ข้ามไปเนื้อหา

เมืองพระนคร

พิกัด: 13°24′45″N 103°52′00″E / 13.4125°N 103.866667°E / 13.4125; 103.866667
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระนคร (ขอม))
อังกอร์
អង្គរត *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
พิกัด13°24′45″N 103°52′00″E / 13.4125°N 103.866667°E / 13.4125; 103.866667
ภูมิภาค **เอเชียแปซิฟิก
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(i) (ii) (iii) (iv)
อ้างอิง668
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2535 (คณะกรรมการสมัยที่ 16)
ในภาวะอันตราย2535–2547
พื้นที่40,100 ha
เมืองพระนครตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา
เมืองพระนคร
ที่ตั้งของเมืองพระนคร ในประเทศกัมพูชา
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก
พระนคร
អង្គរ
แผนที่เมืองพระนคร
ชื่ออื่นศรียโศธรปุระ
ภูมิภาคอุษาคเนย์
ความเป็นมา
ผู้สร้างยโศวรรมันที่ 1
สร้างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9
ละทิ้งคริสต์ศตวรรษที่ 15
สมัยยุคกลาง
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
สภาพหักพัง และมีการบูรณะ
ผู้บริหารจัดการอาชญาธรอัปสรา
การเปิดให้เข้าชมต่างชาติใช้ตั๋ว
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบบาแคง, แปรรูป, บันทายศรี, นครวัด, บายน, และยุคหลังบายน

พระนคร หรือชื่อในภาษาเขมรปัจจุบันเรียก อังกอร์ (เขมร: អង្គរ องฺคร; อังกฤษ: Angkor; จากภาษาสันสกฤต นคร nagara)[1] เป็นเมืองหลวงแห่งที่สองของจักรวรรดิเขมร มีชื่อดั้งเดิมตามจารึกว่า ศรียโศธรปุระ (ស្រីយសោធរបុរៈ สฺรียโสธรบุระ̤) มีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทพนมบาแคง (ប្រាសាទភ្នំបាខែង บฺราสาทภฺนํบาแขง) ปัจจุบันอยู่ในเขตเสียมเรียบ (ខេត្សៀមរាប เขตฺเสียมราบ) ของประเทศกัมพูชา ภายหลังย้ายศูนย์กลางไปยังปราสาทบายน (ប្រាសាទបាយ័ន บฺราสาทบายัน) ในพื้นที่ที่เรียกว่า "นครธม" (អង្គរធំ องฺครธํ; "นครใหญ่") ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตเสียมเรียบเช่นกันและทับซ้อนกับพื้นที่ศรียโศธรปุระเดิม

ช่วงเวลาในประวัติศาสตร์กัมพูชาซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ ณ เมืองพระนครนี้เรียกว่า สมัยพระนคร (Angkorian period) เริ่มในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 เมื่อพระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 (យសោវរ្ម័នទី១ ยโสวรฺมันที ๑) ทรงสถาปนาศรียโศธรปุระขึ้น แต่นักวิชาการบางคนก็นับช่วงก่อนหน้านี้เข้าด้วย คือ ตั้งแต่ ค.ศ. 802 (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9) เมื่อพระเจ้าชัยวรรมันที่ 2 (ជ័យវរ្ម័នទី២ ชัยวรฺมันที ๒) ทรงรับการอภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพนมกุเลน (ភ្នំគូលេន ภฺนํคูเลน; "ภูเขาลิ้นจี่") และทรงสถาปนาเมืองหลวงแห่งแรกขึ้น คือ หริหราลัย (ហរិហរាល័យ) ดำเนินมาจนกระทั่งเจ้าพระยาญาติ (ចៅពញាយ៉ាត เจาพญาย̎าต) ทรงละทิ้งนครธมไปในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นอันสิ้นสุดสมัยพระนคร ช่วงเวลาหลังจากนี้เรียกว่า สมัยหลังพระนคร (post-Angkorian period) ส่วนก่อนหน้าเรียกว่า สมัยก่อนพระนคร (pre-Angkorian period) อันเป็นช่วงที่ประกอบด้วยรัฐน้อยใหญ่ต่าง ๆ เช่น ฟูนัน และเจนละ

เวลาผ่านไป เมืองพระนครกลายเป็นซากปรักหักพังอยู่ในป่ารก ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบเขมร (ទន្លេសាប ทนฺเลสาบ) และตอนใต้ของพนมกุเลน ใกล้กับกรุงเสียมเรียบ (ក្រុងសៀមរាប กฺรุงเสียมราบ) เมืองเอกของเขตเสียมเรียบ โบราณสถานพระนครมีศาสนสถานกว่าหนึ่งพันแห่ง ถือเป็นอนุสรณ์สถานทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในจำนวนนี้รวมถึงนครวัด (អង្គរវត្ องฺครวตฺ) ที่พระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 (សូរ្យវរ្ម័នទី២ สูรฺยวรฺมันที ๒) ทรงสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ศาสนสถานหลายแห่งได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ และนับเป็นสถานที่สำคัญที่สุดในทางสถาปัตยกรรมเขมร ได้รับความคุ้มครองในฐานะแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก (UNESCO World Heritage Site) แต่ละปีมีผู้เยี่ยมชมราวสองล้านคน แต่ความนิยมนี้เองทำให้เกิดข้อยากหลายประการในการอนุรักษ์

ใน ค.ศ. 2007 คณะนักวิจัยระหว่างประเทศใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและวิทยาการสมัยใหม่แขนงอื่น ๆ จนได้ข้อสรุปว่า เมืองพระนครเคยเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกก่อนยุคอุตสาหกรรม มีระบบโครงสร้างพื้นฐานอันสลับซับซ้อนซึ่งเชื่อมต่อภาคส่วนต่าง ๆ ของเมืองเข้ากับศาสนสถานทั้งหลาย รวมแล้วเป็นพื้นที่อย่างน้อย 1,000 ตารางกิโลเมตร[2] นอกจากนี้ เมืองพระนครยังนับเป็นนครไฮดรอลิก (hydraulic city) เพราะมีเครือข่ายบริหารจัดการน้ำที่ซับซ้อนสำหรับเก็บและกระจายน้ำอย่างเป็นระบบในทุกพื้นที่[3] ระบบน้ำนี้ยังเชื่อว่า ใช้สำหรับชลประทาน ใช้เตรียมรับมือฤดูแล้งที่อาจเกิดขึ้นนอกเหนือการคาดการณ์ และใช้สนับสนุนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ[2] แม้จำนวนประชากรที่แน่ชัดยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ระบบทางเกษตรกรรมที่ค้นพบใหม่ในพื้นที่นี้นำไปสู่สมมุติฐานว่า อาจมีมนุษย์อาศัยอยู่ถึงหนึ่งล้านคน คิดเป็นอย่างน้อย 0.1% ของประชากรทั่วโลกในช่วง ค.ศ. 1010–1220 ทำให้เมืองพระนครถือเป็นอภินคร (megacity) อีกด้วย[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Benfey, Theodor (1866). A Sanskrit-English Dictionary: With References to the Best Edition of Sanskrit Author and Etymologies and Camparisons of Cognate Words Chiefly in Greek, Latin, Gothic, and Anglo-Saxon (reprint ed.). Asian Educational Services. pp. 453, 464. ISBN 8120603702.
  2. 2.0 2.1 Evans et al., A comprehensive archaeological map of the world's largest pre-industrial settlement complex at Angkor, Cambodia, Proceedings of the National Academy of Sciences of the USA, August 23, 2007.
  3. Evans, D., Pottier, C., Fletcher, R., Hensley, S., Tapley, I., Milne, A., & Barbetti, M. (2007). A comprehensive archaeological map of the world's largest pre-industrial settlement complex at Angkor, Cambodia. Proceedings of the National Academy of Sciences, 104(36), 14277-14282.
  4. Metropolis: Angkor, the world's first mega-city เก็บถาวร 2011-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Independent, August 15, 2007

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]