การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2562

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย
พ.ศ. 2562

← พ.ศ. 2557 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2566 →
 
Prayut 2022.jpg
Thanathorn official 2019.jpg
ผู้ได้รับเสนอชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
พรรค อิสระ[a] อนาคตใหม่
คะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 500 244

การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2562 เป็นการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา (ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา) ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ณ หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ[1]

การประชุมดังกล่าวมี ส.ส. ลงนามเข้าร่วมประชุม 497 คน จากจำนวนที่มีอยู่ 500 คน[b] ร่วมกับ ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อีก 250 คน รวมเป็น 747 คน ซึ่งผู้ที่จะได้รับเลือก ต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ (375 เสียงขึ้นไป)

ที่ประชุมเสนอชื่อบุคคลให้สมาชิกลงมติเลือก 2 คน คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง แต่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อชิงตำแหน่ง และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่

ขั้นตอน[แก้]

การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้มีขั้นตอนดำเนินการที่แตกต่างจากขั้นตอนเดิม โดยเปลี่ยนให้มาเสนอในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 จากเดิมที่จะต้องเสนอคัดเลือกจากที่ประชุม ส.ส. ก่อนเสนอให้ที่ประชุม ส.ว. ร่วมรับรอง หลังจากการเสนอชื่อจะเป็นขั้นตอนของการอภิปรายถึงคุณสมบัติและลักษณะการเป็นบุคคลต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนด เมื่อการอภิปรายเสร็จสิ้นก็จะเป็นขั้นตอนของการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

เนื่องจากมีการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมถึงสองคน ประกอบกับความไม่พร้อมของสถานที่การประชุมชั่วคราว ซึ่งไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ประธานรัฐสภาจึงเสนอวิธีการให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมนับคะแนน 6 คน แบ่งเป็น ส.ส. 4 คน และ ส.ว. 2 คน ร่วมบันทึกคะแนนเสียงด้วยกัน แล้วจึงให้เลขาธิการและรองเลขาธิการรัฐสภาขานเรียกชื่อเพื่อลงมติเป็นรายบุคคลจนครบจำนวนสมาชิกทั้งหมด 747 คน

ชื่อบุคคลที่ได้รับเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี[แก้]

ผู้ได้รับการเสนอชื่อในรัฐสภา
ประยุทธ์ จันทร์โอชา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
อิสระ อนาคตใหม่
นายกรัฐมนตรี
(ตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(ตั้งแต่ 24 มีนาคม 2562)

ผลการลงมติ[แก้]

ภายหลังเสร็จสิ้นการลงคะแนน ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ประกาศผลการนับคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ได้รับความเห็นชอบ จำนวน 500 คะแนน ส่วนธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้รับความเห็นชอบ 244 คะแนน และมีสมาชิกรัฐสภางดออกเสียง 3 คะแนน (คือ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา , พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา และสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. ศรีสะเกษ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย[3]) พลเอกประยุทธ์จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย[4]

พรรคการเมือง งดออกเสียง ไม่เข้าร่วมประชุม รวม
ประยุทธ์ จันทร์โอชา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
เพื่อไทย - 136 - - 136
พลังประชารัฐ 116 - - - 116
อนาคตใหม่ - 79 - 2 81
ประชาธิปัตย์ 51 - 1 - 52
ภูมิใจไทย 50 - 1 - 51
เสรีรวมไทย - 10 - - 10
ชาติไทยพัฒนา 10 - - - 10
ประชาชาติ - 7 - - 7
เศรษฐกิจใหม่ - 6 - - 6
เพื่อชาติ - 5 - - 5
รวมพลังประชาชาติไทย 5 - - - 5
ชาติพัฒนา 3 - - - 3
พลังท้องถิ่นไท 3 - - - 3
รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 - - - 2
พลังปวงชนไทย - 1 - - 1
พลังชาติไทย 1 - - - 1
ประชาภิวัฒน์ 1 - - - 1
ไทยศรีวิไลย์ 1 - - - 1
พลังไทยรักไทย 1 - - - 1
ครูไทยเพื่อประชาชน 1 - - - 1
ประชานิยม 1 - - - 1
ประชาธรรมไทย 1 - - - 1
ประชาชนปฏิรูป 1 - - - 1
พลเมืองไทย 1 - - - 1
ประชาธิปไตยใหม่ 1 - - - 1
พลังธรรมใหม่ 1 - - - 1
วุฒิสภา 249 - 1 - 250
รวม 500 244 3 2 749
500 244 5
ประยุทธ์ ธนาธร งดออกเสียง+ไม่ร่วมประชุม

เชิงอรรถ[แก้]

  1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐ แต่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคให้เป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562
  2. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ก่อนการลงมติ[2] และจุมพิตา จันทรขจร ส.ส. นครปฐม เขต 5 พรรคอนาคตใหม่ ลาป่วยเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ

อ้างอิง[แก้]

ก่อนหน้า การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2562 ถัดไป
การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2557
การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย
การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2566