ข้ามไปเนื้อหา

อาสนวิหารแกลร์มง-แฟร็อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาสนวิหารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์
แห่งแกลร์มง-แฟร็อง
อาสนวิหารแกลร์มง-แฟร็อง
แผนที่
45°46′43.42″N 3°5′8.76″E / 45.7787278°N 3.0857667°E / 45.7787278; 3.0857667
ที่ตั้งแกลร์มง-แฟร็องในประเทศฝรั่งเศส
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
เว็บไซต์อาสนวิหาร
สถานะอาสนวิหาร
ก่อตั้งค.ศ. 946
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์กอทิก
ปีสร้างคริสต์ศตวรรษที่ 5
ขนาดอื่น ๆยาวทั้งสิ้น 99 เมตร
บริเวณร้องเพลงสวด 36 เมตร
แขนกางเขนกว้าง 32.70 เมตร
จุดตัดสูง 28.70 เมตร
ช่องทางเดินข้างสูง 14.30 เมตร
หอตะวันตกสูง 96.2 เมตร
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์

อาสนวิหารแกลร์มง-แฟร็อง (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Clermont-Ferrand) หรือชื่อทางการคือ อาสนวิหารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์แห่งแกลร์มง-แฟร็อง (Cathédrale Notre-Dame-de-l'Assomption de Clermont-Ferrand) เป็นโบสถ์โรมันคาทอลิกที่มีฐานะเป็นอาสนวิหาร[1] ตั้งอยู่ที่เมืองแกลร์มง-แฟร็องในจังหวัดปุย-เดอ-โดมในแคว้นโอแวร์ญ-โรนาลป์ ประเทศฝรั่งเศส และเป็นที่ตั้งอาสนะของอาร์ชบิชอปแห่งแกลร์มง

สถาปัตยกรรมที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นแบบกอทิกที่สร้างด้วยหินภูเขาไฟสีดำทั้งหลังที่ทำให้เป็นเอกลักษณ์จากอาสนวิหารอื่นและมองเห็นแต่ไกลจากหอสูงสองหอที่สูง 96.2 เมตรเหนือสิ่งก่อสร้างอื่นใดของตัวเมือง

ประวัติ

[แก้]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 บิชอปนามาซิอุสวางศิลาฤกษ์ของอาสนวิหารแรกที่ทำให้ประชากรผู้ถือคริสต์ศาสนาออกมาจากบริเวณกักกัน "vicus christianorum" ได้ นามาเชียสอุทิศสิ่งก่อสร้างให้แก่นักบุญวีตาลิสและนักบุญอกริโกลาที่ได้นำเรลิกกลับมาจากโบโลญญาด้วย ตัววัดมีความยาว 43 เมตรเป็นผังแบบบาซิลิกาที่ได้รับการบันทึกโดยนักบุญเกรกัวร์แห่งตูร์ ตกแต่งด้วยหินอ่อนโดยมีทางเดินกลางขนาบด้วยช่องทางเดินข้าง ตัดด้วยแขนกางเขน และมีคอลัมน์ทั้งหมด 70 ต้น วัดนี้ถูกทำลายในปี ค.ศ. 760 โดยพระเจ้าเปแป็งพระวรกายเตี้ย ต่อมาเมื่อทรงสำนึกในการกระทำพระองค์จึงพระราชทานทรัพย์จำนวนมากให้แก่บิชอปฮาด์เดอแบร์ตในการสร้างอาสนวิหารใหม่ระหว่างปี ค.ศ. 764 ถึงปี ค.ศ. 768 อาสนวิหารที่สองถูกทำลายโดยนอร์มันในปี ค.ศ. 915

บิชอปสตีเฟนที่ 2 สร้างอาสนวิหารที่สามเป็นแบบโรมาเนสก์ที่ได้รับการสถาปนาในปี ค.ศ. 946 สิ่งก่อสร้างที่อาจจะเป็นแบบอย่างของสิ่งก่อสร้างโรมาเนสก์อื่นในโอแวร์ญอีกหลายแห่ง คริพท์ (ที่เป็นจรมุขรายด้วยชาเปลที่กระจายออกไป) สร้างมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 ที่เป็นที่ตั้งของโลงหินที่ทำด้วยหินอ่อนสีขาวที่สร้างมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4

ในปี ค.ศ. 1248 หลังจากที่มีโอกาสเดินทางไปชมแซ็งต์-ชาแปลในกรุงปารีสมา บิชอปอูกเดอลาตูร์ก็กลับมาลงมือสร้างอาสนวิหารใหม่เป็นแบบสถาปัตยกรรมกอทิกตอนเหนือ ซึ่งเป็นการสร้างเสริมบารมีและอำนาจที่มีต่อตัวเมืองให้กลับมาอยู่ในมือของบิชอปแทนที่จะอยู่ในมือของเคานต์แห่งโอแวร์ญเช่นเมื่อไม่กี่สิบปีก่อนหน้านั้น

ตัวสิ่งก่อสร้างหลักสร้างด้วยหินโวลวิกแบบ Trachy-andésite ที่ทำให้ตัววัดเป็นสีดำ และความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของหินสามารถทำให้สร้างหอที่มียอดแหลมที่มีลักษณะละเอียดอ่อนได้

ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการก่อสร้างคือฌ็อง เดช็องผู้ก่อนหน้านั้นได้ทำการสร้างอาสนวิหารนาร์บอนและอาสนวิหารลีมอฌมาแล้ว เดช็องได้รับแรงบันดาลใจจากอาสนวิหารโบแวและอาสนวิหารอาเมียง เดช็องทราบดีว่าผังเดิมไม่มีช่องหน้าต่างที่ใช้พื้นผนังทั้งหมดระหว่างเสารับน้ำหนัก และไม่มีซุ้มโค้งที่เป็นโครงรับน้ำหนักที่ใช้การสอดโครงรับน้ำหนักโดยตรงบนซุ้มโค้ง เสาที่สูงขึ้นไปในบริเวณร้องเพลงสวดทรงรีทำให้แสงสามารถสาดส่องจากหน้าต่างของมุขด้านตะวันออกเข้ามาในบริเวณพิธี ซึ่งภายนอกรับน้ำหนักด้วยครีบยันแบบปีกที่กางออกไป

เดช็องใช้เวลาสร้างบริเวณร้องเพลงสวดระหว่างปี ค.ศ. 1248ค.ศ. 1287 ที่เป็นสถานที่ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 เสด็จมาร่วมในพิธีเสกสมรสของพระราชโอรสผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าฟิลิปที่ 3 กับอิซาเบลลาแห่งอารากอน พระเจ้าหลุยส์ทรงบริจาคทรัพย์ในการสร้างหน้าต่างประดับกระจกสีที่ดูเหมือนจะเป็นหน้าต่างที่สร้างโดยผู้เดียวกันกับที่สร้างหน้าต่างสำหรับแซ็งต์-ชาแปล บริเวณร้องเพลงสวด แขนกางเขน และบางส่วนของทางเดินกลางสร้างเสร็จราวปี ค.ศ. 1295

จากนั้นปีแยร์ เดช็องก็ทำงานต่อจากบิดามาจนถึงปี ค.ศ. 1325 ระหว่างปี ค.ศ. 1325ค.ศ. 1340 สถาปนิกไม่ทราบนามก็ทำการสร้างหอบนแขนกางเขน หอที่สูงกว่าชื่อหอบาแย็ตที่ตั้งตามชื่อการใช้งานว่าเป็นหอที่ใช้ในการสังเกตการณ์

ระหว่างปี ค.ศ. 1340ค.ศ. 1355 ปีแยร์ เดอ เซบาซาที่รู้จักกันว่าเป็นผู้สร้างแอบบีที่ลาเชส-ดิวก็สร้างทางเดินกลางเสร็จไปสามตอนไปเชื่อมกับหอโรมาเนสก์ของโบสถ์ที่บิชอปสตีเฟนที่ 2 สร้างไว้ แต่การขัดจังหวะของสงครามร้อยปีทำให้เซบาซาต์ไม่อาจจะทำงานเสร็จได้ แต่ในช่วงปีต่อ ๆ มาทางอาสนวิหารมีความพอใจต่อผลงานโดยสั่งให้เซบาซาต์สลักขอบประตูด้านข้าง (door jamb) ใหม่สำหรับประตูสำหรับห้องเก็บเครื่องพิธี

หน้าต่างประดับกระจกสีสีน้ำเงินหลักเหนือประตูทางด้านเหนือและสีส้มเหนือประตูทางด้านใต้สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ทั้งสองหน้าต่างบรรจุอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่กว้าง 8.50 เมตร ระหว่างปี ค.ศ. 1444ค.ศ. 1474 ก็ได้มีการสร้าง "clocher du retour" ที่เป็นมณฑปบนหลังคาเหนือบริเวณร้องเพลงสวดแต่มาถูกรื้อทิ้งหลังปี ค.ศ. 1741 ระหว่างปี ค.ศ. 1507ค.ศ. 1512 ก็ได้มีการยกหลังคาให้สูงขึ้นและปูด้วยตะกั่วแทนหลังคาเดิม แต่ทางอาสนวิหารไม่ตกลงเรื่องการสร้างด้านหน้าอาสนวิหารเป็นแบบหางนกยูงฝรั่งเพราะราคาค่าก่อสร้างสูง

ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสนักปฏิวัติต้องการที่จะรื้ออาสนวิหารทิ้งแต่นักพรตคณะเบเนดิกตินแวร์เดียร์-ลาทูร์หว่านล้อมไม่ให้ทำการรื้อทิ้งได้สำเร็จ โดยกล่าวว่าอาสนวิหารจะเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการใช้ประชุมผู้คนจำนวนมาก สิ่งที่ถูกทำลายไปก็ได้แก่ฉากกางเขน, ที่นั่งของบริเวณร้องเพลงสวด แท่นบูชา และเฟอร์นิเจอร์ ยกเว้นแต่โคมระย้าที่สร้างโดยฟิลิปเป คาฟฟิเอรี แต่หอบนแขนกางเขนถูกเผา ด้านหน้าอาสนวิหารแบบโรมาเนสก์จากสมัยการก่อสร้างของบิชอปสตีเฟนที่ 2 ถูกทำลายโดยการระดมยิงด้วยปืนในปี ค.ศ. 1851

อาสนวิหารมิได้สร้างเสร็จจนกระทั่งปี ค.ศ. 1866 ตามผังที่วางไว้โดยเออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก และสร้างโดยลูกศิษย์อานาตอล เดอ โบโด ในปี ค.ศ. 1884 ด้านหน้าด้านตะวันตกพร้อมด้วยหอยอดแหลม และ ทางเดินกลางช่วงสุดท้ายก็สร้างเสร็จตามแบบฉบับของการก่อสร้างแบบยุคกลาง

อาสนวิหารแกลร์มง-แฟร็องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาสนวิหารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์แห่งแกลร์มง-แฟร็อง