ภาษาถิ่นพิเทน
ภาษาถิ่นพิเทน | |
---|---|
ซีแยบีเด | |
ประเทศที่มีการพูด | ไทย |
จำนวนผู้พูด | ไม่ถึง 3,000 คน (2554)[1] |
ตระกูลภาษา | ขร้า-ไท
|
รหัสภาษา | |
ISO 639-3 | – |
ภาษาถิ่นพิเทน เป็นภาษาไทยถิ่นย่อยถิ่นหนึ่ง ที่ใช้จำเพาะอยู่ในชาวไทยมุสลิมในตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี มีลักษณะพิเศษคือเป็นภาษาไทยภาคกลางปนถิ่นใต้ มีการใช้คำราชาศัพท์ร่วมด้วย และยืมคำมลายูเสียมาก ปัจจุบันภาษาถิ่นพิเทนกำลังสูญไปและแทนที่ด้วยภาษามลายูปัตตานี
ประวัติ
[แก้]บรรพชนของพิเทนเป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาไทเดิมนับถือศาสนาพุทธ[1] อพยพมาจากที่อื่นในช่วง พ.ศ. 2218–2238[2] ครั้นเมื่ออพยพมาตั้งชุมชนที่บ้านพิเทนร่วมกับชาวมลายูในท้องถิ่นซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ชาวพิเทนจึงพากันเข้ารีตเป็นมุสลิมทั้งหมด[1] และมีร่องรอยของซากวัดในศาสนาพุทธที่หมู่ 2 ตำบลพิเทน[3] มุขปาฐะของผู้ใช้ภาษาถิ่นพิเทนเชื่อว่าตนมีบรรพบุรุษอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา[4][5][6][7] โดยอธิบายว่า บรรพบุรุษเป็นควาญช้าง เดินทางลงมาทางใต้เพื่อตามหาช้างสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งผู้นำในการติดตามช้างสำคัญนั่นคือพี่เณร (หรือโต๊ะหยัง) พร้อมกับคนอื่น ๆ บางสำนวนว่ามีสี่คน คือ เจ้าอ่อน นางผมยาวเก้าศอก นางเลือดขาว และเจ้าภา (หรือเจ้าเภา) อีกสำนวนระบุว่ามีเจ็ดคน ได้แก่ พี่แก้ว พี่อ่อน พี่มอญ พี่ขวัญ จันทอน (หรือจันทร์ทอง) และนางเลือดขาว (บ้างว่านางผมหอม) แต่การติดตามช้างสำคัญนั้นไม่สำเร็จ ด้วยเกรงกลัวพระราชอาญาจึงหลบลี้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่า อันเป็นที่มาของชื่อตำบลพิเทนซึ่งเพี้ยนมาจากชื่อของพี่เณรนั้นเอง[4][6][8] พวกเขาแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณใกล้เคียง ดังนี้[9][10]
หมู่บ้าน | ตำบล | อำเภอ | จังหวัด |
---|---|---|---|
พิเทน | พิเทน | ทุ่งยางแดง | ปัตตานี |
บือจะ | |||
น้ำดำ | น้ำดำ | ||
เมืองยอน | ลุโบะยิไร | มายอ | |
เจาะกะพ้อใน | กะรุบี | กะพ้อ |
ลูกหลานของพี่เณรที่สืบสันดานลงมาได้สมรสข้ามชาติพันธุ์กับชาวมลายูท้องถิ่นและเข้ารับอิสลาม[5][11] แต่ในมุขปาฐะก็มีบางคนที่ยังนับถือศาสนาพุทธ ไม่ยอมเข้ารับอิสลาม ครั้นเมื่อเสียชีวิตลงก็ใช้วิธีการฝังแบบมุสลิม และได้รับการนับถือในฐานะบุคคลศักดิสิทธิ์ด้วยการบนบานศาลกล่าวหรือเซ่นสรวงบูชา[2] ที่อำเภอกะพ้อมีตระกูลที่สืบมาจากพี่น้องของพี่เณร คือ นามสกุลพระศรี ศรีมาก ซีบะ จันทร์ทอง ศรีทอง ดิเภา และโต๊ะเภา[9][10] สุสานพี่เณรตั้งอยู่ที่บ้านควน หมู่ 2 ตำบลพิเทนในปัจจุบัน[7][12] โดยมีมรดกตกทอดประจำตระกูลที่เกี่ยวกับการคชบาล คือ กระดิ่งช้างเผือกและหอกสองด้ามประจำตระกูลซีบะ ปี่ของตระกูลจันทร์ทอง และเครื่องผูกเท้าช้างทำจากหนังราชสีห์ และอุปกรณ์เกี่ยวกับช้างอื่น ๆ อยู่ที่บ้านพิเทน[9][10] ซึ่งชาวพิเทนเชื่อว่าเครื่องดนตรีเหล่านี้มีอาถรรพณ์ และอุปกรณ์คชบาลที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษต้องได้รับการเซ่นไหว้[2]
ปัจจุบันชาวพิเทนมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอย่างเดียวกับชาวมลายูในท้องถิ่น ส่วนหนึ่งก็เพราะทั้งสองกลุ่มนับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน จึงรับเอาขนบธรรมเนียมประเพณีมลายูมุสลิมมาใช้อย่างแพร่หลาย เช่น การถือบวชในเดือนรอมฎอน เทศกาลฮารีรายอ การแต่งกาย หรือแม้แต่อาหาร[11] และบางส่วนหันไปใช้ภาษามลายูปัตตานีในชีวิตประจำวันแทนภาษาพิเทนไปแล้ว[13] ยังหลงเหลือการกระทำตามธรรมเนียมโบราณอยู่ในช่วงเก็บข้าวใหม่ในแต่ละปี ชาวบ้านจะนำข้าวที่เก็บเกี่ยวไว้มาใส่ใน "เรือนข้าว" หรือยุ้งฉาง โดยนำข้าวมาผูกและทำการไหว้ (คือทำขวัญข้าว) หลังจากนั้นจะนำ "เป็ด" หรือหม้อน้ำเรียกขวัญข้าว ซึ่งเป็นภาชนะทองเหลืองรูปร่างคล้ายเป็ดซึ่งใส่น้ำจนเต็ม นำมาตั้งบนข้าวที่เก็บมาไว้บนเรือนข้าว รอจนน้ำแห้งไปเอง และจะกระทำเช่นนี้เพียงปีละครั้ง[14] ขณะที่ชาวพิเทนในอำเภอกะพ้อจะมีการตั้งนามสกุลแบบไทย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนามสกุลตามชื่อบิดาอย่างชาวมลายูมุสลิมทั่วไป[2]
ในอดีตชาวพิเทนที่อาศัยอยู่หมู่ 1 ตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ได้แก่ ตระกูลซีบะ จันทร์ทอง พระศรี ดิเภา โต๊ะทอง ศรีทอง และหลักเพชร จะมีพิธีบรรพชาสามเณรตามธรรมเนียมของศาสนาพุทธ ก่อนเข้าพิธีสุหนัตตามธรรมเนียมของศาสนาอิสลาม เพื่อแสดงความเคารพแก่บรรพบุรุษของตน แต่ปัจจุบันธรรมเนียมนี้ได้ถูกยกเลิกไป[2] และเคยมีกิจกรรมรำลึกถึงพี่เณรที่สุสาน โดยจะมีงานจอระทาให้ชาวพิเทนจุดเทียนเป็นกะทา (รูปโดม) แห่จากบ้านไปยังสุสานพี่เณรในยามกลางคืนเพื่อทำบุญให้ รวมทั้งมีการเข้าทรงและมหรสพการละเล่นต่าง ๆ เช่น สิละหรือมโนราห์ และมีการตัดกิ่งไผ่ยาวสามเมตรและผูกอาหารคาวหวาน ผู้ชนะในการแข่งสิละจะใช้กริชตัดไม้ไผ่ดังกล่าว เด็ก ๆ ที่ล้อมวงชมก็จะเข้าไปแย่งอาหารกันอย่างสนุกสนาน แต่ปัจจุบันมิได้จัดพิธีดังกล่าวช่วงหลัง พ.ศ. 2502 เป็นต้นมา[2] เพราะขัดกับหลักศาสนาอิสลาม[4][6] นอกจากนี้ยังมีการบนบานพี่เณรเมื่อจะขออะไรหรือลงมือทำสิ่งใด แต่ปัจจุบันได้คลายความเชื่อเรื่องการบนบานนี้ลงไป[10]
ภาษาถิ่นพิเทนเป็นภาษาถิ่นที่ใช้เฉพาะกลุ่มชาวไทยมุสลิม[15] ในตำบลพิเทนเท่านั้น[12][16] ผู้ใช้ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันนี้ภาษาถิ่นดังกล่าวใกล้สูญหายและไม่เป็นที่นิยมใช้ เพราะชนนิยมใช้ภาษามลายูปัตตานีมากกว่า[4] พ.ศ. 2534 พบว่ามีชาวไทยมุสลิมในตำบลพิเทนบางหมู่บ้านเท่านั้นที่ยังใช้ภาษาถิ่นนี้ ได้แก่ หมู่ 2 (บ้านพิเทน), หมู่ 3 (บ้านป่ามะพร้าว) และหมู่ 4 (บ้านบือจะ) ในช่วงเวลานั้นพบว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่มักมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนประชากรที่อายุน้อยกว่านี้ไม่ยอมพูดภาษาดั้งเดิม หรือพูดได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะไม่ทราบคำศัพท์เดิม จึงนำคำมลายูปัตตานีมาใช้แทน จนคิดว่าภาษามลายูปัตตานีเป็นภาษาของตัวเอง[17] ใน พ.ศ. 2559 เหลือผู้ใช้ภาษาพิเทนน้อยลงตามลำดับ มีประชากรอายุราว 50 ปีเพียงไม่กี่คนที่สื่อสารภาษาดังกล่าวกับคนรุ่นเดียวกัน หากคนอายุต่ำกว่านี้จะใช้ภาษามลายูปัตตานีและภาษาไทยมาตรฐานในชีวิตประจำวัน และอีกปัจจัยสำคัญคือสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้ประชากรรุ่นใหม่อพยพย้ายถิ่นออกจากตำบลพิเทน ส่งผลกระทบให้ภาษาพิเทนมีแนวโน้มสูญหายไปจากประเทศไทย[11]
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศขึ้นทะเบียนภาษาถิ่นพิเทนขึ้นเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติไทย สาขาภาษา เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556 ประเภทภาษาท้องถิ่น[11] ปัจจุบันพวกเขามีแนวทางการอนุรักษ์ภาษาพิเทน เช่น การสอนบุตรหลานให้ใช้ภาษาพิเทน และเปิดสอนรายวิชาภาษาพิเทนที่โรงเรียนบ้านพิเทน (วันครู 2502)[13]
ลักษณะ
[แก้]ภาษาถิ่นพิเทนนั้นจะมีลักษณะพิเศษคือเป็นภาษาไทยภาคกลางปนถิ่นใต้ มีการใช้คำราชาศัพท์[4][5][6] แต่เรียงคำต่างจากภาษาไทยภาคกลางและใต้[18] และยืมคำมลายูมากถึงร้อยละ 97[19] ดังนั้นผู้ที่จะพูดภาษานี้ได้ต้องเข้าใจทั้งภาษาไทยและมลายูปัตตานี[6] เจริญ สุวรรณรัตน์ (2534) ระบุว่า ภาษาถิ่นพิเทนเป็นภาษาถิ่นย่อยของภาษาไทถิ่นตากใบ[20] ขณะที่ทวีพร จุลวรรณ (2554) พบว่า ภาษาถิ่นพิเทนมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไปจากภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาถิ่นตากใบ และภาษาถิ่นสะกอม เมื่อพิจารณาจากระบบเสียงวรรณยุกต์ ระบบเสียงพยัญชนะ และคำศัพท์เฉพาะ[21] ซึ่งภาษาถิ่นพิเทนมีหน่วยเสียงพยัญชนะต้น 22 หน่วยเสียง หน่วยพยัญชนะควบกล้ำ 14 หน่วยเสียง มีเสียงพยัญชนะท้าย 9 หน่วยเสียง หน่วยเสียงสระเดี่ยว 18 หน่วยเสียง หน่วยเสียงสระประสม 3 หน่วยเสียง และมีการแตกตัวสามทาง มีระบบเสียงวรรณยุกต์ที่แตกต่างไปจากภาษาไทยถิ่นใต้ ตากใบ และสะกอม[11]
ภาษาถิ่นพิเทนมีลักษณะคือ โครงสร้างของคำพยางค์เดียว สองพยางค์ คำซ้ำ คำซ้อนจะเหมือนภาษาไทยมาตรฐาน แต่ต่างกันคือการลำดับคำไม่ตรงกัน นอกจากนี้ยังมีการโดยนำคำมลายูและคำไทยมารวมกันเพื่อสร้างคำใหม่[18] เช่น กือสาร แปลว่า "ข้าวสาร" และ ปลากือริง แปลว่า "ปลาแห้ง"[12] นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำคำมลายูปัตตานีมาเป็นจำนวนมาก ภาษาถิ่นพิเทนจึงรับอิทธิพลด้านเสียงและคำจากภาษามลายูปัตตานี[18]
ตัวอย่าง
[แก้]พิเทน | ตากใบ | ไทยถิ่นใต้ | คำแปล |
---|---|---|---|
กล็อด | กล็อด | ร่ม | ร่ม |
ลูกพรวน | กือพรวน | เหงาะ | เงาะ |
จอกน่าม | จ๊อก, จ๊อกแกว | จอก | แก้วน้ำ |
จอน | กือหรอก, แอหรอก | หรอก | กระรอก |
ชาม | ชาม | ชาม | จาน |
ซูดู | ช่อน | ฉ่อน | ช้อน |
ยามู | ชมโผ่, ชุมโผ่, หยื่อมู่ | ชมโพ่, หย้ามู้ | ฝรั่ง |
แตกัด | ฮิง | หิ้ง | หิ้ง |
บือจีน | โหลกฆฮื่อจี๋น, โหลกบื่อจี๋น | ดีปลี, ลูกเผ็ด | พริก |
เริน | เริน | เริน | บ้าน, เรือน |
มิ้ง | กวยเตียว | ก๋วยเตี๋ยว | |
เมียแก่ | เมียหลวง | เมียหลวง | เมียหลวง |
เมียหนุ่ม | เมียน่อย | เมียน้อย | เมียน้อย |
ป๊ะ | ผ่อ, บิดด๋า | ผ่อ | พ่อ |
มะ | แหม่, มารด๋า | แหม่ | แม่ |
ป๊ะแก่ | ลูง, ผ่อลูง | ลุง | ลุง |
มะแก่ | ปา, แหม่ปา | ป้า | ป้า |
โต๊ะชาย | ผ่อแก๋ | ผ่อ, ผ่อถ่าว | ปู่, ตา |
โต๊ะ | แหม่แก๋ | ย่า | ย่า |
โต๊ะญิญ | แหม่แก๋ | แหม่ถ่าว | ยาย |
อูลัน | ผัก | พัก | ผัก |
แถลง | แหลง | แหลง | พูด |
สนับเพลา, แหน็บเพลา | แหน็บเพลา, แหน็ดเพลา | หนับเพลา, กางเก๋ง | กางเกง |
สะรูหวาลิง | เกงลิง | เกงลิง | กางเกงใน |
ลูกตาเมียว | องุ่น |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 ทวีพร จุลวรรณ (2011). ระบบเสียงภาษาพิเทน ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 3.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 "พิเทนและนามสถานที่เกี่ยวข้อง". สารานุกรมวัฒนธรรมไทย. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2024.
- ↑ "ตํานานตําบลพิเทน อําเภอมายอ จังหวัดปัตตานี". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 15 พฤษภาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2023.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "ประวัติความเป็นมา". องค์การบริหารส่วนตำบลพิเทน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 มีนาคม 2018.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 ประพนธ์ เรืองณรงค์. บุหงาปัตตานี คติชนมุสลิมชายแดนภาคใต้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2554, หน้า 203–207
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 บาราย (7 มิถุนายน 2009). "ตำนานบ้านพิเทน". ไทยรัฐออนไลน์.
- ↑ 7.0 7.1 การส่งเสริมครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ในโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอทุ่งยางแดง. สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดปัตตานี. 2012. p. 6.
- ↑ "ข้อมูลตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง ปัตตานี". ไทยตำบลดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 พฤษภาคม 2017.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 "อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี วันที่ 28 พ.ค. 2559". กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย. 28 พฤษภาคม 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-06. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2023.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 "ประวัติความเป็นมา". องค์การบริหารส่วนตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มีนาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2023.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (2016). ภาษา : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์. p. 55-56. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 16 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2021.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 "ประวัติความเป็นมา". สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี. 4 ตุลาคม 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 มิถุนายน 2019. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2018.
- ↑ 13.0 13.1 ทวีพร จุลวรรณ (2011). ระบบเสียงภาษาพิเทน ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 134.
- ↑ "วิถีชาวนาโบราณ จ.ปัตตานี และหมู่บ้านขนมโบราณ จ.นราธิวาส : ซีรีส์วิถีคน". Thai PBS. 5 สิงหาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2021.
- ↑ "โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้: ย้อนอดีตบ้านโต๊ะชูด ย้อนรอยโมเดลทุ่งยางแดง". ประชาไท. 1 เมษายน 2015.
- ↑ "ข้อมูลทั่วไปตำบลพิเทน". โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพิเทน. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2018.
- ↑ เจริญ สุวรรณรัตน์ (1991). การศึกษาคำและความหมายในภาษาไทยถิ่นใต้ตำบลพิเทน กิ่งอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี (PDF). มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. p. 121.
- ↑ 18.0 18.1 18.2 เจริญ สุวรรณรัตน์. "การศึกษาคำและความหมายในภาษาไทยถิ่นใต้ตำบลพิเทน กิ่งอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี". ฐานข้อมูลวิจัยชายแดนใต้. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016.
- ↑ สุภา วัชรสุขุม. "คำยืมภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานีในภาษาไทยถิ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้". ฐานข้อมูลวิจัยชายแดนใต้. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 ตุลาคม 2012.
- ↑ เจริญ สุวรรณรัตน์ (1991). การศึกษาคำและความหมายในภาษาไทยถิ่นใต้ตำบลพิเทน กิ่งอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี (PDF). มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. p. 4.
- ↑ ทวีพร จุลวรรณ (2011). ระบบเสียงภาษาพิเทน ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 130-132.