ข้ามไปเนื้อหา

กาเตรีนา เด เมดีชี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กาเตรีนา เด เมดีชี
สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส
ดำรงพระยศ31 มีนาคม ค.ศ. 1547 –
10 กรกฎาคม ค.ศ. 1559
ราชาภิเษก10 มิถุนายน ค.ศ. 1549
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งฝรั่งเศส
ระหว่าง5 ธันวาคม ค.ศ. 1560 –
17 สิงหาคม ค.ศ. 1563
พระมหากษัตริย์พระเจ้าชาร์ลที่ 9
พระราชสมภพ13 เมษายน ค.ศ. 1519
ฟลอเรนซ์ สาธารณรัฐฟลอเรนซ์
สวรรคต5 มกราคม ค.ศ. 1589
(69 พรรษา)
พระราชวังบลัว ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
พระราชบุตร
ราชวงศ์เมดีชี (พระราชสมภพ)
วาลัว-อ็องกูแลม (เสกสมรส)
พระราชบิดาโลเรนโซ เด เมดีชี ดยุกแห่งอูร์บีโน
พระราชมารดามาเดอแลน เดอ ลา ตูร์ โดแวร์ญ
ลายพระอภิไธย
พระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศส พระราชสวามี

กาเตรีนา เด เมดีชี หรือ กาทรีน เดอ เมดีซีส หรือ แคทเธอรีน เดอ เมดีชี (อิตาลี: Caterina de' Medici, ออกเสียง: [kateˈriːna de ˈmɛːditʃi]; ฝรั่งเศส: Catherine de Médicis, ออกเสียง: [katʁin də medisis]; 13 เมษายน ค.ศ. 1519 – 5 มกราคม ค.ศ. 1589) เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศสและเป็นพระอัครมเหสีในพระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศส ตั้งแต่ ค.ศ. 1547 จนถึง ค.ศ. 1559

พระนางเสด็จพระราชสมภพที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี พระนามเมื่อแรกพระราชสมภพในภาษาอิตาลีคือ “กาเตรีนา มารีอา โรโมลา ดี โลเรนโซ เด เมดีชี” (Caterina Maria Romola di Lorenzo de' Medici) พระบิดาและมารดาของแคทเธอรีนคือโลเรนโซ เด เมดีชี ดยุกแห่งอูร์บีโนและมาเดอแลน เดอ ลา ตูร์ โดแวร์ญ (Madeleine de la Tour d'Auvergne, Countess of Boulogne) ทั้งสองคนเสียชีวิตไปไม่นานหลังจากที่แคทเธอรีนพระราชสมภพ พระนามมาเปลี่ยนมาสะกดแบบฝรั่งเศสต่อมาเป็น “Catherine de Médicis”[1] แคทเธอรีนเป็นพระอัครมเหสีในพระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศสระหว่างปี ค.ศ. 1547 ถึงปี ค.ศ. 1559

เมื่อมีพระชนม์ได้ 14 พรรษาในปี ค.ศ. 1533 แคทเธอรีนก็ทรงเสกสมรสกับอ็องรีดยุกแห่งออร์เลอองผู้เป็นพระราชโอรสองค์ที่สองของพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศส กับพระราชินีโคลด เมื่อเจ้าชายรัชทายาท ฟรองซัวส์ หรือ “โดแฟ็ง” (Dauphin) พระเชษฐาของอ็องรีสวรรคตในปี ค.ศ. 1536 อ็องรีก็ได้ขึ้นเป็นโดแฟงแทน แคทเธอรีนจึงทรงมีตำแหน่งเป็น “โดฟีน” (Dauphine) ต่อมาเมื่อพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 เสด็จสวรรคต อ็องรีก็ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1547 ระหว่างการครองราชพระเจ้าอ็องรีก็มิได้ให้ความสำคัญต่อพระราชินีแคทเธอรีนเท่าใดนัก แต่ทรงกลับไปปรนเปรอพระสนมคนโปรด ไดแอน เดอ ปอยเตียร์ (Diane de Poitiers) แทน เมื่อพระเจ้าอ็องรีเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1559 พระราชินีแคทเธอรีนจึงทรงเริ่มมีบทบาททางการเมืองโดยการเป็นพระชนนีของพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศสผู้มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษาเมื่อขึ้นครองราชย์และไม่ทรงแข็งแรงเท่าใดนัก พระเจ้าฟรองซัวส์ทรงปกครองฝรั่งเศสได้เพียงปีเดียวก็เสด็จสวรรคต พระราชินีแคทเธอรีนก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ผู้มีอำนาจเต็มที่ในพระโอรสองค์รอง พระเจ้าชาร์ลที่ 9 ผู้มีพระชนมายุได้เพียง 10 พรรษา หลังจากพระเจ้าชาลส์เสด็จสวรรคตพระราชินีนาถแคทเธอรีนก็ทรงมีบทบาทสำคัญในการปกครองมากขึ้นเมื่อพระราชโอรสองค์ที่สามขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอ็องรีที่ 3 พระเจ้าอ็องรีทรงปรึกษาราชการแผ่นดินต่างๆ กับพระราชชนนีจนระยะสุดท้ายก่อนที่จะสิ้นพระชนม์

พระโอรสผู้อ่อนแอทั้งสามพระองค์ของแคทเธอรีนทรงปกครองฝรั่งเศสในขณะที่บ้านเมืองระส่ำระสายจากการก่อความไม่สงบต่างที่เกิดขึ้นจากสงครามกลางเมืองและสงครามศาสนา ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมิได้อยู่ในความควบคุมของระบบพระมหากษัตริย์และเป็นปัญหาที่ใหญ่แม้แต่สำหรับพระมหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจ เมื่อแรกเริ่มแคทเธอรีนก็พยายามประนีประนอมกับฝ่ายอูเกอโนท์ (Huguenots) หรือชาวฝรั่งเศสที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์เมื่อมีการจลาจลเกิดขึ้น[2] แต่ก็ไม่ทรงเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงปัญหาความขัดแย้งทางปรัชญาทางคริสต์ศาสนวิทยาและสาเหตุของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้พระองค์ไม่มีพระอุตสาหะพอที่จะพยายามแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างสันติ และทรงใช้ไม้แข็งในการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ[3] พระองค์จึงทรงถูกประณามในเหตุการณ์ร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเหตุการณ์การสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว ในปี ค.ศ. 1572 ซึ่งเป็นผลให้อูเกอโนท์ถูกสังหารอย่างทารุณทั้งในปารีสและทั่วไปในประเทศฝรั่งเศส นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานกันว่าในปารีสเองมีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,000 คนและอีกประมาณ 5,000-10,000 คนในบริเวณอื่นทั่วฝรั่งเศส หลังจากนั้นก็มีเรื่องสยดสยองต่างๆ จากเหตุการณ์ในเอกสารที่แจกจ่ายกันในสมัยนั้นซึ่งเป็นต้นกำเนิด “ตำนานมืด” (The Black Legend) ของ “พระราชินีผู้ชั่วร้าย” จากปากเสียงของผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์ พระราชินีนาถแคทเธอรีนทรงถูกประณามว่าเป็น “Machiavellian Renaissance prince” ผู้ป้อนความกระหายอำนาจด้วยการอาชญากรรม, การวางยาพิษ และบางทีก็ถึงกับใช้อำนาจเวทมนตร์ “อากริพพา โดบินย์” (Agrippa d'Aubigné) กวีอูเกอโนท์ถึงกับขนานพระนามพระราชินีนาถแคทเธอรีนว่าเป็น “เชี้อโรคจากฟลอเรนซ์” (Florentine plague) [4] ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักประวัติศาสตร์จูลส์ มิเชลเลท์ (Jules Michelet) บรรยายพระราชินีนาถแคทเธอรีนว่าเป็น “หนอนที่หลุดออกมาจากหลุมศพของอิตาลี” [5]

นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันให้เหตุผลสนับสนุนการใช้อำนาจอันเกินควรของพระราชินีนาถแคทเธอรีน[6] แต่อาร์ เจ เนคช (R. J. Knecht) กล่าวว่าความทารุณของพระราชินีนาถแคทเธอรีนจะเห็นได้จากจดหมายที่ทรงเขียน นิโคลา ซัทเธอร์แลนด์ (Nicola Sutherland) กล่าวเตือนถึงความเกินเลยในการบรรยายอำนาจของพระองค์ว่าแทนที่จะเป็นภาพพจน์ที่ทรงปกครองอย่างมั่นคง พระราชินีนาถแคทเธอรีนทรงต้องต่อสู้กับความไม่สงบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างแทบไม่มีทางชนะ[7] นโยบายการปกครองของพระองค์จึงเป็นนโยบายของความอยู่รอดของราชวงศ์วาลัวส์ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดใด[8] จึงอาจจะกล่าวได้ว่าถ้าไม่มีพระราชินีนาถแคทเธอรีนพระโอรสทั้งสามพระองค์ก็คงไม่ทรงสามารถปกครองฝรั่งเศสด้วยพระองค์เองได้[9] ระยะการปกครองระหว่างพระโอรสทั้งสามเรียกว่า “สมัยแคทเธอรีน เดอ เมดิชิ” (The Age of Catherine de' Medici) [10]

กำเนิดและชีวิตเบื้องต้น

[แก้]
จูลิโอ ดิ จูเลียโน เดอ เมดิชิ สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 โดย เซบาสเตียโน เดล พิออมโบ (Sebastiano del Piombo) ราว ค.ศ. 1531 คลีเมนต์กล่าวว่าการหมั้นหมายระหว่างพระราชินีนาถแคทเธอรีนกับพระเจ้าอ็องรีที่ 2 เป็น “คู่ที่เหมาะสมกันที่สุดในโลก”[11]
อ็องรีดยุกแห่งออร์เลออง โดย คอร์นีล เดอ ลิออง (Corneille de Lyon) เมื่อยังทรงพระเยาว์ อ็องรีทรงใช้เป็นเวลาราวสี่ปีครึ่งในฐานะตัวประกันในสเปนซึ่งมึผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกส่วนพระองค์ตลอดพระชนม์ชีพ[12]

ตามบันทึกของนักพงศาวดารร่วมสมัย พระราชินีนาถแคทเธอรีนประสูติที่เมืองฟลอเรนซ์ (ในประเทศอิตาลีปัจจุบัน) เมื่อเวลา 5:04 นาฬิกาตอนเช้ามืดของวันพุธที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1519 พระบิดาและมารดามีความปลาบปลื้มในการกำเนิดของพระองค์ “ราวกับได้ลูกชาย”[13] แต่ความปลาบปลื้มนี้ก็เป็นเพียงระยะสั้นเพราะพระมารดามาเดเลน เดอ ลา ทัวร์มาสิ้นชีวิตลงเพียงสองอาทิตย์หลังจากที่แคทเธอรีนประสูติ เมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1519 เมื่ออายุได้เพียง 17 ปี และไม่นานหลังจากนั้นลอเรนโซ เดอ เมดิชิที่ 2 พ่อของแคทเธอรีนก็สิ้นชีวิตลงเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม อาจจะด้วยโรคซิฟิลิส[14] ลอเรนโซและมาเดเลนเพิ่งแต่งงานได้เพียงปีเดียวก่อนหน้านั้นที่อังบัวส์ (Amboise) การแต่งงานของลอเรนโซและมาเดเลนเป็นการแต่งงานที่ช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสที่นำโดยพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 กับอิตาลีที่นำโดยสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 10 ในการเป็นพันธมิตรที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่นำโดยสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซิมิเลียนที่ 1 หลังจากบิดามารดาของแคทเธอรีนเสียชีวิตพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 ก็ทรงขอตัวแคทเธอรีนมาเลี้ยงดูในราชสำนักฝรั่งเศส แต่ขณะนั้นพระสันตะปาปาลีโอที่ 10 มีแผนที่จะให้แคทเธอรีนแต่งงานกับอิพโพลิโต เดอ เมดิชิ (Ippolito de Medici) ผู้เป็นลูกนอกสมรสของพี่ชายของพระองค์ เพื่อจะให้ทั้งสองคนเป็นผู้ปกครองฟลอเรนซ์ต่อไป

ผู้ที่เลี้ยงดูแคทเธอรีนคนแรกคืออัลฟอนซินา ออร์ซินิผู้เป็นยาย หลังจากอัลฟอนซินาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1520 แคทเธอรีนก็ถูกส่งไปให้แคลริส เดอ เมดิชิ (Clarice de' Medici) ผู้เป็นป้าเลี้ยงร่วมกับลูกพี่ลูกน้อง เมื่อพระสันตะปาปาลีโอที่ 10 เสด็จสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1521 ตระกูลเมดิชิก็หมดอำนาจไปชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกระทั่งจูลิโอ ดิ จูเลียโน เดอ เมดิชิ ได้รับเลือกให้เป็นสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ในปี ค.ศ. 1523 พระสันตะปาปาคลีเมนต์จัดให้แคทเธอรีนย้ายมาอยู่ที่วังเมดิชิ ริคาดิที่ฟลอเรนซ์ ชาวเมืองฟลอเรนซ์ขนานนามแคทเธอรีนว่า “ดัชเชสน้อย” (duchessina) [15]

ในปี ค.ศ. 1527 ตระกูลเมดิชิถูกโค่นจากฟลอเรนซ์โดยฝักฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองโดยคาร์ดินัลซิลวิโอ พาซเซอรินิ (Silvio Passerini) ผู้เป็นตัวแทนของพระสันตะปาปาคลีเมนต์ แคทเธอรีนถูกจับไปเป็นตัวประกันและย้ายไปตามสำนักชีหลายแห่ง[16] พระสันตะปาปาคลีเมนต์ไม่มีทางเลือกนอกจากจะยอมสวมมงกุฎให้ชาลส์เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในพระนามว่าจักรพรรดิชาลส์ที่ 5 เพื่อที่จะให้ช่วยยึดฟลอเรนซ์คืน[17] ในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 1529 กองทัพของจักรพรรดิชาลส์ก็ล้อมเมืองฟลอเรนซ์ เมื่อการล้อมยืดเยื้อไป ผู้คนก็เรียกร้องให้สังหารแคทเธอรีนแล้วเอาตัวประจานบนกำแพงเมือง ทหารที่ขี่ลาเข้าไปในเมืองก็โดนประชาชนเยาะเย้ยถากถาง[18] แต่ในที่สุดฟลอเรนซ์ก็ยอมแพ้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1530 พระสันตะปาปาคลีเมนต์ทรงรียกตัวแคทเธอรีนไปโรมและเริ่มดำเนินการหาสามีที่เหมาะสมให้แคทเธอรีน[19]

การแต่งงาน

[แก้]

แคทเธอรีนไม่เคยได้ชื่อว่าเป็นคนสวย เมื่อไปถึงกรุงโรมทูตจากเวนิสบรรยายก็แคทเธอรีนว่าเป็นผู้ที่มี “ร่างเล็ก, และผอม, ไม่มีส่วนที่อ่อนหวาน ประกอบกับการมีตาโปนอันเป็นลักษณะแปลกของตระกูลเมดิชิ”[20] แต่กระนั้นก็มีผู้ที่ต้องการตัวแคทเธอรีนไปเป็นภรรยากันเป็นแถว และเมื่อต้นปี ค.ศ. 1531 พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ก็ทรงเสนอการแต่งงานระหว่างแคทเธอรีนกับพระโอรสอ็องรีดยุกแห่งออร์เลออง พระสันตะปาปาคลีเมนต์ยินดีต่อข้อเสนอเป็นอันมาก เพราะเป็นสมรสที่จะช่วยเพิ่มฐานะทางอำนาจให้แคทเธอรีน แม้ว่าแคทเธอรีนจะมาจากตระกูลที่มีชื่อเสียงและมีฐานะมั่งคั่งแต่ก็ยังเป็นเพียงคนสามัญชน[11]

งานเสกสมรสระหว่างแคทเธอรีนและอ็องรีดยุกแห่งออร์เลอองกระทำกันที่มาร์เซย์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1533 เป็นงานใหญ่โตที่แสดงโดยการให้ของขวัญกันอย่างหรูหรา[21][22] อ็องรีออกจากงานเลึ้ยงราวเที่ยงคืนเพื่อไปทรงทำหน้าที่พระสวามี ทรงเข้าห้องบรรทมพร้อมกับพระราชบิดา กล่าวกันว่าพระเจ้าฟรองซัวส์ประทับอยู่จนกระทั่งคู่สมรสทำการสมสู่กันเสร็จและทรงเปรยว่า “ต่างคนต่างก็มีฝีมือในการรณรงค์” (each had shown valour in the joust) [21] พระสันตะปาปาคลีเมนต์ไปเยี่ยมคู่บ่าวสาววันรุ่งขึ้นและประทานพรในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนก่อนหน้านั้น[23]

หลังจากนั้นในปีแรกแคทเธอรีนก็เกือบไม่ได้พบกับอ็องรีเท่าใดนัก แต่ข้าราชสำนักฝรั่งเศสก็ปฏิบัติต่อพระองค์เป็นอย่างดีและมีความประทับใจในพระปรีชาสามารถของแคทเธอรีน[24] เมื่อพระสันตะปาปาคลีเมนต์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1534 สถานการณ์ของแคทเธอรีนก็เปลื่ยนไป สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 พระสันตะปาปาองค์ต่อมาไม่ยอมจ่ายค่าสินสอดทองหมั้นจำนวนมหาศาลแก่ฝรั่งเศสตามที่เรียกร้อง จนพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 ถึงกับทรงรำพึงว่าทรงได้แคทเธอรีน “มาแต่ตัวเปล่า” (The girl has come to me stark naked) [25]

อ็องรีเองนอกจากจะไม่ทรงสนพระทัยในพระชายาแล้วก็ยังไปมีสนมอีกหลายคนอย่างเปิดเผย สิบปีแรกหลังจากการแต่งงานแคทเธอรีนก็ยังไม่มีพระโอรสธิดา นอกจากนั้นในปี ค.ศ. 1537 ฟิลลิปา ดูชิพระสนมคนหนึ่งก็ให้กำเนิดแก่พระธิดา ซึ่งอ็องรีทรงยอมรับอย่างออกหน้าออกตา[26] การที่อ็องรีมีพระธิดาเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าอ็องรีมิได้ทรงเป็นหมันซึ่งเป็นการเพิ่มความกดดันให้แก่แคทเธอรีนหนักยิ่งขึ้นไปอีก

รัชทายาท

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1536 ฟรองซัวส์พระเชษฐาของอ็องรีผู้เป็นรัชทายาทสิ้นพระชนม์จากการทรงจับไข้หลังจากทรงเล่นเทนนิส อ็องรีจึงกลายมาเป็นรัชทายาท ในฐานะชายาของรัชทายาท (Dauphine) ความกดดันที่มีอยู่ในการมีรัชทายาทเพื่อให้มีผู้สืบสันตติวงศ์ที่มีอยู่แล้วก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นไปอีก[27]

ปิแอร์ เดอ โบเดลล์นักพงศาวดารประจำราชสำนักบันทึกว่า “ต่างคนต่างก็ถวายคำแนะนำแก่พระเจ้าแผ่นดินและรัชทายาทให้ประณามเจ้าหญิงแคทเธอรีนเพราะความจำเป็นที่จะต้องมีรัชทายาทที่จะสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศส” ที่เจ้าหญิงแคทเธอรีนไม่สามารถทรงทำได้[28] นอกจากนั้นก็ยังมีการกล่าวถึงการหย่าร้าง ความที่ทรงหมดหนทางเจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ทรงหาวิธีต่างๆ ที่ทรงคิดว่าจะช่วยให้ทรงครรภ์ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ทรงเอาขี้วัวและผงเขากวางป่นทาบริเวณ “source of life” หรือทรงดื่มปัสสาวะลาเป็นต้น[29] ในที่สุดเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1544 เจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ทรงให้กำเนิดแก่พระโอรสที่ให้พระนามว่า “ฟรองซัวส์” ตามพระอัยกา หลังจากที่ทรงครรภ์ได้ครั้งหนึ่งแล้ว เจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ไม่ทรงมีปัญหาในการมีพระโอรสธิดาอีกต่อมา ความเปลื่ยนแปลงนี้อาจจะมีสาเหตุมากจากความช่วยเหลือของนายแพทย์ชอง แฟร์เนลผู้ที่สังเกตเห็นความไม่ปกติในอวัยวะเพศของทั้งสองพระองค์และถวายคำแนะนำถึงวิธีเปลี่ยนแปลง[30] เจ้าหญิงแคทเธอรีนมีพระโอรสธิดากับอ็องรีเจ้าชายรัชทายาทอีก 9 พระองค์ 6 พระองค์ทรงรอดมาจนโตรวมทั้ง เจ้าชายชาลส์ ประสูติเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1550; เจ้าชายอ็องรี ประสูติเมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1551; และ ฟรองซัวส์ ดยุกแห่งอองชู ประสูติเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1555 ซึ่งเป็นทำให้การมีผู้สืบสายราชวงศ์วาลัวส์เป็นไปอย่างมั่นคง

แต่ความสามารถของเจ้าหญิงแคทเธอรีนในการมีผู้สืบราชบัลลังก์ให้แก่ฝรั่งเศสหลายองค์ก็มิได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และเจ้าชายอ็องรีดีขึ้นแต่อย่างใด ในปี ค.ศ. 1538 เมื่อเจ้าชายอ็องรีมีพระชนม์ได้ 19 พรรษาก็ทรงได้ไดแอน เดอ ปอยเตียร์อายุ 38 ปีเป็นพระสนม ไดแอนกลายมาเป็นพระสนมคนโปรดจนตลอดพระชนม์ชีพ[31] แต่กระนั้นอ็องรีก็ยังทรงยกย่องเจ้าหญิงแคทเธอรีนในฐานะพระชายาอย่างเป็นทางการ[32] เมื่อพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1547 เจ้าชายอ็องรีก็ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอ็องรีที่ 2 และเจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ได้รับการสวมมงกุฏเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศสที่มหาวิหารแซงต์เดอนีส์ ในปี ค.ศ. 1549

พระราชินีแห่งฝรั่งเศส

[แก้]

เมื่อทรงเป็นกษัตริย์พระเจ้าอ็องรีก็มิได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้พระราชินีแคทเธอรีนมีอิทธิพลในฐานะพระราชินีแต่อย่างใด[33] เป็นแต่บางครั้งที่ทรงมอบหน้าที่ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อพระองค์มิได้ประทับอยู่ในฝรั่งเศส แต่อำนาจที่ทรงให้ในฐานะที่เป็นผู้สำเร็จราชการก็เป็นเพียงจำกัด[34] ต่อมาพระเจ้าอ็องรีทรงยกวังเชอนงโซที่พระราชินีแคทเธอรีนเองก็ทรงพระประสงค์ให้แก่ไดแอน เดอ ปอยเตียร์ ซึ่งไดแอนก็ใช้เป็นศูนย์กลางอำนาจของตนเอง[35] ราชทูตรายงานว่าเมื่อพระเจ้าอ็องรีทรงปรากฏตัวต่อหน้าแขกก็จะทรงประทับบนตักของไดแอนและทรงกีตาร์ ตรัสเรื่องการเมืองไปในขณะที่และทรงเล่นหน้าอกของไดแอนน์ไปพลาง[36] ไดแอนมิได้คิดว่าพระราชินีแคทเธอรีนเป็นคู่แข่งและนอกจากนั้นก็ยังยุให้พระเจ้าอ็องรีทรงสมสู่กับพระราชินีแคทเธอรีนเพื่อจะได้มีพระโอรสธิดาเพิ่มขึ้น ในปี ค.ศ. 1556 พระราชินีแคทเธอรีนเกือบสิ้นพระชนม์จากการให้กำเนิดพระราชธิดาแฝด ศัลย์แพทย์ต้องช่วยให้ทรงรอดโดยการหักพระเพลาของทารกองค์หนึ่งที่สิ้นพระชนม์ก่อนที่จะกำเนิด[37] พระทารกอีกองค์ที่รอดมาก็มีพระชนม์ชีพอยู่เพียงเจ็ดอาทิตย์ก็สิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นพระราชินีแคทเธอรีนก็ไม่มีพระโอรสธิดาอีก

ในรัชสมัยของพระเจ้าอ็องรี ตระกูลกีสก็เริ่มเรืองอำนาจขึ้นจากการที่ชาลส์ได้ขึ้นเป็นชาลส์คาร์ดินัลแห่งลอร์แรนและ ดยุกฟรองซัวส์แห่งกีส (François, Duke of Guise) พระสหายเมื่อยังทรงพระเยาว์ของพระเจ้าอ็องรีได้เป็นเคานท์และดยุกแห่งกีส[38] แมรีแห่งกีสน้องสาวของทั้งสองคนแต่งงานกับพระเจ้าเจมส์ที่ 5 แห่งสกอตแลนด์ ในปี ค.ศ. 1538 และเป็นพระชนนีของเจ้าหญิงแมรีผู้ต่อมาเป็นพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ เมื่อเจ้าหญิงแมรีมีพระชนม์ได้ 5 พรรษากว่าๆ พระองค์ก็ทรงถูกนำตัวมาเลี้ยงดูในราชสำนักฝรั่งเศส เพื่อให้เป็นคู่หมายของฟรองซัวส์เจ้าชายรัชทายาทผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอ็องรี[39] พระราชินีแคทเธอรีนทรงเลี้ยงดูเจ้าหญิงแมรีกับพระโอรสธิดาของพระองค์เองขณะที่แมรีแห่งกีสปกครองราชอาณาจักรสกอตแลนด์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทนพระธิดา[40]

เมื่อวันที่ 3–4 เมษายน ค.ศ. 1559 พระเจ้าอ็องรีทรงลงพระนามในสนธิสัญญาสงบศึกอิตาลี กับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และอังกฤษซึ่งเป็นการยุติสงครามอันยาวนาน สนธิสัญญาระบุข้อตกลงการหมั้นระหว่างพระธิดาเอลิซาเบธแห่งวาลัวส์พระชนมายุ 13 พรรษาของพระราชินีแคทเธอรีนกับพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน[41]การแต่งงานโดยฉันทะกระทำกันที่ปารีสเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1559 โดยมีการฉลองต่างๆ รวมทั้งงานเลี้ยง งานสวมหน้ากาก และ การประลองทวนบนหลังม้า (jousting) เป็นเวลา 5 วัน

พระเจ้าอ็องรีทรงร่วมเข้าแข่งขันในการต่อสู้บนหลังม้าโดยทรงสีขาวดำซึ่งเป็นสีของไดแอน ทรงได้รับชัยชนะต่อดยุกแห่งเนมอรส์ และดยุกฟรองซัวส์แห่งกีส แต่มาทรงเพลื่ยงพล้ำต่อเกเบรียลเคานท์แห่งมอนต์โกเมอรีจนเกือบทรงตกจากหลังม้า แต่ก็ทรงยืนยันว่าต่อสู้ต่อไปได้อีก แต่ครั้งที่สองก็ทรงถูกหอกไม้ยาว (lance) ของเกเบรียลเข้าเต็มพระเศียร[42]จนพระพักตร์โชกไปด้วยพระโลหิต เศษไม้จากหอกก็ยังคาอยู่ในพระเนตรและพระเศียร[43] พระราชินีแคทเธอรีน, ไดแอน และฟรองซัวส์เจ้าชายรัชทายาทต่างก็สิ้นสติกันไปตามๆ กัน พระร่างของพระเจ้าอ็องรีถูกนำไปที่วังตูร์เนลลส์ (Château de Tournelles) นายแพทย์ดึงเศษไม้ห้าชิ้นออกจากพระเศียรและอีกชิ้นหนึ่งจากพระเนตรที่ทะลุเข้าไปในสมอง พระราชินีแคทเธอรีนทรงเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดข้างพระแท่น แต่ไดแอนมิได้มาอยู่ใกล้ เพราะ “ความกลัวที่ว่าจะถูกไล่โดยพระราชินี” ตามคำกล่าวของผู้บันทึกพงศาวดาร [44] พระอาการระหว่างสิบวันหลังจากนั้นก็ขึ้นๆ ลงๆ บางครั้งก็ทรงรู้สึกพระองค์ดีพอที่จะบอกให้ร่างพระราชสาส์นหรือทรงฟังดนตรีได้ แต่ก็พระอาการก็เริ่มทรุดลงเริ่มด้วยการไม่ทรงมองเห็น ไม่สามารถตรัสได้ และทรงฟั่นเฟือน ในที่สุดพระเจ้าอ็องรีก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1557 ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาพระราชินีแคทเธอรีนก็ทรงใช้หอกหักเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์โดยมีคำจารึกว่า “หอกนี้เป็นที่มาของน้ำตาและความเจ็บปวด” (“lacrymae hinc, hinc dolor”) และทรงดำเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ให้แก่พระสวามี[45]

พระชนนี

[แก้]

พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2

[แก้]
พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศส โดย ฟรองซัวส์ โคลเอท์ (François Clouet) ค.ศ. 1560 พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 ทรงรู้สึกว่ามงกุฏที่สวมในพระราชพิธีราชาภิเษกหนักจนต้องทรงให้ขุนนางสี่คนช่วยประคองขณะที่ทรงเดินขึ้นไปประทับบนบัลลังก์[46]

พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศส เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อพระชนม์ได้ 15 พรรษา ในเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นการ “รัฐประหาร” โดยดยุกฟรองซัวส์แห่งกีสยึดอำนาจวันรุ่งขึ้นหลังจากที่พระเจ้าอ็องรีที่ 2 เสด็จสวรรคตและรีบย้ายเข้าไปในพระราชวังลูฟร์ พร้อมหลานสาวเจ้าหญิงแมรีและพระเจ้าฟรองซัวส์ที่เพิ่งเสกสมรสกันปีหนึ่งก่อนหน้านั้น[47] ราชทูตอังกฤษรายงานสองสามวันต่อมาว่า “ตระกูลกีสปกครองและทำไปเสียทุกอย่างอย่างเช่นพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส” (“the house of Guise ruleth and doth all about the French king”) [48] ในระหว่างนั้นพระราชินีแคทเธอรีนก็ทรงร่วมมือกับตระกูลกีสโดยไม่มีทางอื่น พระเจ้าฟรองซัวส์ไม่ทรงมีสิทธิอย่างเป็นทางการในการปกครองของรัฐบาลขององค์เพราะยังมีพระชันษาน้อยเกินกว่าที่จะปกครองประเทศด้วยพระองค์เองได้[49] แต่กระนั้นในพระราชบัญญัติที่ทรงออกอย่างเป็นทางการก็จะเริ่มต้นด้วย “ด้วยความพอพระทัยของสมเด็จพระราชินี, พระราชชนนีของข้าพเจ้า, และข้าพเจ้าก็ยอมรับความคิดเห็นของพระองค์ทุกประการที่ทรงมี, ข้าพเจ้าพอใจและสั่งว่า....”[50] พระราชินีแคทเธอรีนเองก็มิได้ทรงลังเลในการที่ใช้อำนาจนี้ สิ่งแรกที่ทรงทำก็คือทรงบังคับให้ไดแอน เดอ ปอยเตียร์คืนเครื่องเพชรพลอยและวังเชอนงโซกับหลวง[51] พอได้วังเชอนงโซคืนมาก็ทรงปรับปรุงต่อเติมให้เด่นกว่าที่ไดแอนได้ทำไว้[52]

เมื่อตระกูลกีสมีอำนาจขึ้นก็เริ่มกำจัดผู้ที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ (อูเกอโนท์ (Huguenots)) อย่างจริงจัง แต่พระราชินีแคทเธอรีนไม่ทรงมีนโยบายที่รุนแรงและทรงกล่าวต่อต้านการไล่ทำร้ายอูเกอโนท์ของตระกูลกีส แม้ว่าพระองค์เองจะไม่ทรงมีความเห็นใจหรือทรงมีความเข้าใจในสาเหตุของการต่อสู้ของกลุ่มผู้ที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์แต่อย่างใด กลุ่มอูเกอโนท์พยายามหาผู้นำ ตอนแรกก็ได้อองตวนแห่งบูร์บง ดยุกแห่งแวงโดมผู้เป็นเจ้าชายสืบสายพระโลหิตชั้นเอก (Premier Prince du Sang) ต่อมาก็ได้พระอนุชาหลุยส์ที่ 1 แห่งบูร์บง เจ้าชายแห่งคองเดผู้สนับสนุนการโค่นอำนาจของตระกูลกีสโดยการใช้กำลัง[53] เมื่อทางตระกูลกีสทราบแผนของเจ้าชายหลุยส์แห่งคองเดที่เรียกว่าการคบคิดที่อังบัวส์ (The Conspiracy of Amboise) [54] ก็รีบย้ายราชสำนักไปยังวังอังบัวส์ (Château d'Amboise) เพื่อใช้ที่เป็นที่มั่นในการต่อสู้ป้องกัน ดยุกฟรองซัวส์แห่งกีสก็โจมตีบริเวณป่ารอบอังบัวส์อย่างจู่โจมทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากรวมทั้งตัวนายทัพลาเรโนดี (La Renaudie) [55] ส่วนผู้อื่นก็จมน้ำตายๆ กันไปบ้าง ถูกขึงรอบกำแพงเมืองบ้าง ขณะที่ราชสำนักของพระราชินีแคทเธอรีนเฝ้าดู[56]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1560 มีแชล เด โลปีตาล (Michel de l'Hôpital) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งฝรั่งเศส เด โลปีตาลพยายามหาทางทำให้บ้านเมืองสงบสุขจากความวุ่นวายโดยการใช้รัฐธรรมนูญและทำงานอย่างใกล้ชิดกับพระราชินีแคทเธอรีน[57] ทั้งสองคนไม่เห็นด้วยกับการลงโทษผู้ที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์โดยเฉพาะผู้ที่ทำพิธีศาสนาเป็นการส่วนตัวและมิได้ถืออาวุธ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1560 พระราชินีแคทเธอรีนและอัครมหาเสนาบดีเสนอนโยบายต่อสมาชิกสภาคนสำคัญๆ ที่พระราชวังฟงแตนโบล นักประวัติศาสตร์ถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นการแสดงความสามารถอย่างรัฐบุรุษของพระราชินีแคทเธอรีนเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันเจ้าชายหลุยส์แห่งคองเดก็รวบรวมกำลังทหารในฤดูใบไม้ร่วงและเริ่มโจมตีเมืองต่างๆ ทางใต้ของฝรั่งเศส พระราชินีแคทเธอรีนทรงเรียกตัวเจ้าชายแห่งคองเดมายังราชสำนัก แต่พอมาถึงก็ทรงให้จับเจ้าชายหลุยส์เป็นนักโทษทันที ศาลตัดสินว่าทรงเป็นกบฏต่อราชบัลลังก์และตัดสินให้ประหารชีวิต แต่เจ้าชายหลุยส์แห่งคองเดรอดชีวิตมาได้เพราะพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 มาเสด็จสวรรคตเสียก่อนจากหูอักเสบ[58]

เมื่อพระราชินีแคทเธอรีนทรงทราบว่าพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 ใกล้จะเสด็จสวรรคตก็ทรงทำสัญญากับอองตวนแห่งบูร์บงดยุกแห่งแวงโดมให้อองตวนสละสิทธิในการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่--พระเจ้าชาลส์ที่ 9--เป็นการแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวของเจ้าชายหลุยส์แห่งคองเด[59] ดังนั้นเมื่อพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1560 องคมนตรีจึงได้แต่งตั้งพระราชินีแคทเธอรีนให้เป็น “ผู้ว่าราชการฝรั่งเศส” (gouvernante de France) ผู้มีอำนาจเด็ดขาด พระราชินีแคทเธอรีนมีพระราชสาส์นถึงเอลิซาเบธแห่งวาลัวส์พระธิดา ว่า “ความประสงค์ของฉันก็เพื่อที่จะให้เป็นเกียรติแก่พระเป็นเจ้าในทุกสิ่งทุกอย่างและเพื่อเป็นการรักษาอำนาจ, ไม่ใช่เพื่อตัวของฉันเอง, แต่เพื่อรักษาราชอาณาจักรและทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสิ่งดีสำหรับพี่ชายทุกคนของเจ้า” [60]

พระเจ้าชาลส์ที่ 9

[แก้]
พระเจ้าชาลส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส โดย ฟรองซัวส์ โคลเอท์ (François Clouet) ค.ศ. 1565 จิโอวานนี มิคิเอล ราชทูตเวนิสบรรยายว่า “เป็นเด็กที่น่าชื่นชม, ตาสวย, เคลื่อนไหวอย่างงดงาม, แต่ไม่ทรงแจ่มใส โปรดกีฬาที่รุนแรงเกินไปสำหรับพระสุขภาพ, เพราะทรงมีปัญหาเรื่องการหายพระทัย”[61]

เมื่อเริ่มแรกพระราชินีแคทเธอรีนทรงดูแลพระเจ้าชาลส์ที่ 9 ผู้มีพระชนม์เพียง 9 พรรษาอย่างใกล้ชิดและทรงนอนให้ห้องบรรทมเดียวกัน เมื่อมีการประชุมองคมนตรีก็ทรงนั่งร่วมประชุมด้วย และทรงเป็นผู้ตัดสินเกี่ยวกับนโยบายและการควบคุมกิจการของรัฐและการอุปถัมภ์ แต่มิได้ทรงมีอำนาจพอที่จะควบคุมประเทศทั้งประเทศได้ ซึ่งขณะนั้นใกล้จะเกิดสงครามกลางเมือง บางบริเวณของฝรั่งเศสขณะนั้นปกครองโดยขุนนางแทนที่จะโดยพระมหากษัตริย์ ปัญหาที่พระราชินีแคทเธอรีนทรงประสบเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและยากต่อที่พระองค์จะทรงเข้าพระทัยได้[62]

พระราชินีแคทเธอรีนจึงทรงเรียกผู้นำทางศาสนาจากทั้งฝ่ายโรมันคาทอลิก และโปรเตสแตนต์เพื่อให้มาพยายามหาทางตกลงกันเกี่ยวกับความแตกต่างทางปรัชญา แม้ว่าจะทรงตั้งความหวังไว้อย่างดีแต่การประชุมที่ปัวส์ซี (Colloquy of Poissy) ก็จบลงด้วยความล้มเหลวเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1561 และสลายตัวด้วยพระอนุญาตจากพระราชินีแคทเธอรีน[63] ที่มิได้ทรงประสพความสำเร็จเพราะพระราชินีแคทเธอรีนทรงเห็นว่าการแบ่งแยกของสองนิกายเป็นการแบ่งแยกทางการเมืองมิใช่ทางปรัชญาศาสนา อาร์ เจ เน็คท์ (R. J. Knecht) นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า “ทรงคาดไม่ถึงถึงความลึกซึ้งในความเชื่อมั่นทางศาสนา, ทรงได้แต่หวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเป็นไปด้วยดีถ้าทรงสามารถที่จะทำให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้”[64] ในเดีอนมกราคม ค.ศ. 1561 พระราชินีแคทเธอรีนทรงออกพระราชกฤษฎีกาแห่งแซงต์-แชร์แมง เพื่อพยายามสร้างความสมานสัมพันธ์กับกลุ่มโปรเตสแตนต์[65] แต่มาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1562 ก็เกิดเหตุการณ์วิกฤติที่เรียกว่า การสังหารหมู่ที่วาสซีย์ (Massacre at Vassy) โดยฟรองซัวส์ ดยุกแห่งกีสและพรรคพวกบุกเข้าไปโจมตีผู้ที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ในโรงนาที่วาสซีย์ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 74 คนและบาดเจ็บอีก 104 คน[66] ดยุกฟรองซัวส์เรียกการสังหารหมู่ว่าเป็น “เหตุการณ์ที่น่าสลดใจ” และได้รับการต้อนรับอย่างวีรบุรุษตามท้องถนนอย่างเอิกเกริกในปารีส ขณะที่อูโกโนท์เรียกร้องการให้มีการแก้แค้น[67] การสังหารหมู่ที่วาสซีย์เป็นต้นเหตุของสงครามศาสนาของฝรั่งเศสซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองที่ยาวนานต่อมาถึงสามสิบปี[68]

ภายในเดือนเดียวหลังจากเจ้าชายหลุยส์แห่งคองเดและนายพลกาสปาร์ด เดอ โคลิญญีก็รวบรวมกองทหารได้จำนวน 1,800 คนและตกลงเป็นพันธมิตรกับอังกฤษและเริ่มยึดเมืองต่างๆ ในฝรั่งเศส[69] พระราชินีแคทเธอรีนทรงพบปะกับโคลิญญีแต่โคลิญญีไม่ยอมถอย พระราชินีแคทเธอรีนทรงกล่าวว่าในเมื่อโคลิญญีใช้กำลังพระองค์ก็จะใช้กำลังเป็นการโต้ตอบ[70] กองทัพหลวงจึงเริ่มตอบโต้อย่างรวดเร็วโดยการล้อมเมืองรูอองที่อูเกอโนท์ยึด พระราชินีแคทเธอรีนเสด็จไปเยี่ยมอองตวนแห่งบูร์บง กษัตริย์แห่งนาวาร์เมื่อทรงถูกยิงบาดเจ็บสาหัส[71] พระองค์ทรงยืนยันที่จะเสด็จไปสนามรบด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงได้รับการถวายการแนะนำถึงอันตรายก็ทรงพระสรวลและกล่าวว่า “ความกล้าหาญของข้าพเจ้าก็มากพอกับท่านทั้งหลายนั่นแหละ”[72] ฝ่ายโรมันคาทอลิกยึดรูอองคืนได้แต่ก็เพียงระยะสั้น เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1563 สายลับชอง เดอ โพลโทรท์ (Jean de Poltrot) ยิงดยุกฟรองซัวส์แห่งกีส กลางหลังระหว่างการล้อมออร์ลีอองส์ การลอบสังหารพระราชวงศ์ครั้งนี้เป็นผลทำให้ปัญหาสงครามเมืองยิ่งซับซ้อนหนักขึ้นไปอีกเป็นเวลาอีกหลายปีต่อมา[73] พระราชินีแคทเธอรีนทรงดีพระทัยที่ได้รับข่าวการเสียชีวิตของดยุกแห่งกีสโดยทรงกล่าวกับทูตจากเวนิสว่า “ถ้ามองเซอร์เสียชีวิตเสียก่อนหน้านี้ สันติภาพก็คงเกิดขึ้นเร็วกว่านี้แน่”[74]เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1563 สงครามก็ยุติด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาอ็องบวซ (Edict of Amboise) หรือที่รู้จักกันว่า “พระราชกฤษฎีกาแห่งความสงบ” (Edict of Pacification) หลังจากนั้นพระราชินีแคทเธอรีนก็ทรงต้องพึ่งกองทหารทั้งโรมันคาทอลิกและอูเกอโนท์ให้ยึดลาฟที่อูเกอโนท์ไปยกให้อังกฤษเมื่อเริ่มสงครามคืนจากอังกฤษ

อูเกอโนท์

[แก้]
พระราชินีฌานน์แห่งนาวาร์, โดยฟรองซัวส์ โคลเอท์, ค.ศ. 1570 ฌานน์มีพระราชสาส์นถึงพระโอรสอ็องรีในปี ค.ศ. 1572 ว่า: “สิ่งเดียวที่ (พระราชินีแคทเธอรีน) ทรงทำก็คือตรัสเย้ยหยันฉัน, และหันไปบอกคนอื่นตรงกันข้ามกับที่ฉันพูด ... ทรงปฏิเสธทุกอย่าง, ทรงพระสรวลต่อหน้าฉัน ... ทรงมีกิริยาที่น่าละอายที่ฉันใช้ความพยายามกดความรู้สึกที่ยิ่งเหนือไปกว่ากริเซลดา (Griselda) ”[75]
มาร์เกอรีตแห่งวาลัวร์โดยฟรองซัวส์ โคลเอท์

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1563 พระเจ้าชาร์ลที่ 9 ก็ทรงได้รับการประกาศโดยรัฐสภาแห่งรูอองว่าทรงบรรลุนิติภาวะ แต่แท้จริงแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงสามารถปกครองด้วยพระองค์เองได้และไม่แสดงความสนพระทัยในกิจการบ้านเมืองแต่อย่างใด.[76] จากนั้นพระราชินีแคทเธอรีนทรงตัดสินพระทัยรณรงค์ในการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาอ็องบวซและเพิ่มความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยทรงจัดการการประพาสทั่วประเทศของพระเจ้าชาร์ลตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1564 จนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1565[77] นอกจากนั้นก็ทรงจัดการพบปะระหว่างพระองค์กับพระราชินีโปรเตสแตนต์ฌานน์แห่งนาวาร์ (Jeanne III of Navarre) ที่ Mâcon และเนรัค และทรงพบปะกับพระธิดาของพระองค์พระราชินีเอลิซาเบธแห่งสเปนที่ Bayonne ไม่ไกลจากพรมแดนสเปน พระสวามีพระเจ้าฟิลลิปมิได้ทรงเข้าพบปะด้วยแต่ทรงส่งดยุกแห่งอัลบา (Fernando Álvarez de Toledo, 3rd Duke of Alba) ไปบอกพระราชินีแคทเธอรีนว่าให้เลิกทำตามพระราชกฤษฎีกาแห่งอังบัวส์ และควรจะหันมาใช้วิธีลงโทษผู้นอกรีตแทนที่[78]

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1567 ก็เกิดเหตุการณ์จู่โจมที่รู้จักกันว่าการจู่โจมแห่งโมซ์ (Surprise of Meaux) โดยที่กลุ่มอูเกอโนท์พยายามโจมตีพระเจ้าชาร์ลโดยตรงซึ่งเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามกลางเมือง[79] ราชสำนักไม่ทันรู้ตัวต้องหนีกลับไปปารีสกันอย่างระส่ำระสาย[80] สงครามจบลงด้วยการลงนามในสัญญาสันติภาพลองจูโม (Peace of Longjumeau) เมื่อวันที่ 2223 มีนาคม ค.ศ. 1568 แต่ความไม่สงบและการนองเลือดก็ยังคงมีอยู่ต่อไป[81] การจู่โจมแห่งโมซ์เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้พระราชินีแคทเธอรีนทรงเปลี่ยนพระทัยในนโยบายที่มีต่อกลุ่มอูเกอโนท์ ตั้งแต่นั้นมาพระองค์ก็ทรงเลิกใช้วิธีประนีประนอมและหันมาใช้การกำหราบแทนที่[82] มีพระราชดำรัสกับนักการทูตจากเวนิสในเดือนกันยายนในปี ค.ศ. 1568 ว่าสิ่งเดียวที่หวังได้จากกลุ่มอูเกอโนท์คือความหลอกลวงและทรงสรรเสริญการปกครองอย่างเหี้ยมโหดของดยุกแห่งอัลบาในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผลให้กลุ่มผู้ปฏิวัติคาลวินิส์ม (Calvinism) ถูกสังหารกันเป็นพันพันคน[83]

กลุ่มอูเกอโนท์ถอยไปตั้งหลักอยู่ที่ลาโรเชลล์ (La Rochelle) ชายฝั่งทางตะวันตกซึ่งพระราชินีฌานน์และพระโอรสอ็องรีแห่งนาวาร์มาสมทบทีหลัง[84] พระราชินีฌานน์ทรงสาส์นถึงพระราชินีแคทเธอรีนว่า “เรามาตั้งใจที่จะเสียชีวิต, เราทุกคน,...แทนที่จะละทิ้งพระผู้เป็นเจ้าของเรา, และศาสนาของเรา”[85] การเป็นปฏิปักษ์ของพระราชินีฌานน์เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของราชวงศ์วาลัวส์ พระราชินีแคทเธอรีนทรงเรียกพระราชินีฌานน์ว่าเป็น “ผู้หญิงที่น่าละอายที่สุดในโลก”[86] แต่กระนั้นก็ทรงยอมลงพระนามในสนธิสัญญาแซงต์แชร์แมงอองเลย์ (Peace of Saint-Germain-en-Laye) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1570 เพราะกองทัพของพระองค์ขาดทุนทรัพย์ในการบำรุงรักษาในการต่อต้านกลุ่มอูเกอโนท์ซึ่งมีกำลังแข็งแกร่งขึ้นทุกขณะ[87]

พระราชินีแคทเธอรีนทรงพยายามสร้างเสริมความมั่นคงของราชวงศ์วาลัวร์โดยการจัดการเสกสมรสอันยิ่งใหญ่ในปี ค.ศ. 1570 ระหว่างพระเจ้าชาร์ลกับ อาร์ชดัชเชสเอลิซาเบธแห่งออสเตรีย (Elisabeth of Austria) ผู้เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซิมิเลียนที่ 2 นอกจากนั้นก็ยังมีพระประสงค์ที่จะจัดการเสกสมรสกับพระโอรสองค์องค์รองใดองค์หนึ่งกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ [88]

หลังจากพระราชธิดาเอลิซาเบธสิ้นพระชนม์ในการให้กำเนิดในปี ค.ศ. 1568 ในขณะนั้นพระราชินีแคทเธอรีนพยายามจัดให้พระธิดาองค์สุดท้องมาร์เกอรีตแห่งวาลัวร์ แต่งงานกับพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปน แต่ทรงเปลี่ยนพระทัยและหันมาจัดการให้มาร์เกอรีตแต่งงานกับอ็องรีแห่งนาวาร์เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มความมั่นคงระหว่างราชวงศ์วาลัวส์และราชวงศ์บูร์บง แต่ขณะนั้นมาร์เกอรีตมีความสัมพันธ์ลับๆ กับดยุกอ็องรีแห่งกีส ลูกชายขอดยุกฟรองซัวส์แห่งกีสผู้ถูกสังหารในการล้อมที่ออร์ลีอองส์ เมื่อพระราชินีแคทเธอรีนทรงทราบก็ทรงสั่งให้ลากตัวมาร์เกอรีตเข้ามาในห้องบรรทมแล้วทรงฉีกฉลองพระองค์และทรงทุบตีทึ้งพระเกศาพระธิดา[89]

พระราชินีแคทเธอรีนทรงบังคับให้พระราชินีฌานน์เข้าเฝ้าในราชสำนัก ทรงเขียนว่ามีพระประสงค์ที่จะพบปะกับพระโอรสธิดาของพระราชินีฌานน์และทรงให้คำสัญญาว่าจะไม่ทรงทำทำร้าย พระราชินีฌานน์ทรงตอบสวนมาว่า “หม่อมฉันต้องขออภัยที่เมื่ออ่านพระสาส์นและต้องหัวเราะ เพราะทรงให้คำมั่นที่ช่วยผ่อนคลายความระแวงที่หม่อมฉันไม่เคยมี หม่อมฉันไม่เคยคิดว่า, ตามข่าวที่ลือกัน, ว่าเสวยเด็กเล็กๆ เป็นอาหาร”[90] เมื่อพระราชินีฌานน์เข้ามาเฝ้าในราชสำนัก แคทเธอรีนก็เพิ่มความกดดันอย่างหนักในการจัดการเสกสมรสของพระโอรสหนักขึ้น[91] ในที่สุดพระราชินีฌานน์ก็ทรงยอมตกลงในการเสกสมรสระหว่างพระโอรสกับมาร์เกอรีตแต่มีข้อแม้ว่าอ็องรียังรักษาความเป็นอูเกอโนท์ เมื่อพระราชินีฌานน์มาถึงปารีสเพื่อมาหาซึ้อเครื่องทรงสำหรับการเสกสมรส ก็ทรงล้มประชวรและสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ 54 พรรษา กลุ่มอูเกอโนท์กล่าวหาว่าพระราชินีแคทเธอรีนเป็นผู้ฆ่าโดยใช้ถุงมือที่มียาพิษ[92] การเสกสมรสเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1572 ที่มหาวิหารโนตเรอดามแห่งปารีส

การสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว

[แก้]

ดูบทความหลักที่ การสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว

นายพลกาสปาร์ด เดอ โคลิญญี
การสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว

สามวันต่อมานายพลกาสปาร์ด เดอ โคลิญญีก็ถูกลอบยิงขณะกำลังเดินกลับห้องในพระราชวังลูฟร์ ถูกแขนและมือ[93] แต่ผู้ลอบยิงหนีไปได้ไปทางด้านหลังอาคารที่มีม้ารออยู่[94] นายพลโคลิญญีถูกนำตัวไปที่พักที่โอเตลเดอเบทิซีย์ที่ศัลย์แพทย์ อังบรัวส์ ปาเร (Ambroise Paré) ผ่าตัดเอากระสุนออกจากข้อศอกและตัดนิ้วด้วยกรรไกร พระราชินีแคทเธอรีนหลังจากทรงรับข่าวโดยปราศจากพระอารมณ์ ก็เสด็จไปเยี่ยมนายพลโคลิญญีและสัญญาว่าจะนำตัวผู้ผิดมาลงโทษ นักประวัติศาสตร์หลายคนกล่าวหาพระราชินีแคทเธอรีนว่าทรงมีส่วนร่วมในกรณีที่นายพลโคลิญญีถูกลอบยิง แต่บางท่านก็กล่าวว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังอาจจะเป็นตระกูลกีสหรือเป็นการการคบคิดโดยกลุ่มโรมันคาทอลิกสเปนเพื่อจะยุติความมีอิทธิพลของนายพลโคลิญญีต่อพระเจ้าชาลส์[95] แต่จะจริงแท้เท่าใดการนองเลือดที่ตามมาก็เกินการควบคุมของพระราชินีแคทเธอรีนหรือผู้นำคนอื่นๆ [96]

การสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิวที่เริ่มขึ้นสองวันต่อมาทำให้พระราชินีแคทเธอรีนทรงเสียชื่อเสียงตั้งแต่บัดนั้น[42] แต่ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ไม่สนับสนุนว่าทรงมีส่วนในการตัดสินใจเมื่อในวันที่ 23 สิงหาคมเมื่อพระเจ้าชาลส์ทรงพระสุรเสียงดังลั่นว่า “ฆ่ามันให้หมด!, ฆ่ามันให้หมด!”  !"[97] [98] พระราชินีแคทเธอรีนและที่ปรึกษาคาดการณ์ล่วงหน้าว่ากลุ่มอูเกอโนท์จะลุกขึ้นต่อต้านเพื่อเป็นการแก้แค้นในการที่นายพลโคลิญญีถูกลอบยิง จึงแทนที่จะรอให้ถูกก็มีคำสั่งให้สังหารผู้นำของอูเกอโนท์หลายคนที่ขณะนั้นยังพำนักอยู่ในปารีสหลังจากการแต่งงาน[99]

การสังหารหมู่ในปารีสกระทำต่อเนื่องกันราวหนึ่งอาทิตย์และแผ่ขยายไปทั่วฝรั่งเศสจนถึงฤดูใบไม้ร่วง นักประวัติศาสตร์จูลส์ มิเชเลท์ (Jules Michelet) กล่าวว่า “วันนักบุญบาร์โทโลมิวไม่ใช่วันเดียว, แต่เป็นฤดู”[100] ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กันยายนเมื่ออ็องรีแห่งนาวาร์คุกเข่าต่อหน้าแท่นบูชาในฐานะผู้เป็นโรมันคาทอลิกหลังจากที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนนิกายเพื่อเลี่ยงการถูกฆ่า พระราชินีแคทเธอรีนก็ทรงหันไปทรงพระสรวลกับราชทูต[101] หลังจากเหต์การณ์นี้แล้วพระราชินีแคทเธอรีนก็ได้รับตำนานว่าเป็นพระราชินีอิตาลีผู้ชั่วร้าย นักเขียนอูเกอโนท์ก็กล่าวหาว่าพระราชินีแคทเธอรีนทรงเป็นผู้วางแผนก่อการอิตาลีผู้ปฏิบัติตามทฤษฎีของนิคโคโล มาเคียเวลลีโดยการสังหารศัตรูทั้งหมดอย่างรวดเร็ว[102]

รัชสมัยของพระเจ้าอ็องรีที่ 3

[แก้]
ดยุกอ็องรีแห่งอองชู โดยฌอง เดคอร์ท (Jean Decourt) ราว ค.ศ. 1573 พระเจ้าองค์ทรงสนพระทัยในความเคร่งครัดทางศาสนามากกว่าการปกครอง

สองปีต่อมาพระราชินีแคทเธอรีนก็ทรงประสบปัญหาใหม่เมื่อพระเจ้าชาร์ล 9 เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้เพียง 23 พรรษา พระราชดำรัสขสุดท้ายของพระองค์คือ “โอ้, สมเด็จแม่”[103] วันก่อนที่จะเสด็จสวรรคตพระเจ้าชาร์ลทรงแต่งตั้งพระราชินีแคทเธอรีนให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะพระอนุชาดยุกแห่งอองชูผู้เป็นรัชทายาทยังประทับอยู่ในโปแลนด์ ซึ่งเป็นราชอาณาจักรที่พระองค์ทรงได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์ในปีก่อนหน้านั้น พระราชินีแคทเธอรีนทรงพระราชสาส์นถึงอ็องรีว่า: “ฉันมีความโทมนัสที่ต้องเป็นพยานในเหตุการณ์และความรักที่ทรงแสดงต่อฉันในนาทีสุดท้าย ...สิ่งที่ช่วยปลอบประโลมฉันในขณะนี้ก็คือการที่จะได้เห็นเจ้าเพียงอีกไม่นานนัก, เพราะราชอาณาจักร (ฝรั่งเศส) ต้องการตัวเจ้า, และได้เห็นว่าเจ้ามีสุขภาพพลานามัยดี, เพราะถ้าฉันเสียเจ้าไปอีกคน, ฉันก็คงจะฝังตัวเองทั้งเป็นกับเจ้า”[104]

อ็องรีเป็นพระโอรสองค์โปรดที่สุดของพระราชินีแคทเธอรีน พระองค์ต่างจากพระเชษฐาตรงที่ทรงเป็นผู้ใหญ่แล้วเมื่อได้ราชบัลลังก์และมีพระสุขภาพพลานามัยที่ดีกว่าเพียงแต่ปอดอ่อนแอกว่าและทรงเหนื่อยง่าย[105] แต่ไม่ทรงมีความสามารถทางด้านการปกครองและทรงต้องพึ่งพระราชมารดากับคณะที่ปรึกษาจนสองสามอาทิตย์ก่อนที่พระราชินีแคทเธอรีนจะเสด็จสวรรคต อ็องรีมักจะซ่อนพระองค์จากการปกครองบ้านเมืองด้วยการทรงมุ่งมั่นในความเคร่งครัดทางศาสนาโดยทรงเดินทางไปแสวงบุญบ้างหรือ เฆี่ยนพระองค์เอง (Flagellation) บ้าง[106]

อ็องรีทรงเสกสมรสกับหลุยส์แห่งลอร์แรน-โวเดมองท์ (Louise de Lorraine-Vaudémont) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1575สองวันหลังจากวันราชาภิเศก การทรงเสกสมรสของพระองค์ทำให้แผนการจัดการเสกสมรสกับเจ้าหญิงต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพระราชมารดาต้องผิดไป ขณะเดียวกันข่าวลือที่ว่าไม่ทรงสามารถมีพระราชโอรสธิดาได้ก็เริ่มหนาหูขึ้นทุกวัน

ซาวิอาติราชทูตของสมเด็จพระสันตปาปาตั้งข้อสังเกตว่า “จากการสังเกตเห็นจะยากที่จะมีพระราชโอรสธิดา ... แพทย์และผู้มีความคุ้นเคยกับพระองค์กล่าวว่าทรงมีสุขภาพพลานามัยที่ไม่ไคร่ดีนักและคงจะไม่มีชีวิตอยู่นานนัก”[107] เมื่อเวลาผ่านไปโอกาสที่จะมีพระราชโอรสธิดาก็ยิ่งน้อยลง ฟร็องซัว ดยุกแห่งอ็องฌู (François, Duke of Anjou) พระราชโอรสองค์สุดท้องของพระราชินีแคทเธอรีนหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เมอซิเยอร์” ก็เริ่มแสดงพระองค์เป็นรัชทายาทโดยทรงใช้ความเป็นอนาธิปไตยของบ้านเมืองและสงครามกลางเมืองเป็นเครื่องมือ ซึ่งในขณะนั้นจุดประสงค์ไม่เพียงแต่จะเป็นการต่อสู้ในเรื่องความขัดแย้งทางศาสนาแต่เป็นการต่อสู้เพื่อแย่งอำนาจกันในบรรดาชนชั้นปกครองด้วย[108] พระราชินีแคทเธอรีนทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ฟรองซัวส์เตลิด ในโอกาสหนึ่งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1578 ทรงเรียกฟรองซัวส์มาสั่งสอนถึงหกชั่วโมงรวดถึงอันตรายในความประพฤติของพระองค์[109]

ฟรองซัวส์ ดยุกแห่งอองชู พระราชโอรสองค์สุดท้องของพระราชินีแคทเธอรีน โดย นิโคลัส ฮิลเลียร์ด (Nicholas Hilliard) ราว ค.ศ. 1577. พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ทรงเรียกว่าพระองค์ว่า “กบน้อยของฉัน” และทรงพบว่ามิได้ทรงพิการเท่าข่าวลือที่ได้ทรงทราบก่อนหน้าที่จะได้พบพระองค์[110]

ในปี ค.ศ. 1576 ฟรองซัวส์ทรงสร้างความไม่มั่นคงต่อราชบัลลังก์ของอ็องรีโดยทรงไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเจ้าชายโปรเตสแตนต์ผู้เป็นปรปักษ์ต่อแผ่นดิน[111] เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1576 พระราชินีแคทเธอรีนทรงยอมรับข้อเรียกร้องเกือบทั้งหมดของกลุ่มอูเกอโนท์ในพระราชกฤษฎีกาบิวลี (Edict of Beaulieu) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ (พระราชกฤษฎีกา) ความสันติสุขของเมอซิเยอร์” เพราะเชื่อกันว่าฟรองซัวส์เป็นผู้ทรงหนุนให้ทางฝ่ายปกครองยอมรับ[112] ฟรองซัวส์สิ้นพระชนม์ด้วยวัณโรคเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1584 หลังจากที่ทรงเข้าร่วมในสงครามในบริเวณเนเธอร์แลนด์ที่กองทัพของพระองค์พ่ายแพ้อย่างย่อยยับและถูกสังหารหมู่[113] วันรุ่งขึ้นพระราชินีแคทเธอรีนทรงพระอักษร: “ฉันรู้สึกเหมือนจะตายที่ต้องมีชีวิตยืนยาวอยู่จนต้องเห็นใครต่อใครตายไปต่อหน้าฉัน, แม้ว่าจะทราบว่าเป็นความประสงค์ของพระเจ้าที่ต้องเชื่อฟัง, ว่าท่านทรงเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง และทรงให้ลูกมาตราบเท่าที่มีพระประสงค์จะให้มา”[114] ความตายของพระราชโอรสองค์สุดท้องทำให้แผนการพระองค์ในการสร้างเสริมอำนาจของราชวงศ์วาลัวส์ต้องมาสิ้นสุดลง ตามกฎบัตรซาลลิคที่บ่งว่าบุตรชายเท่านั้นที่มีสิทธิในการครองราชบัลลังก์ ฉะนั้นอ็องรีแห่งนาวาร์พระสวามีของมาร์เกอรีตพระราชธิดาผู้เป็นอูเกอโนท์จึงกลายเป็นรัชทายาทโดยพฤตินัย (Heir Presumptive) ของราชบัลลังก์ฝรั่งเศส[42]

อย่างน้อยพระราชินีแคทเธอรีนก็ยังมีความรอบคอบในการจัดการเสกสมรสให้กับมาร์เกอรีตพระราชธิดาองค์สุดท้องกับอ็องรีแห่งนาวาร์ แต่มาร์เกอรีตก็ทรงก่อปัญหาต่างๆ ให้แก่พระราชินีแคทเธอรีนพอๆ กับฟรองซัวส์ ในปี ค.ศ. 1582 มาร์เกอรีตเสด็จกลับราชสำนักฝรั่งเศสโดยไม่มีพระสวามีเสด็จตามมาด้วย พระราชินีแคทเธอรีนทรงพระสุรเสียงเมื่อพระราชธิดาทรงไปมีคนรัก[115] และทรงส่ง ปอมปองน์ เด เบลเลวฟร์ (Pomponne de Bellièvre) ไปนาวาร์เพื่อจัดการการส่งตัวมาร์เกอรีตกลับนาวาร์ ในปี ค.ศ. 1585 มาร์เกอรีตก็หนีจากนาวาร์อีกครั้ง[116] ครั้งนี้ทรงไปพำนักอยู่ที่ตำหนักส่วนพระองค์ที่อาจอง (Agen) แต่ก็ยังทรงอ้อนวอนขอเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายจากพระมารดา พระราชินีแคทเธอรีนทรงส่งให้แต่เพียงพอใช้ “พอให้พอมีข้าวกิน”[117] จากนั้นมาร์เกอรีตก็ย้ายไปป้อมคาร์ลาท์และไปมีคนรักชื่อดอบิแย็ค (d'Aubiac) พระราชินีแคทเธอรีนทรงของให้อ็องรีช่วยก่อนที่มาร์เกอรีตจะทำความเสียหายให้แก่ราชตระกูลมากขึ้น ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1586 อ็องรีจึงสั่งให้จำขังมาร์เกอรีตในวังดูซอง (Château d'Usson) ส่วนดอบิแย็คถูกประหารชีวิตแต่มิใช่ต่อหน้ามาร์เกอรีตอย่างที่พระราชินีแคทเธอรีนมีพระประสงค์[118] หลังจากนั้นพระราชินีแคทเธอรีนทรงตัดมาร์เกอรีตจากพินัยกรรมและไม่ได้มีโอกาสได้พบกันอีกจนสิ้นพระชนม์

พระราชินีแคทเธอรีนไม่ทรงสามารถควบคุมอ็องรีเช่นเดียวกับที่เคยทรงควบคุมพระเจ้าฟรองซัวส์และพระเจ้าชาร์ลก่อนหน้านั้นได้[119] บทบาทของพระองค์จึงเป็นแต่เพียงผู้นำในการบริหารและการทูต เสด็จประพาสบริเวณต่างๆ ในราชอาณาจักรอย่างกว้างขวางเพื่อทรงใช้อำนาจในความพยายามในการหลีกเลี่ยงสงคราม ในปี ค.ศ. 1578 ทรงพยายามสร้างความสงบทางด้านใต้ เมื่อมีพระชนมายุได้ 59 พรรษาทรงใช้เวลาเดินทางสิบแปดเดือนทั่วทางใต้ของฝรั่งเศสเพื่อพบปะกับผู้นำกลุ่มอูเกอโนท์ตัวต่อตัว พระราชวิริยะอุตสาหะทำให้ประชาชนเริ่มเปลี่ยนใจหันมาจงรักภักดีต่อพระองค์มากขึ้น[120] เมื่อเสด็จกลับปารีสในปี ค.ศ. 1579 พระองค์ก็ทรงได้รับการต้อนรับจากประชาชนและรัฐสภา เจโรลาโม ลิโปมานโนราชทูตจากเวนิสบรรยายว่า: “ทรงเป็นผู้ที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย, ทรงเกิดมาเพื่อปกครองประชาชนที่เอาไม่อยู่อย่างชาวฝรั่งเศส: แต่เดี๋ยวนี้พวกเขาก็เริ่มรู้คุณค่าของพระองค์ในคุณธรรม, ในพระสงค์ในความต้องการที่จะสมานฉันท์ และเศร้าใจที่มิได้รู้คุณค่าของพระองค์ก่อนหน้านั้น”[121] แต่อย่างไรก็ตามพระราชินีแคทเธอรีนก็มิได้ทรงพระเนตรบอดเพราะเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1579 พระองค์ก็ทรงเขียนเตือนอ็องรีถึงการก่อความไม่สงบที่จะเกิดขึ้นและกล่าวว่าถ้าผู้ใดทูลอย่างอื่นผู้นั้นก็โกหก[122]

สันนิบาตโรมันคาทอลิก

[แก้]
ดยุกอ็องรีแห่งกีสโดยปิแอร์ ดูมูติเยร์

ผู้นำโรมันคาทอลิกหลายคนต่างก็มีความหวาดรระแวงในการที่พระราชินีแคทเธอรีนทรงพยายามแสวงหาความสงบกับกลุ่มอูเกอโนท์ หลังจากการออกพระราชกฤษฎีกาบิวลีผู้นำโรมันคาทอลิกก็เริ่มก่อตั้งสันนิบาตท้องถิ่นเพื่อหาทางปกป้องกลุ่มศาสนาของตนเอง[123] หลังจากการสิ้นพระชนม์ของฟรองซัวส์ในปี ค.ศ. 1584 ดยุกอ็องรีแห่งกีสก็ตั้งตนเป็นผู้นำสันนิบาตโรมันคาทอลิก (Catholic League) และพยายามหยุดยั้งสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ของอ็องรีแห่งนาวาร์ผู้เป็นโปรเตสแต้นท์ และหันไปสนับสนุนพระปิตุลาโรมันคาทอลิกของอ็องรีคาร์ดินัลชาลส์แห่งบูร์บงแทนที่ โดยการชักชวนชนชั้นเจ้านายและขุนนางโรมันคาทอลิกให้ลงนามในสนธิสัญญาฌวนวิลล์ (treaty of Joinville) กับสเปนและเตรียมตัวเข้าทำสงครามเพื่อกำจัด “พวกนอกรีต”[124] ภายในปี ค.ศ. 1585, พระเจ้าอ็องรีที่ 3 ก็ไม่ทรงมีทางเลือกนอกจากเข้าทำสงครามต่อต้านสันนิบาต[125] เช่นที่พระราชินีแคทเธอรีนตรัสว่า “สันติภาพมากับไม้” (bâton porte paix) [126] “ดูแลให้ดี” ทรงเขียน “โดยเฉพาะตัวเอง รอบข้างมีอันตรายจนฉันอดกลัวไม่ได้” [127]

พระเจ้าอ็องรีไม่ทรงสามารถต่อสู้กับฝ่ายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ในขณะเดียวกันได้เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็มีกองทัพที่แข็งแกร่งกว่ากองทัพของพระองค์ ในที่สุดก็ทรงจำต้องทรงลงนามในสนธิสัญญาเนมอรส์ (Treaty of Nemours) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1585 ที่บังคับให้พระองค์ทรงยอมรับข้อเรียกร้องของสันนิบาตทั้งหมดรวมทั้งจ่ายค่าใช้จ่ายของกองทหารของสันนิบาตเอง[128] หลังจากนั้นพระเจ้าอ็องรีก็เสด็จหนีไปซ่อน, ทรงอดพระกระยาหารและสวดมนต์ และทรงล้อมรอบพระองค์ด้วยกลุ่มทหารรักษาพระองค์ที่เรียกว่า “สี่สิบห้าองค์รักษ์” (The forty-five guards) และยังทรงทิ้งให้พระราชินีแคทเธอรีนแก้ปัญหาต่างๆ ที่ตามมา[129] สถาบันการปกครองของพระมหากษัตริย์ในขณะนั้นจึงหมดอำนาจในการปกครองประเทศและไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยอังกฤษในการเผชิญกับการรุกรานของสเปนที่จะมาถึง ราชทูตสเปนกราบทูลพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 ว่าสถานการณ์ในฝรั่งเศสเปรียบเหมือนหนองที่กำลังจะ “ปริ”[130]

ภายในปี ค.ศ. 1587 การต่อต้านของโรมันคาทอลิกต่อโปรเตสแตนต์ก็ขยายตัวไปทั่วยุโรป เมื่อพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ทรงสั่งปลงพระชนม์พระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1587 ก็ยิ่งเป็นชนวนที่ทำให้ความไม่พอใจแก่ฝ่ายโรมันคาทอลิกหนักขึ้น[131] พระเจ้าฟิลลิปที่ 2 ทรงเตรียมการรุกรานอังกฤษ ส่วนฝ่ายสันนิบาตโรมันคาทอลิกก็มีอำนาจในบริเวณทางเหนือของฝรั่งเศสและยึดเมืองท่าทางเหนือของฝรั่งเศสเพื่อเตรียมใช้เป็นท่าสำหรับกองเรืออาร์มาดาของสเปน

เดือนก่อนสิ้นพระชนม์

[แก้]
พระราชินีนาถแคทเธอรีน เดอ เมดิชิ โดย ฟรองซัวส์ โคลเอท์ ในฐานะที่ทรงเป็นหม้ายพระราชินีแคทเธอรีนทรงหมวกแม่หม้ายที่เป็นลักษณะเดียวกับว่าหมวกฝรั่งเศส (French hood) ด้านหลังคอลูกไม้เป็นคอตั้งสูงและทรงฉลองพระองค์ดำที่เป็นแขนปีกกว้าง[132]

พระเจ้าอ็องรีทรงจ้างกองทหารสวิสเพื่อช่วยรักษาพระองค์ในปารีส แต่ชาวปารีสเรียกร้องที่จะป้องกันตนเอง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1588 ชาวปารีสก็ตั้งเครื่องกีดขวางตามถนนหนทางในปารีสและไม่ยอมรับคำสั่งจากใครนอกจากดยุกแห่งกีส[133] เมื่อพระราชินีแคทเธอรีนพยายามจะเสด็จไปทำพิธีมิซซาก็ทรงพบว่าทางที่เสด็จถูกปิด แม้ว่าจะทรงดำเนินต่อไปได้ นักบันทึกพงศาวดาร L'Estoile กล่าวว่าทรงกันแสงตลอดเวลาที่ทรงพระกระยาหารกลางวันวันนั้น และทรงเขียนถึง Bellièvre ว่า “ฉันไม่เคยเห็นประสบปัญหาอะไรที่แทบจะไม่มีทางหลีกเลี่ยงเช่นนี้”[134] และทรงแนะนำให้อ็องรีที่เพิ่งหลบหนีไปได้ทันเวลา ให้พยายามประนีประนอมเพื่อจะได้รอดมาต่อสู้ต่อไปในวันข้างหน้า[135] ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1588 อ็องรีก็ทรงจำยอมลงนามในพระราชบัญญัติสมานฉันท์ (Act of Union) ที่ต้องทรงยอมรับข้อเรียกร้องทุกอย่างที่ล่าสุดของสันนิบาต

ในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1588 อ็องรีทรงเรียกประชุมที่บลัวส์และทรงไล่เสนาบดีของพระองค์ออกหมดโดยมิได้มีการเตือนล่วงหน้า พระราชินีแคทเธอรีนซึ่งขณะนั้นประชวรด้วยการติดเชื้อเกี่ยวกับปอดมิได้ทรงทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด[136] พระราชกรณียกิจครั้งนี้ก็เท่ากับเป็นการยุติอำนาจของพระพระราชินีแคทเธอรีน

ในการประชุมพระเจ้าอ็องรีทรงขอบพระทัยพระราชินีแคทเธอรีนสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ทรงได้ปฏิบัติมา ทรงสรรเสริญพระราชินีแคทเธอรีนว่าไม่แต่จะเป็นพระมารดาของพระองค์แต่ยังเป็นพระมารดาของบ้านเมืองด้วย[137] พระเจ้าอ็องรีมิได้ทูลพระราชินีแคทเธอรีนถึงแผนการที่จะทรงแก้ปัญหาต่างๆ ของพระองค์ ในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1588 ทรงขอให้ดยุกแห่งกีสเข้าเฝ้าที่พระราชวังบลัวส์ เมื่อดยุกแห่งกีสเข้ามาในห้องกลุ่มสี่สิบห้าองค์รักษ์ก็รุมกันแทงดยุกด้วยมีดจนไปสิ้นชีวิตที่แท่นบรรทมของพระเจ้าอ็องรี ในขณะเดียวกันตระกูลกีสแปดคนก็ถูกล้อมจับ รวมทั้งหลุยส์ที่ 2 คาร์ดินาลแห่งกีส (Louis II, Cardinal of Guise) ผู้ที่ทหารของอ็องรีสับจนสิ้นชีวิตในที่จำขังในวันต่อมา[138] หลังจากการสังหารตระกูลกีสแล้วอ็องรีก็เข้าเฝ้าพระราชินีแคทเธอรีนในห้องบรรทมและทรงประกาศว่า “กรุณายกโทษให้หม่อมฉันด้วย เมอซิเยอร์แห่งกีสเสียชีวิตแล้ว เราจะไม่กล่าวถึงนามนั้นอีก หม่อมฉันเป็นผู้จัดการการสังหาร หม่อมฉันทำในสิ่งเดียวกับที่เมอซิเยอร์จะทำกับหม่อมฉัน”[139] ปฏิกิริยาของพระราชินีแคทเธอรีนต่อคำทูลของพระโอรสไม่เป็นที่ทราบ แต่ในวันคริสต์มาสมีพระราชดำรัสกับหลวงพ่อว่า “เจ้าลูกตัวร้าย ไม่รู้ว่ามันไปทำอะไร!...สวดมนต์ไห้ด้วยเถอะ...ข้าเห็นว่ามันกำลังรีบเดินทางไปสู่ความหายนะ”[140] พระราชินีแคทเธอรีนเสด็จไปเยี่ยมพระสหายเก่าคาร์ดินัลชาลส์แห่งบูร์บงในที่จำขังเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1589 เพื่อจะไปบอกว่าอีกไม่นานก็จะถูกปล่อยซึ่งคาร์ดินัลชาลส์ก็ทูลตอบว่า “พระราชดำรัสของพระองค์, มาดาม, มีแต่จะนำเราไปสู่ตะแลงแกงตลอดมา”[140] พระราชินีแคทเธอรีนทรงจากคาร์ดินัลมาด้วยน้ำพระเนตรนองพระพักตร์

เมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1589 พระราชินีแคทเธอรีนก็เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้หกสิบเก้าพรรษาอาจจะด้วยเยื่อหุ้มปอดอักเสบ (pleurisy) L'Estoile บันทึกว่า: “ผู้ที่ใกล้ชิดกับพระองค์เชื่อว่าการกระทำของพระราชโอรสเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของพระองค์สั้นขึ้น”[141] และกล่าวต่อไปว่าทรงยอมตายเสียดีกว่าที่จะถูกปฏิบัติด้วยเหมือนเป็นแพะที่ตายแล้ว เพราะปารีสเป็นปฏิปักษ์ต่อกษัตริย์พระบรมศพจึงต้องถูกนำไปฝังไว้ที่บลัวส์ ต่อมาไดแอนแห่งฝรั่งเศส (Diane de France) พระธิดานอกสมรสของพระเจ้าอ็องรีที่ 2 กับฟิลลิปปา ดูชิเป็นผู้ให้นำพระบรมศพของพระองค์ย้ายไปฝังที่มหาวิหารแซงต์เดอนีส์ ในปี ค.ศ. 1793 กลุ่มปฏิวัติที่เข้าทำลายมหาวิหารก็โยนกระดูกของพระองค์ลงไปในหลุมศพผู้ไร้นามรวมกับพระมหากษัตริย์, พระราชินีและพระญาติพระวงศ์องค์อื่นๆ ที่ถูกขุดขึ้นมา[141] แปดเดือนหลังจากการบรรจุพระบรมศพของพระราชินีแคทเธอรีนนักบวชฌาคส์ เคลมองท์ (Jacques Clément) ก็ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอ็องรีที่ 3 โดยการแทงด้วยมีดจนสิ้นพระชนม์ ขณะนั้นปารีสถูกล้อมโดยฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินนาวาร์ เมื่อพระเจ้าอ็องรีที่เสด็จสวรรคต อ็องรีแห่งนาวาร์ก็ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ซึ่งทำให้การปกครองโดยราชวงศ์วาลัวส์เป็นเวลาร่วมสี่ร้อยปีสิ้นสุดลงและเริ่มการปกครองโดยราชวงศ์บูร์บอง

มีหลักฐานว่าพระเจ้าอ็องรีที่ 4 กล่าวถึงพระราชินีนาถแคทเธอรีนว่า:

ข้าพเจ้าขอถามท่านเถอะว่า, ผู้หญิงควรจะทำอย่างไร, เมื่อสามีตายและเธอถูกทิ้งไว้กับลูกเล็กๆ ห้าคนในวงแขน, และสองตระกูลในฝรั่งเศสที่ต่างก็ต้องการที่จะครองราชบัลลังก์—ตระกูลของเรา (บูร์บอง) และตระกูลกีส เธอจะไม่ถูกบังคับให้เล่นบทที่หลอกตระกูลแรกและหันไปทำอย่างเดียวกันกับตระกูลหลัง, เพื่อที่จะปกป้อง, ซึ่งเธอก็ทำ, ลูกของเธอผู้ต่อมาปกครองติดต่อกันมาภายใต้ความปรีชาสามารถของเธอหรือ? ข้าพเจ้าประหลาดใจที่เธอไม่ทำเลวไปกว่านั้น[142]

ผู้อุปถัมภ์ศิลปะ

[แก้]
ภาพ “ชัยชนะของฤดูหนาว” (Triumph of Winter) โดย อองตวน คารอน ราว ค.ศ. 1568

พระราชินีแคทเธอรีนทรงมีความเชื่อในลัทธิมนุษยนิยมเรอเนสซองซ์ เช่นเดียวกับชนชั้นเจ้านายและชนชั้นปกครองทั้งหลายในสมัยนั้นที่อำนาจขึ้นอยู่กับการการศึกษาร่ำเรียนพอๆ กับความสามารถทางการพิชัยสงคราม[143] และทรงได้รับแรงบันดาลใจจากพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 พระราชบิดาของพระสวามีผู้มักจะเชิญชวนศิลปินสำคัญๆ จากทั่วยุโรปมายังราชสำนักของพระองค์ และจากบรรพบุรุษในตระกูลเมดิชิผู้มีชื่อเสียงในการอุปถัมภ์ศิลปะของพระองค์เอง ในสมัยที่เต็มไปด้วยสงครามกลางเมืองและความลดถอยลงของความนิยมในสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชินีแคทเธอรีนก็ทรงนำความหรูหราทางด้านวัฒนธรรมกลับมาสู่ราชวงศ์ และยิ่งเมื่อทรงได้รับอำนาจในการควบคุมพระคลังพระองค์ก็ทรงเริ่มโครงการทางศิลปะต่างๆ ที่ยาวนานถึงกว่าสามสิบปี ระหว่างช่วงเวลานั้นพระองค์ทรงเป็นจุดศูนย์กลางของวัฒนธรรมยุคเรอเนสซองซ์ในฝรั่งเศสยุคปลายในทุกสาขา[144]

ในการสำรวจทรัพย์สินของโอเตลเดอลาแรน (Hôtel de la Reine) หลังจากพระราชินีแคทเธอรีนหลังจากที่สิ้นพระชนม์ไปแล้วก็พบว่าทรงเป็นนักสะสมที่เอาจริงเอาจัง งานศิลปะที่ทรงสะสมรวมทั้งพรมทอแขวนผนัง, แผนที่ที่วาดด้วยมือ, ประติมากรรม, ผ้าเนื้อดี, เฟอร์นิเจอร์ตะโกฝังงาช้าง, ชุดเครื่องถ้วยชาม, และเครื่องพอร์ซิเลนเลอโมจส์ (Limoges) [145] นอกจากนั้นก็มีภาพเหมือนอีกเป็นร้อยๆ ภาพที่เขียนในรัชสมัยของพระองค์ ภาพเขียนในงานสะสมของพระองค์หลายภาพเขียนโดยฌอง โคลเอท์ (Jean Clouet) และลูกชายฟรองซัวส์ โคลเอท์ (François Clouet) ฟรองซัวส์เขียนภาพพระราชโอรสธิดาของพระราชินีแคทเธอรีนทุกภาพและภาพข้าราชสำนักอีกหลายคน[146] หลังจากพระราชินีแคทเธอรีนสิ้นพระชนม์ลงคุณภาพของการเขียนภาพเหมือนในฝรั่งเศสก็เริ่มเสื่อมลง ในปีค.ศ. 1610 งานศิลปะที่อุปถัมภ์โดยราชวงศ์วาลัวส์สมัยหลังที่มารุ่งเรืองในสมัยของฟรองซัวส์ โคลเอท์ก็สิ้นสุดลง[147]

พรมทอแขวนผนังวาลัวส์ เป็นภาพวังทุยแลรีส์ในปี ค.ศ. 1573 ในโอกาสที่ราชทูตโปแลนด์เดินทางมาถวายพระมหามงกุฏสำหรับบัลลังก์โปแลนด์แก่ดยุกแห่งอองชูพระราชโอรส

นอกไปจากศิลปะการเขียนภาพเหมือนแล้วเราก็ไม่ทราบอะไรมากเกี่ยวกับการเขียนของราชสำนักของพระราชินีแคทเธอรีนอื่นๆ อีก[148] ในช่วงยี่สิบปีสุดท้ายก็มีจิตรกรเพียงสองคนเท่านั้นที่พอจะเป็นที่รู้จัก: ฌอง คูซีน (ผู้ลูก) (Jean Cousin the Younger) (ราว ค.ศ. 1522–ราว ค.ศ. 1594) ซี่งมีผลงานเพียงไม่กี่ชิ้นที่หลงเหลืออยู่และอองตวน คารอน (Antoine Caron) (ราว ค.ศ. 1521ค.ศ. 1599) ผู้กลายมาเป็นช่างเขียนประจำราชสำนักหลังจากทำงานเขียนที่พระราชวังฟงแตนโบลภายใต้ฟรันเชสโก ปรีมาติชโช (Francesco Primaticcio) . ลักษณะการเขียนแบบแมนเนอริสม์ของคารอนและความนิยมพิธีรีตองและการสังหารหมู่สะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงทางจิตใจของราชสำนักฝรั่งเศสระหว่างสงครามศาสนาของฝรั่งเศส[149]

งานเขียนของคารอนหลายชิ้นเช่นภาพชุด “ชัยชนะของฤดู” (Triumph of Seasons) เป็นอุปมานิทัศน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระราชพิธีฉลองต่างๆ ที่มีชื่อเสียงของราชสำนักของพระองค์ งานออกแบบพรมทอแขวนผนังวาลัวส์ (Valois Tapestries) แปดผืนเป็นการสร้างเพื่อแสดงภาพ “งานฉลอง” (fêtes), ปิคนิค และการละเล่นสงครามที่พระราชินีแคทเธอรีนทรงเป็นเจ้าภาพ พรมบรรยาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่พระราชวังฟงแตนโบลในปี ค.ศ. 1564; ที่ Bayonne ในปี ค.ศ. 1565 ในโอกาสการพบกับราชสำนักสเปน; และที่วังทุยแลรีส์ (Tuileries Palace) ในปี ค.ศ. 1573 ในโอกาสที่ราชทูตโปแลนด์มาถวายพระมหามงกุฏแก่ดยุกแห่งอองชูพระราชโอรส[148] นักเขียนชีวประวัติเลินนี ฟรีดาเสนอความคิดที่ว่าพระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญกว่าผู้ใดในการจัดงานฉลองต่างๆ ที่ต่อมากลายมาเป็นแบบแผนที่ทำตามโดยราชสำนักต่อๆ มาที่มามีชื่อเสียง[150]

การดนตรีเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นความมีพรสวรรค์ในทางสร้างสรรค์ของพระองค์ ที่มักจะอุทิศให้แก่อุดมการณ์ของความสงบในราชอาณาจักรโดยใช้หัวเรื่องจากปรัมปราวิทยา เพื่อที่จะสร้างสรรค์นาฏกรรม, ดนตรี และฉากที่น่าประทับใจพระองค์ก็ทรงจ้างศิลปินและสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้นให้เป็นผู้สร้าง นักประวัติศาสตร์ฟรานซ์ เยทส์ขนานพระนามว่าเป็น “ศิลปินผู้สร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ของงานฉลอง”[151] พระราชินีแคทเธอรีนทรงนำวิธีใหม่ในการจัดงานฉลองเข้ามาแทนวิธีที่ใช้กันมาก่อน เช่นทรงเน้นการเต้นรำให้เป็นจุดสุดยอดของงานเอนเตอร์เทนเม้นท์ชิ้นต่างๆ “Ballets de cour” ซึ่งเป็นบัลเลต์ใหม่ก็เป็นบัลเลต์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้[152]บัลเลต์คอมมิค เด ลา แรน” (Ballet Comique de la Reine) ที่สร้างในรัชสมัยของพระองค์ในปี ค.ศ. 1581 ถือกันโดยนักวิชาการว่าเป็นบัลเลต์ที่แท้จริงบัลเลต์แรก[153]

บัลเลต์คอมมิค เด เล แรน” ค.ศ. 1582 โดยฌาคส์ ปาแตน

สิ่งที่พระราชินีแคทเธอรีนทรงสนพระทัยมากที่สุดทางด้านศิลปะคือสถาปัตยกรรม ฌอง-ปิแอร์ บาเลบอนนักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า “ความที่ทรงสืบเชื้อสายมาจากตระกูลเมดิชิ พระองค์ทรงมีความต้องการอย่างรุนแรงในการสร้างและทิ้งความสำเร็จของสิ่งที่ทรงก่อสร้างไว้ให้ลูกหลานหลังจากที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว”[154] หลังจากที่พระสวามีพระเจ้าอ็องรีที่ 2 เสด็จสวรรคตพระราชินีแคทเธอรีนก็ทรงพยายามสร้างอนุสรณ์เพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับพระองค์และเพิ่มความยิ่งใหญ่ให้แก่ราชวงศ์วาลัวส์โดยการริเริ่มโครงการสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตมโหฬารหลายโครงการ[155] ที่รวมทั้งงานที่วังที่ Montceaux-en-Brie, Saint-Maur-des-Fossés, และวังเชอนงโซ พระองค์ทรงสร้างพระราชวังใหม่สองแห่งในปารีส: Tuileries และ โอเตลเดอลาแรน (Hôtel de la Reine) ในโครงการเหล่านี้พระองค์ทรงทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถาปนิกตลอดโครงการ[156]

พระราชินีแคทเธอรีนทรงสั่งให้แกะตราแห่งความรักและความโทมนัสบนหินในสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของพระองค์[157] กวีสรรเสริญว่าทรงเป็นอาร์เทมิเซียองค์ใหม่ตามอาร์เทมิเซียที่ 2 แห่งคาเรีย (Artemisia II of Caria) ผู้ที่เป็นผู้สร้างมอโซเลียมแห่งมอสโซลลอส (Mausoleum of Maussollos) ที่ฮาลิคาร์นาสซัส (Halicarnassus) เพื่อเป็นที่บรรจุพระศพของพระสวามี[158] งานที่เป็นหัวใจของงานก่อสร้างทั้งหมดคืองานการสร้างชาเปลใหม่สำหรับเป็นที่บรรจุพระบรมศพของพระสวามีภายในมหาวิหารแซงต์เดอนีส์ ที่ออกแบบโดยฟรันเชสโก ปรีมาติชโช (Francesco Primaticcio) โดยมีแยร์แมง ปิลอน (Germain Pilon) เป็นประติมากร นักประวัติศาสตร์ศิลปะ อ็องรี แซร์แนร์บรรยายอนุสาวรีย์นี้ว่าเป็น “อนุสาวรีย์หลวงสุดท้ายที่เลิศลอยที่สุดในยุคเรอเนสซองซ์”[159] พระราชินีแคทเธอรีนทรงจ้างให้แยร์แมงแกะสลักแจกันสำหรับบรรจุหัวใจของพระสวามีด้วย บนฐานเป็นโคลงที่เขียนโดยรอนซาร์ดที่บอกให้ผู้อ่านไม่ต้องฉงนใจว่าทำไมแจกันที่เล็กเช่นนั้นสามารถบรรจุหัวใจอันยิ่งใหญ่ได้ เพราะหัวใจอันแท้จริงของพระเจ้าอ็องรีอยู่ภายในพระอุระของพระราชินีแคทเธอรีน[160]

แม้ว่าพระราชินีแคทเธอรีนจะทรงใช้เงินจำนวนมหาศาลในด้านศิลปะ[161] แต่งานเกือบทั้งหมดก็เกือบจะไม่มีงานใดที่เป็นงานที่ทิ้งร่องรอยเป็นอนุสรณ์อย่างถาวร[162] การสิ้นสุดของราชวงศ์วาลัวส์ไม่นานหลังจากที่สิ้นพระชนม์ทำให้สถานะการณ์ต้องเปลี่ยนแปลง งานศิลปะที่ทรงสะสมก็กระจัดกระจายไป พระราชวังถูกขายและโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่ทรงริเริ่มไว้ก็ไม่เสร็จและต่อมาถูกทำลาย

พระราชโอรสธิดา

[แก้]

พระราชินีแคทเธอรีนทรงเสกสมรสกับดยุกอ็องรีแห่งออร์เลอองผู้ต่อมาครองราชย์เป็นพระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศสที่มาร์เซย์เมื่อวันที่28 ตุลาคม ค.ศ. 1533 มีพระราชโอรสธิดาสิบพระองค์ เจ็ดพระองค์รอดมาจนโต พระราชโอรสสามพระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศส พระราชธิดาสองพระองค์เสกสมรสกับผู้ต่อมาเป็นกษัตริย์ และพระราชธิดาองค์หนึ่งเสกสมรสกับกับดยุก

  • หลุยส์ ดยุกแห่งออลีอองส์ (3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1549 – 24 ตุลาคม ค.ศ. 1549) สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
  • วิคตอเรียแห่งวาลัวส์ (24 มิถุนายน ค.ศ. 1556 – สิงหาคม ค.ศ. 1556) แฝดของโจน สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
  • โจนแห่งวาลัวส์ (24 มิถุนายน ค.ศ. 1556 – 24 มิถุนายน ค.ศ. 1556). แฝดของวิคตอเรีย สิ้นพระชนม์ในพระครรภ์ [163]


อ้างอิง

[แก้]
  1. Pronounced 'medi-cease'. See also the French titles listed under 'Further reading' below.
  2. แคทเธอรีน เดอ เมดิชิ (Catholic Encyclopedia)
  3. Knecht, Catherine de’ Medici, 272 (แคทเธอรีน เดอ เมดิชิ โดย คเน็คท์)
  4. Heller, 120.
  5. Quoted by Knecht, Catherine de’ Medici, xii.
  6. For a summary of the fluctuations in Catherine's historical reputation, see the preface to R. J. Knecht's Catherine de' Medici (1998: xi–xiv)
  7. Sutherland, Ancien Régime, 20.
  8. Frieda, 454.
  9. Sutherland, for example, suggests that it was largely thanks to Catherine that Henry III was not deposed (p. 26). For contrasting summaries of Catherine’s achievement, see Nicola Sutherland’s pamphlet Catherine de Medici and the Ancien Régime (1966: 5–34), R. J. Knecht’s concluding chapter to Catherine de’ Medici (1998: 270–75), and Leonie Frieda’s concluding chapter to Catherine de Medici ([2003] 2005 edition: 453–56).
  10. Thomson, 97.
    •Sutherland, Ancien Régime, 3.
  11. 11.0 11.1 Frieda, 35.
  12. Frieda, 45.
  13. Goro Gheri, 15 April 1519, quoted by Frieda, 14.
  14. Knecht, Catherine de' Medici, 8.
  15. Frieda, 23–24.
  16. Knecht, Catherine de' Medici, 11.
  17. Knecht, Catherine de' Medici, 10–11.
  18. Frieda, 29–30.
  19. Knecht, Catherine de' Medici, 12.
  20. Frieda, 31; Knecht, Catherine de' Medici, 14.
  21. 21.0 21.1 Frieda, 53; Knecht, Catherine de' Medici, 16.
  22. Frieda, 52. The contract was signed on the 27th and the religious ceremony took place the next day.
  23. Frieda, 53.
  24. Frieda, 54.
  25. "J'ai reçu la fille toute nue." Frieda, 54.
  26. Knecht, Catherine de' Medici, 29–30. Henry legitimised the child under the name Diane de France; he also produced at least two sons by other women.
  27. Knecht, Catherine de' Medici, 29.
  28. Knecht, 29.
  29. Frieda, 67.
  30. Frieda, 68.
  31. Frieda, 60, 95; Heritier, 38–42.
  32. Frieda, 114, 132,
  33. Morris, 247; Frieda, 80.
  34. Frieda, 118; Knecht, Catherine de' Medici, 42–43.
  35. Frieda, 80–86.
  36. Knecht, Catherine de' Medici, 38; Frieda, 94–95.
  37. Knecht, Catherine de' Medici, 34; Frieda, 123.
  38. Frieda, 84.
  39. Guy, 46.
  40. Guy, 41.
  41. Knecht, Catherine de' Medici, 55.
  42. 42.0 42.1 42.2 Pettegree, 154.
  43. Frieda, 5. As reported by eyewitness Nicholas Throckmorton, the English ambassador.
  44. Frieda, 6.
  45. Knecht, Catherine de' Medici, 56–58; Frieda, 146.
  46. Guy, 102–3.
  47. Knecht, Catherine de' Medici, 59; Frieda, 140.
  48. Knecht, Catherine de' Medici, 60.
  49. Morris, 248.
  50. “This being the good pleasure of the Queen, my lady-mother, and I also approving of every opinion that she holdeth, am content and command that ....” Frieda, 146.
  51. Frieda, 144.
  52. Frieda, 144.
  53. Frieda, 154; Holt, 38–39.
  54. Knecht, Catherine de' Medici, 64; Holt, 44. The incident was known later as the Amboise conspiracy]].
  55. Knecht, Renaissance France, 282.
  56. Knecht, Catherine de' Medici, 65–66.
  57. Sutherland, Ancien Régime, 32.
  58. Frieda, 151; Knecht, 72; Guy, 119.
  59. Pettegree, 154; Hoogvliet, 105. The regency was traditionally the preserve of the princes of the blood.
  60. Knecht, Catherine de' Medici, 73.
  61. Quoted by Frieda, 203.
  62. Sutherland, Ancien Régime, 28.
  63. Manetsch, 22.
  64. Knecht, Catherine de' Medici, 80.
  65. Knecht, Renaissance France, 311; Sutherland, Ancien Régime, 11–12. The edict, also known as the Edict of Toleration and the Edict of January, was significant for effectively recognising the existence of Protestant churches and permitting their worship outside city walls.
  66. Knecht, Catherine de' Medici, 87; Frieda, 188.
  67. Frieda, 188–89.
  68. Sutherland, Secretaries of State, 140.
  69. Frieda, 191. The rebels signed the Treaty of Hampton Court (1562) with Elizabeth I of England, giving her Le Havre (to be exchanged later for Calais), in return for her support.
  70. Knecht, Catherine de' Medici, 89.
  71. Frieda, 192–93. His wife, Jeanne d'Albret, remained queen regnant of Navarre; and her eight-year-old son Henry IV of France became First Prince of the Blood.
  72. Knecht, Catherine de' Medici, 90.
  73. Knecht, Catherine de' Medici, 91; Carroll, 126; Sutherland, Ancien Régime, 17.
  74. Knecht, Catherine de' Medici, 91–92.
  75. Quoted by Knecht, Catherine de' Medici, 149.
  76. Frieda, 268; Sutherland, Ancien Régime, 20.
  77. Sutherland, Ancien Régime, 15.
  78. Knecht, Catherine de' Medici, 104, 107–8; Frieda, 224.
  79. Wood, 17.
  80. Frieda, 234; Sutherland, Secretaries of State, 147.
  81. Frieda, 239; Knecht, Catherine de' Medici, 118.
  82. Knecht, Catherine de' Medici, 120.
  83. Frieda, 232.
  84. Bryson, 204.
  85. Knecht, Catherine de' Medici, 132.
  86. Frieda, 241.
  87. Wood, 28.
  88. Holt, 77; Frieda, 397. In 1579, François, Duke of Alençon, visited Elizabeth, who affectionately dubbed him "her frog" but, as always, proved elusive.
  89. Frieda, 257; Knecht, Catherine de' Medici, 135.
  90. Bryson, 282.
  91. Jeanne d'Albret wrote to her son, Henry: "I am not free to talk with either the King or Madame, only the Queen Mother, who goads me [me traite á la fourche] ... You have doubtless realized that their main object, my son, is to separate you from God, and from me". Quoted by Knecht, Catherine de' Medici, 148–49.
  92. Knecht, Catherine de' Medici, 151. An autopsy revealed tuberculosis and an abscess.
  93. Sutherland, Massacre of St Bartholomew, 313.
  94. Frieda, 254, 304–5; Holt, 83. The investigators traced the house and horse to the Guises and claimed to have found evidence that the would-be killer was Charles de Louviers de Maurevert
  95. Knecht, Catherine de' Medici, 154–57. Coligny was lobbying the king to intervene against the empire in the Netherlands.
    * Frieda, 292. The Duke of Anjou was later reported as saying that he and Catherine had planned the assassination with Anne d'Este, who longed to avenge her husband, Duke Francis of Guise.
    * For an overview of historians' various interpretations, see Holt, 83–4.
  96. Pettegree, 159–60.
  97. Holt, 84. Gaspard de Saul recalled that Catherine had summoned a war council in the Tuileries Palace (so as not to be overheard) to plan the next move: "Because the attempt on the Admiral would cause a war, she, and the rest of us, agreed that it would be advisable to bring battle in Paris". It is almost certain, however, that when Charles gave the order "Kill them all!", he meant those drawn up on a list by Catherine, and not, as has often been claimed, all Huguenots.
  98. Frieda, 306–8.
  99. Holt, 84.
  100. Quoted by Morris, 252.
  101. Frieda, 324.
  102. Knecht, Catherine de' Medici, 163–64; Heller, 117; Manetsch, 60–61. The misogyny and anti-Italianism in Huguenot "histories" proved seductive not only to Protestants but to Catholics seeking a scapegoat for France's woes.
  103. Frieda, 350.
  104. Knecht, Catherine de' Medici, 172.
  105. Frieda, 375.
  106. Sutherland, Secretaries of State, 232, 240, 247.
  107. Frieda, 369.
  108. Sutherland, Ancien Régime, 22.
  109. Sutherland, Secretaries of State, 205.
  110. Frieda, 397.
  111. Holt, 104.
  112. Holt, 105–6; Knecht, Catherine de' Medici, 186; Frieda, 384–87.
  113. Knecht, Catherine de' Medici, 212–13; Frieda, 406–7.
  114. Knecht, Catherine de' Medici, 217.
  115. Frieda, 404.
  116. Frieda, 414.
  117. Frieda, 415.
  118. Frieda, 416; Knecht, Catherine de' Medici, 254–55.
  119. Knecht, Catherine de' Medici, 189; Frieda, 389.
  120. Sutherland, Secretaries of State, 209; Frieda, 392.
  121. Knecht, Catherine de' Medici, 200.
  122. Knecht, Catherine de' Medici, 201.
  123. Knecht, Catherine de' Medici, 185; Frieda, 386.
  124. Pettegree, 164.
  125. Sutherland, Secretaries of State, 255.
  126. Knecht, Catherine de' Medici, 249; Frieda, 412.
  127. Knecht, Catherine de' Medici, 251.
  128. Knecht, Renaissance France, 440.
  129. Knecht, Catherine de' Medici, 253.
  130. Sutherland, Secretaries of State, 287.
  131. Frieda, 420; Knecht, Catherine de' Medici, 257.
  132. Frieda, 362–63.
  133. "The Day of the Barricades" , as the revolt became known, "reduced the authority and prestige of the monarchy to its lowest ebb for a century and a half". Morris, 260.
  134. Knecht, Catherine de' Medici, 263.
  135. Frieda, 432.
  136. Henry wrote a note to Villeroy, which began: "Villeroy, I remain very well contented with your service; do not fail however to go away to your house where you will stay until I send for you; do not seek the reason for this my letter, but obey me". Sutherland, Secretaries of State, 300–3.
  137. Knecht, Catherine de' Medici, 264–65.
  138. Pettegree, 165.
  139. Knecht, Catherine de' Medici, 266. The words were reported to the government of Florence by Catherine's doctor, Filippo Cavriana, who acted as their informant.
  140. 140.0 140.1 Knecht, Catherine de' Medici, 267.
  141. 141.0 141.1 Knecht, Catherine de' Medici, 268–69. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "K269" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  142. Brantôme, 88.
  143. Hoogvliet, 109.
  144. Knecht, 220.
  145. Knecht, 240–41.
  146. Dimier, 205–6.
  147. Dimier, 308–19; Jollet, 17–18.
  148. 148.0 148.1 Blunt, 98.
  149. Blunt calls Caron's style "perhaps the purest known type of Mannerism in its elegant form, appropriate to an exquisite but neurotic society". Blunt, 98, 100.
  150. Frieda, 225.
  151. Yates, 68.
  152. Yates, 51; Strong, 102, 121–22.
  153. Lee, 44.
  154. Babelon, 263.
  155. Frieda, 79, 455; Sutherland, Ancien Régime, 6.
  156. Knecht, 228.
  157. Knecht, 223.
  158. Frieda, 266; Hoogvliet, 108.
  159. Zerner, 379.
  160. Hoogvliet, 111. Ronsard may be referring to Artemisia, who drank the ashes of her dead husband, which became part of her own body.
  161. Thomson, 168.
  162. Knecht, Catherine de' Medici, 244.
  163. Frieda, 69; Heritier, 48, has the twins' deaths the other way round.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Babelon, Jean-Pierre. "The Louvre: Royal Residence and Temple of the Arts". Realms of Memory: The Construction of the French Past. Vol. III: Symbols. Edited by Pierre Nora. English language edition translated by Arthur Goldhammer, edited by Lawrence D. Kritzman. New York: Columbia University Press, 1998. ISBN 0-231-10926-1.
  • Blunt, Anthony.Art and Architecture in France: 1500–1700. New Haven, CT: Yale University Press, 1999. ISBN 0-300-07748-3.
  • Brantôme, Pierre de Bourdeille Illustrious Dames of the Court of the Valois Kings. Translated by Katharine Prescott Wormeley. New York: Lamb, 1912. OCLC 347527.
  • Bryson, David M. Queen Jeanne and the Promised Land: Dynasty, Homeland, Religion and Violence in Sixteenth-century France. Leiden and Boston, MA: Brill Academic, 1999. ISBN 90-04-11378-9.
  • Carroll, Stuart. Noble Power During the French Wars of Religion: The Guise Affinity and the Catholic Cause in Normandy. Cambridge: Cambridge University Press, 2005. ISBN 0-521-02387-4.
  • Dimier, L. French Painting in the XVI Century. Translated by Harold Child. London: Duckworth, 1904. OCLC 86065266.
  • Frieda, Leonie. Catherine de Medici. London: Phoenix, 2005. ISBN 0173820390.
  • Guy, John. My Heart is my Own: The Life of Mary Queen of Scots. London: Fourth Estate, 2004. ISBN 084115752X.
  • Hearn, Karen, ed. Dynasties: Painting in Tudor and Jacobean England, 1530-1630. New York: Rizzoli, 1995. ISBN 0-8478-1940-X.
  • Heller, Henry. Anti-Italianism in Sixteenth-century France. Toronto: University of Toronto Press, 2003. ISBN 0-8020-3689-9.
  • Heritier, Jean. Catherine de' Medici. Translated by Charlotte Haldane. London: George Allen and Unwin, 1963. OCLC 1678642.
  • Holt, Mack P. The French Wars of Religion, 1562–1629. Cambridge: Cambridge University Press, 2005. ISBN 0-521-54750-4.
  • Hoogvliet, Margriet. "Princely Culture and Catherine de Médicis". In Princes and Princely Culture, 1450-1650. Edited by Martin Gosman, Alasdair A. MacDonald, and Arie Johan Vanderjagt. Leiden and Boston, MA: Brill Academic, 2003. ISBN 90-04-13572-3.
  • Jollet, Étienne. Jean et François Clouet. Translated by Deke Dusinberre. Paris: Lagune, 1997. ISBN 0-500-97465-9.
  • Knecht, R. J. Catherine de' Medici. London and New York: Longman, 1998. ISBN 0-582-08241-2.
  • Knecht, R. J. The Rise and Fall of Renaissance France, 1483-1610. Oxford: Blackwell, 2001. ISBN 0-631-22729-6.
  • Lee, Carol. Ballet in Western Culture: A History of Its Origins and Evolution. London: Routledge, 2002. ISBN 0-415-94256-X.
  • Manetsch, Scott Michael. Theodore Beza and the Quest for Peace in France, 1572-1598. Leiden and Boston, MA : Brill Academic, 2000. ISBN 90-04-11101-8.
  • Morris, T. A. Europe and England in the Sixteenth Century. London and New York: Routledge, 1998. ISBN 0-415-15040-X.
  • Neale, J. E. The Age of Catherine de Medici. London: Jonathan Cape, 1943. OCLC 39949296.
  • Pettegree, Andrew. Europe in the Sixteenth Century. Oxford: Blackwell, 2002. ISBN 0-631-20704-X.
  • Sutherland, N. M. Catherine de Medici and the Ancien Régime. London: Historical Association, 1966. OCLC 1018933.
  • Sutherland, N. M. The French Secretaries of State in the Age of Catherine de Medici. London: Athlone Press, 1962. OCLC 1367811.
  • Sutherland, N. M. The Massacre of St Bartholomew and the European Conflict, 1559–1572. London: Macmillan, 1973. ISBN 333136292.
  • Sutherland, N. M. Princes, Politics and Religion: 1547–1589. London: Hambledon Press, 1984. ISBN 0-907628-44-3.
  • Strong, Roy. Art and Power: Renaissance Festivals, 1450–1650. Woodbridge, UK: Boydell Press, 1984. ISBN 0-85115-247-3.
  • Thomson, David. Renaissance Paris: Architecture and Growth, 1475-1600. Berkeley: University of California Press, 1984. ISBN 0-520-05347-8. Retrieved 21 March 2008.
  • Tomas, Natalie R. The Medici Women: Gender and Power in Renaissance Florence. Aldershot, UK : Ashgate, 2003. ISBN 0-7546-0777-1.
  • Wilson, Ian. Nostradamus: The Evidence. London: Orion, 2003. ISBN 0-7528-4279-X.
  • Wood, James B. The King's Army: Warfare, Soldiers and Society during the Wars of Religion in France, 1562–76. Cambridge: Cambridge University Press, 1996. ISBN 0-521-55003-3.
  • Yates, Frances.The Valois Tapestries. 1959. London: Routledge & Kegan Paul, 1999. ISBN 0-415-22043-2.
  • Zerner, Henri. Renaissance Art in France. The Invention of Classicism. Translated by Deke Dusinberre, Scott Wilson, and Rachel Zerner. Paris: Flammarion, 2003. ISBN 2-08-011144-2.
  • Zvereva, Alexandra. Les Clouet de Catherine de Médicis. Paris: Somogy, Éditions d'Art; Musée Condé, Château de Chantilly, 2002. ISBN 2-85056-570-9.

ข้อมูลเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]