วัดเชตุพน (อำเภอเมืองสุโขทัย)
วัดเชตุพน | |
---|---|
![]() วัดเชตุพน | |
![]() | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | วัดร้าง |
สถาปัตยกรรม | ศิลปะสุโขทัย |
เมือง | ตั้งอยู่ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ในตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย |
ประเทศ | ประเทศไทย |
วัดเชตุพน เป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางด้านทิศใต้ ในตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
วัดเชตุพนมีชื่อปรากฏอยู่ในจารึกวัดสรศักดิ์ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ว่า เมื่อพระมหาเถรธรรมไตรโลกฯ มีศักดิ์เป็นน้าของพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองสุโขทัยพระองค์หนึ่ง ได้กล่าวถึงว่าในงานฉลองวัดสรศักดิ์ ได้นิมนต์พระมหาเถรธรรมไตรโลกฯ มาด้วย อย่างไรก็ดีในจารึกนี้ก็อาจเป็นวัดที่อยู่ใกล้กับวัดสรศักดิ์ก็เป็นไปได้[1] ในจารึกวัดเชตุพน กล่าวถึงเจ้าธรรมรังษีซึ่งบวชได้ 22 พรรษา มีจิตศรัทธาสร้างพระพุทธรูปขึ้นใน พ.ศ. 2057 มีการกำหนดอายุวัดว่าสร้างระหว่าง พ.ศ. 1835–1955 โดยพิจารณาจากพระพุทธรูปลีลา[2]


วัดเชตุพนมีพระสี่อิริยาบถ (นั่ง นอน ยืน เดิน) ขนาดใหญ่ โดยสร้างอยู่ภายในมณฑปจัตุรมุข องค์พระพุทธรูปปั้นโดยรอบผนังอิฐซึ่งทำหน้าที่เป็นแกนรองรับหลังคา สันนิษฐานว่าคงได้รับอิทธิพลจากศิลปะของพม่าในเมืองพุกาม ถัดไปทางด้านตะวันตกของมณฑปจัตุรมุข มีมณฑปย่อมุมไม้ยี่สิบขนาดเล็กมีหลังคาก่ออิฐซ้อนกันขึ้นไป และใช้หินชนวนขนาดใหญ่ทำเป็นเพดาน ยังปรากฏร่องรอยของพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย แต่ชำรุดมากแล้ว ภายนอกมีภาพจิตรกรรมเขียนสีดำ แสดงลักษณะลวดลายแบบที่ปรากฏบนเครื่องถ้วยจีน เป็นลายพันธุ์พฤกษา[3] กำแพงแก้วที่ล้อมมณฑปจัตุรมุขนี้สร้างขึ้นจากหินชนวนขนาดใหญ่และหนา โดยมีการสกัดและบากหินเพื่อทำเป็นกรอบและซี่กรงเลียนแบบเครื่องไม้
อ้างอิง
[แก้]- ↑ บุณยกร วชิระเธียรชัย, อฎฐรส คติความเชื่อ และงานสร้างสรรค์พระพุทธปฏิมา, 69.
- ↑ อลงกรณ์ ประมวญทรัพย์. "พุทธปฏิมาไสยาสน์ขนาดใหญ่ในดินแดนไทย:คติการสร้างที่ปรับเปลี่ยน และความสัมพันธ์กับขนาดการสร้าง". มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ "วัดเชตุพน". อุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย.