คำตี้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คำตี่)
คำตี้
หุ่นขี้ผึ้งแสดงวิถีชีวิตของชาวคำตี้ ในพิพิธภัณฑ์ชวาหระลาล เนห์รู เมืองอิฏานคร รัฐอรุณาจัลประเทศ
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
ประเทศพม่าประเทศพม่า73,000 คน[1]
อินเดียประเทศอินเดีย24,000 คน[2]
ภาษา
ภาษาคำตี้ ภาษาอดิ และภาษาอัสสัม
ศาสนา
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ศาสนาฮินดู ศาสนาดั้งเดิม และศาสนาคริสต์
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ไทใหญ่, อ่ายตน, อาหม, คำยัง, ไทเหนือ

คำตี้ หรือ ไทคำตี้ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มหนึ่งในอัสสัม และทางภาคเหนือของประเทศพม่า ในรัฐกะชีน เมืองปูตาโอ แบ่งได้ เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไทคำตี้หลวง (ในประเทศพม่า) และกลุ่มสิงคะลิงคำตี้ (ในประเทศอินเดีย)

การแบ่งกลุ่มชาวคำตี้[แก้]

คำตี้ในพม่า (คำตี้หลวง)[แก้]

ประวัติคำตี้ในคำตี้หลวง
ผู้ปกครองของคำตี้ คือ ปู่โถมถงม่าตุ๊ง ผู้ซึ่งลูกสาวถูกเสือห่มฟ้าลักพาตัวไป ดดยทำอุบายใช้ปู่โถมถงม่าตุ๊งไปธุระที่เมืองมะนุ่น หลังจากปู่โถมถงม่าตุ๊งกลับมา เสือห่มฟ้าจึงตั้งให้เป็นเจ้าเมืองคำตี้ แต่ชาวเมืองไม่ได้ถือปู่โถมถงม่าตุ๊งเป็นบรรพบุรุษของตนแต่อย่างใด ในคำสาบานศาลกล่าวไม่มีชื่อปู่โถมถงม่าตุ๊ง แต่ออกชื่อเจ้าสามองค์ คือ เจ้าสามหลวง เจ้าหัวแสง และเจ้าข้างใต้ สำหรับเจ้าสามหลวงนั้น ตามตำนานเล่าว่า เป็นเจ้าฟ้าปกครองเมืองคำตี้หลวง มีบุญญาธิการมาก ถึงขนาดที่เมื่อร้องต่อฟ้าขอให้ช่องเขาหลอยคอม้าถล่มลงมาปิดทางไม่ให้พวกทิเบต มารุกราน ช่องเขานั้นก็ถล่มมาปิดสมดังอธิษฐาน
การปกครองในปูตาโอ
ในเมืองปูตาโอแบ่งออกเป็น 8 เขตปกครอง ของเจ้าฟ้าไท จึงมีเจ้าฟ้าไท 8 คนด้วยกัน แต่ละคนจะมีหน้าที่รักษาความสงบ เก็บภาษี ดูแลสาธารณสุข และอำนวยความสะดวกต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง เจ้าฟ้าเหล่านี้ขึ้นต่อรองผู้ว่าราชกาชจังหวัดมิตจินา
คัมภีร์ปู่สอนหลาน และตำนานเมืองคำตี้
หนังสือปู่สอนหลานมีตั้งแต่เดิม ส่วนตำนานคำตี้แต่งขึ้นมาทีหลัง และมาได้อิทธิพลพม่าทีหลัง แต่ในภาษาเขียนมีอิทธิพลพม่าน้อยกว่าภาษาพูด ทำให้เห็นว่าไวยากรณ์ที่คล้ายคลึงพม่าอาจจะมาจากภาษาทิเบตก็เป็นได้ เพราะตามตำนานเมืองคำตี้กล่าวว่า เคยมีเจ้าชายทิเบตนำไพร่พลมา 500 คน มาตั้งถิ่นฐานที่คำตี้ และภาษาทิเบตอยู่ในกลุ่มภาษาซิโน-ทิเบตัน เช่นเดียวกันกับภาษาพม่า มีไวยากรณ์คล้ายคลึงกัน จึงอาจทำให้ภาษาไทคำตี้มีส่วนคล้ายคลึงกับภาษาพม่า
วัฒนธรรม
ชาวคำตี้ มีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงกับ ชาวไทคำตี้ในรัฐอัสสัม และคล้ายคลึงกับชาวไทถิ่นต่างต่างๆ เช่า ไทคำยัง ไทพ่าเก และไทเหนือ เป็นต้น

คำตี้ในอินเดีย (สิงคะลิงคำตี้)[แก้]

ประวัติชาวคำตี้ในอัสสัม
ชาวคำตี้ในอัสสัม มีถิ่นเดิมอยู่ที่คำตี้หลวง ตอนเหนือของแม่น้ำอิรวดี ประเทศพม่าในปัจุจบัน สมัยพระเจ้าอลองพญา ดินแดนไทตอนเหนือถูกแยกไว้หลายส่วน ไทคำตี้จำนวนมากข้ามช่องเขาปาดไก่อพยพมาในอัสสัม ต่อมาในปี พ.ศ. 2336 ชาวคำตี้ได้ร่วมมือกับชาวกะชีนยึดอำนาจ เมืองซอดิยา ตั้งตนเป็นเจ้าเมืองแทน หากต่อยังสวามิภักษ์ต่อกษัตริย์อาหมเช่นเดียวกับเจ้าเมืองซอดิยาเดิม ครั้นอังกฤษยึดอัสสัมได้ไม่นานนัก ชาวคำตี้กับอังกฤษก็ขัดแย้งจนเกิดการปะทะกัน ทำให้พันเอกไวท์ ผู้บังคับการของอังกฤษเสียชีวิต อังกฤษจึงแยกคนไทออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งอยู่ที่เดิม คือ จ้องคำ เมืองซอดิยา อีกส่วนอยู่ที่หม่านทิกรอง เมืองลัคคิมปุระเหนือ ซึ่งกันดารจนได้ชื่อว่าเกาะอันดามันแห่งที่สอง แต่เป็นกลุ่มพูดภาษาไทกลุ่มใหญ่ ที่เฉพาะใน ตำบลนายณปุระ ก็มีจำนวนรวมกันนับพันหลังคาเรือน และยังมีหมู่บ้านไทที่ใกล้หม่านทิกรองอีกมาก
หนังสือปู่สอนหลานในอัสสัม
ปู่สอนหลาน เป็นหนังสือไทเก่าแก่รวบรวมถ้อยคำมีคติน่ายึดถือโบราณเอาไว้ เช่น "มีลูกไม่รู้จักสอน ก็จะฉลาดแกมโกง หลอกลวงคนอื่น มีวัวควายไม่รู้จักเลี้ยง มันจะตายสิ้น มีเมียไม่รู้จักรัก ก็จะพรากจากกัน" "เรารักคนอื่น คนอื่นจะรักเรา สนใจคนอื่น คนอื่นจะยินดี"
วัฒนธรรม ประเพณี และการละเล่นของคำตี้
เด็กๆที่หม่านทิกรองมีการละเล่นคล้ายของไทย เช่น การเล่นสะบ้า ไล่จับ เล่นไพ่ เล่นลิงชิงหลัก งูกินหาง เป็นต้น ชาวคำตี้จะให้ความสำคัญเรื่องขวัญมาก มีประเพณีการทำขวัญต่างๆ ทั้งในโอกาสต่างๆ เช่น การทำขวัญข้าว การเรียกขวัญเมื่อคนเจ็บป่วย การทำขวัญเมื่อโกนผมไฟเด็กอ่อน ยังมีประเพณีเจรจากับผีเมื่อเด็กคลอดเหมือนของไทยเรา แต่ชาวคำตี้จะพูดหลังอาบน้ำให้เด็กเสร็จ ยังไม่ทันใส่เสื้อผ้า โดยพูดว่า "สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกใครเอาก็เอาแล้ว ห่มเสื้อห่มผ้าแล้วเอาไปไม่ได้

คำตี้ในไทย[แก้]

ชาวคำตี้ในไทยนั้นก็อพยพมาจากทางฝั่งพม่าเข้ามาทางฝั่งไทยและตั้งรกรากถิ่นฐานในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน และที่ชาวคำตี้อพยพมาทางฝั่งไทยเนื่องจากสภาพทางการเมืองของพม่าที่ผันผวน

ภาษา[แก้]

ภาษาคำตี้นั้นเป็นภาษาตระกูลขร้า-ไท และภาษาคำตี้นี้ใกล้เคียงกับคำเมือง และภาษาถิ่นอีสานมารวมกัน และภาษาคำตี้นั้นมีคำศัพท์เก่าที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่นอวัยวะส่วนต่างๆ สัตว์เลี้ยง พืช และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆซึ่งส่วนใหญ่เป็นศัพท์ไทเก่า ภาษาคำตี้มีพยัญชนะ 17 รูป สระเดี่ยว 14 เสียง สระผสม 2 เสียง และมีเสียงวรรณยุกต์ 6 เสียง ปัจจุบันภาษาคำตี้ในอินเดียนั้นถูกทำลายไปมาก เนื่องจากอิทธิพลทางภาษา สภาวะการน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องภาษาจนชาวคำตี้ที่อาศัยอยู่ในอินเดีย (ประชากร 24,000 คน) ส่วนใหญ่จะพูดภาษาอดิ 12,000 คน ขณะที่มีคนพูดภาษาคำตี้เพียง 8,700 คน และภาษาอัสสัมอีก 50 คน และส่วนใหญ่คนที่อ่านภาษาคำตี้ได้ก็มีน้อย แต่ยังมีคนพูดได้ แต่ส่วนชาวคำตี้ที่พม่า (ประชากร 72,000 คน) กลับตรงกันข้าม เพราะประชากรส่วนใหญ่ยังพูดภาษาคำตี้ได้ แต่บางท้องที่ได้หันไปพูดภาษาพม่าและภาษาจิ่งเผาะ

ศาสนา[แก้]

ชาวคำตี้ส่วนใหญ่จะเป็นพุทธศาสนิกชนนับถือศาสนาพุทธ และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทุกบ้านจะมีห้องพระทุกเช้าและเย็นจะมีการสวดมนต์ ซึ่งชาวคำตี้จะเรียกว่า "ไปพระ" เกือบทุกหมู่บ้านของชาวคำตี้จะมีวัด หรือ จอง มีศาลาปฏิบัติธรรมมีกุฏิที่พักสำหรับพระสงฆ์ สามเณร และแม่ชี ชาวคำตี้จะเรียกพระว่า "เจ้ามูล" เรียกเณรว่า "เจ้าซ่าง" และเรียกแม่ชีว่า "แม่ย่าชี" ชาวคำตี้นิยมนำบุตรหลานบวชเรียนตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เพื่อศึกษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในแตกฉาน สามารถอ่านเทศน์ หรือสวดเป็นภาษาบาลีได้ ด้วยถือว่าวัดเป็นศูนย์กลางในการทำพิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรม และการเรียนรู้ พระจึงมีบทบาท และทำหน้าที่อย่างแท้จริง แต่ละรูปจะได้รับการฝึกฝนมายาวนาน ชาวคำตี้ในพม่าส่วนใหญ่จะนับถือพุทธศาสนา 99% ศาสนาดั้งเดิม-ผีสางนางไม้ 0.9% และศาสนาคริสต์ 0.1% ส่วนชาวคำตี้ในอินเดียนั้นนับถือพุทธศาสนา 66.64% ศาสนาฮินดู 24.59% และศาสนาคริสต์ 7.72%