ข้ามไปเนื้อหา

ประกันภัยยานพาหนะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประกันภัยยานพาหนะ หรือประกันภัยรถยนต์ เป็นหนึ่งในประเภทของประกันภัยในหมวดการประกันทรัพย์สิน (Property Insurance) ถูกจัดเป็นการประกันวินาศภัยประเภทหนึ่ง[1] นั่นก็คือการประกันภัยสำหรับรถยนต์ รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ และยานพาหนะอื่น ๆ บนท้องถนน การใช้หลัก ๆ คือการใช้เงินเพื่อคุ้มกันความเสียหายหรือการบาดเจ็บทางกายที่เกิดจากการชนกันบนท้องถนน และเพื่อป้องกันความรับผิดที่อาจเกิดจากเหตุดังกล่าวได้ การประกันรถยนต์อาจเสนอการคุ้มกันด้วยเงินเพิ่มเติมในกรณียานพาหนะถูกโจรกรรม และความเสียหายที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ นอกจากอุบัติเหตุ เช่น การถูกขีดข่วน อากาศหรือภัยธรรมชาติ และคุ้มกันความเสียหายจากการชนวัตถุที่อยู่นิ่ง ในแต่ละประเทศอาจมีกฎข้อบังคับเกี่ยวกับประกันภัยแตกต่างกันไป

ประวัติ

[แก้]

การใช้รถยนต์เริ่มแพร่หลายในย่านเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รถยนต์ค่อนข้างวิ่งเร็วและอันตราย แต่ยังไม่มีการบังคับใช้ประกันภัยรถยนต์ที่ใดในโลก หมายความว่าเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายมักไม่ได้รับค่าชดเชยหลังเกิดอุบัติเหตุ และคนขับมักประสบกับค่าใช้จ่ายจำนวนมากไปกับความเสียหายของรถยนต์และทรัพย์สิน

การบังคับใช้ประกันรถยนต์เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ในชื่อ พระราชบัญญัติการจราจรบนท้องถนน ค.ศ. 1930 (Road Traffic Act 1930) ทำให้มั่นใจว่าเจ้าของยานพาหนะและคนขับจะต้องได้รับประกันต่อความผิดเกี่ยวกับการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของบุคคลที่สาม ขณะที่มีการใช้ยานพาหนะบนท้องถนนสาธารณะ[2] ประเทศเยอรมนีบังคับใช้กฎหมายแบบคล้ายกันเรียกว่า "พระราชบัญญัติการใช้ประกันภัยโดยบังคับสำหรับเจ้าของยานพาหนะ" (Act on the Implementation of Compulsory Insurance for Motor Vehicle Owners)[3]

ความหมายของประกันรถยนต์ทางกฎหมาย

[แก้]

บุคคลที่เป็นผู้ทำประกันภัยรถยนต์ เรียกว่า "ผู้เอาประกันภัย" ได้กระจายและโอนความเสี่ยงเกี่ยวกับทรัพย์สิน คือ "รถยนต์" ให้กับ "ผู้รับประกันภัย" นั่นก็คือ "บริษัทประกัน" รับเสี่ยงแทน โดยมีการจ่ายเงินในลักษณะรายเดือน หรือ รายปี เพื่อเป็นเบี้ยประกันให้สำหรับผู้รับประกันภัย เพื่อเป็นการตอบแทนในการรับความเสี่ยงนั้น

เมื่อรถยนต์ได้รับความเสียหายจากการขับขี่ หรือ บุคคล ทรัพย์สิน ทั้งที่อยู่นอกตัวรถ และในรถ ได้รับความเสียหาย ผู้เอาประกันจะสามารถเรียกร้องค่าชดใช้ โดยค่าชดใช้นี้จะถูกเรียกว่า "ค่าสินไหมทดแทน" ซึ่งอาจเป็นมูลค่าที่เกิดขึ้นจริง หรือต่ำกว่า แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ได้ตกลงทำสัญญากันไว้ในกรมธรรม์

โดยสรุปประกันรถยนต์สามารถคุ้มครองและลดความเสี่ยงทางด้านการเงิน จากการใช้รถยนต์โดยความคุ้มครองประกอบด้วย

  1. ความเสียหายที่เกิดแก่รถยนต์
  2. ความเสียหายที่รถยนต์ได้ทำให้เกิดขึ้น ต่อชีวิต ทรัพย์สิน ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลอื่น ทั้งที่อยู่ภายในรถและนอกรถ

ประเภทของประกันรถยนต์

[แก้]

ประเภทของประกันที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ ถูกจัดให้เป็นสากลทั่วโลก โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ประกันรถยนต์แบบบังคับ และ แบบสมัครใจ โดยมีความแตกต่างกัน

ประกันรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance)

[แก้]

คนไทยรู้จักกันในชื่อย่อคือ ประกันภัย พ.ร.บ. โดยที่รถยนต์ทุกคันจะต้องทำประกันนี้ โดยเป็นแบบบังคับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยประกันภัยตัวนี้จะให้ความคุ้มครองพื้นฐานและรับผิดชอบต่อความสูญเสีย ต่อชีวิต ร่างกาย ของผู้ประสบภัยจากรถยนต์ หากเกิดอุบัติเหตุขณะใช้ยานพาหนะ พ.ร.บ. ก็จะคุ้มครองในส่วนค่ารักษาพยาบาลทั้งคนขับ ผู้โดยสาร และคู่กรณี

สำหรับค่าใช้จ่ายของประกัน พ.รบ. ถูกแบ่งออกเป็น 12 ประเภทราคา สำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์ [4]

ลำดับ ประเภทรถและขนาดเครื่องยนต์ การใช้รถยนต์
รหัส ส่วนบุคคล

(บาท/ปี)

รหัส รับจ้าง/ให้เช่า/สาธารณะ

(บาท/ปี)

1. รถจักรยานยนต์ 1.30 2.30  3.30
1.1 ไม่เกิน 75 ซี.ซี. 150 150
1.2  เกิน 75 ซี.ซี.ไม่เกิน 125 ซี.ซี. 300 350
1.3 เกิน 125 ซี.ซี. ไม่เกิน 150 ซี.ซี. 400 400
1.4 เกิน 150 ซี.ซี. 600 600
2. รถสามล้อเครื่อง 1.70 2.70  3.70
2.1 ในเขต กทม. 720 1,440
2.2 นอกเขต กทม. 400 400
3. รถสกายแลป 1.71 400 2.71  3.71 400
4. รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน 1.10 600 2.10  3.10 1,900
5. รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน ขนาดที่นั่ง 1.20 2.20  3.20
5.1 ไม่เกิน 15 ที่นั่ง 1,100 2,320
5.2 เกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง 2,050 3,480
5.3 เกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง 3,200 6,660
5.4 เกิน 40 ที่นั่ง 3,740 7,520
รถยนต์โดยสารหมวด 4
(วิ่งระหว่างอำเภอกับอำเภอในจังหวัด)
5.5 ไม่เกิน 15 ที่นั่ง - 1,580
5.6 เกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง - 2,260
5.7 เกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง - 3,810
5.8 เกิน 40 ที่นั่ง - 4,630
6. รถยนต์บรรทุก 1.40 2.40  3.40
6.1 น้ำหนัก ไม่เกิน 3 ตัน 900 1,760
6.2 น้ำหนัก เกิน 3 ตัน ไม่เกิน 6 ตัน 1,220 1,830
6.3 น้ำหนัก เกิน 6 ตัน ไม่เกิน 12 ตัน 1,310 1,980
6.4 น้ำหนัก เกิน 12 ตัน 1,700 2,530
7. รถยนต์บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส หรือกรด 1.42 2.42  3.42
ขนานน้ำหนักรวม
7.1 ไม่เกิน 12 ตัน 1,680 1,980
7.2 เกิน 12 ตัน 2,320 3,060
8. หัวรถลากจูง 1.50 2,370 2.50  3.50 3,160
9. รถพ่วง 1.60 600 2.60  3.60   600
10. รถยนต์ป้ายแดง(การค้ารถยนต์) 4.01 1,530
11. รถยนต์ที่ใช้ในการเกษตร 4.06     90
12. รถยนต์ประเภทอื่นๆ 4.07   770

และมีการแบ่งอีก 3 ประเภทสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า[4]

ลำดับ ประเภทรถและขนาดเครื่องยนต์ การใช้รถยนต์
รหัส ส่วนบุคคล

(บาท/ปี)

รหัส รับจ้าง/ให้เช่า/สาธารณะ

(บาท/ปี)

1. รถจักรยานยนต์ 1.30E 300 2.30E  3.30E 350
2. รถสามล้อ 1.70E 500 2.70E  3.70E 1,440
3. รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน 1.10E 600 2.10E  3.20E 1,900

ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ (Voluntary Motor Insurance)

[แก้]

เป็นการทำประกันระหว่าง ผู้เอาประกันภัย กับ ผู้รับประกันภัย หรือบริษัทประกัน โดยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองรูปแบบต่างๆได้โดยไม่มีการบังคับทางกฎหมาย โดยการรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกินจาก ประกันภัย พ.ร.บ.

ในปี 2564 ประกันรถยนต์แบบสมัครใจ[5] ถูกแบ่งออกเป็น 5 ประเภท หลัก[6]

  1. ประกันรถยนต์ ประเภท 1
  2. ประกันรถยนต์ ประเภท 2
  3. ประกันรถยนต์ ประเภท 3
  4. ประกันรถยนต์ ประเภท 4 (กรมธรรม์คุ้มครองต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก)
  5. ประกันรถยนต์ ประเภท 5 (ประกันรถยนต์คุ้มครองภัยเฉพาะ) มีอีกชื่อหนึ่งว่า 2 พลัส และ 3 พลัส

ประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1

[แก้]

เป็นประกันภัยรถยนต์ที่มีเบี้ยราคาสูงที่สุด แต่ให้ความคุ้มครองมากที่สุดเมื่อเทียบกันกับประกันรถยนต์ภาคสมัครใจประเภทอื่นๆ เหมาะกับรถยนต์ป้ายแดงหรือมือใหม่ที่เพิ่งหัดขับรถยนต์ โดยมีความคุ้มครองหลัก 3 ประการ

  • ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก มีจำนวนเงินเอาประกันภัยไม่น้อยกว่า 500,000 บาท ต่อคน โดยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นกับ ชีวิต และ ร่างกาย ของบุคคลภายนอก แต่ไม่ได้รับผิดในด้านกฎหมาย ที่ผู้ขับขี่อาจเป็นผู้กระทำผิด แม้ไม่ใช่ผู้ขับขี่ที่มีชื่ออยู่ในกรมธรรม์ก็ตาม นอกจากนี้ ความรับผิดครอบคลุมถึง ความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยและบุคคลภายนอก โดยค่าสินไหมจะไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันที่ระบุไว้ในสัญญาหรือกรมธรรม์
  • ความรับผิดเมื่อรถยนต์สูญหาย น้ำท่วม หรือ ไฟไหม้ การรับผิดชอบของบริษัทประกัน ที่ผู้เอาประกัน ได้ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้ จะครอบคลุมถึงการสูญหายของรถยนต์ รวมถึงเครื่องตกแต่ง อุปกรณ์ตกแต่ง ตามมาตรฐาน รวมถึงอุปกรณ์ที่ตกแต่งทำเพิ่มขึ้นด้วย แต่การรับผิดชอบต่อการสูญหายนั้นไม่รวมถึงการกระทำผิดฐานฉ้อโกง เพิ่มเติมเกี่ยวกับรถยนต์ไฟไหม้ บริษัทประกันวินาศภัยจะชดใช้ ไม่ว่าจะเป็นการไหม้จากเหตุผลใดก็ตาม
  • ความเสียหายต่อรถยนต์ รวมถึงตัวรถยนต์ อุปกรณ์ ของตกแต่งรถ และ อุปกรณ์มาตรฐานที่ถูกติดตั้งมาจากโรงงาน หรือ ศูนย์จำหน่ายรถยนต์ อย่างไรก็ดี ของตกแต่งรถใหม่ที่เกิดขึ้น จะต้องมีการแจ้งบริษัทประกันให้ทราบก่อนจึงจะเป็นส่วนที่ทางบริษัทประกันรับผิดชอบค่าเสียหาย

โดยสรุปประกันรถยนต์ประเภท 1 คุ้มครองรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย และ คู่กรณี โดยรับผิดชอบแม้ไม่มีคู่กรณี รวมถึงการประกันตัวในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกควบคุมตัวในคดี

ประกันภัยรถยนต์ ประเภท 2

[แก้]

ประกันภัยรถยนต์ประเภทนี้ มีราคาใกล้เคียงกันกับประเภท 1 โดยมีความแตกต่างกันหลักที่ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดกับตัวรถยนต์ คือบริษัทประกันจะไม่จ่ายค่าชดเชยหากไม่มีคู่กรณีที่เป็นยานพาหนะ เช่นการขับรถชนต้นไม้ เสาไฟฟ้า เป็นต้น ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2 เหมาะกับผู้ที่มีความชำนาญในการขับขี่สูงและต้องการประหยัดเบี้ยประกันภัย

ประกันภัยรถนต์ ประเภท 3

[แก้]

มีราคาค่าเบี้ยประกันต่ำกว่า สองประเภทแรก ด้วยราคาที่ต่ำกว่าทำให้การคุ้มครองลดลง โดยจะไม่คุ้มครองรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย แต่จะคุ้มครองเฉพาะบุคคลภายนอก และคู่กรณีเท่านั้น แต่สำหรับค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าสินไหมในกรณีเสียชีวิตจะมีการคุ้มครองทั้งผู้เอาประกันภัยและบุคคลภายนอกตามปกติ

ประกันรถยนต์ ประเภท 4

[แก้]

เป็นประกันภัยรถยนต์ที่คุ้มครองต่อบุคคลภายนอกโดยเฉพาะ บริษัทประกันจะสามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับบุคคลภายนอกตามความเสียหายที่แท้จริง ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือ ต่อครั้ง เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีการใช้รถยนต์อยู่เป็นประจำ

ประกันรถยนต์ประเภท 5

[แก้]

ถูกแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ซึ่งครอบคลุมความเสียหายที่มีต่อร่างกาย ชีวิต และ อนามัยของบุคคลภายนอก หรือ รถยนต์ของคู่กรณี รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับรถยนต์ที่เอาประกัน และยังคุ้มครองต่อการสูญหายและไฟไหม้อีกด้วย

ประกันรถยนต์ประเภท 5 แบบประกัน 2 พลัส (2+)
[แก้]

คล้ายกันกับประกันภัยรถยนต์ ประเภท 2 โดยมีการเพิ่มความรับผิดต่อความเสียหายกับตัวรถที่เอาประกันภัยและที่ชนกับพาหนะทางบกเท่านั้น

ประกันรถยนต์ประเภท 5 แบบประกัน 3 พลัส (3+)
[แก้]

เช่นเดียวกันกับประกันแบบ 2 พลัส แต่ไม่คุ้มครองในกรณีไฟไหม้ และ สูญหาย

ตารางสรุปความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ[6]

[แก้]
ประเภท/

ความคุ้มครอง

หมวดการความรับผิดต่อบุคคลภายนอก หมวดการ

คุ้มครองรถยนต์ สูญหาย ไฟไหม้

หมวดการคุ้มครอง

ความเสียหายต่อ รถยนต์

ความเสียหายต่อชีวิต

ร่างการ หรืออนามัย

ความเสียหายต่อ

ทรัพย์สิน

ประเภท 1
ประเภท 2
ประเภท 3
ประเภท 4
ประเภท 2+ เฉพาะรถยนต์
ประเภท 3+ เฉพาะรถยนต์

อ้างอิง

[แก้]
  1. "การประกันภัยรถยนต์". สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย.
  2. "Road Traffic Act 1930". www.legislation.gov.uk (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-03-28.
  3. "Germany's law on compulsory motor insurance marks its 75th anniversary" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-03-28.[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 "อัตราเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ." สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย.
  5. "เคลมประกัน ตอนเกิดอุบัติเหตุ เราและคู่กรณีต้องทำอย่างไรบ้าง". เพื่อนแท้เงินด่วน. 2023-05-03.
  6. 6.0 6.1 TGIA. "การประกันภัยรถยนต์คืออะไร?". www.tgia.org (ภาษาอังกฤษ).