วาเลนตีนา วิสกอนตี ดัชเชสแห่งออร์เลอ็อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วาเลนตีนา วิสกอนตี
Fleury-François Richard - Valentine of Milan Mourning her Husband, the Duke of Orléans.JPG
วาเลนตีนาแห่งมิลานกำลังอาลัยกับการเสียชีวิตของสามี โดยเฟลอรี ฟร็องซัว รีชาร์ ปี ค.ศ. 1802
เกิดค.ศ. 1371
ปาเวีย ดัชชีมิลาน ประเทศอิตาลี
เสียชีวิตค.ศ. 1408 (37 ปี)
ชาโตเดอบลัว ออร์เลอ็อง ประเทศฝรั่งเศส
ตำแหน่งดัชเชสคู่สมรสแห่งออร์เลอ็อง
คู่สมรสหลุยส์ที่ 1 ดยุคแห่งออร์เลอ็อง
บุตรชาร์ล ดยุคแห่งออร์เลอ็อง
ฟีลิป
ฌ็อง เคานต์แห่งอ็องกูแลม
มาร์เกอริต
บิดามารดาจัน กาเลอัซโซ วิสกอนตี
อีซาแบลแห่งฝรั่งเศส

วาเลนตีนา วิสกอนตี (อิตาลี: Valentina Visconti; ค.ศ. 1371 – 4 ธันวาคม ค.ศ. 1408) เป็นดัชเชสคู่สมรสแห่งออร์เลอ็องจากการเป็นภรรยาของหลุยส์ เดอ วาลัว ดยุคแห่งออร์เลอ็อง พระอนุชาของพระเจ้าชาร์ลที่ 6 แห่งฝรั่งเศส[1][2]

วัยเด็ก[แก้]

วาเลนตีนาเกิดราวปี ค.ศ. 1370 เธอเป็นบุตรสาวของจัน กัลเลอัซโซ วิสกอนตี ดยุคแห่งมิลาน[3] กับอีซาแบลแห่งวาลัว พระธิดาของพระเจ้าฌ็องที่ 2 แห่งฝรั่งเศส มารดาของวาเลนตีนาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1373 โดยหลัก ๆ แล้วคนที่เลี้ยงดูเธอคือเบียงกาแห่งซาวอยซึ่งเป็นย่าของเธอ เบียงกาเป็นผู้หญิงที่มีการศึกษา เธอจึงส่งต่อความรักในศิลปะและวรรณกรรมให้แก่วาเลนตีนา หลานสาว วาเลนตีนามีน้องชายสองคนที่เสียชีวิตเร็ว เธอจึงกลายเป็นทายาทของบิดา

การแต่งงาน[แก้]

ปี ค.ศ. 1387 เธอแต่งงานกับหลุยส์แห่งออร์เลอ็อง ลูกพี่ลูกน้องซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าชาร์ลที่ 6 แห่งฝรั่งเศส ในส่วนของสินเดิมติดตัวของเธอ บิดาของเธอยินยอมให้เธอยังคงมีสิทธิ์เป็นทายาทในดัชชีมิลาน เธอแต่งงานผ่านตัวแทนที่บ้านเกิดของย่า และได้รับการต้อนรับเข้าสู่นครปารีสอย่างยิ่งใหญ่ในปี ค.ศ. 1389 ที่ดยุคเชื้อพระวงศ์ต่างพากันเดินทางมาที่ประตูเมืองแซ็งต์เดอนีส์เพื่ออารักขาเธอเข้าเมือง

ปีแรก ๆ ของการแต่งงานเต็มไปด้วยความสุข เธอมีบุตรชาย 5 คนภายในเวลา 5 ปี ทว่ามีเพียงชาร์ลคนเดียวที่มีชีวิตรอดจากวัยเด็ก ต่อมาในปี ค.ศ. 1391 กษัตริย์ซึ่งเป็นพี่สามีของเธอเริ่มมีอาการเสียสติระยะแรก เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อวาเลนตีนาและประชาชนชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก พระเจ้าชาร์ลมีอาการเสียสติมากขึ้นและยาวนานขึ้นตลอดพระชนม์ชีพที่เหลือ โดยทรงเชื่อว่าทรงถูกสร้างขึ้นมาจากแก้ว ในอาการป่วยระยะนี้พระองค์ไม่สามารถทนเห็นอิซาบูแห่งบาวาเรีย พระมเหสีของพระองค์ได้ วาเลนตีนาน่าจะเป็นคนหนึ่งที่ทำให้พระองค์สงบลงได้ พระองค์จำเธอได้และจะคอยถามหาหากเธอไม่ได้มาหา

ทว่าความไร้สมรรถภาพของกษัตริย์สร้างความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อประชาชน เมื่อนักบวชและหมอไม่สามารถรักษาพระองค์ได้ก็เริ่มมีข่าวลือว่ามีคนสาปพระองค์ ไม่นานวาเลนตีนาก็ถูกมองว่าเป็นคน ๆ นั้น เกิดข่าวลือว่าเธอพยายามวางยาพิษโดแฟ็งและมีข่าวลือว่าบิดาของเธอได้พูดกับเธอว่าจะไม่ยอมเจอเธออีกจนกว่าเธอจะได้เป็นพระราชินี ดูเหมือนเธอจะไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากทั้งฟีลิป ดยุคแห่งบูร์กอญผู้ทรงอำนาจ และอิซาบู พระราชินี พระมารดาของอิซาบูอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับตระกูลวิสกอนตี ส่วนฟีลิปกำลังทะเลาะแย่งชิงอำนาจในราชสำนักกับสามีของเธอ อีกทั้งยังเริ่มมีข่าวลือแปลก ๆ มากขึ้น เดือนมีนาคม ค.ศ. 1396 หลุยส์ถูกกระตุ้นให้พาวาเลนตีนาออกไปจากปารีสเพื่อความปลอดภัยของเธอ วาเลนตีนาไม่เคยได้กลับมาอยู่ในปารีสอีกเลย

วาเลนตีนาเลี้ยงดูครอบครัวของเธอที่ชาโตดานิเยร์ต่อด้วยชาโตเดอบลัว เธอมีบุตรอีกสี่คน คือ ฟีลิป, ฌ็อง, มาร์เกอริต และมารีที่เสียชีวิตหลังคลอด หลุยส์แวะมาหาเธอเป็นประจำ รวมถึงคนอื่น ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออนาคตพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษซึ่งตอนนั้นยังเป็นเอิร์ลแห่งเดอร์บี มารี ดากูต์ ลูกพี่ลูกน้องของหลุยส์อาศัยอยู่กับวาเลนตีนาในฐานะนางกำลังหมายเลขหนึ่ง

การสิ้นพระชนม์ของหลุยส์แห่งออร์เลอ็อง[แก้]

วาเลนตีนาแห่งมิลานร้องขอความเป็นธรรมจากพระเจ้าชาร์ลที่ 6 เรื่องการลอบสังหารดยุคแห่งออร์ลีอ็อง โดยอเล็กซานเดอร์ โคลิน ปี ค.ศ. 1863

ต่อมาในปี ค.ศ. 1407 มีข่าวว่ามีการวางแผนจะฆ่าหลุยส์บนถนนในปารีส หลายวันต่อมาหลุยส์ถูกฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำสั่งของฌ็อง ลูกพี่ลูกน้องที่สืบทอดตำแหน่งดยุคแห่งบูร์กอญต่อจากบิดาที่เสียชีวิต ฌ็องกับหลุยส์ขัดแย้งกันอยู่เป็นประจำเรื่องใครควรทำหน้าที่เป็นกษัตริย์ในตอนที่พระเจ้าชาร์ลอาการไม่ดี หลังการฆาตกรรม อิซาบูกลัวว่าฌ็องจะเสียความน่าเชื่อถือจึงเชิญวาเลนตีนากลับมาที่นครปารีสเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี อิซาบูเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์อันซับซ้อนในตอนที่วาเลนตีนาซึ่งสวมชุดดำทั้งตัว สองมือประคองบุตรชายสองคนแรก ร้องขอความบุติธรรมจากพระเจ้าชาร์ลที่ 6 ที่อยู่ในช่วงภาวะจิตปรกติ ขณะที่เธอคุกเข่าอยู่เบื้องหน้า พระองค์ดึงเธอขึ้นมาและจุมพิตเธอ รับรองกับเธอต่อหน้าผู้คนว่าจะแก้แค้นให้กับสามีของเธอที่ถูกฆาตกรรม

การเสียชีวิตของวาเลนตีนา[แก้]

รูปแกะสลักหลุมศพของวาเลนตีนา วิสกอนดิ ที่มหาวิหารแซ็งต์เดอนีส์

ทว่าแปดต่อมาไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฌ็องทำให้ส่วนรวมมีความเห็นสนับสนุนเขาและให้ตัวแทนเทศนาเรื่อง "การสังหารทรราชย์" ของเขา ทั้งพระเจ้าชาร์ลและดยุคเชื้อพระวงศ์คนอื่น ๆ ต่างไม่มีใครเคลื่อนไหวต่อต้านเขา เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1408 วาเลนตีนามาที่ปารีสอีกครั้ง ครั้งนี้พระเจ้าชาร์ลตอบสนองต่อเธออย่างล่องลอย วันต่อมาทรงสูญเสียความมีเหตุมีผล วาเลนตีนาจึงกลับไปชาโตเดอบลัวอย่างสิ้นหวัง ไม่นานเธอก็เริ่มล้มป่วย ขณะกำลังจะตาย เธอให้บุตรชายสาบานว่าจะแก้แค้นให้กับการตายของบิดา วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1408 เธอตายด้วยโรคไทฟอยด์โดยมีลูก ๆ รายล้อม แต่มีหลายคนที่คิดว่าเธอตรอมใจตาย

การฆาตกรรมและการสาบานว่าจะแก้แค้นให้หลุยส์สุดท้ายกลายเป็นสงครามกลางเมืองฝรั่งเศสที่ทำให้ชาวอังกฤษเกือบได้ราชบัลลังก์ฝรั่งเศสไปในปี ค.ศ. 1422 ชาร์ล บุตรชายของวาเลนตีนาถูกชาวอังกฤษจับกุมตัวที่อาแฌ็งกูร์ เขาตกเป็นนักโทษเป็นเวลา 25 ปีและเป็นที่รู้จักในฐานะนักกวี เมื่อกลับมาฝรั่งเศส เขาแต่งงานใหม่และมีบุตรชายที่สุดท้ายแล้วกลายเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสในชื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 ในปี ค.ศ. 1498 หลังพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 สิ้นพระชนม์ ราชบัลลังก์ตกเป็นของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 ซึ่งเป็นหลานชายของฌ็อง บุตรชายของวาเลนตีนา วาเลนตีนาจึงเป็นบรรพบุรุษของกษัตริย์ฝรั่งเศสทุกคนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1498 เป็นต้นมา รูปปั้นแกะสลักของเธอเป็นหนึ่งในรูปปั้นแกะสลักของเหล่าพระราชินีที่ประดับประดาอยู่ในสวนปาแลเดอลุกซ็องบูร์ในปารีส

อ้างอิง[แก้]

  1. Tracy Adams, The Life and Afterlife of Isabeau of Bavaria, (Johns Hopkins University Press, 2010), 255.
  2. Emerton, Ephraim (1917). The Beginnings of Modern Europe (1250-1450). Boston: Ginn & Co. p. 406. Retrieved 2011-02-11.
  3. Monica Azzolini, The Duke and the Stars: Astrology and Politics in Renaissance Milan, (Harvard University Press, 2013), 120.