อลิอันซ์ อยุธยา แคปปิตอล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ศรีอยุธยา แคปปิตอล)
บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)
ประเภทบริษัทมหาชน
การซื้อขาย
SET:AYUD
อุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน
ประกันภัยและประกันชีวิต
ก่อตั้ง7 ตุลาคม พ.ศ. 2493 (73 ปี)
สำนักงานใหญ่อาคารเพลินจิตทาวเวอร์ ชั้น 7, 898 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
บุคลากรหลัก
จำลอง อติกุล (ประธานกรรมการ)
ไบรอัน เจมส์ สมิธ (รองประธานกรรมการ)
รายได้เพิ่มขึ้น 4,014.12 ล้านบาท (2562)[1]
สินทรัพย์เพิ่มขึ้น 27,816.48 ล้านบาท (2562)[1]
ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 17,745.34 ล้านบาท (2562)[1]
เว็บไซต์www.ayud.co.th

บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: ALLIANZ AYUDHYA CAPITAL PUBLIC COMPANY LIMITED ชื่อย่อ:AYUD) [2] ก่อตั้งขื้นในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2493 เดิมชื่อ บริษัทศรีอยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินธุรกิจรับประกันวินาศภัยทุกประเภท ได้แก่ การประกันอัคคีภัย การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง การประกันภัยเบ็ดเตล็ด และการประกันภัยรถยนต์ ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554 บริษัทฯได้ดำเนินการโอนกิจการประกันวินาศภัย ไปให้แก่บริษัท ศรีอยุธยา เจเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน)(ชื่อเดิมคือบริษัท สุขุมวิทประกันภัย จำกัด และบริษัท บีที ประกันภัย จำกัด ตามลำดับ)ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ถูกถือหุ้นโดยบริษัทแม่แทนธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (ก่อนหน้านี้คือธนาคารไทยธนาคาร) มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552

พร้อมทั้งยังได้ทำการคืนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ในปีเดียวกัน จึงทำให้ปัจจุบัน บริษัทฯทำหน้าที่เป็นบริษัทในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัทในเครือไปแทน (หรือที่รู้จักในคำว่าโฮลดิ้งส์(Holdings)) โดยได้ทำหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้นให้แก่ 2 บริษัท ประกอบไปด้วย บริษัท ศรีอยุธยา เจเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทประกันวินาศภัย และบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิต เป็นต้น

ในปีพ.ศ. 2562 บริษัท ศรีอยุธยา แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ปิดกิจการ โดยรวมกับ บริษัท อลิอันซ์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)

เหตุการณ์สำคัญ[แก้]

เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561 บริษัทและบริษัทพันธมิตรคือ บริษัท อลิอันซ์ เอสอี (Allianz SE) และบริษัท ซีพีอาร์เอ็น (ประเทศไทย) จำกัด (CPRNT) ได้ร่วมลงนามในสัญญาการซื้อขายหุ้นของบริษัท และบริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยได้ร่วมลงนามในสัญญารับโอนกิจการและธุรกิจทั้งหมดกับบริษัท อลิอันซ์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน)[3] เนื่องจากการเข้าร่วมกิจการทางเชิงกลยุทธ์ของบริษัทดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 บริษัทจึงได้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2561 เพื่อพิจารณาและมีมติดังต่อไปนี้

  • ให้บริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อและรับโอนธุรกิจทั้งหมด ของบริษัท อลิอันซ์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในราคาทั้งสิ้น 748,800,000 บาท และเมื่อการซื้อและรับโอนกิจการทั้งหมด จากบริษัท อลิอันซ์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เสร็จสิ้นแล้ว ให้บริษัท ศรีอยุธยาเจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  • ให้บริษัทซื้อหุ้นสามัญในบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เพิ่มเติมอีกจำนวน 34,810,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท หรือร้อยละ 11.80 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดยซื้อจาก Allianz SE และ CPRNT ในราคาหุ้นละ 114.00745763 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานร่วมกันในธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยกับกลุ่มอลิอันซ์ ทั้งนี้ ทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมดมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4,717,399,600 บาท การซื้อหุ้นสามัญใน บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จะส่งผลให้บริษัทถือหุ้นสามัญในบริษัทดังกล่าว เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ถืออยู่จำนวน 59,500,280 หุ้น หรือประมาณ 20.17% ของหุ้น ที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 94,310,280 หุ้น หรือประมาณ 31.97% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
  • ให้บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทจาก 375,000,000 บาท เป็น 463,473,361 บาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 88,473,361 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาทและให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท
  • การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทจำนวน 88,473,361 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ Allianz SE และ CPRNT ในราคาเสนอขายหุ้นละ 53.32 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 4,717,399,600 บาท โดยจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท จำนวน 14,043,511 หุ้นเพื่อเสนอขายให้แก่ CPRNT และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทจำนวน 74,429,850 หุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ Allianz SE และ CPRNT โดย Allianz SE และ CPRNT จะชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทในส่วนนี้ด้วย หุ้นสามัญใน บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 34,810,000 หุ้น แทนการชำระค่าหุ้นด้วยเงินสด

เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2562 ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 70 ของบริษัท มีมติอนุมัติในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนชื่อของบริษัท จากเดิมชื่อ “บริษัท ศรีอยุธยา แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)” เป็น “บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)” (AYUD) และเปลี่ยนตราของบริษัท ตลอดจนการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และหรือข้อบังคับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนชื่อและตราของบริษัท โดยบริษัทได้ดำเนินการต่าง ๆ ตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าวข้างต้นเสร็จสมบูรณ์แล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562

ลักษณะธุรกิจ[แก้]

บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา แคปปิ ตอล จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ดำเนินธุรกิจหลักอยู่ในบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจด้านประกันวินาศภัย และมีการลงทุนในบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมที่ประกอบธุรกิจด้านการประกันชีวิต จำแนกออกเป็นผลิตภัณฑ์หลัก 4 ประเภท[3] ได้แก่

  1. การประกันภัยรถยนต์ ครอบคลุมการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตัวรถยนต์ หรืออุปกรณ์ติดประจำรถยนต์ การบาดเจ็บและการเสียชีวิต ตลอดจนความรับผิดตามกฎหมายสำหรับการเสียชีวิต การบาดเจ็บ หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งสามารถให้การคุ้มครองเฉพาะตามบทบัญญัติของกฎหมาย การคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหรือการประกันภัยโดยความสมัครใจของเจ้าของรถยนต์ เป็นต้น
  2. การประกันอัคคีภัย ครอบคลุมถึงการรับประกันภัยสิ่งปลูกสร้าง อาคาร ที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรม ทรัพย์สินในอาคาร สต๊อกสินค้า ตลอดจนเครื่องจักรและวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีเขตพื้นที่รับประกันภัยทั่วประเทศไทย โดยสามารถ ให้การคุ้มครองความเสียหายอันเกิดขึ้นจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ลมพายุ การขาดประโยชน์ในสิทธิการเช่า (Leasehold Insurance) และการสูญเสียรายได้จากการหยุดชะงักทางธุรกิจ (Business Interruption Insurance)
  3. การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง ครอบคลุมถึงการรับประกันภัยขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและภายในประเทศ โดยทางเรือเดินทะเลชายฝั่งในแม่น้ำลำคลอง การขนส่งทางบกโดยรถยนต์ รถไฟ ตลอดจนการขนส่งสินค้าทางเครื่องบิน และไปรษณีย์พัสดุภัณฑ์ โดยนอกจากการคุ้มครองความสูญเสียหรือเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสินค้าในระหว่างการขนส่งแล้ว ยังสามารถให้การคุ้มครองความเสียหายต่อตัวเรือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ประจำเรือ หากได้รับความเสียหายจากภัยทางทะเล เช่น คลื่น ลมพายุหรือจากอุบัติเหตุต่าง ๆ รวมถึงการคุ้มครองความรับผิดของเจ้าของเรือในกรณีที่มีเหตุให้เกิดความเสียหายต่อเรือลำอื่นอีกด้วย
  4. การประกันภัยเบ็ดเตล็ด ครอบคลุมการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับทรัพย์สิน ความรับผิดตามกฎหมาย งานวิศวกรรม และการคุ้มครองเกี่ยวกับบุคคล เช่น การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันอุบัติเหตุกลุ่ม การประกันภัยอุบัติเหตุระหว่างเดิทางในประเทศหรือต่างประเทศ การประกันภัยโรคมะเร็ง การประกันภัยสำหรับรายย่อย การประกันภัยโจรกรรม การประกันภัยสำหรับเงิน การประกันภัยเครื่องจักร การประกันภัยการติดตั้ง การประกันภัยการก่อสร้าง การประกันภัยเงินทดแทนแรงงาน การประกันเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ การประกันภัยความรับผิดชอบของนายจ้างการประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด การประกันบัตรเครดิต การประกันภัยกระจก การประกันภัยเครื่องมือเครื่องจักรของผู้รับเหมา เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทย่อยยังมีการดำเนินธุรกิจในการเอาประกันภัยต่อ และรับประกันภัยต่อระหว่างบริษัทรับประกันภัยในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยรวม เพื่อให้สามารถกระจายความเสี่ยงภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยลักษณะของธุรกรรมประกันภัยต่อจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การประกันภัยต่อแบบเฉพาะราย (Facultative Reinsurance) และการประกันภัยต่อแบบตกลงสัญญา (Treaty Reinsurance)

ธุรกิจอีกส่วนหนึ่งคือกิจกรรมทางด้านการลงทุน ซึ่งบริษัทลงทุน เพื่อให้เกิดการเพิ่มรายได้ในหลายรูปแบบ เช่น ให้กู้ยืมเงิน ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซื้อหุ้น ซื้อเงินลงทุนระยะสั้น ฝากธนาคาร และลงทุนในธุรกิจประเภทอื่น ๆ ซึ่งการลงทุนประเภทดังกล่าวนั้น บริษัทยึดหลักการที่จะลงทุนในธุรกิจที่มั่นคง และให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาว นอกจากนี้การลงทุนของบริษัทย่อยก็จะต้องลงทุนโดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขของประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2556 และอยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่[แก้]

ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564[4]
ลำดับที่ รายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้นสามัญ สัดส่วนการถือหุ้น
1 DEUTSCHE BANK AG, FRANKFURT A/C CLIENTS ACCOUNT-DCS 151,550,770 38.93%
2 ซีพีอาร์เอ็น (ประเทศไทย) จำกัด 37,429,491 9.62%
3 บริษัท บีบีทีวี เอ็คควิตี้ จำกัด 32,862,050 8.44%
4 บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด 28,802,500 7.40%
5 บริษัท ทุนมหาโชค จำกัด 17,249,475 4.43%
6 นาย กฤตย์ รัตนรักษ์ 14,867,700 3.82%
7 ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 12,124,600 3.11%
8 บริษัท ทองไทย (1956) จำกัด 9,610,000 2.47%
9 CITIBANK NOMINEES SINGAPORE PTE LTD-UBS SWITZERLAND AG 8,158,800 2.10%
10 บริษัท ทุนมหาลาภ จำกัด 7,045,250 1.81%

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 งบการเงิน/ผลประกอบการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  2. สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  3. 3.0 3.1 รายงานประจำปี 2562[ลิงก์เสีย] อลิอันซ์ อยุธยา แคปปิตอล
  4. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เก็บถาวร 2021-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย