พระกริ่งปวเรศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระกริ่ง พ.ศ. 2395–2411
พระกริ่งปวเรศ ปางหมอยา ศิลปะรัตนโกสินทร์ ออกแบบโดย ช่างสิบหมู่
พระกริ่งปวเรศ

พระกริ่งปวเรศ เป็นพระกริ่งที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์โปรดให้พระยาเวียงในนฤบาลสร้างขึ้น มีพระพุทธรูปลักษณะ ปางหมอยา เป็นชื่อเรียกพระกริ่งที่สร้างโดยฝีมือของช่างสิบหมู่ หรือ ช่างหลวง ตั้งแต่ พ.ศ. 2382–2434 ในอาณาจักรพระเครื่องรางที่นับถือว่ามีอานุภาพขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักนิยมพระเครื่องตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 สืบมาถึงปัจจุบัน มีราคาซื้อขายสูงที่สุดในประเภทพระโลหะ การสร้างมีพิธีพระพุทธาภิเษก และมีพิธีโหร พิธีพราหมณ์ และพิธีบวงสรวงอัญเชิญเทพเทวาพระเบื้องบนมาช่วยร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ

ที่มา[แก้]

พระพุทธรูปที่จัดว่าเป็นพระเครื่องในช่วงแรกนี้มีทั้งทำจากดินและจากโลหะ แต่พระที่ใช้โลหะเป็นวัสดุในการสร้างและเมื่อเขย่าแล้วจะมีเสียงดังกริ่ง ๆ ที่เรียกกันว่า พระกริ่ง ได้รับการยอมรับและศรัทธาในสังคมมากกว่า ได้กล่าวโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ[1] อาจเนื่องจากรูปแบบของพระกริ่งนั้นคือ พระไภษัชยคุรุ ในหนังสือตำนานพุทธเจดีย์ว่า พระกริ่งที่สร้างขึ้นทุกองค์เป็นพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตทั้งสิ้น และความเชื่อที่ว่าพระไภษัชยคุรุนั้น มีอำนาจพุทธานุภาพทำให้ผู้ที่บูชาหายจากความเจ็บป่วยไข้และพ้นภัยจากอันตรายทั้งปวง การสร้างพระกริ่งที่เป็นพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตขนาดเล็กขึ้นเพื่ออาศัยบารมีของพระไภษัชยคุรุนี้ ช่วยขจัดภยันตรายต่าง ๆ และให้ผู้ที่พกพาติดตัวระหว่างเดินทางปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวงจากที่พกติดตัว[2] จึงเป็นมูลเหตุที่สำคัญในการนับถือพระกริ่งเป็นเสมือนเครื่องรางและนำติดตัว กล่าวได้ว่า พระกริ่งปวเรศ เป็น พระกริ่งรุ่นแรก ที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังมีส่วนส่งเสริมให้เกิดความนิยมสร้างพระพุทธปฏิมาในลักษณะ พระกริ่ง ในเวลาต่อมาอย่างแพร่หลายได้รับความนิยม ศรัทธา สูงสุดในวงการซื้อขายที่ถือเป็นสุดยอดพระกริ่ง การสร้างเป็นพิธีกรรมของราชสำนักบุคคลทั่ว ๆ ไปย่อมไม่มีโอกาสได้พบเห็นจำนวนการสร้างเกือบทั้งหมดบรรจุกรุที่วัดพระแก้ว ไม่ทราบจำนวนการสร้างที่แน่ชัดจึงถือเป็นของหายากและเป็นที่สุดของพระกริ่งปวเรศ

ประวัติการสร้างพระกริ่งปวเรศ[แก้]

พระกริ่งในสมัยรัตนโกสินทร์เริ่มสร้างที่มีความโดดเด่นมากในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2382 จัดได้ว่าเป็นพระกริ่งยุคเริ่มบุกเบิกและมีพลังพุทธนุภาพแรงที่สุด พระกริ่งปวเรศเริ่มมีชื่อเสียงในวงแคบ ๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาถึงยุคของรัชกาลที่ 5 พระกริ่งที่โด่งดังในอดีตล้วนแต่เป็นพระกริ่งที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ร่วมอธิษฐานจิต เนื่องจากพระกริ่ง และพระกริ่งปวเรศมีจำนวนการสร้างมากแต่จำนวนเกือบทั้งหมดถูกเก็บรักษาไว้ในกรุของวัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ทำให้บุคคลทั่ว ๆ ไปในยุคหลังสมัยรัชกาลที่ 5 แทบไม่เคยพบเห็นและรู้จัก

ภาพรวมของพระกริ่งปวเรศแบ่งออกเป็น 5 ยุค ดังต่อไปนี้

พระกริ่งปวเรศและพระเครื่องวังหน้า ยุคที่ 1 เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2394 ถึง พ.ศ. 2408 ในสมัยของ รัชกาลที่ 4 มีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระบาทสมเด็จฯปวเรศ), ตำแหน่ง วังหน้าและ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ร่วมอธิษฐานจิต

พระกริ่งปวเรศและพระเครื่องวังหน้า ยุคที่ 2 เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2408 ถึง พ.ศ. 2411 ในสมัยของ รัชกาลที่ 4 ตำแหน่ง วังหน้า ว่างเว้น และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ร่วมอธิษฐานจิต

พระกริ่งปวเรศและพระเครื่องวังหน้า ยุคที่ 3 เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2411 ถึง พ.ศ. 2415 ในสมัยของ รัชกาลที่ 5 กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ตำแหน่ง วังหน้าองค์สุดท้าย และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ร่วมอธิษฐานจิต

พระกริ่งปวเรศและพระเครื่องวังหน้า ยุคที่ 4 เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2415 ถึง พ.ศ. 2428 ในสมัยของ รัชกาลที่ 5 กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ตำแหน่ง วังหน้าองค์สุดท้าย

พระกริ่งปวเรศและพระเครื่องวังหน้า ยุคที่ 5 เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2428 ถึง พ.ศ. 2435 ในสมัยของ รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เนื่องจากไม่มีตำแหน่งวังหน้า ผู้ที่มีอาวุโสของพระญาติวังหน้า จึงได้มีบทบาทสำคัญยุคสุดท้ายของพระกริ่งวังหน้าในยุคที่ 5

ความเชื่อและคตินิยม[แก้]

  1. สำหรับความเชื่อในเรื่อง เครื่องราง ของคนไทย มีมาแต่ครั้งโบราณ ดังจะเห็นได้ในวรรณกรรมที่มีการกล่าวถึงอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะ เครื่องราง ที่นักรบใช้ติดตัวในยามออกศึกสงคราม เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ห้าวหาญไม่เกรงคลัวข้าศึก โดยเชื่อกันว่า เครื่องราง ที่สร้างขึ้นด้วยวิชาไสยศาสตร์ชั้นสูง โดยพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมอันเข้มขลัง จะสามารถช่วยคุ้มครองป้องกันภัยรอบตัวได้เป็นอย่างดี[3]
  2. ปัจจุบันนิยมนำมาห้อยคอเป็นเครื่องรางสำหรับคุ้มครองป้องกันและเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต[4]
  3. อาราธนาทำ น้ำมนต์ เมื่อเวลาเรารู้สึกดวงไม่ดี มีเคราะห์ หรือเจ็บป่วย นำพระกริ่งปวเรศ หรือพระกริ่ง (องค์แทนพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาสพุทธเจ้า)[5] อาราธนาบารมีของพระองค์ท่านทำน้ำพระพุทธมนต์ ดื่ม รด อาบ กินเพื่อความสวัสดี มีชัยปราศจากโรคภัยและกำจัดปัดเป่าอัปมงคล อันตราย ภัยพิบัติต่าง ๆ[6]

มวลสารพระกริ่งปวเรศ[แก้]

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 เคยมีดำรัสถึงเรื่องพระกริ่งปวเรศนี้ว่า ตำราการสร้างพระกริ่งและตำรามงคลโลหะ ที่มีมาแต่โบราณสืบค้นได้ถึงสมัยสมเด็จพระพนรัตนวัดป่าแก้ว[7] ท่านอาจารย์ตรียัมปวาย ได้กล่าวถึงเรื่องพระกริ่งปวเรศไว้ดังนี้ "พระกริ่งปวเรศที่คนโบราณเขานิยมกันนั้น มีอยู่เนื้อเดียว คือเนื้อนวโลหะผิวกลับดำ เมื่อขัดเนื้อในจะเป็นสีจำปาเทศ และเมื่อทิ้งไว้ถูกกับอากาศจะกลับดำอีกครั้งหนึ่งในเวลาไม่นาน[8] เนื้อนวโลหะ ประกอบไปด้วย โลหะ 9 อย่างได้แก่ ทองคำ เงิน ทองแดง จ้าวน้ำเงิน(พลวง) เหล็กละลายตัว ชิน(ตะกั่ว+ดีบุก) ตะกั่วน้ำนม ปรอท สังกะสี[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. ตำนานพระพุทธเจดีย์, หน้า 50-51
  2. ตำนานพระพุทธเจดีย์, หน้า 50-51
  3. สุดยอด เครื่องรางของขลังไทย, หน้า 3-5
  4. สุดยอด เครื่องรางของขลังไทย, หน้า 3-5
  5. แสง มนวิทูร, ผู้แปล, คัมภีร์ลลิตวิสตระ: พระพุทธประวัติฝ่ายมหายาน
  6. มอนต์ จันทนากร, ทำเนียบพระกริ่ง พระชัยวัฒน์
  7. ตำนานวัดบวรนิเวศ วัดบวรนิเวศ
  8. หนังสือพระสมเด็จโต เล่ม 1, ตรียัมปวาย, 2495
  9. ตำนานวัดบวรนิเวศ วัดบวรนิเวศ

บรรณานุกรม[แก้]

  • ตำนานพระพุทธเจดีย์, กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ศิลปาปรรณาคาร โรงพิมพ์ รุ่งวัฒนา ธนบุรี ,2513
  • ตำนานวัดบวรนิเวศ หน้า 147 วัดบวรนิเวศ
  • จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรับกาลที่ 5 พ.ศ. 2411-2416 สำนักนายกรัฐมนตรีคณะกรรมการเผยแพร่เอกสารประวัติศาสตร์ จัดพิมพ์เผยแพร์ พ.ศ. 2516 หน้า 121-129
  • บรรณานุกรมหอสมุดแห่งชาติ มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า 5 วรรค 2 หอสมุดแห่งชาติ
  • สุดยอด เครื่องรางของขลังไทย, สำนักพิมพ์คเณศ์พรจำหน่ายและจัดทำ, 18 ก.พ. 2008 หน้า 3 - 5
  • หนังสือพระสมเด็จโต เล่ม 1, ตรียัมปวาย, 2495
  • X-ray Fluorescence Spectrometer EDX720, SHIMADZU, Energy Dispersive, 2010
  • แสง มนวิทูร, ผู้แปล, คัมภีร์ลลิตวิสตระ: พระพุทธประวัติฝ่ายมหายาน, ตอนที่ 1 อัธยายที่ 1(พระนคร: กรมศิลปากร, 2512).
  • มอนต์ จันทนากร, ทำเนียบพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ (กรุงเทพฯซ นครช่างการพิมพ์, 2527).
  • ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตปูรวปณิธานสูตร และ ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาสัปตพุทธปูรวปณิธานวิเศษสูตร แปลจากภาษาจีนสู่ภาษาไทยโดยพระวิศวภัทร เซี่ยเกี๊ยก วัดเทพพุทธาราม, เซียนฮุดยี่, อ.เมือง จ.ชลบุรี

ดูเพิ่ม[แก้]