เนินปราสาท (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)
ฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าของเนินปราสาท | |
ที่ตั้ง | ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย |
---|---|
ประเภท | อาคาร |
ส่วนหนึ่งของ | อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย |
ความเป็นมา | |
สร้าง | ไม่ปรากฏ |
ละทิ้ง | ไม่ปรากฏ |
สมัย | สุโขทัย |
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ | |
ผู้ขุดค้น | กรมศิลปากร |
สภาพ | ซากปรักหักพัง |
ผู้บริหารจัดการ | กรมศิลปากร |
การเปิดให้เข้าชม | ทุกวัน 06.00-21.00 น. |
สถาปัตยกรรม | |
รูปแบบสถาปัตยกรรม | สุโขทัย |
ข้อมูลสถาปัตยกรรม | ได้รับอิทธิพลจากลังกา |
เกณฑ์ | วัฒนธรรม: (i), (iii) |
ขึ้นเมื่อ | 1991 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร |
เลขอ้างอิง | 574 |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | เนินปราสาท |
ขึ้นเมื่อ | 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย |
เลขอ้างอิง | 0004036 |
เนินปราสาท เป็นโบราณสถานภายในกำแพงของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ
ลักษณะทางกายภาพ
[แก้]โบราณสถานประกอบด้วยฐานอาคารอบฐานบัวคว่ำบัวหงาย ลักษณะเป็นฐานสูงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ขนาด 27.5 x 51.5 เมตร มีบันไดที่ด้านหน้าและด้านหลังอย่างละหนึ่งแห่ง[1]: 15
ฐานอาคาร
[แก้]พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสำรวจเมืองเก่าสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 2450 และทรงสันนิษฐานว่า เนินดินรูปสี่เหลี่ยมรีที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ น่าจะเป็นลานปราสาทและปราสาท[2]
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่า การขุดค้นทางโบราณคดีไม่พบหลักฐานที่พอจะบ่งชี้ได้ว่าสถานที่นี้เป็นปราสาทราชวัง อีกทั้งแผนที่เก่าทำในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็บ่งบอกว่าเป็นบริเวณเดียวกันกับวัดมหาธาตุ กล่าวคือเป็นสิ่งก่อสร้างเนื่องในทางศาสนาของวัดมากกว่าเป็นพระราชวัง[1]: 15
แต่เดิมพระราชวังของพระมหากษัตริย์สุโขทัยควรเป็นตำหนักไม้ ตำแหน่งที่ตั้งควรอยู่เหนือศาลตาผาแดง ติดกับวัดสรศักดิ์ทางทิศตะวันตก ซึ่งศิลาจารึกวัดสรศักดิ์กล่าวว่า เป็นตำหนักของเจ้านายสุโขทัย เมื่อตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งเช่นนี้จะตรงกันกับตำแหน่งของพระราชวังกษัตริย์แบบเขมรที่เมืองพระนครหลวง หรือนครธม[1]: 15 บริเวณอาคารอาจเปรียบเทียบได้กับท้องพระโรงของพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 ในพระราชวังเมืองโปลนนารุวะ หรือถ้าไม่เป็นพระราชวังก็อาจเป็นที่รักษาโรคหรือประกอบพิธีกรรมรักษาโรค เพราะพบพวกตลับยา ตามข้อสันนิษฐานของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์[3]: 35
ส่วนฐานอาคารที่พบ ยังไม่สามารถใช้สรุปได้แน่ชัดว่าเป็นฐานของอะไร เพราะเป็นเพียงฐานอาคารยกสูง ส่วนบนจึงน่าจะเป็นอาคารไม้[3]: 35
สุจิตต์ วงษ์เทพ กล่าวว่า โบราณสถานของสุโขทัยมักได้รับอิทธิพลมาจากลังกา เนินปราสาทจึงคาดว่าเป็นมหาสันนิบาตศาลา เป็นศาลาขนาดใหญ่ไว้สำหรับทำบุญ หรือประกอบศาสนพิธี[4]
โบราณวัตถุ
[แก้]ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เสนอว่าหลักฐานทางโบราณคดีที่กรมศิลปากรขุดค้นพบที่เนินปราสาท เช่น ภาชนะดินเผาประเภทเครื่องเคลือบ พบตั้งแต่ชั้นดินอยู่อาศัยระยะแรกสุดสมัยก่อนสุโขทัย โดยเฉพาะเครื่องถ้วยราชวงศ์ซ้อง, เครื่องถ้วยชิงไป๋ที่มีขนาดเล็กจำพวกกระปุก, ตลับ โดยพบร่วมกับเครื่องถ้วยเขมร นอกจากนั้นในชั้นดินอื่น ๆ ยังพบเครื่องถ้วยราชวงศ์หยวน, ราชวงศ์หมิง, เครื่องถ้วยสุโขทัย เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นเขตที่อยู่อาศัย มิใช่ศาสนสถาน[3]: 35
เครื่องถ้วยที่พบเป็นเครื่องถ้วยที่มีคุณภาพดี พบจำนวนมาก แตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ที่พบน้อยหรือพบเพียงเครื่องปั้นดินเผาไม่เคลือบที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน ประกอบกับที่ตั้งของบริเวณนี้เป็นที่สูง และอาจเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเนินปราสาทนี้น่าจะเป็นชนชั้นสูงหรืออาจเป็นเขตพระราชวังได้[3]: 35
จารึก
[แก้]โบราณสถานแห่งนี้เป็นที่ค้นพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 ปรากฏข้อความในจดหมายเหตุ และสมุดไทยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้กล่าวไว้ว่า
“เมื่อศักราช 1195 ปีมเสง เบญศก (พ.ศ. 2376) จะเสด็จขึ้นไปประภาสเมืองเหนือมัศการเจตียสฐานต่าง ๆ ... ครั้น ณ วันขึ้นหกค่ำกลับมาลงเรือ เจ็ดค่ำเวลาเที่ยงถึงท่าธานี เดินขึ้นไปเมืองศุโขทัยถึงเวลาเยน อยู่ที่นั้นสองวัน เสด็จไปเที่ยวประภาษพบแท่นสีลาแห่งหนึ่ง อยู่ริมเนินปราสาทก่อไว้เปนแท่นหักพังลงมาตะแคงอยู่ที่เหล่านั้น ชาวเมืองเขาเครพย์ (เคารพ) สำคัญเป็นสานเจ้า เขามีมวยสมโพธทุกปี ... รับสั่งให้ฉลองลงมา ก่อเปนแท่นขึ้นไว้ใต้ต้นมะขามที่วัดสมอราย กับเสาสิลาที่จารึกเปนหนังสือเขมรฯ ที่อยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เอามาคราวเดียวกับแท่นสีลา”[5]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะดำรงพระอิสริยศเป็นน้องยาเธอ) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และในราวปี พ.ศ. 2376 ได้ออกเสด็จจาริกธุดงค์ไปยังหัวเมืองเหนือ เมื่อครั้งเสด็จถึงสุโขทัย ทรงพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง, ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง และพระแท่นมนังศิลาบาตร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. 2546.
- ↑ สำรวจ. พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว. 2520
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม. 2547.
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทพ. เนินปราสาทตรงข้ามวัดมหาธาตุสุโขทัย ไม่ใช่วังพระร่วง. มติชน. 2562.
- ↑ สัมมนา. สมุดไทยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์. 2520.