ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ
นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด26 มกราคม พ.ศ. 2486 (81 ปี)
เชื้อชาติไทย
คู่สมรสอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ
บุตรดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
ผศ.ดร.อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ
อาชีพข้าราชการบำนาญ

ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 8/2560 [1] ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของประเทศไทย อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ประวัติ[แก้]

ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนราชินีบน จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2507 ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ได้สำเร็จการศึกษาพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (เกียรตินิยมดี) สาขารัฐประศาสนศาสตร์ และยังได้สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร (รุ่นที่ 37) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

ด้านครอบครัว สมรสกับนายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ และรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มีบุตรธิดา 2 คน คือ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การทำงาน[แก้]

ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ เริ่มรับราชการเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2508 ในตำแหน่งพนักงานงบประมาณตรี สำนักงบประมาณ และได้โอนมาสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในปีต่อมา และได้ก้าวหน้าในหน้าที่การงานเรื่อยมาจนได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2521 เป็นผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2530 และได้รับตำแหน่งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2538 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2542 จึงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี[2]

ต่อมาในรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร จึงได้ถูกย้ายมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544[3] เป็นปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในปี พ.ศ. 2545 จนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2546

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551 จึงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน[4] และเป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในปี พ.ศ. 2554[5]

หลัง รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 8/2560

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. เซ็น ตั้ง 39 ผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ย.ป.แล้ว คนดังเพียบ![ลิงก์เสีย]
  2. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน
  3. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน (ระดับ 11 สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก สำนักนายกรัฐมนตรี นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ)
  4. ประกาศ แต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน (นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ)
  5. ประกาศแต่งตั้งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดินราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนพิเศษ 138ง วันที่ 17 พฤศจิกายน 2554
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๘, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๕, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๘ เก็บถาวร 2015-12-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๓๒ ข หน้า ๒๗, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๘
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๑๑๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑๒, ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๔