แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ในอุทยานแห่งชาติภูเวียง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลุมขุดค้นที่ 3
แผนที่ประเทศไทย แสดงการกระจายตัวของชั้นธรณีวิทยายุคครีเทเชียส โดยกลุ่มหินก่อนยุคครีเทเชียสน่าจะเป็นยุคจูแรสซิก

แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ในอุทยานแห่งชาติภูเวียง ตั้งอยู่ที่ห้วยประตูตีหมา เชิงภูประตูตีหมา ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น เป็นแหล่งค้นพบกระดูกไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทยใน พ.ศ. 2519

หลุมขุดค้น[แก้]

นับตั้งแต่ที่มีการค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกในประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณีโดยโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ได้ทำการสำรวจขุดค้นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนมีการค้นพบแหล่งไดโนเสาร์มากกว่า 10 แหล่ง พบกระดูกไดโนเสาร์จำนวนมากและหลายสายพันธุ์ รวมถึงรอยตีนไดโนเสาร์อีกมากกว่า 60 รอย

หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน เช่น จังหวัดขอนแก่น อำเภอภูเวียง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรมทรัพยากรธรณี ได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาแหล่งไดโนเสาร์และก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์จำนวน 4 แหล่งได้แก่ หลุม 1 หลุม 2 หลุม 3 และหลุม 9 ได้รับการพัฒนาโดยการก่อสร้างอาคารคุมหลุม โดยมีแผ่นกระจกใสให้นักท่องเที่ยวชมกระดูกไดโนเสาร์ ระหว่างหลุมขุดค้นได้จัดทำเส้นทางเดินเท้าเชื่อมต่อหากันทำให้สามารถเดินชมหลุมขุดค้นไดโนเสาร์ทั้ง 4 หลุมและยังได้ชื่นชมทัศนียภาพสองข้างทางในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียง

หลุมขุดค้นที่ 1[แก้]

หลังจากมีการค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกที่ห้วยประตูตีหมาใน พ.ศ. 2519 กรมทรัพยากรธรณีได้ดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมจนพบหลุมขุดค้นที่ 1 บนภูประตูตีหมาเมื่อ พ.ศ. 2525 พบเป็นกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอดซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่หลายชิ้น คัดเลือกเป็นกระดูกต้นแบบได้ 21 ชิ้น วินิจฉัยได้ว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอดสกุลและชนิดใหม่ ได้รับการตั้งชื่อว่า "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน" เพื่อเทอดพระเกียรติแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นอกจากนี้แล้วยังมีการค้นพบไดโนเสาร์อีก 3 ชนิด คือ ฟัน 9 ซี่ที่มีลักษณะเป็นรูปกรวยโค้งเล็กน้อยคล้ายฟันจระเข้แต่บนพื้นผิวของฟันมีลายนูนเป็นเส้นตามแนวความยาวของซี่ฟัน ลักษณะดังกล่าวไม่เคยค้นพบมาก่อน และจัดให้เป็นไดโนเสาร์ในกลุ่มสไปโนซอร์สกุลและชนิดใหม่ ได้รับการตั้งชื่อว่า "สยามโมซอรัส สุธีธรนี" ซึ่งในภายหลังมีการค้บพบฟันลักษณะดังกล่าวอีกหลายแห่ง

ในหลุมขุดค้นที่ 1 ยังมีการค้นพบกระดูกของไดโนเสาร์อีก 2 สกุลที่ยังวินิจฉัยชนิดไม่ได้ คือไดโนเสาร์คล้ายนกกระจอกเทศสกุล กินรีไมมัส และ คอมพ์ซอกเนธัส ถือได้ว่าหลุมขุดค้นที่ 1 พบไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธุ์

หลุมขุดค้นที่ 2[แก้]

หลุมขุดค้นที่ 2 อยู่บริเวณถ้ำเจีย พบเป็นกระดูกสันหลัง 6 ชิ้นของไดโนเสาร์ซอโรพอดของ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2532

หลุมขุดค้นที่ 3[แก้]

หลุมขุดค้นที่ 3 พบเป็นเศษกระดูกแตกหักกระจัดกระจายอยู่ในเนื้อหินทรายแข็งของหมวดหินเสาขัวยุคครีเทเชียสตอนต้น มีกระดูกเพียงชิ้นเดียวที่วินิจฉัยได้ว่าเป็นกระดูกเชิงกรานที่ทำให้ทราบได้ว่าเป็นของไดโนเสาร์ซอโรพอด อาจเป็นของไดโนเสาร์สกุลภูเวียงโกซอรัส โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพาคณะกรรมการรางวัลนานาชาติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เยือนหลุมขุดค้นที่ 3 นี้ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2551

หลุมขุดค้นที่ 9[แก้]

หลุมขุดค้นที่ 9 ค้นพบโดยนายสมชัย เตรียมวิชานนท์ นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี เมื่อ พ.ศ. 2536 พบในหินทรายของหมวดหินเสาขัวยุคครีเทเชียสตอนต้น (ประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว) พบกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกหางของไดโนเสาร์เทอร์โรพอด เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อกลุ่มเดียวกับ ที. เรกซ์ ศึกษาวิจัยแล้วพบว่าเป็นสกุลและชนิดใหม่ของโลก ได้รับการตั้งชื่อว่า "สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส" ถือเป็นไดโนเสาร์ในกลุ่มของ ที. เรกซ์ ที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งกล่าวได้ว่าไดโนเสาร์ในกลุ่มนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเซียแล้วกระจายเผ่าพันธุ์ออกไปถึงทวีปอเมริกาในช่วงยุคครีเทเชียสตอนปลาย

แหล่งสุสานหอย[แก้]

อยู่ห่างจากหลุมขุดค้นที่ 2 ประมาณ 40 เมตร เป็นชั้นหินทรายหมวดหินเสาขัวยุคครีเทเชียสตอนต้น (ประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว) ที่มีเปลือกหอยสะสมตัวอย่างหนาแน่น แผ่กระจายกว้างออกไป ชั้นหอยประกอบด้วยเปลือกหอยชนิดสองฝามากถึง 9 ชนิด แต่โดดเด่นด้วยเปลือกหอยสกุล ไทรโกนิออยดีส ซึ่งเป็นหอยน้ำจืด ทำให้ทราบได้ว่าเทือกเขาภูเวียงเมื่อ 130 ล้านปีก่อนเคยเป็นที่ราบกว้างมีแหล่งน้ำที่เป็นที่อยู่อาศัยของหอยชนิดต่างๆดังกล่าว

ลานสำรวจแร่ยูเรเนียม[แก้]

จากหลุม 3 ไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเวียง ระยะทางประมาณ 300 เมตรจะผ่านลานหินทรายกว้างซึ่งมีประวัติการเจาะสำรวจแร่ยูเรเนียมของกรมทรัพยากรธรณีระหว่างปี 2518 – 2523

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • วิฆเนศ ทรงธรรม และเบญจา เสกธีระ (2549) ไดโนเสาร์ภูเวียง เจ้าฟ้าสิรินธร กรมทรัพยากรธรณี กรุงเทพมหานคร 100 หน้า