ข้ามไปเนื้อหา

กงส์ต็องส์แห่งอาร์ล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กงสต็องแห่งอาร์ล
ภาพกงสต็องแห่งอาร์ลกำลังจำนนต่อพระเจ้าอ็องรีที่ 1 แห่งฝรั่งเศสผู้เป็นพระโอรส จากคริสต์ศตวรรษที่ 14
สมเด็จพระราชินีแห่งชาวแฟรงก์
ดำรงพระยศค.ศ. 1001–1031
พระราชสมภพค.ศ. 986
อาร์ล ราชอาณาจักรแฟรงก์
สวรรคต28 กรกฎาคม ค.ศ. 1032
เมอเลิง ราชอาณาจักรแฟรงก์
ฝังพระศพมหาวิหารแซ็งต์เดอนีส์ ปารีส ราชอาณาจักรแฟรงก์
คู่อภิเษกพระเจ้ารอแบร์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศส
พระราชบุตรอูกเลอกร็องด์
พระเจ้าอ็องรีที่ 1 แห่งฝรั่งเศส
อาแดลแห่งฝรั่งเศส
รอแบร์ที่ 1 ดยุกแห่งบูร์กอญ
ราชวงศ์โบโซนิด
พระราชบิดากีโยมที่ 1 เคานต์แห่งพรอว็องส์
พระราชมารดาอาเดอแลด-บล็องช์แห่งอ็องฌู

กงส์ต็องส์แห่งอาร์ล (ฝรั่งเศส: Constance d'Arles) หรือ กงส์ต็องส์แห่งพรอว็องส์ (ฝรั่งเศส: Constance de Provence) เป็นธิดาของกีโยม เคานต์แห่งตูลูส (กีโยมที่ 1 เคานต์แห่งพรอว็องส์) ทรงเป็นพระมเหสีคนที่สามของพระเจ้ารอแบร์ที่ 2 ผู้ศรัทธาแห่งฝรั่งเศส และเป็นพระมารดาของพระเจ้าอ็องรีที่ 1 แห่งฝรั่งเศส, รอแบร์ที่ 1 ดยุคแห่งบูร์กอญ และอาแดล กาแป เคานเตสแห่งแฟลนเดอส์ (มารดาของมาทิลดาแห่งแฟลนเดอส์)


ประวัติ

[แก้]

วัยเยาว์

[แก้]

กงส์ต็องส์แห่งอาร์ลประสูติในปี ค.ศ. 986[1] โดยทรงเป็นธิดาของกีโยมที่ 1 เคานต์แห่งพรอว็องส์กับภรรยาคนที่สอง อาเดลาอีด-บล็องช์แห่งอ็องฌูซึ่งเป็นธิดาของฟูลก์ที่ 2 เคานต์แห่งอ็องฌู[2] ทรงเป็นพี่น้องกับกีโยมที่ 2 เคานต์แห่งพรอว็องส์[2]


ตามธรรมเนียมปฏิบัติในยุคนั้น เด็กผู้หญิงจะถูกตั้งชื่อตามมารดา, ย่า หรือยายของของตน กงส์ต็องส์ถูกตั้งชื่อตามย่าของตน คือ กงส์ต็องส์ เคานเตสแห่งพรอว็องส์ ภรรยาของโบซงที่ 2 เคานต์แห่งพรอว็องส์[3]

การสมรส

[แก้]

ในปี ค.ศ. 998 สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 5 ได้ตัดพระเจ้ารอแบร์ที่ 2 ผู้ศรัทธาแห่งฝรั่งเศสออกจากศาสนาและได้ประกาศให้การสมรสครั้งที่สองของพระองค์กับแบร์ตแห่งบูร์กอญ พระมเหสีคนที่สองเป็นโมฆะเนื่องจากเป็นญาติที่มีสายเลือดใกล้ชิดกันเกินไป อีกทั้งแบร์ตยังไม่มีพระโอรสธิดาให้พระองค์แม้ว่าจะอยู่กินกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระองค์ได้ทิ้งโรซาลาแห่งอิตาลี พระมเหสีคนแรกในปี ค.ศ. 911 ต่อมาพระเจ้ารอแบร์ได้รับกงส์ต็องส์มาเป็นพระมเหสีคนที่สาม


การสมรสของกงส์ต็องส์กับพระเจ้ารอแบร์ที่ 2 ผู้ศรัทธาเกิดขึ้นราวปี ค.ศ. 1003[4] ทั้งคู่ก็มีพระโอรสพระธิดาด้วยกัน 4 พระองค์ คือ

  1. อูก (ประสูติ ค.ศ. 1007) ได้ครองบัลลังก์ร่วมกับพระบิดาแต่สิ้นพระชนม์ก่อนพระบิดา
  2. พระเจ้าอ็องรีที่ 1 (ประสูติ ค.ศ. 1008)
  3. อาแดล เคานเตสแห่งโกร์บี (ประสูติ ค.ศ. 1009) สมรสครั้งแรกกับรีชาร์ที่ 3 ดยุคแห่งนอร์ม็องดี ต่อมาสมรครั้งที่สองกับเบาด์วินที่ 5 เคานต์แห่งแฟลนเดอส์
  4. รอแบร์แห่งฝรั่งเศส ดยุคแห่งบูร์กอญ (ประสูติ ค.ศ. 1011)


ชีวิตสมรสของกงส์ต็องส์กับพระเจ้ารอแบร์เต็มไปด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง ครอบครัวของแบร์ตต่อต้านกงส์ต็องส์ และพระองค์ถูกชิงชังจากการนำเครือญาติและธรรมเนียมปฏิบัติแบบพรอว็องส์มาใช้ในฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1007 อูกแห่งโบแว สหายของพระเจ้ารอแบร์พยายามเกลี้ยกล่อมให้พระองค์ทิ้งกงส์ต็องส์แต่ต่อมาโบแวถูกฆาตกรรม อาจจะโดยกงส์ต็องส์ที่ร้องขอให้อัศวิน 12 คนของฟูลก์ แนรา ญาติของพระองค์ทำการฆาตกรรม[5]

พระราชินีแห่งฝรั่งเศส

[แก้]
ภาพวาดของกงส์ต็องส์แห่งอาร์ลที่แสดงให้เห็นถึงอุนิสัยแข็งกร้าว คริสต์ศตวรรษที่ 11

ความมากเล่ห์และความโหดเหี้ยมของกงสต็องส์ทำให้พระองค์ไม่เป็นที่รักของราชสำนัก พระเจ้ารอแบร์เองได้พยายามหลายครั้งเพื่อจะทิ้งพระองค์และรับแบร์ตกลับมาเป็นพระมเหสี ในปี ค.ศ. 1010 กษัตริย์ได้เดินทางไปโรมพร้อมกับแบร์ต อดีตพระมเหสีเพื่อขอหย่ากับกงส์ต็องส์และกลับมาสมรสกับแบร์ตอีกครั้ง ทว่าสมเด็จพระสันตะปาปาเซอร์จิอุสที่ 4 ไม่เห็นชอบกับการสมรสระหว่างผู้ร่วมสายโลหิตเดียวกันที่เคยถูกประณามจากสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 5 อีกทั้งพระเจ้ารอแบร์เคยทิ้งพระมเหสีมาแล้วถึงสองครั้ง คำขอของพระองค์จึงถูกปฏิเสธ หลังเดินทางกลับมาฝรั่งเศส แหล่งข้อมูลหนึ่งกล่าวว่าพระเจ้ารอแบร์ "รักพระมเหสีของพระองค์มากขึ้น"[6] ขณะที่ราชสำนักได้แตกออกเป็นสองฝั่งคือฝั่งของกงส์ต็องส์กับฝั่งของแบร์ต

กงส์ต็องส์เร่งเร้าให้ทำการสวมมงกุฎให้อูกเลอกร็อง พระโอรสคนโตที่สุดท้ายได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์ร่วมกับพระบิดาในปี ค.ศ. 1017[7] แต่ภายหลังอูกได้เรียกร้องขอแบ่งปันอำนาจจากพระบิดามารดาและก่อกบฏต่อพระบิดาในปี ค.ศ. 1025 ทำให้กงส์ต็องส์โกรธจัดและดุด่าต่อว่าพระโอรส ภายหลังอูกได้คืนดีกับพระบิดามารดาแต่หลังจากนั้นไม่นานพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ด้วยวัย 18 พรรษา การสูญเสียสร้างความเสียใจแก่สองสามีภรรยาเป็นอย่างมาก พระราชินีโศกเศร้ารุนแรงจนคนรอบข้างเป็นห่วงสภาพจิตใจของพระองค์[8]

พระเจ้ารอแบร์กับกงสต็องเหลือพระโอรสที่ยังมีชีวิตอยู่อีกสองคน คือ อ็องรีกับรอแบต์ ซึ่งกงสต็องส์โปรดปรานคนหลังมากกว่าและต้องการให้ได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์ต่อจากพระบิดา[9] ทว่าพระสวามีของพระองค์กลับเลือกอ็องรีเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากตน แม้จะถูกคัดค้านจากพระมารดาและบิชอปฝ่ายที่สนับสนุนพระมารดา แต่อ็องรีได้รับการสนับสนุนจากดยุคแห่งนอร์ม็องดี, เคานต์แห่งอ็องฌู และเคานต์แห่งแฟลนเดอส์ พระองค์ก็ได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์ร่วมในปี ค.ศ. 1027

หลุมฝังศพของรอแบร์ผู้ศรัทธากับกงส์ต็องส์แห่งอาร์ลที่แซ็ง-เดอนี

ต่อมาพระโอรสทั้งสองของพระเจ้ารอแบร์ได้ก่อกบฏโดยมีกงส์ต็องส์ให้การสนับสนุน ทั้งคู่ได้โจมตีและปล้นเมืองกับปราสาทที่เป็นของพระบิดา รอแบร์ผู้ลูกโจมตีบูร์กอญ ดัชชีที่พระบิดาเคยสัญญาว่าจะยกให้พระองค์แต่กลับไม่ยอมยกให้เสียที ส่วนอ็องรีได้ทำการปิดล้อมเดรอ สุดท้ายพระเจ้ารอแบร์ยอมรับข้อเสนอของพระโอรสทั้งสองและได้ทำข้อตกลงสันติภาพซึ่งคงอยู่ไปจนกษัตริย์สิ้นพระชนม์

พระเจ้ารอแบร์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1031[10] กงส์ต็องส์พยายามจะสังหารอ็องรีแต่ทำไม่สำเร็จ อ็องรีได้ขึ้นครองบัลลังก์ ทรงคืนดีกับรอแบร์ พระอนุชาและยกดัชชีบูร์กอญให้ หลังจากนั้นไม่นานกงส์ต็องส์ก็ล้มป่วย ทรงบาดหมางใจกับพระโอรสที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งสอง พระองค์ได้ยึดดินแดนที่เป็นสินเดิมติดตัวของตนคืนมาและไม่ยอมจำนนต่อพระโอรสทั้งสองจนพระเจ้าอ็องรีต้องหนีไปนอร์ม็องดี ที่นั่นรอแบร์ พระอนุชาของของพระเจ้าอ็องรีได้ให้ความช่วยเหลือพระองค์ในด้านอาวุธและกำลังทหาร กษัตริย์กลับมาทำการปิดล้อมพระมารดาที่ปัวส์ซีแต่พระนางได้หนีไปปงตวซ พระเจ้าอ็องรีได้ยึดเลอปุยแซและประกาศว่าจะสังหารชาวเมืองทุกคน กงส์ต็องจึงต้องยอมจำนนในท้ายที่สุด


การสิ้นพระชนม์

[แก้]

กงส์ต็องส์สิ้นพระชนม์หลังจากไอจนหมดสติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1032[2] ร่างของพระองค์ถูกฝังเคียงข้างพระเจ้ารอแบร์ผู้เป็นพระสวามีในมหาวิหารแซ็งต์-เดอนี[11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Detlev Schwennicke, Europäische Stammtafeln: Stammtafeln zur Geschichte der Europäischen Staaten, Neue Folge, Band II (Marburg, Germany: J. A. Stargardt, 1984), Tafel 11
  2. 2.0 2.1 2.2 Detlev Schwennicke, Europäische Stammtafeln: Stammtafeln zur Geschichte der Europäischen Staaten, Neue Folge, Band II (Marburg, Germany: J. A. Stargardt, 1984), Tafel 187
  3. Florian Mazel , " Proper names, name devolution and devolution of power in the Provençal aristocracy (middle X e-end xii th  century) ," historical Provence , vol.  53, n o 212,2003, p.  137, 139 and 144
  4. Jiří Louda and Michael MacLagan, Dynasties of Europe - Table 64, Bordas, 1995.
  5. Penelope Ann Adair, Constance of Arles: A study in Duty and Frustration', Capetian Women, ed. Kathleen Nolan (New York;, Palgrave Macmillan, 2003), p. 13
  6. Penelope Ann Adair, Constance of Arles: A study in Duty and Frustration', Capetian Women, ed. Kathleen Nolan (New York;, Palgrave Macmillan, 2003), pp. 13-14
  7. Penelope Ann Adair, Constance of Arles: A study in Duty and Frustration', Capetian Women, ed. Kathleen Nolan (New York;, Palgrave Macmillan, 2003), p. 16
  8. Penelope Ann Adair, Constance of Arles: A study in Duty and Frustration', Capetian Women, ed. Kathleen Nolan (New York;, Palgrave Macmillan, 2003), p. 18
  9. Penelope Ann Adair, Constance of Arles: A study in Duty and Frustration', Capetian Women, ed. Kathleen Nolan (New York;, Palgrave Macmillan, 2003), p. 18
  10. Detlev Schwennicke, Europäische Stammtafeln: Stammtafeln zur Geschichte der Europäischen Staaten, Neue Folge, Band I (Marburg, Germany: J. A. Stargardt, 1980), Tafel 57
  11. Georgia Sommers Wright, 'A Royal Tomb Program in the Reign of St. Louis', The Art Bulletin, Vol. 56, No. 2 (Jun., 1974), p. 225