลื้อยคลานก็ก้าวขึ้นมาครองโลกในมหายุค มีโซโซอิกที่ตามมา ไดโนเสาร์ครองความยิ่งใหญ่บนแผ่นดินเป็นครั้งแรก และสภาพแวดล้อมบนโลกก็ทวีความหลากหลายกว่าครั้งใด ๆ เทอโรซอร์ที่งามสง่าเป็นจ้าวเวหา สัตว์เลื้อยคลานทะเลขนาดมหึมาเป็นเจ้าสมุทร นกปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก และสภาพแวดล้อมบนโลกก็ทวีความหลากหลายยิ่งกว่าครั้งใดๆ พืชดอกช่วยแต่งเติมสีสันแก่ป่าผืนกว้างที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดจิ๋ว ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ ต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ จากคมเขี้ยวของไดโนเสาร์
4.2 ไดโนเสาร์ไทย
ในมหายุคมีโซโซอิก แผ่นดินที่ปัจจุบันเป็นประเทศไทย เป็นแหล่งอาศัยของไดโนเสาร์นานาชนิด นับตั้งแต่พวกกินเนื้อขนาดใหญ่หรือเทอโรพอดที่เป็นญาติสนิทของ ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ พวกกินพืชคอยาวหรือซอโรพอด ซึ่งหนักกว่าช้างหลายตัวรวมกัน ไปจนถึงไดโนเสาร์ปากนกแก้วตัวจิ๋ว การศึกษาอย่างต่อเนื่องทำให้เราเข้าใจความเกี่ยวข้องระหว่างไดโนเสาร์กลุ่มต่างๆ ทั้งพวกสะโพกแบบนก และ สะโพกแบบสัตว์เลื้อยคลาน และตระหนักว่าไดโนเสาร์ไทยมีคุณูปการต่อความเข้าใจเรื่องวิวัฒนาการของไดโนเสาร์ในระดับโลกมากเพียงใด ไดโนเสาร์ไทย ไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 16 สายพันธุ์ โดยมีอยู่ 5 สายพันธุ์ที่ไม่ซ้ำใครในโลก เรียงตามอายุได้ดังนี้
1. ยุคไทรแอสสิก ได้แก่ อิสานโนซอรัส, อรรถวิภัชชิ
2. ยุคจูแรสสิก ได้แก่ สเตโกซอร์, ฮิบซิโลโฟดอน
3. ยุคครีเทเชียส ได้แก่ ภูเวียงโกซอรัส สิรินทรเน, กินรีมิมัส, สยามโมซอรัส สุธีธรนิ, สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส, ชิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ
โซนที่ 5
วิถีชีวิตของไดโนเสาร์
การค้นพบข้อมูลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เราเข้าใจถึงเรื่องราวในมุมลึกของไดโนเสาร์ นอกจากจะล่วงรู้ถึงรูปร่างของไดโนเสาร์ชนิดต่างๆ แล้วยังช่วยให้เข้าใจเรื่องการกินอาหาร การล่าเหยื่อ การป้องกันตัวและการเลี้ยงลูกอ่อน อีกทั้งยังช่วยให้เราเห็นภาพไดโนเสาร์ที่มีชีวิตชีวามากขึ้น และดื่มด่ำกับความอัศจรรย์ของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ยิ่งใหญ่กลุ่มนี้ได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้หลักฐานใหม่ๆ ยังบ่งชี้ว่าไดโนเสาร์อาจไม่ได้สูญพันธุ์ไปทั้งหมด สามารถจำแนกประเภทของไดโนเสาร์แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ “ซอริสเซียน” ไดโนเสาร์สะโพกแบบสัตว์เลื้อยคลาน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เทอโรพอด ไดโนเสาร์กินเนื้อ และเซอโรพอด ไดโนเสาร์กินพืช “ออร์นิธิเชียน” ไดโนเสาร์สะโพกแบบนก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ไทรีโอโพแรน ไดโนเสาร์หุ้มเกราะ ออร์นิโธพอด ไดโนเสาร์ปากจะงอย และมาร์จิโนเซฟาเลียน ไดโนเสาร์หัวเกราะ
โซนที่ 6
คืนชีวิตให้ไดโนเสาร์
สิ้นมหายุคมีโซโซอิก เกิดการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ครั้งใหญ่ ใน มหันตภัยปริศนา เมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ต่างพากันสันนิษฐานสาเหตุเอาไว้ได้หลายสาเหตุ เช่น อุกกาบาตพุ่งชนโลก, ภูเขาไฟระเบิด, การคุกคามของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม, และสนามแม่เหล็กโลกเปลี่ยนทิศทางแต่นักโบราณชีววิทยาซึ่งทำงานศึกษาอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์อยู่ตามสถาบันต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งที่ภูกุ้มข้าวแห่งนี้ ได้ช่วยกันฟื้นชีวิตและสร้างความหมายให้แก่ซากดึกดำบรรพ์เพื่อนำเราย้อนกลับไปสัมผัสกับยุคที่ไดโนเสาร์เป็นใหญ่
โซนที่ 7
มหายุคซีโนโซอิก หรือมหายุคแห่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
หลังการสูญพันธ์ของไดโนเสาร์ สัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่เหลืออยู่ต้องหลีกทางให้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ทวีเผ่าพันธุ์อย่างรวดเร็วและพากันเข้ายึดครองภูมิประเทศกันหลากหลาย ทั้งทุ่งหญ้า ป่าทึบ ท้องทะเลและในอากาศ นี่คือโลกที่เราคุ้นเคยดีเพราะยังมีทายาทของช้าง ม้า แรด วาฬ ค้างคาว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มหลักๆ ให้เห็นเป็นตัวอย่างของวิวัฒนาการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วง 65 ล้านปี ที่ผ่านมาแม้แต่มนุษย์เองก็เป็นผลผลิตจากกระบวนการนี้ แบ่งออกเป็น 2 ยุคคือ ยุคพาลีโอจีน และยุคนีโอจีน
โซนที่ 8
เรื่องของมนุษย์
จาก “ไพรเมต” หรือสัตว์ในตระกูลลิง ที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ซึ่งถือว่าเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ ได้แยกตัวเองออกจากเผ่าพันธุ์ลิงใหญ่ เมื่อประมาณ 7 – 6 ล้านปีที่แล้ว และเริ่มวิวัฒนาการมาเป็นสัตว์ที่เดิน 2 ขา และอาศัยบนพื้นดินแต่ความโดดเด่นของมนุษย์อยู่ที่พัฒนาการทางสมอง และภูมิปัญญาที่มีความฉลาดกว่าสัตว์ประเภทอื่น ซึ่งเปิดโอกาสให้เราสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่ขวานหินไปจนถึงคอมพิวเตอร์

รางวัลที่ได้รับ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. https://www.dmr.go.th/%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7/#:~:text=%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88,%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%A3%20%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%81 ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว]
  2. 2.0 2.1 พลาดิสัย สิทธิธัญกิจ. ภูมิบ้านภูมิเมือง. แนวหน้า. ปีที่ 34 ฉบับที่ 11820. วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556. ISSN 1906-2362. หน้า 19
  3. หนังสือแหล่งซากดึกดำาบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2554 - 2563 (ฉบับที่ 1)
  4. 9 สถานที่ท่องเที่ยว" สุดประทับใจ คุณไปมาแล้วหรือยัง?[ลิงก์เสีย]
  5. "เว็บไซต์รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-11. สืบค้นเมื่อ 2013-09-10.
  6. "เว็บไซต์รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-11. สืบค้นเมื่อ 2013-09-10.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]