ข้ามไปเนื้อหา

เตาทุเรียง

พิกัด: 17°28′34″N 99°45′17″E / 17.47611°N 99.75472°E / 17.47611; 99.75472
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เตาทุเรียง
เตาสังคโลก
หนึ่งในเตาทุเรียงที่พบในบริเวณทางตอนเหนือของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
เตาทุเรียงตั้งอยู่ในประเทศไทย
เตาทุเรียง
แผนที่บริเวณที่ค้นพบเตาทุเรียง
พิกัด17°28′34″N 99°45′17″E / 17.47611°N 99.75472°E / 17.47611; 99.75472
ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ความเป็นมา
วัสดุอิฐ
สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18 – 22
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนกลุ่มโบราณสถาน เตาเผาเครื่องเคลือบดินเผา
ขึ้นเมื่อ10 พฤษภาคม พ.ศ. 2547
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในจังหวัดสุโขทัย
เลขอ้างอิง0004123
กำหนดพื้นที่12 เมษายน พ.ศ. 2531

เตาทุเรียง หรือ เตาสังคโลก เป็นชื่อเรียกเตาเผาถ้วยชามสังคโลก ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 18 ถึง 22 มักพบอยู่ในบริเวณใกล้แหล่งน้ำเพราะน้ำเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน หมักดิน และปั้นเป็นภาชนะต่าง ๆ แล้วจึงไปสู่ขั้นตอนของการเผาภาชนะ อีกทั้งแหล่งน้ำยังใช้เป็นเส้นทางการส่งออกที่สำคัญอีกด้วย

เตาทุเรียงที่สำรวจพบมีอยู่ 3 บริเวณ คือ เตาทุเรียงบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย, เตาทุเรียงป่ายาง, และเตาทุเรียงเกาะน้อย

ชื่อเรียก

[แก้]

คำว่า "ทุเรียง" เป็นคำในภาษามอญโบราณ (ဒုင်လေင်)[1] แปลว่า จาน ส่วน "สังคโลก" มาจากคำว่า "สังคลก" หรือ "สังโกก" ในภาษามอญโบราณที่แปลว่า เตาเผา[2]

ในสมัยยุคอาซูจิ–โมโมยามะ ช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 21 มีการค้นพบคำในบันทึกของชาวญี่ปุ่น คือ ซันโกโรกุ (ญี่ปุ่น: 宋胡禄) หมายถึง เครื่องถ้วยดินเผาที่ทำมาจากสวรรคโลก[3] (แหล่งหรือเตาเผาที่เมืองศรีสัชนาลัย เดิมเรียก สวรรคโลก[4]) โดยเครื่องถ้วยเหล่านี้ทำมาจาก เตาทุเรียง (ญี่ปุ่น: トゥリアン窯)[5] บางแหล่งกล่าวว่า เตาทุเรียง มีลักษณะคล้ายกับทุเรียน จึงเป็นที่มาของชื่อ[6]

แหล่งที่พบ

[แก้]

กลุ่มเตาทุเรียงบริเวณเมืองเก่า

[แก้]

สำรวจพบในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย อยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองสุโขทัย ใกล้กับวัดพระพายหลวงตามแนวฝั่งลำน้ำโจน เป็นเนินดินที่ชาวบ้านเรียกว่า เนินร่อนทอง นักโบราณคดีได้สำรวจพบเตาสังคโลกจำนวนไม่น้อยกว่า 49 เตา และในบริเวณที่พบเตาสังคโลก ยังปรากฏพบเศษถ้วยชามสังคโลกอยู่เป็นจำนวนมาก

เตาสังคโลกที่พบในบริเวณนี้ มีลักษณะเป็นเตาเผาแบบอิฐ กว้างขนาด 1.50–2 เมตร และยาวขนาด 4–5 เมตร มีรูปแบบคล้ายกับประทุนเกวียน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ที่จุดเชื้อเพลิง ที่วางถ้วยชามและปล่องไฟระบายความร้อน คาดว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 อีกทั้งยังพบภาชนะถ้วยชามที่เป็นของใช้สอยเป็นส่วนใหญ่ เป็นเครื่องปั้นที่เคลือบสีน้ำตาลหรือสีดำแล้วเคลือบใสสีเขียวอ่อน และในการเผามักจะใช้กี๋ ซึ่งเป็นจานที่มีขา มีปุ่ม 5 ปุ่ม วางคั่นระหว่างชามแต่ละใบ และยังมีการค้นพบเตาทุเรียงอีก 49 แห่งใน 3 พื้นที่ด้วยกัน คือ พบเตาทุเรียง 37 แห่งทางทิศเหนือของคูเมือง ทิศใต้ 9 แห่งใกล้กับกำแพงเมือง และทิศตะวันออกอีก 3 แห่ง[7]

กลุ่มเตาทุเรียงป่ายาง

[แก้]
หนึ่งในเตาทุเรียงที่พบในกลุ่มเตาทุเรียงป่ายาง

สำรวจพบในบริเวณบนเนินดินและคันดินสูง อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม ห่างจากตัวเมืองศรีสัชนาลัยไปทางทิศเหนือประมาณ 600–700 เมตร ในเขตตำบลป่ายาง อำเภอศรีสัชนาลัย จากการสำรวจของกรมศิลปากรพบว่ามีเตาสังคโลกอยู่ประมาณ 21 เตา ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเนินดินดินที่ทับถมสูง 2–4 เมตร ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำยม

เตาในกลุ่มบ้านป่ายางมีลักษณะและรูปร่างเป็นเตาประทุน หรือเป็นเตาเผาชนิดที่มีความร้อนไหลผ่านในแนวนอน ทำให้เตาเผาชนิดนี้เป็นเตาที่ให้ความร้อนสูง และสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดี ใช้เป็นภาชนะประเภทเนื้อแกร่งและเครื่องเคลือบทั่วไป[8]: 32 

กลุ่มเตาทุเรียงเกาะน้อย

[แก้]

สำรวจพบในบริเวณที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ โดยมีแม่น้ำยมไหลผ่านทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำยมขนาดใหญ่ มีภูเขาอยู่ห่างออกไปในบริเวณบ้านดงยางและบ้านป่าคา บ้านเกาะน้อยอยู่ห่างจากตัวเมืองศรีสัชนาลัยออกไปทางทิศเหนือประมาณ 4–5 กิโลเมตร ลักษณะทั่วไปเป็นกลุ่มเตาเผาที่อยู่ทั้งบนดินและใต้ดิน จากสำรวจพบว่า มีเตาเผาอยู่ในบริเวณบ้านเกาะน้อยไม่ต่ำกว่า 200 เตา ลักษณะเตาเผาที่บ้านเกาะน้อยมีหลายรูปแบบแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับหน้าที่การใช้งาน[9]: 33 

อ้างอิง

[แก้]
  1. ဒေါင်းလန်းကြီး ပွဲတော်စာ. ရိုးရာလေ [yoyarlay.com]. 17 ตุลาคม 2015.
  2. วินัย พงศ์ศรีเพียร (4 มิถุนายน 2020). การบรรยาย "สุโขทัยคดี" ครั้งที่ 7. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) – โดยทาง YouTube. ที่เวลา 2:12:20.
  3. 『タイの事典』. 同朋舎出版 (ภาษาญี่ปุ่น). 1 มีนาคม 1993. pp. 173–174. ISBN 978-4-8104-0853-9.
  4. "จังหวัดสวรรคโลก : เมืองเก่าที่ถูกลืม". สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. 9 พฤษภาคม 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 ธันวาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2021.
  5. スワンカローク窯. コトバンク 朝日新聞社 [Asahi Shimbun]. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2019.
  6. 谷克二 (2008). タイ/ラオス歴史紀行 (第3版 ed.). 日経BP. p. 40–44. ISBN 978-4-86130-336-4.
  7. "เรื่องเล่าชาวสยาม: เตาทุเรียงสมัยสุโขทัย". 12 ธันวาคม 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มิถุนายน 2019. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2019.
  8. "กลุ่มเตาทุเรียงบ้านป่ายาง น.32". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
  9. "กลุ่มเตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย น.33". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.