ข้ามไปเนื้อหา

ทาลัสซีเมียแบบบีตา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทาลัสซีเมียแบบเบตา)
ทาลัสซีเมียแบบบีตา
(Beta thalassemia)
การสืบทอดทางกรรมพันธุ์ของทาลัสซีเมียแบบบีตา
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10D56.1
ICD-9282.44
OMIM141900
DiseasesDB3087 1373
eMedicinearticle/199534
MeSHD017086

ทาลัสซีเมียแบบบีตา (อังกฤษ: Beta thalassemias, β thalassemias) เป็นกลุ่มโรคเลือดที่สืบทอดทางพันธุกรรม เป็นรูปแบบของทาลัสซีเมียที่มีเหตุจากการสังเคราะห์ห่วงลูกโซ่บีตาของเฮโมโกลบิน (HBB) ที่ผิดปกติ คือลดลงหรือไม่มีเลย ซึ่งอาจมีผลต่าง ๆ เริ่มต้นจากภาวะเลือดจางอย่างรุนแรง จนถึงบุคคลที่ไม่มีอาการเลย ความชุกของโรคทั่วโลกต่อปีอยู่ที่ 1 ใน 100,000[1] เป็นโรคที่มีเหตุจากการกลายพันธุ์ของยีน HBB บนโครโมโซมคู่ที่ 11 โดยสืบทางกรรมพันธุ์แบบผ่านลักษณะด้อยของออโตโซม (autosomal recessive) ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับลักษณะการกลายพันธุ์[2] แต่โดยทั่วไปแล้วความไม่สมดุลของห่วงลูกโซ่แอลฟาและบีตาจะทำให้เกิดการสลายของเม็ดเลือดแดง (hemolysis) และการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ไม่มีประสิทธิภาพ คนที่มีกรรมพันธุ์แบบลักษณะสืบสายพันธุ์ (trait) จะไม่มีอาการ ไม่ต้องรักษา และจะมีการคาดหมายคงชีพที่อายุปกติ ผู้ที่มีโรคเต็มตัว (major) จะมีภาวะเลือดจางแบบเม็ดเลือดแดงสลาย ไม่โต และมีความผิดปกติทางกระดูกในวัยทารก เด็กที่มีโรคเต็มตัวจะต้องถ่ายเลือดตลอดชีวิต ผู้ที่มีโรคเต็มตัวมักจะเสียชีวิตเกี่ยวกับปัญหาทางหัวใจเนื่องจากภาวะเหล็กเกินโดยอายุ 30 ปี ผู้ที่มีโรคระดับปานกลาง (intermedia) มีอาการรุนแรงน้อยกว่าแต่อาจจะต้องถ่ายเลือดเป็นครั้งคราว บุคคลที่มีโรคควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนมีบุตร/ก่อนแต่งงาน[3]

ความขัดข้องในการถอดรหัสยีน HBB มีผลเป็นการสังเคราะห์ห่วงลูกโซ่บีตาของโปรตีนโกลบินที่ลดลง ซึ่งมีผลเป็นการผลิตเฮโมโกลบินแบบ A (HbA) ที่ลดลง[4] เมื่อเม็ดเลือดแดงมีโกลบินเอน้อยลง ก็ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางแบบเม็ดเลือดแดงเล็ก (microcytic anemia) ดังนั้น ภาวะโลหิตจางแบบเม็ดเลือดแดงเล็กจะเป็นผลโดยที่สุดของการขาด HBB[5] เพราะเหตุนี้ คนไข้อาจจำเป็นต้องได้การถ่ายเลือดเพื่อทดแทนการไม่ผลิตห่วงลูกโซ่บีตา แต่การถ่ายเลือดซ้ำ ๆ อาจนำไปสู่ภาวะเหล็กเกิน (iron overload) ซึ่งมีผลเป็นภาวะเหล็กเป็นพิษ (iron toxicity) และภาวะเหล็กเป็นพิษสามารถมีผลหลายอย่าง รวมทั้ง myocardial siderosis (ภาวะสะสมเหล็กในหัวใจ) และหัวใจวายซึ่งอาจทำให้ถึงชีวิต[6]

อาการ

[แก้]
มือของคนไข้ที่มีภาวะโลหิตจางรุนแรงเทียบกับที่ไม่มี

โรคมีสามระดับ คือ thalassemia major (ทาลัสซีเมียใหญ่), thalassemia intermedia (ทาลัสซีเมียกลาง) และ thalassemia minor (ทาลัสซีเมียน้อย). คนไข้ทุกระดับจะเสี่ยงมีปัญหาม้าม ซึ่งบ่อยครั้งจะใหญ่ขึ้นและต้องตัดออก และปัญหานิ่วในถุงน้ำดี[7] แต่ปัญหาโดยมากจะพบในทาลัสซีเมียใหญ่และทาลัสซีเมียกลาง คนไข้ที่มีทาลัสซีเมียใหญ่มักจะปรากฏตั้งแต่ 2 ปีแรกในชีวิต เพราะมีภาวะโลหิตจางรุนแรง ไม่โต และกระดูกผิดปกติตั้งแต่ยังเป็นทารก ถ้าไม่รักษา ทาลัสซีเมียใหญ่อาจทำให้ถึงชีวิต โดยปกติเพราะหัวใจวาย ดังนั้น การตรวจคัดกรองเมื่อกำเนิดเป็นเรื่องจำเป็น[8]

การมีเหล็กเกินอาจมีผลรุนแรงต่อตับ หัวใจ และต่อมไร้ท่อ อาการรุนแรงรวมทั้ง ตับแข็ง ตับเกิดพังผืด (liver fibrosis) และในกรณีที่รุนแรงมะเร็งตับ[9] หัวใจวาย การไม่โต โรคเบาหวาน ภาวะกระดูกพรุน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะนี้[10] ความผิดปกติของหัวใจที่มาจากภาวะนี้และภาวะเหล็กเกินก็คือ ความผิดปกติของหัวใจห้องล่างทั้งในช่วงบีบช่วงคลาย (ventricular systolic/diastolic dysfunction) ภาวะความดันโลหิตสูงในเส้นเลือดปอด (pulmonary hypertension) ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ (valvulopathy) หัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmia) และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) การดูดซึมเหล็กผ่านทางเดินอาหารสูงขึ้นในภาวะนี้ทุกระดับ และเพิ่มระดับการทำลายเม็ดเลือดแดงในม้ามเนื่องจากการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ไม่มีประสิทธิภาพก็จะปล่อยเหล็กเพิ่มขึ้นเข้าในเลือด[11]

เหตุ

[แก้]

เฮโมโกลบินในเลือดมีลักษณะเป็นวงแหวน heme มีหน่วยย่อยเป็นห่วงลูกโซ่โปรตีน globin 4 หน่วย โดย 2 หน่วยเป็นแบบแอลฟา และอีกสองหน่วยแบบอื่นนอกจากแอลฟา หน่วยย่อยเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดประเภทของเฮโมโกลบิน เฮโมโกลบินของทารก (HbF) จะมีแอลฟา 2 หน่วยและแกมมา 2 หน่วย (α2γ2) เฮโมโกลบินของผู้ใหญ่ (HbA) จะมีแอลฟา 2 หน่วยและมีบีตา 2 หน่วย (α2β2) และเฮโมโกลบินของผู้ใหญ่ประเภทที่ 2 (HbA2) จะมีแอลฟา 2 หน่วยและเดลตา 2 หน่วย (α2δ2) ผู้ใหญ่ปกติจะมี HbA โดยมาก (> 96%) และ HbA2 โดยส่วนน้อย (<= 4%)[3]

ทาลัสซีเมียแบบเบตาเป็นโรคที่มีเหตุจากการกลายพันธุ์ของยีน HBB บนโครโมโซมคู่ 11 ซึ่งสามารถเกิดขึ้นกว่า 200 ตำแหน่งบนยีน และปกติจะไม่ใช่เป็นการหลุดหาย (deletion) โดยสืบทางกรรมพันธุ์แบบผ่านลักษณะด้อยของออโตโซม (autosomal recessive)[2][3] มีผลทำให้มีการสังเคราะห์ห่วงลูกโซ่แบบบีตาของโปรตีน globin ลดลงหรือไม่มี ทำให้มีลูกโซ่แบบแอลฟาเกินในระดับต่าง ๆ กันขึ้นอยู่กับการกลายพันธุ์[3] ซึ่งมีผลเป็นการผลิตเฮโมโกลบินแบบ A (HbA) ที่ลดลง[4] เมื่อเม็ดเลือดแดงมีโกลบินเอน้อยลง ก็ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางแบบเม็ดเลือดแดงเล็ก (microcytic anemia) ดังนั้น ภาวะโลหิตจางแบบเม็ดเลือดแดงเล็กจะเป็นผลโดยที่สุดของการขาด HBB[5]

การกลายพันธุ์

[แก้]

มีการกลายพันธุ์สำคัญ 2 กลุ่มที่แยกแยะได้

  • แบบไม่ใช่เป็นการหลุดหาย (Nondeletion) ความผิดปกติแบบนี้ทั่วไปเป็นการแทนเบสอันเดียว (single base substitution) หรือการหลุดหายเล็ก ๆ (small deletion) หรือเป็นการเพิ่ม (insert) ใกล้ ๆ กับหรือเหนือยีนโกลบินแบบบีตา บ่อยที่สุด การกลายพันธุ์จะอยู่ที่ promoter region ก่อนยีนโกลบินแบบบีตา และบ่อยครั้งน้อยกว่า เป็นรูปแบบการต่อ (splice variant) ที่ผิดปกติที่เป็นเหตุของโรค[12]
  • แบบหลุดหาย (Deletion) โดยหลุดไปในขนาดต่าง ๆ กันที่เกี่ยวข้องกับยีนโกลบินแบบบีตา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกลุ่มอาการต่าง ๆ เช่น βo หรือ hereditary persistence of fetal hemoglobin (ภาวะเฮโมโกลบินของทารกยังคงอยู่แบบกรรมพันธุ์)[13]

ในตารางต่อไปนี้ อัลลีลที่ไม่ได้กลายพันธุ์ทำให้ผิดปกติเขียนเป็น β การกลายพันธุ์ที่ขัดขวางไม่ให้เกิดห่วงลูกโซ่แบบบีตาเขียนเป็น βo[14] การกลายพันธุ์ที่ยังทำให้สามารถผลิตห่วงลูกโซ่แบบบีตาได้บ้างเขียนเป็น β+

ชื่อ ชื่อเก่า ๆ รายละเอียด อัลลีล
Thalassemia minor   แบบ Heterozygous: มีอัลลีลของโปรตีนโกลบินแบบ β เดียวที่มีการกลายพันธุ์ บุคคลจะมีภาวะโลหิตจางแบบเม็ดเลือดแดงเล็ก (microcytic anemia) มักจะตรวจจับได้โดยการมีค่าปริมาตรของเม็ดเลือดแดงโดยเฉลี่ย (MCV) น้อยกว่าปกติ คือ <80 fL[15] β+
βo
Thalassemia intermedia   คนไข้บ่อยครั้งจะมีชีวิตปกติแต่อาจต้องมีการถ่ายเลือดเป็นครั้งคราว เช่น คราวที่ป่วยหรือตั้งครรภ์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะโลหิตจาง[16] β++
βo+
Thalassemia major Mediterranean anemia; Cooley anemia แบบ Homozygous: เกิดเมื่ออัลลีลทั้งสองกลายพันธุ์ จะเกิดภาวะโลหิตจางแบบเม็ดเลือดแดงเล็กและสีเลือดจางอย่างรุนแรง ถ้าไม่รักษา จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ม้ามโต (splenomegaly) และสภาวะวิรูปทางกระดูกอย่างรุนแรง และสามารถเสียชีวิตก่อนอายุ 20 ปี คนไข้ต้องถ่ายเลือดเป็นระยะ ๆ ต้องผ่าตัดเอาม้ามออกเนื่องจากม้ามโต และได้การรักษาโดยคีเลชันที่ต้องทำเนื่องจากการถ่ายเลือดอาจทำให้มีภาวะเหล็กเกิน[17] βoo

mRNA

[แก้]
โปรตีน HBB PDB 1a00 เป็นโปรตีนโกลบินแบบบีตาที่ดี

ทาลัสซีเมียแบบบีตาเป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีผลต่อเฮโมโกลบิน และเหมือนกับโรกทางกรรมพันธุ์ประมาณครึ่งหนึ่งอื่น ๆ[18] การกลายพันธุ์ที่สืบทอดทางกรรมพันธุ์ทำการสร้างเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ซึ่งเป็นการถอดรหัสจากโครโมโซมให้เสียหาย ดีเอ็นเอมีทั้งส่วนข้อมูล (คือยีน) เพื่อรวมกรดอะมิโนเข้าด้วยกันเป็นโปรตีน และส่วน (noncoding DNA) ที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมระดับโปรตีนที่ผลิต[19]

นอกจากนั้นแล้ว สำหรับคนไข้ทาลัสซีเมีย ส่วนที่ไม่ใช่ข้อมูลโปรตีน ทั้งที่ยาวติดต่อกัน หรือเป็นส่วนต่าง ๆ รวมกัน ยังรวมอยู่ใน mRNA อีกด้วย นี่เป็นเพราะว่า การกลายพันธุ์ได้ทำลายเขตแดนระหว่างส่วนที่เป็น intron (คือส่วนที่ไม่เข้ารหัสโปรตีนและไม่ควรรวมเข้าใน mRNA) และ exon (คือส่วนที่เข้ารหัสโปรตีนและควรรวมเข้าใน mRNA)[20] แต่เพราะส่วนที่เข้ารหัสก็ยังมีอยู่ ดังนั้น ก็จะผลิตทั้งเฮโมโกลบินที่ปกติโดยมีส่วนเพิ่มที่ถ้าทำให้เกิดโรค ก็จะขัดขวางการทำงานของโปรตีนจนกระทั่งมีผลเป็นภาวะโลหิตจาง หน่วยทั้งแอลฟาและบีตาซึ่งเป็นหน่วยย่อยของเฮโมโกลบินจะมีธาตุเหล็ก (heme) อยู่ตรงกลาง โดยห่วงลูกโซ่โปรตีนจะพับรอบเหล็กได้ เฮโมโกลบินปกติหนึ่ง ๆ ของผู้ใหญ่จะมีหน่วยแอลฟาและหน่วยบีตาอย่างละสองหน่วย[21] ทาลัสซีเมียแบบบีตาปกติจะมีผลต่อ mRNA ที่ใช้ในการผลิตห่วงโซ่แบบบีตา (และดังนั้น จึงมีชื่อเช่นนั้น) แต่เพราะการกลายพันธุ์อาจจะเป็นเพียงแค่เบส ๆ เดียว (Single-nucleotide polymorphism) จึงมีงานวิจัยที่พยายามหาวิธียีนบำบัด (gene therapy) เพื่อแก้ปัญหาที่เบส ๆ เดียวนั้น[22][23]

Codocytes ในเลือดมนุษย์ (แต้มสีแบบ Giemsa stain) หรือบางครั้งรู้จักว่าเซลล์เป้ายิงปืนหรือหมวกเม็กซิกัน

การวินิจฉัย

[แก้]

major และ intermedia

[แก้]

การปวดท้องเพราะมีม้ามโตและม้ามตาย และการปวดท้องที่ท้องด้านบนขวาเนื่องจากนิ่วเป็นอาการสำคัญของโรค แต่ว่า การจะวินิจฉัยว่าเป็นทาลัสซีเมียจากอาการเช่นนี้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เนื่องจากโรคซับซ้อน หมอจะสังเกตเห็นอาการเช่นนี้เพียงว่าอาจสัมพันธ์กับโรค[24]

ส่วนอาการต่อไปนี้สามารถชี้ความรุนแรงและลักษณะทางพันธุกรรม (phenotype) ของโรคได้คือ ซีด โตช้า การทานอาหารไม่พอ ม้ามโต ดีซ่าน/ผิวเหลือง ขากรรไกรบนโตเกิน (maxillary hyperplasia) การสบฟันผิดปกติ โรคนิ่วน้ำดี เสียงเต้นหัวใจผิดปกติ (murmur) ในช่วงบีบตัว (systolic) เมื่อมีพร้อมกับภาวะโลหิตจางแบบรุนแรง และจากอาการเหล่านี้ แพทย์สามารถสั่งตรวจเพื่อวินิจฉัยแยกโรคได้ รวมทั้งการตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์, hemoglobin electrophoresis, การวัด transferrin, ferritin, และ iron-binding capacity ในเลือด, และการวัด urobilin และ urobilogen ในปัสสาวะ, การดูฟิล์มเลือด ซึ่งอาจแสดง codocyte (หรือ target cells) คือเลือดที่ดูเหมือนเป้ายิงปืนหรือหมวกเม็กซิกัน (ดูรูป)[25], ระดับฮีมาโทคริต, และระดับบิลิรูบินในเลือด[26][27]

trait

[แก้]

โดยมากคนจะพบ trait ทาลัสซีเมียโดยบังเอิญเมื่อตรวจเลือดโดยการตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์แล้วพบว่ามีภาวะเลือดจางแบบเม็ดเลือดเล็ก (microcytic) อย่างเบา ๆ ซึ่งอาจมีเหตุจากภาวะต่าง ๆ รวมทั้งการขาดธาตุเหล็ก, ทาลัสซีเมีย, ตะกั่วเป็นพิษ, sideroblastic anemia, หรือภาวะเลือดจางเหตุโรคเรื้อรังอื่น ๆ ปริมาตรของเม็ดเลือดแดงโดยเฉลี่ย (MCV), ความกว้างของการกระจายขนาดเม็ดเลือดแดง (RDW), และประวัติคนไข้สามารถกันเหตุบางอย่างเหล่านี้ออกไป คือ สำหรับทาลัสซีเมีย MCV ปกติจะน้อยกว่า 75 fl และสำหรับการขาดธาตุเหล็ก MCV ปกติจะไม่น้อยกว่า 80 fl ยกเว้นเมื่อฮีมาโทคริตน้อยกว่า 30% สำหรับเด็ก Mentzer index คือ อัตรา MCV/red blood cell count สามารถเป็นตัวจำแนก คือสำหรับการขาดธาตุเหล็ก อัตราปกติจะสูงกว่า 13 เทียบกับทาลัสซีเมียที่น้อยกว่า 13 ถ้าอยู่ที่ 13 นี่บ่งว่าไม่ชัดเจน[3]

RDW อาจจำแนกการขาดธาตุเหล็กและ sideroblastic anemia ออกจากทาลัสซีเมีย คือ เกิน 90% ในบุคคลที่ขาดธาตุเหล็ก RDW จะมีค่าสูง แต่จะสูงเพียงในแค่ 50% ของคนที่มีทาลัสซีเมีย และสำหรับ sideroblastic anemia ค่านี้ก็จะสูงด้วย ดังนั้น ภาวะเลือดจางแบบเม็ดเลือดเล็กที่มีค่า RDW ปกติ โดยมากจะเป็นเพราะทาลัสซีเมีย ส่วนบุคคลที่มี RDW สูงจะต้องตรวจสอบมากขึ้น[3]

ค่าเลือดเปรียบเทียบระหว่างการขาดธาตุเหล็ก ทาลัสซีเมียแอลฟาและบีตา[3]
ค่าวัดเลือด การขาดธาตุเหล็ก α-thalassemia β-thalassemia
MCV (ผิดปกติถ้า < 80 fl ในผู้ใหญ่) ต่ำ ต่ำ ต่ำ
RDW สูง ปกติ บางครั้งสูง ปกติ
ferritin ต่ำ ปกติ ปกติ
Mentzer index (สำหรับเด็ก)

(MCV/red blood cell count)

>13 <13 <13
Hb electrophoresis ปกติ หรือ HbA2 อาจน้อย HbA2 มาก, HbA น้อย, HbF มาก ผู้ใหญ่ (ปกติ)

ระดับ ferritin เป็นการตรวจที่ไวต่อภาวะโลหิตจางเหตุขาดธาตุเหล็กมากที่สุด ดังนั้นถ้าไม่มีการอักเสบ ระดับ ferritin ปกติโดยทั่วไปจะกันการขาดธาตุเหล็กออก[3] ภาวะเลือดจางเหตุโรคเรื้อรังบ่อยที่สุดจะเป็นแบบเบา ๆ มีเม็ดเลือดขนาดปกติ (normocytic) และมีสีปกติ (normochromic)[3]

ทาลัสซีเมียแบบบีตาจะมีระดับ HbA ที่ลดลงหรือหรือไม่มี มี HbA2 สูงขึ้น และมี HbF สูงขึ้น แต่ว่าการมีระดับ HbA2 ปกติไม่ได้กันทาลัสซีเมียแบบบีตาออกโดยเฉพาะถ้ามีการขาดธาตุเหล็กพร้อม ๆ กัน ซึ่งสามารถลด HbA2 สู่ระดับปกติ ทาลัสซีเมียแบบแอลฟาโดยทั่วไปจะแสดง HbA และ HbA2 ในระดับปกติ ถ้าเด็กทารกเกิดใหม่มีเฮโมโกลบินแบบ HbH หรือ Hb Bart เด็กจะมีทาลัสซีเมียแบบแอลฟา[3]

การวิเคราะห์ดีเอ็นเอ

[แก้]

ทาลัสซีเมียแบบบีตาทุกระดับอาจมีเม็ดเลือดที่ผิดปกติ หมออาจสั่งการวิเคราะห์ดีเอ็นเอนหลังการสืบประวัติครอบครัวได้[28] ซึ่งใช้เพื่อตรวจสอบการหลุดหาย (deletion) และการกลายพันธุ์ ในยีนที่เข้ารหัสการผลิตโปรตีนโกลบินแบบแอลฟาและบีตา การศึกษาในครอบครัวสามารถทำได้เพื่อตรวจสอบความเป็นพาหะและการกลายพันธุ์อื่น ๆ ที่อาจมีในสมาชิกครอบครัว แม้การตรวจดีเอ็นเอจะไม่ได้ทำเป็นปกติ แต่ก็สามารถช่วยวินิจฉัยโรคและกำหนดความเป็นพาหะได้ ในกรณีโดยมาก หมอที่รักษาจะใช้การวินิจฉัยอาการเกี่ยวกับภาวะโลหิตจาง คือ อ่อนเปลี้ย หายใจไม่พอ และการทนออกกำลังกายได้ไม่ดี[29] การวิเคราะห์ทางกรรมพันธุ์อาจรวม High-performance liquid chromatography ถ้า electrophoresis เป็นไปไม่ได้[26]

ม้ามที่ผ่าตัดออกจากเด็กทาลัสซีเมีย ใหญ่กว่าปกติ 15 เท่า

การรักษา

[แก้]

Beta thalassemia major

[แก้]

เด็กคนไข้อาจจะต้องถ่ายเลือดตลอดชีวิตและบริหารปัญหาอื่น ๆ รวมทั้งที่เกี่ยวกับม้าม การปลูกถ่ายไขกระดูก อาจสามารถรักษาเด็กบางรายได้[30] คนไข้ที่ถ่ายเลือดบ่อย ๆ อาจเสี่ยงต่อภาวะเหล็กเกิน (iron overload)[31] ดังนั้น Iron chelation treatment (การรักษาไม่ให้เหล็กไปสะสมในอวัยวะต่าง ๆ โดยคีเลชัน) อาจจำเป็นเพื่อป้องกันความเสียหายต่ออวัยวะภายในต่าง ๆ ปัจจุบันความก้าวหน้าในการรักษานี้สามารถช่วยให้คนไข้ที่มี thalassemia major มีชีวิตอยู่ได้นานตราบเท่าที่สามารถเข้าถึงการรักษาที่สมควรได้ ยาที่ใช้ในกระบวนการคีเลชันรวมทั้ง deferoxamine และ deferiprone[32][33]

สิ่งที่คนไข้บ่นมากที่สุดกับการใช้ยา deferoxamine (ซึ่งต้องฉีดเข้าใต้ผิวหนังเป็นเวลา 8-12 ชม. แต่ละวัน) ก็คือมันเจ็บและไม่สะดวก มียาทาน คือ deferasirox ที่อนุมัติให้ใช้ในบางประเทศในปี 2548 แล้ว[34][35] ซึ่งช่วยให้ทำตามหมอสั่งได้ดีกว่าแต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า การปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นวิธีรักษาหายขาดอย่างเดียว และควรใช้กับคนไข้ที่มี thalassemia major อาการรุนแรง การปลูกถ่ายจะช่วยกำจัดการต้องถ่ายเลือด ถ้าไม่มีผู้บริจาคที่สมควร ปัจจุบันมีวิธีการผสมเทียมเพื่อให้มีน้องช่วยชีวิต (savior sibling) ที่ไม่มีโรคและเข้ากันโดย human leukocyte antigen (HLA) กับพี่ผู้รับบริจาคได้[36]

นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแพทย์คอร์เนล ได้พัฒนาวิธียีนบำบัดที่อาจใช้รักษาทั้งโรคทาลัสซีเมียแบบบีตา และโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียวได้ เทคโนโลยีใช้การส่งพาหะไวรัส (lentiviral vector) ที่มีทั้งยีนโกลบินแบบเบตาของมนุษย์ และ ankyrin insulator เพื่อช่วยปรับปรุงการถอดและการแปลรหัสยีนเพื่อเพิ่มระดับการผลิตของโกลบินเบตา[37]

Beta thalassemia intermedia

[แก้]

คนไข้อาจจำเป็นต้องได้การถ่ายเลือดเป็นระยะ ๆ แต่คนไข้ที่ต้องถ่ายเลือดจะเกิดภาวะเหล็กเกินได้ และต้องได้การรักษาแบบ chelation therapy[38] เพื่อกำจัดธาตุเหล็กที่เกิน การสืบทางพันธุกรรมเป็นแบบ autosomal recessive (ผ่านลักษณะด้อยของออโตโซม) แต่ว่าก็มีการกลายพันธุ์แบบเด่น (dominant) และแบบ compound heterozygotes ที่รายงานด้วย การตรวจพันธุกรรม (Genetic counseling) และการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ (prenatal diagnosis) อาจจำเป็น[39]

Beta thalassemia minor

[แก้]

บุคคลที่มี trait ทาลัสซีเมียไม่จำเป็นต้องรักษา ไม่ต้องสอดส่อง ปกติจะไม่ขาดธาตุเหล็ก การเสริมธาตุเหล็กจะไม่ช่วยภาวะเลือดจางของบุคคลนี้ และ ดังนั้น จึงไม่ควรทานธาตุเหล็กเสริมยกเว้นถ้าขาดธาตุเหล็ก[3]

แม้คนที่มีภาวะระดับนี้ไม่จำเป็นต้องถ่ายเลือด แต่ก็ยังเสี่ยงต่อภาวะเหล็กเกิน (iron overload) โดยเฉพาะที่ตับ การเช็ค ferritin ที่บอกระดับเหล็กในเลือดสามารถบ่งชี้การรักษาอื่น ๆ ต่อไปได้[40] แม้ว่าจะไม่เสี่ยงชีวิต โรคอาจมีผลต่อคุณภาพชีวิตเนื่องจากภาวะโลหิตจาง คนมีภาวะในระดับนี้บ่อยครั้งมีโรค/อาการอื่น ๆ พร้อมกันไปด้วยเช่น โรคหืด และสามารถเป็นเหตุต่อภาวะเหล็กเกินในตับ โดยเฉพาะในบุคคลที่ตับคั่งไขมัน (non-alcoholic fatty liver disease) ซึ่งอาจนำไปสู่ผลที่รุนแรงขึ้น[41]

วิทยาการระบาด

[แก้]

ทาลัสซีเมียแบบบีตาค่อนข้างชุกมากในคนแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และความสัมพันธ์กับเขตนี้เป็นเหตุของชื่อโรค คือ "thalassa" (θάλασσα) ซึ่งเป็นคำภาษากรีกหมายถึงทะเล และ haema (αἷμα) ซึ่งแปลว่าเลือด ในทวีปยุโรป แถบที่โรคชุกที่สุดอยู่ที่ฝั่งทะเลของประเทศกรีซและตุรกี เกาะใหญ่ต่าง ๆ ในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ยกเว้นหมู่เกาะแบลีแอริก) เช่น ซิซิลี ซาร์ดิเนีย คอร์ซิกา ไซปรัส มอลตา และครีต จะชุกเป็นพิเศษ[42][43] คนเมดิเตอร์เรเนียน และคนที่อยู่ใกล้ ๆ เขตเมดิเตอร์เรเนียน มีความชุกของโรคสูงเช่นกัน รวมทั้งคนในเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือ ข้อมูลบ่งว่า 15% ของคนไซปรัสเชื้อสายกรีกและตุรกี เป็นพาหะของยีนทาลัสซีเมียแบบบีตา ในขณะที่ 10% เป็นพาหะของยีนทาลัสซีเมียแบบแอลฟา[44]

5% ของประชากรโลกมีโปรตีน globin ที่ต่างไปจากปกติ แต่เพียงแค่ 1.7% มีทาลัสซีเมียแบบแอลฟาหรือบีตา ทั้งชายหญิงมีโรคเท่า ๆ กัน โดยมีอัตราที่ 4.4 ต่อเด็กที่เกิดโดยรอดชีวิต 10,000 คน แบบอัลฟาเกิดบ่อยที่สุดในคนแอฟริกาและคนเอเชียอาคเนย์ แบบเบตาเกิดบ่อยที่สุดในคนเขตเมดิเตอร์เรนียน คนแอฟริกา และคนเอเชียอาคเนย์ โดยมีความชุกของโรคในหมู่คนเหล่านี้ประมาณ 5-30%[3]

เป็นการปรับตัวทางวิวัฒนาการ

[แก้]

การมีลักษณะสืบสายพันธุ์ (trait) เป็นทาลัสซีเมียอาจจะช่วยป้องกันมาลาเรีย[45] ซึ่งเป็นโรคที่ชุกในเขตที่ลักษณะสืบสายพันธุ์เช่นนั้นมีอยู่อย่างสามัญ และดังนั้น การมีจึงให้ความได้เปรียบในการรอดชีวิตโดยเฉพาะกับพาหะ (ดังที่รู้จักกันว่าเป็น heterozygous advantage) ซึ่งช่วยให้การกลายพันธุ์เป็นลักษณะที่ไม่หมดสิ้น เพราะเหตุนี้ ทาลัสซีเมียแบบต่าง ๆ จึงคล้ายกับโรคทางพันธุกรรมอีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อเฮโมโกลบิน คือ โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว[46]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. Galanello, Renzo; Origa, Raffaella (2010-05-21). "Beta-thalassemia". Orphanet J Rare Dis. Orphanet Journal of Rare Diseases. 5: 11. doi:10.1186/1750-1172-5-11. PMC 2893117. PMID 20492708.
  2. 2.0 2.1 Goldman, Lee; Schafer, Andrew I. (2015-04-21). Goldman-Cecil Medicine: Expert Consult - Online. Elsevier Health Sciences. ISBN 9780323322850.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 Muncie, Herbert L, Jr (MD); Campbell, James S (MD) (2009-08-15). "Alpha and Beta Thalassemia". Am Fam Physician. 80 (4).{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 Carton, James (2012-02-16). Oxford Handbook of Clinical Pathology. OUP Oxford. ISBN 9780191629938.
  5. 5.0 5.1 Perkin, Ronald M.; Newton, Dale A.; Swift, James D. (2008). Pediatric Hospital Medicine: Textbook of Inpatient Management. Lippincott Williams & Wilkins. ISBN 9780781770323.
  6. Galanello, Renzo; Origa, Raffaella (2010-05-21). "Beta-thalassemia". Orphanet Journal of Rare Diseases. 5 (1): 11. doi:10.1186/1750-1172-5-11. ISSN 1750-1172. PMC 2893117. PMID 20492708.
  7. "Beta thalassemia". Genetics Home Reference. สืบค้นเมื่อ 2015-05-26.
  8. Introduction to Pathology for the Physical Therapist Assistant. Jones & Bartlett Publishers. 2011. ISBN 9780763799083.
  9. Anderson, Gregory J.; McLaren, Gordon D. (2012-01-16). Iron Physiology and Pathophysiology in Humans. Springer Science & Business Media. ISBN 9781603274845.
  10. Barton, James C.; Edwards, Corwin Q.; Phatak, Pradyumna D.; Britton, Robert S.; Bacon, Bruce R. (2010-07-22). Handbook of Iron Overload Disorders. Cambridge University Press. ISBN 9781139489393.
  11. McCance, Kathryn L.; Huether, Sue E. (2013-12-13). Pathophysiology: The Biologic Basis for Disease in Adults and Children. Elsevier Health Sciences. ISBN 9780323088541.
  12. Leonard, Debra G. B. (2007-11-25). Molecular Pathology in Clinical Practice. Springer Science & Business Media. ISBN 9780387332277.
  13. Bowen, Juan M.; Mazzaferri, Ernest L. (2012-12-06). Contemporary Internal Medicine: Clinical Case Studies. Springer Science & Business Media. ISBN 9781461567134.
  14. Hemoglobinopathies. Jaypee Brothers Publishers. 2006. ISBN 9788180616693. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-06. สืบค้นเมื่อ 2016-12-19.
  15. Disorders, National Organization for Rare (2003). NORD Guide to Rare Disorders. Lippincott Williams & Wilkins. ISBN 9780781730631.
  16. Barton, James C.; Edwards, Corwin Q. (2000-01-13). Hemochromatosis: Genetics, Pathophysiology, Diagnosis and Treatment. Cambridge University Press. ISBN 9780521593809.
  17. Wilkins, Lippincott Williams & (2009). Professional Guide to Diseases. Lippincott Williams & Wilkins. ISBN 9780781778992.
  18. Ward, Amanda J; Cooper, Thomas A (2009). "The pathobiology of splicing". The Journal of Pathology. 220 (2): 152–63. doi:10.1002/path.2649. PMC 2855871. PMID 19918805.
  19. "the definition of dna". Dictionary.com. สืบค้นเมื่อ 2015-05-26.
  20. Okpala, Iheanyi (2008-04-15). Practical Management of Haemoglobinopathies. John Wiley & Sons. ISBN 9781405140201.
  21. Vasudevan, D. M.; Sreekumari, S.; Vaidyanathan, Kannan (2011-11-01). Textbook of Biochemistry for Dental Students. JP Medical Ltd. ISBN 9789350254882.
  22. Taeusch, H. William; Ballard, Roberta A.; Gleason, Christine A.; Avery, Mary Ellen (2005). Avery's Diseases of the Newborn. Elsevier Health Sciences. ISBN 0721693474.
  23. Beta Thalassemia: New Insights for the Healthcare Professional: 2013 Edition: ScholarlyBrief. ScholarlyEditions. 2013-07-22. ISBN 9781481663472.
  24. "How Are Thalassemias Diagnosed? - NHLBI, NIH". www.nhlbi.nih.gov. สืบค้นเมื่อ 2015-05-26.
  25. "Target Cells". Imperial College of London Department of Medicine.
  26. 26.0 26.1 Orkin, Stuart H.; Nathan, David G.; Ginsburg, David; Look, A. Thomas; Fisher, David E.; Lux, Samuel (2009). Nathan and Oski's Hematology of Infancy and Childhood (7th ed.). Philadelphia: Saunders. ISBN 978-1-4160-3430-8. [ต้องการเลขหน้า]
  27. "What Are the Signs and Symptoms of Thalassemias? - NHLBI, NIH". www.nhlbi.nih.gov. สืบค้นเมื่อ 2015-05-26.
  28. McKinney, Emily Slone; James, Susan R.; Murray, Sharon Smith; Nelson, Kristine; Ashwill, Jean (2014-04-17). Maternal-Child Nursing. Elsevier Health Sciences. ISBN 9780323293778.
  29. Schrijver, Iris (2011-09-09). Diagnostic Molecular Pathology in Practice: A Case-Based Approach. Springer Science & Business Media. ISBN 9783642196775.
  30. Muncie, Herbert L.; Campbell, James S. (2009). "Alpha and Beta Thalassemia". American Family Physician. 80 (4): 339–44. PMID 19678601.
  31. Greer, John P.; Arber, Daniel A.; Glader, Bertil; List, Alan F.; Means, Robert T.; Paraskevas, Frixos; Rodgers, George M. (2013-08-29). Wintrobe's Clinical Hematology. Lippincott Williams & Wilkins. ISBN 9781469846224.
  32. Greer, John P.; Arber, Daniel A.; Glader, Bertil; List, Alan F.; Means, Robert T.; Paraskevas, Frixos; Rodgers, George M. (2013-08-29). Wintrobe's Clinical Hematology. Lippincott Williams & Wilkins. ISBN 9781469846224.
  33. Hydroxamic Acids: Advances in Research and Application: 2011 Edition: ScholarlyPaper. ScholarlyEditions. 2012-01-09. ISBN 9781464952081.
  34. "NCBI - WWW Error Blocked Diagnostic". pubchem.ncbi.nlm.nih.gov. สืบค้นเมื่อ 2015-05-26.
  35. "Deferoxamine". livertox.nih.gov. สืบค้นเมื่อ 2015-05-26.
  36. Sabloff, Mitchell; Chandy, Mammen; Wang, Zhiwei; Logan, Brent R.; Ghavamzadeh, Ardeshir; Li, Chi-Kong; Irfan, Syed Mohammad; Bredeson, Christopher N.; Cowan, Morton J. (2011). "HLA-matched sibling bone marrow transplantation for β-thalassemia major". Blood. 117 (5): 1745–1750. doi:10.1182/blood-2010-09-306829. ISSN 0006-4971. PMC 3056598. PMID 21119108.
  37. "Gene Therapy Shows Promise for Treating Beta-Thalassemia and Sickle Cell Disease". สืบค้นเมื่อ 2015-10-15.
  38. Schwartz, M. William (2012). The 5 Minute Pediatric Consult. Lippincott Williams & Wilkins. ISBN 9781451116564.
  39. Porwit, Anna; McCullough, Jeffrey; Erber, Wendy N. (2011-05-27). Blood and Bone Marrow Pathology. Elsevier Health Sciences. ISBN 0702045357.
  40. Torre, Dario M.; Lamb, Geoffrey C.; Ruiswyk, Jerome Van; Schapira, Ralph M. (2009). Kochar's Clinical Medicine for Students. Lippincott Williams & Wilkins. ISBN 9780781766999.
  41. Brissot, Pierre; Cappellini, Maria Domenica (2014). "LIVER DISEASE". {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  42. "WHO | Global epidemiology of haemoglobin disorders and derived service indicators". www.who.int. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-27. สืบค้นเมื่อ 2015-05-26.
  43. Berg, Sheri; Bittner, Edward A. (2013-10-16). The MGH Review of Critical Care Medicine. Lippincott Williams & Wilkins. ISBN 9781451173680.
  44. Haematology Made Easy. AuthorHouse. 2013-02-06. ISBN 9781477246511.
  45. Abouelmagd, Ahmed; Ageely, Hussein M. (2013). Basic Genetics: A Primer Covering Molecular Composition of Genetic Material, Gene Expression and Genetic Engineering, and Mutations and Human Genetic. Universal-Publishers. ISBN 9781612331928.
  46. Weatherall, David J. Lichtman, MA,; Kipps, TJ,; Seligsohn, U,; Kaushansky, K,; Prchal, JT (บ.ก.). The Thalassemias: Disorders of Globin Synthesis. Williams Hematology (8 ed.). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-04. สืบค้นเมื่อ 2016-12-19.{{cite book}}: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]