พระราชกฤษฎีกาแห่งแซ็ง-แฌร์แม็ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การสังหารหมู่ที่วาซี (Massacre of Vassy) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1562

พระราชกฤษฎีกาแซ็ง-แฌร์แม็ง หรือ พระราชกฤษฎีกาเดือนมกราคม (อังกฤษ: Edict of Saint-Germain หรือ Edict of January) เป็นพระราชกฤษฎีกาให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา (Edict of toleration) ที่ออกโดยแคทเธอรีน เดอ เมดิชิผู้ขณะนั้นทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระราชโอรสพระเจ้าชาร์ลที่ 9 แห่งฝรั่งเศส ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1562 ที่มอบสิทธิอันจำกัดแก่ผู้เป็นโปรเตสแตนต์ในราชอาณาจักรที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นโรมันคาทอลิกโดยเฉพาะแก่ชาวฝรั่งเศสอูว์เกอโน

การออกพระราชกฤษฎีกาเป็นกิจการแรกที่สมเด็จพระราชินีนาถแคทเธอรีนทรงกระทำเป็นสิ่งแรกในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระราชโอรส--พระเจ้าฟร็องซัวที่ 2 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1560 การออกพระราชกฤษฎีกาเป็นไปตามนโยบายของพระองค์ในการพยายามดำเนินทางสายกลางระหว่างฝ่ายโปรเตสแตนต์และฝ่ายโรมันคาทอลิกเพื่อสร้างเสริมความมั่นคงให้แก่ราชบัลลังก์ โดยไม่ได้กระทบกระเทือนฐานะของสถาบันโรมันคาทอลิกในฝรั่งเศสพระราชกฤษฎีกายอมรับฐานะของผู้เป็นโปรเตสแตนต์และรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นการส่วนตัว แต่ห้ามทำการสักการะในตัวเมืองยกเว้นการจัดการประชุมของนักบวช (Synod) และการมาชุมนุมกัน (Consistory)

การผ่านพระราชกฤษฎีกาเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะต้องผ่านการอนุมัติของรัฐสภาฝรั่งเศสจึงจะประกาศเป็นกฎหมายได้ สมาชิกของรัฐสภามีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงสาเหตุที่ร่างพระราชกฤษฎีกาขัดกับพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ถือเป็นกฎหมายแล้ว ก่อนที่จะได้รับการตีพิมพ์ ฝ่ายรัฐสภาก็พยายามหน่วงเหนี่ยวต่าง ๆ

หลังจากการประกาศใช้แล้วเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่วาซี (Massacre of Vassy) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1562 ก็อุบัติขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เป็นชนวนก่อให้เกิดสงครามศาสนาครั้งแรก การโต้เถียงเกิดจากการตีความหมายของการทำการสักการะของอูว์เกอโนที่ถูกขัดจังหวะโดยการโจมตีโดยฟร็องซัว ดยุคแห่งกีซที่วาซีว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่แต่ก็ไม่เป็นที่ตกลงกันได้ ฝ่ายอูว์เกอโนอ้างว่าได้ทำการสักการะนอกเมืองตามกฎที่ระบุไว้ในพระราชประกาศ ฉะนั้นการโจมตีของดยุคแห่งกีซจึงผิดกฎหมาย

เหตุการณ์การสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นไม่มีหลักฐานร่วมสมัยที่เป็นกลาง[1] การสังหารหมู่ที่วาซีเกิดขึ้นเมื่อดยุคแห่งกีซนำพรรคพวกผู้ติดตามไปพบการกระทำพิธีสักการะของอูว์เกอโนในโรงนาที่วาซี ผู้ติดตามของดยุคพยายามที่จะบุกเข้าไปในโรงนาขณะที่พิธีกำลังดำเนินอยู่แต่ถูกตอบโต้ โดยมีการปาก้อนหิน หินก้อนหนึ่งถูกดยุคเข้า พรรคพวกของดยุคจึงยิงเข้าไปในฝูงชนผู้ที่มิได้ถืออาวุธ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปราวหกสิบคนจากผู้ที่มาชุมนุมกันราวหกหรือเจ็ดร้อยคนและมีผู้บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ปฏิกิริยาจากทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างรุนแรงมากกว่าปฏิกิริยาที่มีต่อพระราชกฤษฎีกาที่ออกมาในเดือนมกราคม อูว์เกอโนก็มีความรู้สึกรุนแรงเช่นเดียวกับโรมันคาทอลิก นักเทววิทยาและนักปฏิรูปทีโอดอร์ เบซาเปรยกับผู้แทนพระองค์ว่าการเข่นฆ่าเป็นการกระทำที่เปล่าประโยชน์ และกล่าวว่าการปฏิรูปศาสนาก็เหมือนกับแท่งตีเหล็ก (anvil) ที่มีแต่จะทำให้ค้อนหักเท่านั้น[2]

ไม่นานหลังจากนั้นอูว์เกอโนก็ยึดออร์เลอ็อง ที่ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถแคทเธอรีนถึงกับทรงประกาศว่าสองนิกายไม่สามารถดำรงอยู่ร่วมกันในฝรั่งเศสได้ “un roi, une loi, une foi” หรือ “ศาสนาเดียว, กฎหมายเดียว, กษัตริย์องค์เดียว”[3] เมื่อมาถึงฤดูร้อนเหตุการณ์ก็ปั่นป่วนจนเกินหน้าการควบคุมของพระราชกฤษฎีกา

อ้างอิง[แก้]

  1. The Catholic Encyclopedia (1913) asserts "the arrogance of the Huguenots exasperated the Catholics" (article "Catherine de' Medici")
  2. T. de Beze, Historie Ecclesiastique des Eglises Reformées au Royaume de France (1580).
  3. "One faith, one law, one king".

ดูเพิ่ม[แก้]