แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระดูกไดโนเสาร์พันธุ์ มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ที่ค้นพบที่ภูน้อย

แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านโคกสนาม หมู่ที่ 3 ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ตามแนวทิวเขาภูพาน เป็นสถานที่ที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์จากยุคจูแรสซิกที่มีความหลากหลายและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในประเทศไทย[1] จนได้รับขนานนามว่า "จูแรสซิกพาร์กเมืองไทย"[2]

แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยมีขนาดเนื้อที่ 1,200 ตารางเมตร หรือราว 3 เท่าของสนามบาสเกตบอล แต่ภายใต้ผืนดินนี้พบซากดึกดำบรรพ์เล็กใหญ่แล้วกว่า 5,000 ชิ้น[3] ภายในแหล่งขุดค้นมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์หลายชนิด เช่น[4] ไดโนเสาร์กินพืชและไดโนเสาร์กินเนื้อ ฉลามน้ำจืดชนิด อะโครดัส กาฬสินธุ์เอนซิส (Acrodus kalasinensis) ปลานักล่าชนิด อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี (Isanichthys lertboosi) ปลาปอดชนิด เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป (Ferganoceratodus annekempae) เต่าชนิด ภูน้อยคีลีส ธีรคุปติ (Phunoichelys thirakhupti) และ กาฬสินธุ์นีมีส ปราสาททองโอสถถิ (Kalasinemys prasarttongosothi) จระเข้ชนิด อินโดไซโนซูคัส โปตาโมสยามเอนซิส (Indosinosuchus potamosiamensis) และ อินโดไซโนซูคัส กาฬสินธุ์เอนซิส (Indosinosuchus kalasinensis) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลานบินได้ หอยน้ำจืด ไม้กลายเป็นหิน และ มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส (Minimocursor phunoiensis) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกและตัวที่ 13 ของไทย[5]

ประวัติ[แก้]

แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยได้รับการค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2551 โดยทองหล่อ นาคำจันทร์ พร้อมนำตัวอย่างไปที่ว่าการอำเภอ จากนั้นส่งต่อมายังพิพิธภัณฑ์สิรินธรเพื่อตรวจสอบ พบว่าเป็นชิ้นส่วนดึกดำบรรพ์เกล็ดปลาโบราณและชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ในยุคจูแรสซิกตอนปลาย อายุประมาณ 150 ล้านปี[6]

กรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้พื้นที่ภูน้อยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2563[7] ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 มีการศึกษาค้นคว้าเรื่อยมาและคาดว่ายังคงมีซากดึกดำบรรพ์อีกหลายชนิดรอการค้นพบอยู่ด้านล่างพื้นที่แห่งนี้ โดยจะมุ่งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านซากดึกดำบรรพ์รวมถึงเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยของนักวิจัยทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

อ้างอิง[แก้]

  1. ภูน้อย…ตำนานสัตว์โลก 150 ล้านปี แหล่งกำเนิดชีวิตบรรพกาล
  2. รู้จัก ไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทย "มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส"
  3. ทำความรู้จัก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 13 ของไทย
  4. "มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอสซิส" การค้นพลไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทยตัวที่ 13
  5. โชว์ไดโนเสาร์ภูน้อยสู่ดินแดนมหัศจรรย์ หลุมขุดค้นไดโนเสาร์ต.ดินจี่-กาฬสินธุ์
  6. รู้จัก 21 แหล่งซากดึกดำบรรพ์ของไทย
  7. "ประกาศกรมทรัพยากรธรณี เรื่อง ให้แหล่งซากดึกดำบรรพ์เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. กรุงเทพฯ: กรมทรัพยากรธรณี. 2020-02-26. สืบค้นเมื่อ 2024-02-09.