พูดคุย:พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

ไม่รองรับเนื้อหาของหน้าในภาษาอื่น
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิกิประวัติศาสตร์และสถานีย่อย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลก เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการศึกษาค้นคว้าที่น่าเชื่อถือสำหรับผู้อ่าน ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ด้วยการช่วยกันพัฒนาบทความ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือแวะไปที่หน้าโครงการหรือหน้าสถานีย่อยเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม
 โครง  บทความนี้อยู่ที่ระดับโครง ตามการจัดระดับการเขียนบทความ
ธงพระธรรมจักร
ธงพระพุทธศาสนาสากล
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิกิพระพุทธศาสนา และสถานีย่อย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะรวบรวมเรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ถ้าต้องการมีส่วนร่วมโครงการ สามารถเข้าร่วมได้ที่หน้าโครงการ
 โครง  บทความนี้อยู่ที่ระดับโครง ตามการจัดระดับการเขียนบทความ
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิกิประเทศไทยและสถานีย่อย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับประเทศไทย ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ด้วยการช่วยกันพัฒนาบทความ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือแวะไปที่หน้าโครงการหรือหน้าสถานีย่อยเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม
 โครง  บทความนี้อยู่ที่ระดับโครง ตามการจัดระดับการเขียนบทความ

ประวัติ ตำนาน และข้อมูลของพระแก้วมรกต[แก้]

ประวัติของพระแก้วมรกต

               พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกอ่อนสีเขียวแวววาวดังมรกต แต่ขุ่นทึบแสง เกือบใสทั้งก้อน เป็นหินธรรมชาติจากเทือกเขาสูง องค์พระพุทธรูปสกุลศิลปะก่อนเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ พระพักตร์อิ่มเอิบ มีพระอุณหิสระหว่างพระขนง พระเมาลีตูม พระกรรณยาว พระนาสิกโด่ง ประทับนั่งซ้อนพระบาทขวาบนพระบาทซ้าย และว่างพระหัตถ์ขวาบนพระหัตถ์ซ้ายเหนือบนหน้าตัก จีวรแนบพระมังสะเปิดบ่าขวา ปิดบ่าซ้าย สังฆาฏิพาดบนพระอังสะซ้ายห้อยลงมา ขนาดหน้าตักกว้าง 43 เซนติเมตร หรือ 17 นิ้ว สูง 55 เซนติเมตร หรือ 21 นิ้ว ภายใต้ฐานที่ประทับมีเศษหินเนื้อแก้วมิได้ตัดให้ราบยื่นยาวออกไปสำหรับบังคับให้ต้องวางบนพื้นที่เจาะ เพื่อมิให้องค์พระเคลื่อนจากที่ตั้ง โดยมีความยาว 28 เซนติเมตร (คนทั่วไปไม่ค่อยรู้เพราะจะต้องยกองค์พระขึ้นดูจึงจะเห็น) บนพระอุณาโลมของพระแก้วมรกต เดิมมีเพชรเม็ดเล็กๆ ฝังอยู่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชศรัทธาในองค์พระแก้วมรกตมาก ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ถวายเพชรเม็ดใหญ่ขนาดเท่าเม็ดบัว น้ำบริสุทธิ์งดงามมาเปลี่ยนใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2397 (เชื่อว่าเพชรเม็ดเดิมก็มาฝังไว้ในสมัยพระเจ้าติโลกราช แห่งนครเชียงใหม่ เพราะแต่เดิมคงจะไม่ได้มีเพชรเม็ดนี้อยู่) 
              สำหรับพระพุทธลักษณะของพระแก้วมรกตนั้น ยังไม่มีผู้ใดลงความเห็นแน่ชัดลงไปได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยใด บางพวกก็เชื่อตำนานพระแก้วมรกตซึ่งเขียนเป็นภาษามคธ (เขียนในสมัยกรุงธนบุรี)  ก็พากันสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นโดยฝีมือช่างอินเดียและลังกา แต่มีนักศิลปโบราณคดีบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า ทรวดทรง พระพักตร์ของพระแก้วมรกต มีความละม้ายคล้ายกับพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนตอนปลาย ที่เรียกกันว่า   “สิงห์สาม” มาก จึงทำให้น่าเชื่อจะสร้างขึ้นในยุคนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่องราวของพระแก้วมรกตไว้ และยังทรงสันนิษฐานด้วยว่า พระแก้วมรกตนี้เป็นฝีมือช่างทางเมืองฝ่ายเหนือของไทย อันเป็นฝีมือช่างเชียงแสนนั่นเอง เมื่อปี พ.ศ. 2455 กรมศิลปกรได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี นายช่างผู้เชี่ยวชาญศิลปะชาวอิตาเลียน ซึ่งเข้ามารับราชการอยู่ในประเทศไทย เป็นผู้ศึกษารูปทรงของของพระแก้วมรกตอย่างละเอียดถี่ถ้วน ท่านศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี สรุปความเห็นเกี่ยวกับพุทธลักษณะของพระแก้วมรกตไว้ว่า “น่าจะเป็นฝีมือช่างท้องถิ่นในอาณาจักรลานนาไทย หรือเป็นฝีมือช่างทางเมืองเหนือของไทย ถ้าจะจัดยุคสมัยทางโบราณคดี พระแก้วมรกตน่าจะสร้างขึ้นในสมัยเชียงแสนรุ่นหลัง ไม่ใช่ฝีมือช่างชาวต่างประเทศ ดังเข้าใจมาแต่เดิม”  แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่าเนื้อหินมรกตขององค์พระนี้ มีอายุเก่าแก่กว่ายุคเชียงแสน น่าจะถูกแกะสลักมาแล้วประมาณสองพันปีแล้ว ซึ่งมิใช่ช่างฝีมือแบบคนไทยอย่างแน่นอน
               ทั้งนี้ จากหลักฐานประวัติศาสตร์ของไทย ต่างระบุตรงกันว่า พระแก้ว (คำเรียกเดิม) องค์นี้พบครั้งแรก ในพ.ศ. 1979 ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์วัดป่าญะ นครเชียงแสน (ปัจจุบันคือวัดพระแก้วงามเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย) สภาพเป็นพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทอง ซ่อนอยู่ภายในเจดีย์เก่า ต่อมาองค์พระเจดีย์ถูกฟ้าผ่าพังลง  ชาวบ้านและพระสงฆ์จึงอัญเชิญออกจากพระเจดีย์ ภายหลังปูนบริเวณพระนาสิกได้เกิดกะเทาะออก เห็นเป็นเนื้อหินสีเขียวมรกต จึงกะเทาะปูนออกทั้งองค์ ปรากฏเป็นองค์พระพุทธรูปปางขัดสมาธิเนื้อหยกสีมรกตทั้งองค์
              หลังจากนั้น พระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่ (นครพิงค์) ทราบข่าวการค้นพบพระพุทธรูปองค์นี้  จึงขออัญเชิญมาใส่หลังช้างจะมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ ด้วยว่าเชียงใหม่เป็นเมืองเอกมีความเข้มแข็งกว่า แต่ช้างทรงพระแก้วมรกตกลับไม่เดินทางไปยังเชียงใหม่ หากเดินเลี้ยวไปทางเมืองลำปาง (เขลางค์นคร) แทน แม้จะเปลี่ยนช้างเชือกอื่นให้ไปเมืองเชียงใหม่ ช้างก็ยังเลี้ยวไปเมืองลำปางถึงสามครั้ง  ทางเชียงใหม่ก็เห็นว่าลำปางก็อยู่ในอาณาจักรล้านนา จึงยอมให้นำไปไว้ที่วัดพระแก้วดอนเต้า นครลำปางก่อนถึง 32 ปี จนถึง พ.ศ. 2011 สมัยพระเจ้าติโลกราช ก็ค่อยอัญเชิญพระแก้วมรกตมายังเชียงใหม่ โดยผ่านเส้นทางเมืองลำพูนและประดิษฐานให้ชาวเมืองลำพูน (หริภุณชัย) สักการะก่อนประมาณ 2 ปี เมื่อองค์พระแก้วมรกตมาถึงเมืองเชียงใหม่ก็ได้มีการเตรียมการสร้างปราสาทเพื่อประดิษฐานองค์พระแก้วไว้ล่วงหน้า แต่ถูกฟ้าผ่าหลายครั้งทำให้ไม่ปรากฏร่องรอยปราสาทหอพระแก้วของเดิมในสมัยนั้น พระแก้ว หรือพระแก้วมรกตได้ ประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่อยู่ 86 ปี จนกระทั่งครั้นเมื่อถึง พ.ศ. 2095 สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งล้านช้าง ซึ่งเป็นญาติวงศ์กับราชวงศ์ล้านนาโดยมาอภิเศกสมรสกับพระราชธิดาของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ครั้นตอนพระเจ้าไชยเชษฐาจะเสด็จไปครองเมืองหลวงพระบาง (เมืองเชียงทอง)  ก็ได้แอบอัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย และได้นำไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง 12 ปี   แต่ด้วยเกรงว่าเมืองหลวงพระบาง  หรือเมืองเชียงทองในสมัยนั้นจะถูกรุกราน จากล้านนาและพม่า เพื่อแย่งองค์พระแก้วไป อาณาจักรล้านช้างจึงย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาที่เวียงจันทน์ โดยถือว่าเวียงจันทร์เป็นแคว้นเอกราช ไม่เกี่ยวข้องกับล้านนาอีกต่อไป โดยได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาที่นครเวียงจันทร์ด้วย ใน พ.ศ. 2107 พระแก้วมรกตจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ อีก 214 ปี 
             จนกระทั่งใน พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง พระองค์ได้โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ต่อมาคือรัชกาลที่ 1) อัญเชิญพระแก้วมรกต   มาจากเวียงจันทน์เพื่อประดิษฐานไว้ที่วัดอรุณราชวราราม ต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตลงบุษบกในเรือพระที่นั่ง เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในปี พ.ศ. 2327  และโปรดให้เรียกว่าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จนถึงปัจจุบัน 
              มีตำนานเรื่องเล่าขานถึงที่มาที่ไปขององค์พระแก้วมรกต โดยคนไทยสมัยก่อนเชื่อว่า พระแก้วมรกตนี้ สร้างขึ้นในปี พุทธศักราช 500 โดยพระนาคเสนเถระ เป็นพระอรหันต์วัดอโศการาม กรุงปาฏลีบุตร ในแผ่นดินพระเจ้ามิลินท์ ประเทศอินเดีย (เมนันเดอร์) โดยเชื่อว่ามีสมเด็จพระอมรินทราธิราช (พระอินทร์ที่เป็นใหญ่) พร้อมกับพระวิสสุกรรมเทพบุตร ผู้เป็นเทพบนสวรรค์ได้นำแก้วโลกาทิพยรัตตนายก มีสีเขียวทึบ (หยกอ่อน) นำมาจำหลักเป็นพระพุทธรูปถวายให้พระนาคเสน และถวายพระนามว่า พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต พระนาคเสนจึงได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 7 องค์ (ชิ้น) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้แก่พระโมลี พระนลาฏ พระนาภี พระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวา พระเพลาซ้าย และพระเพลาขวาลงไปในองค์พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต โดยไม่มีรอยตัดต่อของเนื้อหินเลย  เมื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้วก็อัญเชิญขึ้นประดิษฐานให้ประชาชนสักการะ ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น พระนาคเสนจึงได้พยากรณ์ว่า พระแก้วองค์นี้ จะเสด็จไปโปรดสรรพสัตว์ในเบญจประเทศ คือ ลังกาทวีป กัมโพชะศรีอโยธยา โยนะวิสัย ปะมะหละวิสัย และ สุวรรณภูมิ
             ตำนานนี้ยังเล่าต่อว่า ในพุทธศักราช 800 สมัยแผ่นดินพระเจ้าศิริกิตติกุมาร พระเชษฐ์ราชโอรสในพระเจ้าตักละราช  ซึ่งได้ขึ้นครองราชสมบัติเมืองปาฏลีบุตรในช่วงที่เมืองปาฏลีบุตรเกิดมหากลียุค คือมีการจลาจลภายในและข้าศึกภายนอกจู่โจม พุทธศาสนิกชนในเมืองปาฏลีบุตรที่เคารพนับถือพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต ได้นำพระแก้วมรกตลงเรือสำเภาแล้วเดินทางลี้ภัยไปยังลังกาทวีป (เกาะศรีลังกา)  เมื่อถึงลังกาทวีปพระเจ้าแผ่นดินลังกาทวีปในสมัยนั้น (ไม่ได้ระบุพระนาม) ทรงรับพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตมาเก็บรักษาเป็นอย่างดียิ่ง และทรงอุปถัมภ์ค้ำชูชาวปาฏลีบุตรที่ลี้ภัยเป็นอย่างดี  ในประมาณปีพุทธศักราช 1000 สมัยแผ่นดินศรีเกษตรพุกามประเทศ พระมหากษัตริย์ผู้ครองนครขณะนั้นคือพระเจ้าอนุรุทธราชาธิราช หรือในภาษามอญคือ มังมหาอโนรธาช่อ เป็นกษัตริย์ที่มีพระอานุภาพมาก บริบูรณ์ด้วยพลช้างพลม้าและทหารมากมาย และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างดี ได้มีพระราชโองการ ส่งพระราชสารและเครื่องมงคลบรรณาการ ไปยังลังกาทวีป เพื่อขอคัดลอกพระไตรปิฎกและขอพระแก้วมรกตกลับมาด้วย แต่เรือที่บรรทุกพระแก้วมรกตได้ถูกพายุพัด พลัดเข้าไปทางอ่าวกัมพูชาแทน พระเจ้านารายณ์ราชสุริยวงศ์ เจ้ากรุงอินทปัตถ์มหานคร (นครธม) แห่งแคว้นกัมพูชา สั่งให้อำมาตย์คุมสำเภากลับไปถวายคืนแก่พระเจ้าอนุรุทธ แต่ส่งกลับไปเพียงพระไตรปิฎกเท่านั้น มิได้ส่งพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตไปด้วย พระแก้วมรกตจึงได้ประดิษฐานอยู่กรุงอินทปัตถ์นานพอสมควร(ไม่ได้ระบุปี)  ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าเสน่ห์ราช ได้เกิดพายุฝนขนาดใหญ่ตกเป็นนิจกาลยาวนานหลายเดือน(ไม่ได้ระบุ) พระเจ้าเสน่ห์ราชก็สวรรคตด้วยอุทกภัยนั้น พระมหาเถระ(ไม่ปรากฏพระนาม) ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นสำเภาหนีไปยังที่ดอน พระเจ้าอติตะราช (อาทิตยราช) เจ้าครองนครอโยธยา(หมายถึงเมืองอยุธยาในสมัยโบราณ) ทราบเรื่องจึงเสด็จไปเองโดยกระบวนพยุหยาตรา เพื่อไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ในที่ปลอดภัย โดยทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตประดิษฐานในพระมหาเวชยันต์ปราสาท  (ไม่สามารถระบุปี พ.ศ.ได้)  และได้ประดิษฐานในนครอโยธยาต่อมาในอีกหลายรัชสมัย
              ภายหลังเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพระญาติกับกษัตริย์อโยธยาสมัยนั้น ได้ทูลขอนำพระแก้วมรกตขึ้นไป ประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรอีกหลายรัชสมัย ซึ่งว่ากันว่า ปัจจุบันก็คือวัดพระแก้วกำแพงเพชร ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ต่อมา พระเจ้าพรหมทัศน์เจ้านครหิรัญนครเงินยาง แห่งเชียงแสนได้ทูลขอพระแก้วมรกตต่อพระเจ้ากำแพงเพชร พระเจ้ากำแพงเพชรก็ยอมมอบให้นครเชียงแสน  ต่อมานครเชียงแสน ได้เกิดมีศึกกับเมืองศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เจ้าผู้ครองนครเชียงแสนในเวลานั้นได้ทำการพอกปูนจนทึบและลงรักปิดทองเสมือนพระพุทธรูปสามัญทั่วไป แล้วบรรจุเก็บไว้ในเจดีย์วัดป่าญะในเมืองเชียงราย จากนั้นกษัตริย์และพระราชวงศ์อพยพผู้คนลงมาทางใต้  ส่วนเมืองเชียงแสนก็ถูกตีแตกและถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเชียงรายและอาณาจักรล้านนาในที่สุด  พระนามพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตจึงหายสาบสูญไปแต่นั้นมา  ตำนานตามเรื่องที่เล่ามานี้ เป็นเหตุการณ์ก่อนพบพระแก้วมรกตจริง ๆ ในปี พ.ศ. 1979 ซึ่งอาจจะเขียนเล่าเอาเองภายหลังต่อมา แต่ในปี พ.ศ.1979  ได้เกิดฟ้าผ่าที่องค์เจดีย์นั้น ชาวเมืองเชียงรายจึงได้พบเห็นพระพุทธรูปลงรักปิดทองโบราณ และต่อมาปูนที่ลงรักปิดทองได้กะเทาะออก กลายเป็นการค้นพบพระแก้วมรกตในแผ่นดินไทยเมื่อประมาณ 570 ปีที่ผ่านมาเอง  
                แต่นักโบราณคดีชาติ อื่น ๆ อาจมีความเห็นเกี่ยวกับพระแก้วมรกตแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ น่าจะเป็นไปได้ว่าพระแก้วมรกตถูกสร้างขึ้นในราว 500 ถึง 800 ปี หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์นิพพาน  หรือไม่น้อยกว่า 1500 ปีมาแล้ว ตอนนั้นยังไม่มีอาณาจักรไทยที่ชัดเจน  ในประเทศอินเดียสมัยนั้นนิยมทำการหล่อเทวรูปด้วยสัมฤทธิ์ หรือสลักด้วยหินชนิดอื่น ไม่นิยมใช้หยกหรือมรกตในการทำพระพุทธรูป อุตสาหกรรมเหมืองหยก หรือหินอัญมณีมรกตก็ไม่มีในภูมิภาคนี้ในสมัยนั้น แหล่งหยก หรือมรกตที่จะหาอัญมณีสีเขียวขนาดใหญ่ขนาดนั้นเมื่อประมาณ 1500 ปีก่อนมีที่เดียวคือ อาณาจักรน่านเจ้า หรือเมืองต้าลี่ในมณฑลยูนนานเท่านั้นครับ
                ว่ากันว่าฝีมือแกะสลักพระพุทธรูปแบบนี้ก็มีอยู่ที่ตอนใต้ของจีนที่เดียว เพราะสมัยนั้นการสลักพระพุทธรูปจะใช้ปูนปั้น หรือหินชนิดอื่น ในศรีลังกา พม่า และอินเดียก็ใช้หินทราย หินศิลาแลง หรือสัมฤทธิ์ ไม่มีใครใช้หยกเลยนอกจากคนจีน พระพักต์ของพระแก้วมรกต (ตอนถอดเครื่องทรง) ถ้าสังเกตให้ดีก็จะเป็นศิลปแบบจีนยูนนาน ยิ่งไปกว่านั้น ความมหัศจรรย์ที่ไม่ค่อยมีใครรู้คือ ในองค์พระแก้วมรกตนั้น มีช่องกลวงขนาดเล็ก ๆ บรรจุพระอุรังคธาตุหรือกระดูกพระอุระของพระพุทธเจ้า ซึ่งถูกอัญเชิญจากอินเดียไปจีน ผ่านมาทางพม่า องค์พระแก้วถูกแกะสลักจากหินสีเขียวก้อนเดียวและบรรจุพระอุรังคธาตุโดยไม่มีรอยตัดเชื่อมต่อเลย เทคโนโลยีนี้เป็นความลับที่สูญหายไปของชาวจีนโบราณยุคนั้น คนอินเดีย พม่า และไทย ไม่เคยมีสลักพระพุทธรูปด้วยเทคนิคเช่นนี้  หากจับองค์พระแก้วเขย่าดู จะได้ยินเสียงสั่นให้รู้ว่าภายในองค์พระแก้วมีรูกลวง และบรรจุวัตถุอยู่ประมาณ 6-7 ชิ้น ไม่มีหลักฐานใดเชื่อได้ว่าเป็นพระโมลี พระนลาฏ พระนาภี พระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวา พระเพลาซ้าย และพระเพลาขวาของพระพุทธเจ้า แต่มีตำนานเล่ากันว่าตอนที่มีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าหลังจากการถวายพระเพลิงนั้น ส่วนกระดูกพระอุระและข้อนิ้วพระหัตถ์ถูกอัญเชิญไปทางประเทศจีน พระเกศาธาตุถูกอัญเชิญไปทางพม่า พระเขี้ยวแก้วถูกอัญเชิญไปศรีลังกา ผงเถ้าทุลีถูกแบ่งออกแล้วเชิญไปยังอินเดียตอนใต้ ศรีวิชัย และเปอร์เซีย ดังนั้นหากพระแก้วมรกตถูกสร้างด้วยหินหยกเขียวทางตอนใต้ของจีนสมัยอาณาจักรน่านเจ้า หรือฟูนันก็น่าจะมีการบรรจุพระอุรังคธาตุไว้ด้วยก็ได้
              นักโบราณคดีจีนมีหลักฐานหลายอย่างที่เชื่อได้ว่าพระแก้วมรกตถูกสร้างอยู่ที่เมืองต้าลี่สมัยอาณาจักรน่านเจ้ารุ่งเรืองเมื่อ 1500 ปีก่อน แต่มีการปกปิดเรื่องนี้ไว้ไม่ให้รู้ถึงจักรพรรดิจีนในราชวงศ์ถังเรืองอำนาจ  ต่อมาจักรพรรดิจีนได้ยินข่าวว่าเมืองต้าลี่มีสมบัติล้ำค่า ก็ยกทัพจะมายึดไป ชาวน่านเจ้าก็แอบนำองค์พระแก้วลงมาทางใต้ มาประดิษฐานไว้ที่วัดพระแก้วในเมืองเชียงรุ้ง มีวัดพระแก้วอยู่ที่เชียงรุ้งและวัดนี้มีอายุมาแล้วประมาณ 1300 ปี เมื่ออิทธิพลของกองทัพจีนมารุกรานถึงเชียงรุ้ง พระแก้วมรกตก็ถูกลักลอบหนีมาอยู่ที่เมืองเชียงตุง และคาดว่าจะประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วในเมืองเชียงตุงมาเกือบ 300 ปี โดยที่ปกปิดไว้ไม่ให้รู้ว่าองค์พระเป็นมรกต ต่อมาเมื่อไม่ถึง 600 ปีมานี้มีการค้นพบว่ามีพระแก้วมรกตที่หุ้มด้วยปูนซ่อนอยู่ในเจดีย์ของเมืองเชียงราย ซึ่งอยู่พ้นจากอิทธิพลของกองทัพจีน และมองโกล พระแก้วมรกตจึงถูกเปิดเผยออกมาสู่ประวัติศาสตร์ของไทยโดยไม่ต้องซุกซ่อนอีกต่อไป มีร่อยรอยหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าพระแก้วมรกตเคยประดิษฐานอยู่ในวัดพระแก้ว 9 วัด และแต่ละวัดสามารถระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนได้ และมีพระแท่น หรือจุดที่วางพระแก้วมรกตไว้ที่แน่ชัด ได้แก่
              1. วัดพระแก้ว ในเมืองเชียงรุ้ง ประมาณ พ.ศ. 1200 – 1500 โดยช่วงก่อนหน้านั้นอาจจะประดิษฐานอยู่ในพระราชวังโบราณของอาณาจักรน่านเจ้า ปัจจุบันไม่มีร่องรอยเกี่ยวกับพระแก้วมรกตเหลืออยู่แล้วในเมืองต้าลี่ แต่เราสามารถพบเห็นแหล่งหินธรรมชาติชนิดเดียวกันกับพระแก้วมรกตได้ทั่วไปในเมืองต้าลี่ ส่วนวัดพระแก้วเก่าแก่ในเชียงรุ้ง มรดกของชาวไทยรื้อนี้พึ่งจะถูกรัฐบาลจีนรื้อถอนออกไปแล้วเมื่อประมาณ พ.ศ. 2546 เพื่อปรับปรุงเมืองให้ทันสมัย
            2.  วัดพระแก้ว ในเมืองเชียงตุง  ประมาณ พ.ศ. 1500 – 1900 ในช่วงแรกนั้นพระแก้วอาจจะมิได้หุ้มด้วยปูนลงรักปิดทอง แต่ชาวไทยรื้อสามารถสัมผัสและสรงน้ำองค์พระแก้วได้ในวันขึ้นปีใหม่โบราณ โดยดูได้จากการถอดความบันทึกโบราณภาษาไทยรื้อในพม่า ที่มีการบันทึกไว้ด้วยภาษาไทยรื้อโบราณมีอายุประมาณ 1000 ปีมาแล้ว ต่อมาประมาณเมื่อประมาณ 900 ปีมานี้ มีกองทัพเจงกีสข่าน จากมองโกลรุกรานมาถึงพม่าก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการสรงน้ำองค์พระแก้วในวันขึ้นปีใหม่อีกเลย อาจเป็นไปได้ว่ามีการหุ้มด้วยปูนแล้วลงรักองค์พระแก้วมรกตไว้ในช่วงสมัยนี้  จนผู้คนก็ลืมไปแล้วว่ามีพระแก้วที่สลักจากหินมรกตอยู่  ปัจจุบันที่วัดพระแก้วในเชียงตุงซึ่งมีอายุกว่า 1000 ปี ได้นำพระองค์อื่นวางไว้แทนองค์พระแก้วมรกต
           3. วัดพระแก้ว ในเมืองเชียงราย ถูกพบว่าเป็นองค์พระแก้วมรกตในปี พ.ศ. 1979 ตอนนั้นเชียงรายอยู่ในการดูแลของนครเชียงแสน และเมืองเชียงแสนเป็นถิ่นฐานที่สามารถติดต่อกับชาวไทยรื้อและน่านเจ้าได้โดยการเดินทางผ่านแม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขง  แต่องค์พระแก้วที่หุ้มด้วยปูนลงรักอาจจะถูกชาวไทยรื้อแอบเชิญมาอยู่ที่เชียงรายในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 หรือประมาณ พ.ศ. 1900 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวมอญแพ้ให้กับพม่า และพุกามกำลังเรืองอำนาจ มีการเริ่มก่อตั้งอาณาจักรล้านนา และชาวไทยรื้อเข้มาตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือของไทย 
         4. วัดพระแก้ว ในเมืองลำปาง หรือเมืองเขลางค์นคร   ปัจจุบันคือวัดสุชาดาราม หรือ พระแก้วดอนเต้า ประมาณ พ.ศ. 1979 – 2011 ในฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของนครเชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า หรือสุชาดารามนี้ ตั้งอยู่ที่ ถนนสุชาดา ภายในเมืองลำปาง เป็นวัดเก่าแก่สวยงาม มีอายุเกือบพันปี มีปูชนียสถานที่สำคัญของวัดทดแทนพระแก้วมรกต คือ พระบรมธาตุดอนเต้า พระเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งเชื่อว่าบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า

. 5. วัดพระแก้ว ในเมืองลำพูน หรือหริภุณชัย ในช่วงปี พ.ศ. 2009-2011 เป็นเส้นทางผ่านในการอัญเชิญพระแก้วมรกตจากลำปางไปสู่เมืองเชียงใหม่ โดยได้ประดิษฐานพระแก้วมรกตไว้เป็นการชั่วคราวที่นี่ก่อนที่จะมีการก่อสร้างปราสาทที่เก็บรักษาพระแก้วในเมืองเชียงใหม่

          6. วัดพระแก้ว ในเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันคือวัดเจดีย์หลวง  ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2011 จนถึง 2096 โดยมีการก่อสร้างปราสาทหอพระแก้วไว้บริเวณซุ้มจรนัม ทางทิศตะวันออกของพระธาตุเจดีย์หลวง ปัจจุบันหอพระแก้วเดิมได้ผุพังไปแล้ว มีการก่อสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาทดแทน
          7. วัดพระแก้ว ในเมืองเชียงทอง หรือปัจจุบันคือหลวงพระบาง ตั้งแต่ พ.ศ. 2096 – 2107 โดยถูกพระญาติของเจ้าครองนครเชียงใหม่ ที่จะได้ไปครองเมืองเชียงทองซึ่งตอนนั้นยังไม่เป็นเอกราช ได้แอบนำพระแก้วมรกตไปจากเชียงใหม่ ปัจจุบันที่ที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตได้ประดิษฐานพระบางแทนซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองจากเมืองเชียงทองเป็นเมืองหลวงพระบาง
         8. วัดพระแก้ว ในเมืองเวียงจันทร์ พ.ศ.2107-2321  พระแก้วมรกตได้ถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่เวียงจันทร์เพื่อหลบหนีจากการทวงคืนจากเชียงใหม่ และการรุกรานของพม่าสมัยของพระเจ้าบุเรงนอง  ปัจจุบันพระแท่นที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตว่างเปล่า ไม่มีการตั้งพระพุทธรูปองค์ประธานอื่นไว้ทดแทน เพราะชาวลาวเชื่อว่าสักวันหนึ่งพระแก้วมรกตจะได้กลับมาที่เดิม
         9. วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใน กทม. จาก พ.ศ. 2321  จนถึงปัจจุบัน แต่ในช่วงแรกที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทร์ ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีศรีสรรเพ็ชร์ คือระหว่าง พ.ศ. 2321-2325 ได้ประดิษฐานไว้ในโรงภายในพระราชวังเดิม ซึ่งปลูกไว้ริมพระอุโบสถวัดแจ้ง ฝั่งธนบุรี (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอรุณราชวรารามในรัชกาลที่ 2) ครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2325 ได้โปรดให้เรียกพระแก้วใหม่ว่าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร  แล้วอัญเชิญมาประดิษฐาน ในพระบรมมหาราชวัง  จนมีการสร้างพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2327 จึงให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานอยู่ในที่ปัจจุบัน
                 เรื่องที่เล่ามานี้จะเล่าเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายองค์พระแก้วมรกตเท่านั้น มิได้กล่าวถึงสาเหตุของการเคลื่อนย้ายว่า ใครทำสงครามกับใคร ใครขออัญเชิญมา หรือใครลักลอบช่วงชิงมาเพราะเหตุผลใด แต่ยังมีเรื่องเล่าประวัติความเกี่ยวข้องกับช่วงชิงหวังครอบครองพระแก้วมรกตของบุคคลในประวัติศาสตร์อีกมาก  แต่ไม่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีใดที่จะเชื่อได้ว่าพระแก้วมรกตจัดสร้างขึ้นที่เมืองปาลีบุตร ประเทศอินเดีย เพราะในยุคนั้นบริเวณเมืองปาลีบุตรไม่มีหินหยกขนาดใหญ่เลย และไม่ปรากฏหลักฐานใดที่จะเชื่อได้ว่าพระแก้วมรกตเคยประดิษฐานที่ลังกา หรือประเทศศรีลังกามาก่อน แม้ว่าจะมีวัดพระเขี้ยวแก้วในประเทศศรีลังกาก็ตาม ยังไม่ปรากฏหลักฐานใดที่จะเชื่อมโยงกับพระแก้วมรกตเลยใน เมืองนครธม และในที่อื่น ๆ ของเขมร รวมทั้งไม่มีเหตุผลใดที่พระแก้วมรกตจะเคยมาอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร และเมืองอโยธยาโบราณ (กรุงศรีอยุธยาตั้งขึ้นมาจริง ๆ ในสมัยพระเจ้าอู่ทองประมาณ 600 ปีก่อนเท่านั้น) นอกจากความเชื่อที่จำกันมา แม้ว่าจะมีวัดพระแก้วในพระนครศรีอยุธยาและเมืองเก่ากำแพงเพชรก็ตาม แต่น่าจะเป็นวัดที่สร้างใหม่ภายหลังอายุไม่เกิน 400 -500 ปี ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นที่แน่ชัดว่าพระแก้วมรกตอยู่ที่เชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง ดังนั้นตำนานเล่าขานเกี่ยวกับพระเจ้าอติตะราช (อาทิตยราช) เจ้าครองนครอโยธยาโบราณมารับเอาพระแก้วมรกตไปจากเขมรจึงไม่น่าจะมีจริง
            ปัจจุบันโอกาสที่เราจะเห็นองค์จริง ๆ (Model พระพักตร์และลวดลายแกะสลัก) ของพระแก้วมรกตนั้นมีน้อยมาก เพราะเรานำเครื่องทรง 3 ฤดู ไปสวมและปกปิดความมหัศจรรย์ขององค์พระจริง ๆ  แต่ก็ทำให้พระแก้วมรกตมีความเป็นศิลปะไทยมากขึ้น เพราะหากไม่มีเครื่องทรงจะแล้ว ดูองค์พระจากหินมรกตเปล่า ๆ จะเห็นแตกต่างไปจากที่เราคุ้นเคยมาก  ช่างสลักของไทย เขมร พม่า ลาวรวมทั้งล้านนาในทุกสมัยก็มิเคยมีฝีมือสลักพระพุทธรูปในรูปแบบนี้มาก่อน ทุก ๆ 4 เดือนจะมีพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรง สรงน้ำ และบวงสรวงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรโดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จไปแทนในหลวง อาจจะมีโอกาสได้เห็นพระแก้วมรกตตอนถอดเครื่องทรงออกเปลี่ยนและทำความสะอาดทางทีวีบ้าง การได้ไปเยือนและสักการะวัดพระแก้วที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตครบทั้ง 9 วัดที่กล่าวมาข้างต้นจะมีอานิสงค์มาก ประดุจดังได้แก้วมีค่าควรเมือง การสักการะด้วยคาถาบูชาพระแก้วมรกตก็จะบันดาลความมั่งคั่ง มั่งคงแก่บ้านเมือง

[URL=http://www.temppic.com/img.php?16-11-2010:1289886479_0.49678100.jpg][IMG]http://images.temppic.com/16-11-2010/images_vertis/1289886479_0.49678100.jpg[/IMG][/URL] พระแก้วมรกตในเครื่องทรงฤดูฝน [URL=http://www.temppic.com/img.php?16-11-2010:1289886479_0.89414200.jpg][IMG]http://images.temppic.com/16-11-2010/images_vertis/1289886479_0.89414200.jpg[/IMG][/URL] พระแก้วมรกตในเครื่องทรงฤดูหนาว [URL=http://www.temppic.com/img.php?16-11-2010:1289886480_0.57491300.jpg][IMG]http://images.temppic.com/16-11-2010/images_vertis/1289886480_0.57491300.jpg[/IMG][/URL] พระแก้วมรกตในเครื่องทรงฤดูร้อน [URL=http://www.temppic.com/img.php?16-11-2010:1289886481_0.27511000.jpg][IMG]http://images.temppic.com/16-11-2010/images_vertis/1289886481_0.27511000.jpg[/IMG][/URL] พระแก้วมรกตตอนถอดเครื่องทรง [URL=http://www.temppic.com/img.php?16-11-2010:1289886481_0.96489400.jpg][IMG]http://images.temppic.com/16-11-2010/images_vertis/1289886481_0.96489400.jpg[/IMG][/URL] --ข้อความนี้ไม่ได้ลงชื่อ ซึ่งออกความเห็นโดยผู้ใช้ นนท์ ,มาลิก (พูดคุยหน้าที่เขียน) 12:54, 16 พฤศจิกายน 2010 (ICT)