ข้ามไปเนื้อหา

ทักษิโณมิกส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทักษิโณมิค)

ทักษิโณมิกส์ (อังกฤษ: Thaksinomics) เป็นคำเรียกนโยบายเศรษฐกิจในสมัยที่ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยผู้ที่ใช้คำนี้ครั้งแรกคือนางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์ ในสุนทรพจน์งานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อ พ.ศ. 2546 โดยหนึ่งในผู้ที่สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าวที่โดดเด่นที่สุด คือ แดเนียล เลียน นักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์

ดร. สุวินัย ภรณวลัย รองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า ทักษิโณมิกส์เป็นประดิษฐกรรมของทักษิณ โดยเป็นความคิดของนักกลยุทธ์เชิงสมัยนิยม เพื่อจัดการทางกลยุทธ์ การรวบรวมองค์ความรู้ เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งส่วนตัวและส่วนร่วม ซึ่งดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย และอาจมีการใช้ความรุนแรง เพื่อให้เขาเป็นผู้ชนะ[1]

ประวัติ

[แก้]

ทักษิโณมิกส์ เป็นชื่อเรียกโดยทั่วไปของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้จ่ายภาครัฐบาล และสร้างรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยว เพื่อแก้ปัญหาความถดถอยทางเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน เมื่อปี พ.ศ. 2540 ซึ่งสาเหตุการเกิดวิกฤตการณ์ในครั้งนั้นมาจากปริมาณเงินที่ไหลเข้ามาจำนวนมาก เพื่อแสวงหากำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและจากตลาดหุ้น ในขณะเดียวกันก็มีการใช้เงินผิดประเภท เพราะกู้เงินระยะสั้นมาเพื่อปล่อยกู้ระยะยาว และการปล่อยสินเชื่อก็ไม่ก่อให้เกิดการผลิตที่แท้จริงขึ้นในระบบเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ขึ้น และส่งผลให้ราคาหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์มีราคาสูงกว่าปัจจัยพื้นฐาน ขณะที่ราคาสินค้าอื่นไม่เปลี่ยนแปลง

ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ ทำให้อุปสงค์รวมในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะมีการนำเข้าสินค้าทุนในปริมาณและมูลค่าที่สูงกว่าการส่งออกสุทธิ ส่งผลให้ค่าเงินบาทที่แท้จริงลดลง เมื่อถูกโจมตีค่าเงิน ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ก็ไม่เพียงพอที่จะพยุงค่าเงินบาทตามระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ไว้ได้ จนต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแบบมีการจัดการ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 จนต้องขอกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศลดน้อยลงจนไม่เพียงพอชำระหนี้ต่างประเทศ

วิกฤตการณ์ทางการเงินของไทย ส่งผลกระทบต่อภาคการเงินของไทยอย่างรุนแรง จนต้องมีการปิดบริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์ 56 แห่ง รวมทั้งกิจการธนาคาร ขณะที่ภาระหนี้ต่างประเทศก็เพิ่มสูงขึ้น เพราะรัฐบาลและกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าไปแบกรับภาระหนี้ของธนาคารและสถาบันการเงินเหล่านั้น

นอกจากนั้นยังทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยถดถอยติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากการพังทลายของภาคการเงินไทย เพราะสถาบันการเงินมีภาระหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก ขณะที่ปริมาณเงินในระบบก็ลดน้อยลง เพราะการไหลออกของเงินทุน รวมทั้งหนี้ภาครัฐที่มีปริมาณสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท ส่วนการส่งออกก็ไม่สามารถเป็นตัวกระตุ้นอุปสงค์รวมภายในประเทศต่อไปได้ เพราะความถดถอยของภาวะเศรษฐกิจโลก และความได้เปรียบของคู่แข่งขัน ซึ่งสามารถส่งออกสินค้าในราคาที่ถูกกว่า รัฐบาลจึงเข้ามามีบทบาทแทนที่ภาคเอกชน ด้วยการกระตุ้นอุปสงค์รวมภายในประเทศ ผ่านการใช้จ่ายตามโครงการต่าง ๆ ทั้งที่เป็นการบริโภค และการลงทุน

ทักษิโณมิกส์ของรัฐบาลทักษิณ ได้รับการกล่าวขานว่าแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง เพราะการแทรกแซงกลไกตลาดทุกระดับ กล่าวคือ มุ่งใช้นโยบายการคลังมากกว่านโยบายการเงิน ทำให้การใช้จ่ายของรัฐบาลมีปริมาณสูง ทั้งในรูปของเงินในงบประมาณรัฐบาล และเงินนอกงบประมาณผ่านรัฐวิสาหกิจ เพื่อกระตุ้นอุปสงค์รวมของประเทศให้ได้และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น แต่ก็สร้างข้อกังวลอีกมากมายเช่นกัน

นิยาม

[แก้]

การดำเนินเศรษฐกิจแบบทักษิโณมิกส์นั้น ทักษิณนิยามว่าคือ นโยบายเศรษฐกิจ 2 แนวทาง (Dual Track Policy)[2] โดยกล่าวว่านโยบายนี้ คือสูตรในการสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย แนวทางแรกคือ กระตุ้นการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ และการท่องเที่ยว เพื่อนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศ และแนวทางที่สองคือ การกระตุ้นไปในระดับรากหญ้า มุ่งไปที่เกษตรกร ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ

ทั้ง 2 แนวทางมีความมุ่งหมายกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยหาทางลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาสให้ประชาชน ดร. ดาเนียล เลียน[3] หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของบริษัทมอร์แกน สแตนเลย์ เรียกลักษณะเศรษฐกิจแบบนี้ว่า "สังคมทุนนิยม" (Social Capitalism) หลักการคือ การประยุกต์ระบบทุนนิยมเข้ากับระบบสังคมนิยม เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบที่มีเป้าหมายแต่ไม่มีอุดมการณ์ ส่วนระบบสังคมนิยมเป็นระบบที่มีอุดมการณ์แต่ไม่มีเป้าหมาย[4]

นโยบายเศรษฐกิจ 2 แนวทาง เป็นการปรับสังคมเศรษฐกิจฐานล่างให้เป็นระบบสังคมนิยมที่มีเป้าหมาย ส่วนเศรษฐกิจฐานบนใช้ระบบทุนนิยมที่มีอุดมการณ์ แต่นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตแบบ นโยบายเศรษฐกิจ 2 แนวทาง แล้ว บางส่วนของนโยบายทักษิโณมิกส์คือ การแทรกตัวเข้าสู่ตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นเติบโต เพื่อใช้เป็นช่องทางระบายหุ้นรัฐวิสาหกิจออกไปให้มากที่สุด เป็นการเชื่อมโยงระหว่างดัชนีตลาดหุ้น กับการสร้างมูลค่าสินทรัพย์ของรัฐ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

โดยรัฐบาลได้ใช้กลไกเชื่อมโยงจากตลาดหุ้นไปสู่อุปสงค์รวมระบบเศรษฐกิจ ด้วยวิธีการนำสินทรัพย์ในตลาดหุ้นเปลี่ยนให้เป็นกระแสเงินสด ใช้ต่อสายป่านมาหมุนเศรษฐกิจอีกรอบ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ใช้ตลาดหุ้นสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และผลักดันให้รัฐวิสาหกิจออกจากอ้อมอกของรัฐบาล ให้ยืนบนขาของตัวเอง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดหุ้นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุด เพราะนั่นจะหมายถึงการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะในระยะยาวแบบเบ็ดเสร็จด้วย

ทักษิโณมิกส์ มีแนวโน้มการอาศัยความสามารถในเชิงบริหารจัดการของฝ่ายบริหารเป็นกลไกสำคัญในการบริหารโนบาย จะเห็นได้จากการจัดสรรงบประมาณกลางจำนวนสูงโดยไม่ได้กำหนดรายละเอียดการใช้จ่ายล่วงหน้า หรือการเข้าไปตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยหวังว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะไม่ขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง อาจเรียกได้ว่าเป็นระบบ managed market economy

การเกิดใหม่ของระบบเศรษฐกิจแบบเคนส์

[แก้]

แบบจำลองสถิตซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและปรากฏในตำราเศรษฐศาตร์มหภาคทั่วไปก็คือ แบบจำลอง IS/LM แบบจำลองดังกล่าวเกิดจากการตีความแนวคิดของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ โดยเซอร์ จอห์น ฮิกส์ (1937) และต่อมาได้เพิ่มเติมการเปรียบเทียบแนวคิดของทั้งนักเศรษฐศาสตร์สำนักเดิมและ Keynes โดย Paul Samualson (1948) ในหนังสือ Economics และกลายเป็นแบบจำลองที่ใช้แพร่หลายในการวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ ทางเศรษฐศาสตร์มหภาค

แบบจำลองดังกล่าว แสดงลักษณะของระบบเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ อุปสงค์รวมและอุปทานรวม โดยอุปสงค์รวมถูกกำหนดจากดุลยภาพในตลาดสินค้า (goods market) และตลาดเงิน (money market) ส่วนอุปทานรวมถูกกำหนดจากดุลยภาพในตลาดแรงงาน (labour market) และเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งแสดงโดยสมการการผลิต เมื่ออุปสงค์รวมเท่ากับอุปทานรวมของระบบเศรษฐกิจ แบบจำลองจึงสามารถกำหนดระดับผลผลิตดุลยภาพของระบบเศรษฐกิจได้

แนวคิดหลักทางเศรษฐศาสตร์มหภาคของเคนส์คือ

  • ระบบเศรษฐกิจไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอุปสงค์รวมของภาคเอกชน คือ การบริโภค และการลงทุน ทำให้ผลผลิตมีความผันผวน
  • เมื่อเกิดความผันผวนขึ้น ระบบเศรษฐกิจจะไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพ ณ ระดับการจ้างงานเต็มที่ได้ หรือใช้เวลานานในการปรับตัว เพราะกลไกราคาทำงานได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากระดับราคาและค่าจ้างที่เป็นตัวเงินปรับตัวไม่ได้อย่างสมบูรณ์และถูกจำกัด (rigidity)
  • ระดับการจ้างงานและผลผลิตดุลยภาพ จะถูกกำหนดจากปัจจัยทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทาน ดังนั้นส่วนประกอบของอุปสงค์รวม ซึ่งก็คือ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐ จึงมีความสำคัญในการกำหนดระดับผลผลิต
  • รัฐสามารถใช้นโยบายเข้าแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้เครื่องมือทางนโยบายที่มีประสิทธิภาพ คือ นโยบายการคลัง ซึ่งได้แก่ การเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล

ดังนั้นตามแนวคิดของเคนส์ จึงสามารถประมวลเป็นข้อสรุปทางนโยบายที่สำคัญคือ

  • เนื่องจากอุปสงค์ของภาคเอกชนมีความไม่แน่นอน ดังนั้นรัฐจึงควรเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ
  • เครื่องมือที่รัฐใช้ ควรเป็นนโยบายการคลัง ทั้งนี้เพราะในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ การใช้นโยบายการเงินโดยการเพิ่มปริมาณเงินจะไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเกิดกับดักสภาพคล่อง ทำให้ปริมาณเงินที่รัฐเพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจถูกถือไว้เฉย ๆ โดยภาคเอกชน เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพคือนโยบายการคลัง โดยการเพิ่มรายจ่ายของรัฐ

ข้อเสนอของเคนส์เป็นที่ยอมรับทั้งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะทำให้คนว่างานลดลงอย่างมาก ทำให้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคตามแนวคิดเคนส์ เป็นแนวคิดหลักต่อมาอีกหลายปี โดยในช่วงแรกนั้น ข้อเสนอทางด้านนโยบายส่วนใหญ่จะเน้นทางด้านนโยบายการคลัง จนกระทั่งนโยบายการเงินและบทบาทของเงินเริ่มเป็นที่กล่าวถึงในปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เนื่องจากการเสนอแนวคิดในเรื่องการทดแทนกัน (trade-off) ระหว่างการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอธิบายด้วยเส้นฟิลลิปส์

การปฏิบัติ

[แก้]

แนวทางแบบทักษิโณมิกส์ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงตกต่ำให้กลับฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ก็คือ ส่งเสริมการบริโภคของประชาชน เพื่อขยายอุปสงค์รวมของประเทศให้สูงขึ้น อันจะนำไปสู่การลดการพึ่งพาการส่งออก ซึ่งอาจผันผวนได้ตลอดเวลา. หลังจากนั้น เมื่อเศรษฐกิจภายในมีเสถียรภาพในระดับหนึ่งแล้ว จึงจะกระตุ้นการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไปได้

โดยวิธีหนึ่งที่รัฐบาลทักษิณเลือกใช้กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศก็คือ การกระจายทรัพยากรทางการเงินไปสู่ประชาชนระดับ รากหญ้า ผ่านทางโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น โครงการพักการชำระหนี้ของเกษตรกร โครงการธนาคารประชาชน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการบ้านเอื้ออาทร ฯลฯ

ส่วนการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนนั้น ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 ได้มีนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยจัดแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) ออกเป็นห้ากลุ่มยุทธศาสตร์หลัก เช่น การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น แล้วทำการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เหล่านี้. สำหรับการลงทุนภาครัฐ ได้ลงทุนและมีแผนจะลงทุนในโครงการขนาดยักษ์ (เมกะโปรเจกต์) ต่าง ๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โครงการระบบโลจิสติกส์ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท เป็นการกระตุ้นการลงทุนต่อจากกระตุ้นการบริโภคในช่วงสมัยแรกของรัฐบาล เพื่อรักษาไม่ให้อุปสงค์รวมมีผลตกต่ำลง

นักวิจารณ์มองว่าแนวทางนี้นั้น ไม่ต่างอะไรไปจากเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ ของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ และเศรษฐกิจไทยในช่วงรัฐบาลทักษิณนั้น ก็ยังคงเติบโตจากการส่งออกเป็นหลักเช่นเดิม ส่วนการบริโภคภายในประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเพียงแค่ระดับปานกลางเท่านั้น และการที่ธนาคารของรัฐเร่งปล่อยกู้นั้น ก็อาจจะนำไปสู่หนี้เสียในที่สุด แนวทางนี้ กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม ที่ทำไปเพื่อหวังคะแนนเสียงจากประชาชน ทั้งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากนอกจากอาจจะเป็นการสูญเปล่าไม่ได้ผลอะไรกลับมาแล้ว ยังอาจจะสร้างนิสัยการบริโภคเกินตัวของประชาชนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกของการใช้นโนบายนี้ เศรษฐกิจของไทยขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ผิดจากการคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยบางท่าน เช่น ดร. อัมมาร์ สยามวาลา ที่เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2544 จะโตเพียง 1.5% แต่เศรษฐกิจของไทยในปีนั้นก็ขยายตัวถึง 5.2% อย่างก็ไรก็ตามก็ยังมีเสียงเตือนว่า โครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานนั้น ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้

ดร. สุวินัย ภรณวลัย ได้กล่าวว่า ทักษิโณมิกส์เป็นนโยบายประชานิยมที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าเหลือเชื่อ ซึ่งน่าจะทำให้พรรคไทยรักไทยได้ทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างยาวนาน อย่าง พรรค LDP ของประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม การทำให้ประชาชนพึ่งทักษิโณมิกส์มากเกินไปอาจทำให้รัฐบาลแบกภาระมากเกินไป และอาจทำให้ทุกอย่างล้มเหลวได้[5]

การตอบรับ

[แก้]

การสนับสนุน

[แก้]

ผู้สนับสนุนกล่าวว่า จุดเด่นของทักษิโณมิกส์อยู่ที่การไม่ยึดแบบจำลองทางเศรษฐกิจอย่างตายตัว มีลักษณะเป็นพลวัตรและยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถปรับตัวรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ค่อนข้างดี เช่นในปี พ.ศ. 2548 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญผลกระทบจากไข้หวัดนก คลื่นสึนามิ รวมทั้งราคาน้ำมันที่สูงถึง 69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวได้ถึง 4.7%

การวิพากษ์วิจารณ์

[แก้]

ผู้วิพากษ์วิจารณ์ทักษิโณมิกส์ สามารถแบ่งกว้าง ๆ ออกได้เป็นหลายกลุ่ม เช่น

  • กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่วิจารณ์ทักษิโณมิกส์ในช่วงแรก ซึ่งมักเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษามาจากสหรัฐอเมริกาอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 1950-1970 กลุ่มนี้มีความเคยชินกับระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งสอง ที่สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาชะงักทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อสูง และภาวะการว่างงานสูง ที่เรียกว่า Stagflation ซึ่งไม่สามารถใช้วิธีการแบบเคนส์เข้าไปแก้ปัญหาได้ (ซึ่งถูกแก้ไขโดยแนวคิดที่เรียกว่า เรแกนอมิกส์ ในยุคประธานาธิบดีเรแกน) ซึ่งในประเด็นดังกล่าว กลุ่มผู้สนับสนุนทักษิโณมิกส์กล่าวว่าระบบเศรษฐกิจของไทยมีขนาดเล็กกว่าของของสหรัฐอเมริกา จึงไม่สามารถอนุมานได้ว่า วิธีการแบบเคนส์จะใช้กับประเทศไทยไม่ได้ผล
  • ผู้วิจารณ์อีกกลุ่ม มักเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เช่น น.พ. ประเวศ วะสี เป็นต้น กลุ่มนี้มักมองภาพในมุมมองกว้างกว่าระบบเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่มองไปจนถึงระบบสังคมอีกด้วย กลุ่มนี้ไม่เชื่อในทุนนิยม ซึ่งเป็นพื้นฐานของทักษิโณมิกส์ และสนับสนุนระบบเศรษฐกิจทางเลือกอื่น เช่น ระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืน การค้าที่เป็นธรรม หรือแนวทางสังคมนิยม เป็นต้น แต่ในทางตรงกันข้าม นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็มองว่าระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนนั้น เป็นเพียงแนวความคิด และไม่มีแนวปฏิบัติอย่างชัดเจนที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้เช่นกัน

ดร. สุวินัย ภรณวลัย ได้กล่าวว่า ความเชื่อของทักษิโณมิกส์มีหลักว่าเงินสามารถแก้ปัญหาได้ และการได้เสียงจากประชาชนเป็นความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ซึ่งความสำเร็จของมันจะขึ้นอยู่กับคุณธรรมจริยธรรมของผู้บริหารเป็นสำคัญ[6]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. บทความ "ทักษิโณมิกส์" แม่แบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต ของ ดร. สุวินัย ภรณวลัย; ใน เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป. (2549). ผ่าอนาคตประเทศไทย 2552. บริษัท ฐานการพิมพ์จำกัด. หน้า 35-36.
  2. Thaksinomics: Dual Track Policy and Social Capitalism เก็บถาวร 2007-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ภาษาไทย) รศ. ดร. ถวิล นิลใบ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  3. ดร. ดาเนียล เลียน นั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 หนังสือพิมพ์ไทยเดย์ เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ได้ตีพิมพ์จดหมายจากเลียนถึงทักษิณ มีใจความขอบคุณที่จัดเลี้ยงอาหารอย่างดี
  4. บทความ "ทักษิโณมิกส์" แม่แบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต ของ ดร. สุวินัย ภรณวลัย; ใน เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป. (2549). ผ่าอนาคตประเทศไทย 2552. บริษัท ฐานการพิมพ์จำกัด. หน้า 39-40.
  5. บทความ "ทักษิโณมิกส์" แม่แบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต ของ ดร. สุวินัย ภรณวลัย; ใน เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป. (2549). ผ่าอนาคตประเทศไทย 2552. บริษัท ฐานการพิมพ์จำกัด. หน้า 37-38.
  6. บทความ "ทักษิโณมิกส์" แม่แบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต ของ ดร. สุวินัย ภรณวลัย; ใน เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป. (2549). ผ่าอนาคตประเทศไทย 2552. บริษัท ฐานการพิมพ์จำกัด. หน้า 42-43.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]