ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอลับแล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ลับแล)
อำเภอลับแล
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Laplae
ประตูสัญลักษณ์อำเภอลับแล
ประตูสัญลักษณ์อำเภอลับแล
คำขวัญ: 
งามพระแท่นศิลาอาสน์ ถิ่นลางสาดรสดี เมืองพระศรีพนมมาศ แหล่งไม้กวาดตองกง ดงหอมแดงลือชื่อ งามระบือน้ำตกแม่พูล
แผนที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เน้นอำเภอลับแล
แผนที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เน้นอำเภอลับแล
ประเทศ ไทย
จังหวัดอุตรดิตถ์
พื้นที่
 • ทั้งหมด448.8 ตร.กม. (173.3 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด54,530 คน
 • ความหนาแน่น121.50 คน/ตร.กม. (314.7 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 53130
รหัสภูมิศาสตร์5308
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอลับแล ถนนศรีพนมมาศ ตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ รหัสไปรษณีย์ 53130
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

อำเภอลับแล เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นชุมชนโบราณมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย1 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2444 ความเป็นมาของคำว่า “ลับแล” นั้น ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ[1]ว่า เดิมชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่บริเวณนี้ เนื่องจากเป็นที่ป่ารก หลบซ่อนตัวง่ายและ ภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในหุบเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมืองถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย

อำเภอลับแลนอกจากจะมีโบราณสถานที่น่าสนใจมากมายแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองล้านนา เช่น ผ้าตีนจก ไม้กวาด เป็นแหล่งปลูกลางสาด และทุเรียนหลง-หลินลับแล ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด

ประวัติเมืองลับแล

[แก้]
การแต่งกายของชาวลับแลในสมัยรัชกาลที่ 5 จากตำนานหลักฐานจึงทำให้ทราบว่ากลุ่มชนส่วนใหญ่ที่มาอยู่ในบริเวณเมืองลับแลในปัจจุบันนั้นอพยพมาจากอาณาจักรเชียงแสนโบราณ (โยนกนาคพันธุ์)
ศิลาจารึกเจดีย์พิหาร ขุดได้ที่หน้าวิหารวัดเจดีย์คีรีวิหาร มหาอำมาตย์ตรี พระยานครพระราม ส่งเข้าหอสมุดวชิรญาณ กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2473 ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ให้ความเห็นว่าเนื้อหาจารึกน่าจะกล่าวตั้งแต่ครั้งเมื่อพระยาลิไทยขึ้นเสวยราชย์ เป็นหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่าอาณาบริเวณเมืองลับแลปัจจุบัน เป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย

จากหลักฐานศิลาจารึกเจดีย์พิหาร ขุดได้ที่หน้าวิหารวัดเจดีย์คีรีวิหาร ซึ่งมหาอำมาตย์ตรี พระยานครพระราม ส่งเข้าหอสมุดวชิรญาณ กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2473 ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ให้ความเห็นว่าเนื้อหาจารึกน่าจะกล่าวตั้งแต่ครั้งเมื่อพระยาลิไทยขึ้นเสวยราชย์ เป็นหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่าอาณาบริเวณเมืองลับแลปัจจุบัน เป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย

สมุดไทยบัญชีถือสังกัดมูลนายประจำแขวงเมืองลับแลในสมัยรัชกาลที่ 4

นอกจากนี้ ทางด้านเหนือและตะวันตกของเมืองกัมโพช มีภูมิประเทศเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีบรรยากาศเยือกเย็นยามพลบค่ำแม้ตะวันจะยังไม่ตกดินก็จะมืดแล้ว เพราะมีดอยม่อนฤๅษีเป็นฉากกั้นแสงอาทิตย์ ป่านี้จึงได้ชื่อว่า "ป่าลับแลง" (แลง เป็นภาษาล้านนาแปลว่า เวลาเย็น) ต่อมาเพี้ยนเป็น "ลับแล" ซึ่งกลายมาเป็นชื่ออำเภอลับแลในสมัยปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ที่ตั้งของลับแลได้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองทุ่งยั้งในอาณาจักรสุโขทัย จนในปี พ.ศ. 1981 เมืองทุ่งยั้ง ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรอยุธยา ที่ตั้งของลับแลก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองทุ่งยั้งมาโดยตลอด

ในด้านชาติพันธ์คนลับแลที่ใช้ภาษาถิ่นล้านนานั้น จากข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ[2] ได้สันนิษฐานจากชาติพันธ์และภาษาของผู้คนในที่ตั้งเมืองลับแลในปัจจุบัน ว่าเดิมเป็นชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่บริเวณนี้ เนื่องจากเป็นที่ป่ารก หลบซ่อนตัวง่ายและ ภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในหุบเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมืองถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย ประกอบกับตำนานท้องถิ่น ระบุว่าได้มีผู้คนจากอาณาจักรโยนกเชียงแสน อพยพหลบภัยสงครามเข้ามาตั้งรกรากอยู่บริเวณที่ราบเขาแถบลับแล และตั้งชื่อว่า บ้านเชียงแสน ต่อมาคนกลุ่มนั้นก็แยกย้ายกันไปหักล้างถางดงสร้างบ้านเมือง ขึ้นกระจัดกระจายตามที่ราบและไหล่เขาต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่าได้มีตำนานการอัญเชิญ เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าเรืองชัยธิราช จากอาณาจักรโยนกนาคนครเชียงแสน ถูกสร้างขึ้นอีกในช่วงหลัง ประกอบกับชุมชนลับแลมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังปรากฏหลักฐานการสร้างศาสนสถานวัดป่าสัก ซึ่งมีศิลปะเอกลักษณ์แบบอยุธยาผสมล้านนา ทำให้เมืองลับแล กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีผู้ใช้ภาษาถิ่นล้านนามาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ในราว พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ และได้เสด็จมาถึงเมืองลับแลในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศาลากลางจังหวัดจากเมืองพิชัยมาตั้งที่บางโพ และยุบเมืองทุ่งยั้งรวมกับลับแล และสถาปนาเมืองลับแลขึ้นเป็นอำเภอ ส่วนอาคารที่ทำการยังตั้งอยู่ที่เมืองทุ่งยั้ง บริเวณใกล้เวียงเจ้าเงาะ

อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ คนดีเมืองลับแล บริเวณตัวเมืองลับแล

ต่อมาพระพิศาลคีรี ได้ย้ายอาคารที่ทำการไปตั้งที่ม่อนจำศีลในปีเดียวกันนี้ (ห่างจากที่ว่าการ อำเภอปัจจุบันไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร) ครั้นถึง พ.ศ. 2457 สมัย พระศรีพนมมาศ (เมื่อครั้งเป็นหลวงศรีพนมมาศ) เห็นว่าห่างไกลจากตัวเมืองลำบากแก่ราษฎรไปติดต่อ ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะสงวนที่ ม่อนจำศีล เป็นที่ประดิษฐานพระเหลือ (พระพุทธรูปที่สร้างจากทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลก) เพราะทรงเห็นว่าทิวทัศน์ของม่อนจำศีลคล้ายกับเมืองชวา[3] จึงได้ย้ายอาคารที่ทำการจากม่อนจำศีล มาอยู่ที่ ม่อนสยามินทร์ (ชาวบ้านเรียกม่อนสามินทร์) เพราะเคยเป็นที่ตั้งพลับพลารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน[4]

ศิลปะวัฒนธรรม

[แก้]

ชาวเมืองลับแลดั้งเดิม มีภาษาถิ่นแบบสำเนียงสุโขทัยโบราณ คือในชุมชนรอบพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง ตำบลไผ่ล้อม ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่ปรากฏหลักฐานในสมัยสุโขทัย และชุมชนเดิมในพื้นที่ตั้งตัวอำเภอลับแล ก่อนที่จะถูกทิ้งร้าง ปรากฏหลักฐานศิลาจารึกการสถาปนาพระธาตุเจดีย์พิหารในสมัยพระยาลิไทย สันนิษฐานว่าแถบที่ตั้งเมืองลับแลทั้งหมด เป็นชุมชนที่ใช้ภาษาถิ่นแบบสำเนียงสุโขทัยโบราณมาก่อนนับ ๗๐๐ ปี[5]

ก่อนที่จะมีการอพยพชาวไทยวนจากอาณาจักรโยนกนาคนครเชียงแสนมาในสมัยหลัง ซึ่งปัจจุบันชาวไทยวนในอำเภอลับแลส่วนใหญ่อยู่ในเขตตอนเหนือของอำเภอ และที่ตั้งตัวอำเภอ ส่วนเขตทางใต้ของอำเภอลับแล ยังคงเป็นชุมชนภาษาถิ่นแบบสำเนียงสุโขทัยโบราณอยู่ ดังนั้นชาวลับแลจึงมีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ทั้ง 2 วัฒนธรรม คือชุมชนภาษาถิ่นแบบสำเนียงสุโขทัยโบราณ และชุมชนภาษาถิ่นล้านนา มีภาษาพูด ภาษาเขียน การแต่งกาย อาหารการกิน เป็นแบบล้านนา ที่มีใช้อยู่ในแถบล้านนาตะวันออก เช่น แพร่ น่าน เชียงราย และพะเยา เป็นต้น

บุคคลสำคัญ

[แก้]
  1. เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร - วีรบุรุษในตำนานของลับแล ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเจ้าชายมาจากเมืองโยนกเชียงแสน โดยท่านได้อพยพประชาชนส่วนหนึ่งมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านใหม่เชียงแสน ตำบลฝายหลวงในปัจจุบัน และทางองค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง ได้ทำการสร้างอนุสาวรีย์ของท่าน ไว้ที่บริเวณหน้าทางเข้าวัดม่อนอารักษ์
  2. พระศรีพนมมาศ (ทองอิน แซ่ตัน) - อดีตนายอำเภอลับแลในสมัยรัชกาลที่ 5

ตำนานเมืองลับแล

[แก้]

เมืองลับแลนั้นเป็นอำเภอเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่เดิมคงเป็นเมืองที่การเดินทางไปมาไม่สะดวก เส้นทางคดเคี้ยว ทำให้คนที่ไม่ชำนาญทางพลัดหลงได้ง่าย จนได้ชื่อว่าเมืองลับแล ซึ่งแปลว่า มองไม่เห็น มีเรื่องเล่ากันว่าคนมีบุญเท่านั้นจึงจะได้เข้าไปถึงเมืองลับแล

ประติมากรรมแม่ม่ายเมืองลับแล บริเวณประตูเมืองลับแล (ใหม่) แสดงถึงตำนานเล่าขานของเมืองลับแลอันเป็นที่เลื่องลือมาช้านาน

ตำนานนี้เล่ากันสืบมาว่า ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่ง (น่าจะเป็นคนเมืองทุ่งยั้ง) เข้าไปในป่า ได้เห็นหญิงสาวสวยหลายคนเดินออกมา ครั้นมาถึงชายป่า นางเหล่านั้นก็เอาใบไม้ที่ถือมาไปซ่อนไว้ในที่ต่าง ๆ แล้วก็เข้าไปในเมือง ด้วยความสงสัยชายหนุ่มจึงแอบหยิบใบไม้มาเก็บไว้ใบหนึ่ง ตกบ่ายหญิงสาวเหล่านั้นกลับมา ต่างก็หาใบไม้ที่ตนซ่อนไว้ ครั้นได้แล้วก็ถือใบไม้นั้นเดินหายลับไป มีหญิงสาวคนหนึ่งหาใบไม้ไม่พบ เพราะชายหนุ่มแอบหยิบมา นางวิตกเดือดร้อนมาก ชายหนุ่มจึงปรากฏตัวให้เห็นและคืนใบไม้ให้ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ ขอติดตามนางไปด้วยเพราะปรารถนาจะได้เห็นเมืองลับแล หญิงสาวก็ยินยอม นางจึงพาชายหนุ่มเข้าไปยังเมืองซึ่งชายหนุ่มสังเกตเห็นว่าทั้งเมืองมีแต่ผู้หญิง นางอธิบายว่าคนในหมู่บ้านล้วนมีศีลธรรม ถือวาจาสัตย์ ใครประพฤติผิดก็ต้องออกจากหมู่บ้านไป ผู้ชายส่วนมากมักไม่รักษาวาจาสัตย์จึงต้องออกจากหมู่บ้านกันไปหมด แล้วนางก็พาชายหนุ่มไปพบมารดาของนาง ชายหนุ่มเกิดความรักใคร่ในตัวนางจึงขออาศัยอยู่ด้วย มารดาของหญิงสาวก็ยินยอม แต่ให้ชายหนุ่มสัญญาว่าจะต้องอยู่ในศีลธรรม ไม่พูดเท็จ ชายหนุ่มได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวลับแลจนมีบุตรชายด้วยกัน 1 คน

วันหนึ่งขณะที่ภรรยาไม่อยู่บ้าน ชายหนุ่มผู้พ่อเลี้ยงบุตรอยู่ บุตรน้อยเกิดร้องไห้หาแม่ไม่ยอมหยุด ผู้เป็นพ่อจึงปลอบว่า "แม่มาแล้ว ๆ" มารดาของภรรยาได้ยินเข้าก็โกรธมากที่บุตรเขยพูดเท็จ เมื่อบุตรสาวกลับมาก็บอกให้รู้เรื่อง ฝ่ายภรรยาของชายหนุ่มเสียใจมากที่สามีไม่รักษาวาจาสัตย์ นางบอกให้เขาออกจากหมู่บ้านไปเสีย แล้วนางก็จัดหาย่ามใส่เสบียงอาหารและของใช้ที่จำเป็นให้สามี พร้อมทั้งขุดหัวขมิ้นใส่ลงไปด้วยเป็นจำนวนมาก จากนั้นก็พาสามีไปยังชายป่า ชี้ทางให้ แล้วนางก็กลับไปเมืองลับแล ชายหนุ่มไม่รู้จะทำอย่างไรก็จำต้องเดินทางกลับบ้านตามที่ภรรยาชี้ทางให้ ระหว่างทางที่เดินไปนั้น เขามีความรู้สึกว่าถุงย่ามที่ถือมาหนักขึ้นเรื่อย ๆ และหนทางก็ไกลมาก จึงหยิบเอาขมิ้นที่ภรรยาใส่มาให้ทิ้งเสียจนเกือบหมด ครั้นเดินทางกลับไปถึงหมู่บ้านเดิม บรรดาญาติมิตรต่างก็ซักถามว่าหายไปอยู่ที่ไหนมาเป็นเวลานาน ชายหนุ่มจึงเล่าให้ฟังโดยละเอียดรวมทั้งเรื่องขมิ้นที่ภรรยาใส่ย่ามมาให้แต่เขาทิ้งไปเกือบหมด เหลืออยู่เพียงแง่งเดียว พร้อมทั้งหยิบขมิ้นที่เหลืออยู่ออกมา ปรากฏว่าขมิ้นนั้นกลับกลายเป็นทองคำทั้งแท่ง ชายหนุ่มรู้สึกแปลกใจและเสียดาย จึงพยายามย้อนไปเพื่อหาขมิ้นที่ทิ้งไว้ ปรากฏว่าขมิ้นเหล่านั้นได้งอกเป็นต้นไปหมดแล้ว และเมื่อขุดดูก็พบแต่แง่งขมิ้นธรรมดาที่มีสีเหลืองทอง แต่ไม่ใช่ทองเหมือนแง่งที่เขาได้ไป เขาพยายามหาทางกลับไปเมืองลับแล แต่ก็หลงทางวกวนไปไม่ถูก จนในที่สุดก็ต้องละความพยายามกลับไปอยู่หมู่บ้านของตนตามเดิม

การตั้งตำบลต่างๆ

[แก้]
  • วันที่ 10 ธันวาคม 2483 โอนพื้นที่ตำบลน้ำริด และตำบลบ้านด่านนาขาม อำเภอลับแล ไปขึ้นกับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์[6]
  • วันที่ 26 ธันวาคม 2487 จัดตั้งเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ในท้องที่ตำบลศรีพนมมาศ[7]
  • วันที่ 23 กันยายน 2490 โอนพื้นที่หมู่ 3,4,5 (ในขณะนั้น) ของตำบลศรีพนมมาศ ไปตั้งเป็นหมู่ 5,8,7 ของตำบลฝายหลวง[8] ตามลำดับ
  • วันที่ 19 ตุลาคม 2491 โอนพื้นที่ยางส่วนของหมู่ 4 บ้านตลิ่งต่ำ และบ้านนาพง (ในขณะนั้น) ของตำบลชัยจุมพล ไปขึ้นกับตำบลทุ่งยั้ง[9]
  • วันที่ 6 สิงหาคม 2517 ตั้งตำบลนานกกก แยกออกจากตำบลฝายหลวง[10]
  • วันที่ 5 พฤษภาคม 2524 ตั้งตำบลด่านแม่คำมัน แยกออกจากตำบลทุ่งยั้ง[11]
  • วันที่ 9 สิงหาคม 2526 จัดตั้งสุขาภิบาลหัวดง ในท้องที่บางส่วนของตำบลแม่พูล[12] จัดตั้งสุขาภิบาลทุ่งยั้ง ในท้องที่บางส่วนของตำบลทุ่งยั้ง[13]
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลหัวดง และสุขาภิบาลทุ่งยั้ง เป็นเทศบาลตำบลหัวดง และเทศบาลตำบลทุ่งยั้ง ตามลำดับ[14] ด้วยผลของกฎหมาย
  • วันที่ 4 มิถุนายน 2545 แยกหมู่บ้านทุ่งเอี้ยง หมู่ที่ 5 ตำบลฝายหลวง จัดตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่อีก 1 หมู่บ้าน ชื่อหมู่บ้านทุ่งพัฒนา โดยตั้งเป็นหมู่ที่ 11 ตำบลฝายหลวง[15] แยกหมู่บ้านท้องลับแล หมู่ที่ 7 ตำบลฝายหลวง จัดตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่อีก 1 หมู่บ้าน ชื่อหมู่บ้านท้องลับแลพัฒนา โดยตั้งเป็นหมู่ที่ 10 ตำบลฝายหลวง[16] แยกหมู่บ้านต้นขาม หมู่ที่ 2 ตำบลชัยจุมพล จัดตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่อีก 1 หมู่บ้าน ชื่อหมู่บ้านปากทาง โดยตั้งเป็นหมู่ที่ 11 ตำบลชัยจุมพล[17]
  • วันที่ 24 สิงหาคม 2555 เปลี่ยนชื่อองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งยั้ง ไปเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลพระเสด็จ และยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบลพระเสด็จ เป็นเทศบาลตำบลพระเสด็จ[18]

อาณาเขต

[แก้]

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอลับแลแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 8 ตำบล 65 หมู่บ้าน ได้แก่

ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน จำนวนประชากร
(ธันวาคม 2565)[19]
1. ศรีพนมมาศ Si Phanom Mat
2,883
2. แม่พูล Mae Phun
11
9,071
3. นานกกก Na Nok Kok
5
2,798
4. ฝายหลวง Fai Luang
13
9,645
5. ชัยจุมพล Chai Chumphon
11
8,739
6. ไผ่ล้อม Phai Lom
7
6,204
7. ทุ่งยั้ง Thung Yang
10
10,034
8. ด่านแม่คำมัน Dan Mae Kham Man
8
4,920

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอลับแลประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีพนมมาศทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลหัวดง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลแม่พูล
  • เทศบาลตำบลทุ่งยั้ง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลไผ่ล้อมและตำบลทุ่งยั้ง
  • เทศบาลตำบลพระเสด็จ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งยั้ง (นอกเขตเทศบาลตำบลทุ่งยั้ง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแม่พูล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่พูล (นอกเขตเทศบาลตำบลหัวดง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนานกกก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนานกกกทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลฝายหลวงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลชัยจุมพล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลชัยจุมพลทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ล้อม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไผ่ล้อม (นอกเขตเทศบาลตำบลทุ่งยั้ง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่คำมัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลด่านแม่คำมันทั้งตำบล

เชิงอรรถ

[แก้]

หมายเหตุ 1: เมืองลับแลเดิมนั้นสันนิษฐานว่าเป็นชุมชนในสมัยสุโขทัย ก่อนจะร้างลงในช่วงหลัง ดังการพบหลักฐานปฐมภูมิ คือศิลาจารึกซึ่งขุดได้ที่หน้าวิหารวัดเจดีย์คีรีวิหาร มหาอำมาตย์ตรี พระยานครพระราม ส่งเข้าหอสมุดวชิรญาณ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2473 ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ให้ความเห็นว่าเนื้อหาจารึกน่าจะกล่าวตั้งแต่ครั้งเมื่อพระยาลิไทยขึ้นเสวยราชย์ ประกอบกับเนื้อหาในศิลาจารึก การสถาปนาพระบรมธาตุโดยพระยาลิไทย สอดคล้องกับลักษณะของฐานพระเจดีย์วัดเจดีย์คีรีวิหาร ที่มีเค้าโครงของฐานเขียงสามชั้นแบบสุโขทัย ศิลาจารึกดังกล่าวจึงเป็นเครื่องยืนยันว่าที่ตั้งเมืองลับแลในปัจจุบัน เป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ก่อนจะถูกทิ้งร้างและมีการอพยพเทครัวชาวเชียงแสนมาตั้งรกรากเพิ่มเติมในช่วงหลัง[20]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ฟู บุญถึง และคณะ . ( ม.ป.ป.) . ลับแลหรือจะแลลับ , สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอลับแล". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-12. สืบค้นเมื่อ 2008-08-12.
  2. "ฟู บุญถึง และคณะ . ( ม.ป.ป.) . ลับแลหรือจะแลลับ , สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอลับแล". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-12. สืบค้นเมื่อ 2008-08-12.
  3. "รศ.ดร.ประจักษ์ สายแสง, ดร.ทิวารักษ์ เสรีภาพ.วรรณกรรมสองแคว ตอนที่ 15 เรื่อง ภูมินามวิทยา 5 : ลับแล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-20. สืบค้นเมื่อ 2008-03-01.
  4. ข้อมูลอำเภอในจังหวัดอุตรดิตถ์.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์[ลิงก์เสีย]
  5. ศิลาจารึก . (๒๕๔๘). ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรุงเทพ : กรมศิลปากร. หน้า ๙
  6. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลและอำเภอในจังหวัดอุตตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 (0 ง): 3021. December 10, 1940.
  7. "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ จังหวัดอุตรดิตถ์ พุทธศักราช ๒๔๘๗" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 61 (77 ก): 1184–1187. December 26, 1944.
  8. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในเขตท้องที่จังหวัดอุตตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 64 (45 ง): 2450–2451. September 23, 1947.
  9. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอต่าง ๆ จังหวัดอุตตรดิตถ์ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสมุทรสงคราม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 65 (61 ง): 3422–3424. October 19, 1948.
  10. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 91 (133 ง): 3087–3089. August 6, 1974.
  11. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 98 (68 ง): 1287–1289. May 5, 1981.
  12. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลหัวดง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 100 (131 ง): 2690–2692. August 9, 1983.
  13. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 100 (177 ง): 4139–4141. August 9, 1983.
  14. "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4. February 24, 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.
  15. "ประกาศจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 119 (45 ง): 133–135. June 4, 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-08-08. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.
  16. "ประกาศจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 119 (45 ง): 136–138. June 4, 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-08-08. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.
  17. "ประกาศจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 119 (45 ง): 139–141. June 4, 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-08-08. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.
  18. "เปลี่ยนชื่อ องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งยั้ง ไปเป็น องค์การบริหารส่วนตำบลพระเสด็จ และเปลี่ยนฐานะจาก องค์การบริหารส่วนตำบลพระเสด็จ เป็น เทศบาลตำบลพระเสด็จ". August 24, 2012. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  19. "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
  20. ศิลาจารึก . (๒๕๔๘). ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรุงเทพ : กรมศิลปากร. หน้า ๙

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]