ภาษาคำยัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาคำยัง
ประเทศที่มีการพูดประเทศอินเดีย
ภูมิภาครัฐอัสสัม
ชาติพันธุ์ชาวคำยัง 810 คน (สำมะโน ค.ศ. 1981)[1]
จำนวนผู้พูด50  (2003)[2]
ตระกูลภาษา
ขร้า-ไท
รหัสภาษา
ISO 639-3อย่างใดอย่างหนึ่ง:
ksu – Khamyang
nrr – Nora
นักภาษาศาสตร์nrr

ภาษาคำยัง หรือ ไทคำยัง เป็นภาษาตระกูลไทกลุ่มหนึ่งในประเทศอินเดีย มีผู้พูดทั้งหมด 50 คน ในหมู่บ้านป่าหวาย (Pawaimukh) ในอำเภอตินสุกียา รัฐอัสสัม[3] ภาษาคำยังนี้มีความคล้ายคลึงกับภาษาพ่าเกและภาษาไทใหญ่ในประเทศพม่า ผู้ใช้ภาษาคำยังในปัจจุบันหลายคนสามารถอ่านและเขียนภาษาอัสสัมได้ แต่กลายเป็นว่ามีผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นที่สามารถอ่านและเขียนภาษาคำยังได้ ซึ่งส่วนมากใช้สำหรับพิธีกรรมทางศาสนาใน ค.ศ. 1981 ชาวคำยังมีความสามารถอ่านและเขียนภาษาอัสสัมเป็นภาษาที่สองได้ถึงร้อยละ 58 ชาวคำยังมีความสนิทสนมกับชาวคำตี่ในรัฐอรุณาจัลประเทศเป็นพิเศษ

ปัจจุบันภาษาคำยังเป็นภาษาใกล้สูญ เพราะมีผู้พูดจำนวนน้อย และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย

ประวัติ[แก้]

มีประวัติและข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวคำยังน้อยมาก ครั้น พ.ศ. 2526 มุหิ จันทระ ศยาม ปันโชก (Muhi Chandra Shyam Panjok) มีงานเขียนเกี่ยวกับความเป็นมาของชาวคำยัง[4] เขาระบุว่าในรัชกาลพระเจ้าเสือข่านฟ้าได้ส่งชาวคำยัง ซึ่งเป็นชาวไทกลุ่มหนึ่งข้ามเขาปาดไก่ไปยังแถบรัฐอัสสัม เพื่อตามหาเจ้าหลวงเสือก่าฟ้า พระอนุชา ซึ่งได้ก่อตั้งอาณาจักรอาหมขึ้นในหุบเขาพรหมบุตร แต่หลังทั้งสองฝ่ายพบกันแล้ว ชาวคำยังก็ไม่ได้กลับไปยังมาตุภูมิ แต่ยังคงอาศัยอยู่ในดินแดนรัฐอัสสัมและอรุณาจัลประเทศนั่นเอง พวกเขาตั้งถิ่นฐานริมทะเลสาบหนองยางยาวนานกว่า 500 ปี อี. อาร์. ลีช (E. R. Leach) เชื่อว่าทะเลสาบดังกล่าวอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำติราป รวมทั้งเป็นที่มาของชื่อ "คำยัง"[5] ราว พ.ศ. 2323 ชาวคำยังโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิม ทั้งยังมีปัญหากระทบกระทั่งกันกับชาวอาหมซึ่งเป็นชาวไทด้วยกัน จนเกิดการต่อต้านและสู้รบกับอาหมขึ้น[4]

ชาวคำยังกลุ่มหนึ่งโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองธาลี (Dhali) ใน พ.ศ. 2341 พวกเขาเป็นบรรพชนของชาวคำยังในอำเภอโชรหาฏและโคลาฆาฏ[4] ดังจะพบว่ามีหมู่บ้านชาวคำยังกระจายตัวอยู่ในสองอำเภอนี้[6] ชาวคำยังที่นี่ยังระบุตัวตนว่าเป็นชาวคำยัง แม้จะเลิกใช้ภาษาคำยังไปแล้วก็ตาม[3] อีกส่วนหนึ่งตั้งถิ่นฐานที่อำเภอฑิพรูครห์ มีการตั้งชุมชนที่บ้านป่าหวายตั้งแต่ พ.ศ. 2465 มีประจักษ์พยานระบุว่าชุมชนนี้เป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่[7] ชุมชนตั้งอยู่ริมแม่น้ำพูร์หีทิหิงค์ มีถนนเส้นเดียวพาดผ่าน มีบ้านเรือนราว 40 หลังคา มีวัดพุทธตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้าน[7] และเป็นชุมชนคำยังแห่งสุดท้ายที่ยังใช้ภาษาคำยังในการสื่อสาร[3]

สถานะ[แก้]

ภาษาคำยังเป็นภาษาใกล้สูญ[3] มีผู้ใช้ภาษานี้ที่บ้านป่าหวายเพียงแห่งเดียว เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุราว 50 คน[3] ซึ่งจะใช้เมื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือติดต่อกับผู้ที่พูดภาษาไทคนอื่น ๆ ปัจจุบันมีชาวคำยังที่รู้หนังสือคำยังเพียงสองคน คือ Chaw Sa Myat Chowlik และ Chaw Cha Seng นอกจากนี้ยังมีพระเอติกภิกขุ (Etika Bhikku) พระสงฆ์ชาวไทพ่าเกที่สามารถอ่านอักษรคำยังได้ดี[3] นอกจากผู้สูงอายุแล้ว คาดว่าคนในวัยอื่น ๆ ที่บ้านป่าหวายคงพอสื่อสารภาษาคำยังได้พอเข้าใจ หากแต่ยังไม่ได้รับการศึกษาพวกเขาอย่างจริงจัง[3]

ทั้งนี้หมู่บ้านป่าหวายของชาวคำยังก็แปลความหมายตรงกับภาษาไทย คือป่าที่มีหวาย[3] ในแบบสำรวจสำมะโนครัวประชากรอินเดีย พ.ศ. 2554 ระบุว่าชุมชนดังกล่าวมีชื่อว่า บ้านป่าหวาย 2 (Powai Mukh No. 2)[8]

ชาวคำยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โนรา (Nora) สตีเฟน มอเรย์ (Stephen Morey) นักภาษาศาสตร์ ระบุว่าไม่เคยได้ยินชาวคำยังเรียกตัวเองว่าโนรามาก่อนเลย[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. ภาษาคำยัง[ลิงก์เสีย] ที่ Ethnologue (14th ed., 2000).
  2. Khamyang ที่ Ethnologue (18th ed., 2015) (ต้องสมัครสมาชิก)
    Nora ที่ Ethnologue (18th ed., 2015) (ต้องสมัครสมาชิก)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 Morey, Stephen. 2005: The Tai Languages of Assam: A Grammar and Texts, Canberra: Pacific Linguistics.
  4. 4.0 4.1 4.2 Panjok, Muhi Chandra Shyam. 1981: History of Tai Khamyang Group of Great Tai Race. Paper presented at the International Conference of Tai Studies, New Delhi, February.
  5. Leach, E. R. 1964: Political Systems of Highland Burma, London: London School of Economics
  6. Boruah, Bhimkanta. 2001: Tai Language in India: An Introduction.
  7. 7.0 7.1 Diller, Anthony V. N.; Edmonson, Jerold A.; Luo, Yongxian. 2008: The Tai-Kadai Languages. London, Routledge.
  8. Census of India, 2011, Primary Census Abstract Data Tables, Assam. http://censusindia.gov.in/pca/pcadata/pca.html.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]