ข้ามไปเนื้อหา

แก้ว พงษ์ประยูร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พันตรี
แก้ว พงษ์ประยูร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด28 มีนาคม พ.ศ. 2523 (44 ปี)
อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
ส่วนสูง155 เซนติเมตร (5 ฟุต 1 นิ้ว)
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ กองทัพบก
แผนก/สังกัดกองทัพภาคที่ 3
ชั้นยศ พันตรี
หน่วยกองพลทหารม้าที่ 1
กีฬา
กีฬามวยสากล
ระดับน้ำหนักพินเวท
ไลท์ฟลายเวท
ผู้ฝึกสอนกามนิต นารีรักษ์
ธง ทวีคูณ
โอมาร์ มาลากอน
แก้ว ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2012

พันตรี แก้ว พงษ์ประยูร เป็นนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยในรุ่นพินเวท (45 กิโลกรัม) และไลท์ฟลายเวท (49 กิโลกรัม) ถือได้ว่าเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยที่มีประสบการณ์โชกโชน เคยผ่านการชกในหลายระดับมาแล้ว ด้วยการผ่านการแข่งขันซีเกมส์มาถึง 6 สมัย ซึ่งได้เหรียญทอง 4 ครั้ง, เหรียญเงิน 1 ครั้ง และเหรียญทองแดง 1 ครั้ง

ประวัติ

[แก้]

แก้ว เกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2523 ที่ตำบลวังทอง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร โดยเป็นลูกคนสุดท้องของนายคำ และนางมะลิ พงษ์ประยูร ในบรรดาลูกทั้งหมด 6 คน จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต และได้รับยศว่าทีร้อยตรีจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รุ่นเดียวกันกับสมจิตร จงจอหอและได้รับพระราชทานยศร้อยตรีหลังจากนั่น ได้เข้ารับราชการทหารกองทัพบก สังกัดกองทัพภาคที่ 3 ประจำกองพลทหารม้าที่ 1 ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ และจบปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์จากวิทยาลัยทองสุข

ด้านครอบครัว สมรสกับนางธาราทิพย์ พงษ์ประยูร มีบุตรสาวชื่อ น้องแก้มใส[1][2] และบุตรชายชื่อ น้องต้นกล้า[3]

โอลิมปิกฤดูร้อน 2012

[แก้]

ในการแข่งขันโอลิมปิก ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเมื่อกลางปี พ.ศ. 2555 แก้วถือเป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้สิทธิ์ไปแข่งขัน จากการเอาชนะ ซาลมาน อาลีซาดา นักมวยชาวอาเซอร์ไบจาน ในรอบ 16 คนสุดท้าย ที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน ไป 23-8 หมัด เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ในรายการมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์โลก และถือว่าเป็นการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกของแก้วด้วย[4]

แก้วเป็นนักมวยและนักกีฬาไทยคนสุดท้ายที่มีสิทธิ์ลุ้นเหรียญทองในโอลิมปิกดังกล่าว ด้วยเป็นนักกีฬามวยสากลเพียงคนเดียวที่เข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศกับโจว ซื่อหมิง นักมวยชาวจีน ซึ่งเป็นเจ้าของเหรียญทองในรุ่นนี้เมื่อโอลิมปิกครั้งที่แล้ว ปรากฏว่าแก้วเป็นฝ่ายแพ้ไป 10-13 หมัด[5] พฤติการณ์บางประการในการแข่งขันก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น มีการเตือนแก้วว่าทำผิดกติกาครั้งหนึ่งโดยไม่ระบุว่าผิดอย่างไร แต่ให้โจวทำผิดกติกาหลายครั้งแล้วจึ่งเตือนเพียงครั้งเดียว อีกทั้งโจวยังได้คะแนนมากเกินกว่าที่ควรจะได้โดยไม่มีที่มาที่ไป นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า โจวไม่ได้พยายามชกในยกสุดท้าย แต่อาศัยชั้นเชิงถ่วงเวลาเท่านั้น[6] ฝ่ายไทยจึงประท้วงผลการแข่งขัน แต่ไม่สำเร็จ เพราะพ้นกำหนด 5 นาทีหลังจากประกาศผลการแข่งขัน ต้องห้ามตามกฎบัตรโอลิมปิก[7] ขณะที่ อู๋ จิงกั๋ว ประธานสมาคมมวยระหว่างประเทศ เห็นว่า การตัดสินเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรมแล้ว[8]

ผลการชกของแก้ว พงษ์ประยูร มีดังนี้

รอบ คู่ชก วันที่ สถานที่ ผล
32 คนสุดท้าย แอลจีเรีย โมฮัมหมัด ฟลิสซี 31 กรกฎาคม เอ็กซ์เซล ลอนดอน 19-11[9]
16 คนสุดท้าย เอกวาดอร์ การ์โลส กีโป 4 สิงหาคม เอ็กซ์เซล ลอนดอน 10-6
ก่อนรองชนะเลิศ บัลแกเรีย อเล็กซานดาร์ อเล็กซานดรอฟ 8 สิงหาคม เอ็กซ์เซล ลอนดอน 16-10
รองชนะเลิศ รัสเซีย ดาวิด ไอราเปเตียน 10 สิงหาคม เอ็กซ์เซล ลอนดอน 13-12
ชิงชนะเลิศ จีน โจว ซื่อหมิง 11 สิงหาคม เอ็กซ์เซล ลอนดอน 10-13

ชีวิตหลังแขวนนวม

[แก้]

หลังจบกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้แล้ว แก้วได้เลื่อนยศจากชั้นประทวนเป็นชั้นสัญญาบัตรจากกองทัพบก และได้แขวนนวมทันทีตามที่ได้ตั้งใจไว้[10]โดยได้รับเงินรางวัลต่าง ๆ มากมายจากทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนกว่า 20 ล้านบาท[11] และหันไปเป็นผู้ฝึกสอนนักมวยสากลสมัครเล่นรุ่นน้องต่อไป[12] แม้จะมีความพยายามที่จะให้แก้วหันมาชกมวยสากลอาชีพ โดยจะประกบคู่กับ โจว ซื่อหมิง คู่ชิงเหรียญทองโอลิมปิกที่หันมาชกมวยสากลอาชีพก็ตาม แต่แก้วก็ได้ปฏิเสธไป

ในต้นปี พ.ศ. 2557 มีข่าวว่าสมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย มีความพยายามจะให้แก้วกลับมาชกมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะชกในเอเชียนเกมส์ 2014 ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ เพราะ ธเนศ องค์จันทร์ต๊ะ ตัววางทีมชาติไทยในรุ่นไลท์ฟลายเวทแทนแก้ว ได้หันไปชกมวยไทยสมัครเล่นแทน แต่ในที่สุดก็ปรากฏว่าข่าวนี้กลายเป็นความเข้าใจผิดไป[12] ซึ่งในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ แก้วได้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้ฝึกสอนให้กับนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย[3]

ในปี พ.ศ. 2558 มีข่าวปรากฏตลอดว่า แก้วจะหวนกลับคืนมาชกอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การเข้าแข่งขันโอลิมปิก 2016 ที่รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล โดยจะทำการชกคัดเลือกตัวในรายการอินเตอร์เนชั่นแนลเทรนนิ่งแคมป์ ที่เมืองเฉียงอัน ประเทศจีน ในช่วงปลายปีเดียวกัน แม้อายุจะถึง 35 ปีแล้วก็ตาม แต่หลังจากการเก็บตัวฝึกซ้อมเป็นเวลา 2 เดือน เจ้าตัวรู้สึกได้ถึงสภาพร่างกายที่ไม่เหมือนเดิม จึงได้ยุติการฝึกซ้อมลงไป และแขวนนวมไปอย่างถาวร[13]

แต่แล้วในปี พ.ศ. 2559 แก้วได้ตัดสินใจหวนคืนกลับมาชกมวยอีกครั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยเข้าคัดเลือกตัวเพื่อไปแข่งขันโอลิมปิก 2016 ในการคัดเลือกตัวรอบสุดท้ายที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ในช่วงเดือนมิถุนายน ปรากฏว่าแก้วสามารถเอาชนะในรอบแรกมาได้ด้วยการเอาชนะ ฮาซาน อัล-คาบี นักมวยชาวอิรัก ด้วยคะแนน 29-28 ทั้ง 3 เสียง แต่ในรอบที่ 2 หรือรอบ 16 คนสุดท้าย แก้วเป็นฝ่ายแพ้ต่อ โซเฮียร์ เอลบักคาลี นักมวยชาวโมร็อกโก ที่ผ่านรอบแรกมาได้ด้วยการชนะผ่าน ด้วยคะแนน 28-29 ทั้ง 3 เสียง [14] จึงตัดสินใจแขวนนวมอย่างเด็ดขาด[15]

ผู้ฝึกสอน

[แก้]

ในปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 มีข่าวปรากฏว่า แก้ว พงษ์ประยูร ตัดสินใจที่จะกลับมาชกมวยอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การได้เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิล โดยเริ่มต้นจากการคัดตัวในรายการชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งในครั้งนี้การกลับมาชกครั้งนี้ แก้วได้ยอมรับว่า อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเดิมเพราะกติการชกได้เปลี่ยนไป [16]

แต่ในการแข่งขันซีเกมส์ 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์ แก้วได้ถูกตัดชื่อออกจากทีมเทรนเนอร์ทีมชาติไทยในครั้งนี้ [17] และหลังการแข่งขันซีเกมส์ แก้วได้รับการติดต่อจากสมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทยให้กลับไปเป็นผู้ช่วยเทรนเนอร์อีกครั้ง โดยแก้วบอกว่าที่ผ่านมา ตนขอพักเพื่อที่จะให้เวลากับครอบครัว [18]

ผลงานการแสดง

[แก้]

ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์

[แก้]
ปี เรื่อง บทบาท
2557 หมัดเด็ดเสียงทอง (ละครโทรทัศน์) รับเชิญ
2566 ขุนพันธ์ 3 (ภาพยนตร์) เสือเมฆ
กล้า ผาเหล็ก (ละครโทรทัศน์) ร.ต.อ.แก้ว พงษ์ประยูร
มวยสะดิ้ง หมัดซิ่งสายฟ้า (ละครโทรทัศน์) สาธิต (รับเชิญ)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

รางวัลที่ได้รับ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 'แก้ว, วรพจน์, อภิเชษฐ์'ซิวเพิ่ม 3 ทอง ปิดฉากมวยซีเกมส์. ไทยรัฐ
  2. แก้ว พงษ์ประยูร. สยามสปอร์ต
  3. 3.0 3.1 กาลเวลาไม่เคยเปลี่ยน... แก้ว พงษ์ประยูร. โพสต์ทูเดย์. ปีที่ 12 ฉบับที่ 4,077. วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557. ISSN 1686-428X หน้า 6
  4. แก้ว พงษ์ประยูร คว่ำเจ้าภาพ คว้าตั๋วมวยโอลิมปิค. สนุกดอตคอม
  5. Olympics boxing: China's Zou Shiming retains light flyweight title. บีบีซี (อังกฤษ)
  6. "Thai boxer Kaew Pongprayoon robbed of Olympic gold medal by bizarre officiating". Combat Asia. August 12, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-22. สืบค้นเมื่อ August 12, 2012.
  7. 'แก้ว'ร่ำไห้!ชกพ่ายจีนชวดเหรียญทอง. คมชัดลึก
  8. ""ไอบา" ตอบข้อความ MGR SPORT ยัน "แก้ว" แพ้ยุติธรรม". ผู้จัดการ. 12 สิงหาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-14. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "แก้ว พงษ์ประยูร" ชนะกำปั้นแอลจีเรีย เข้ารอบ 2 มวยโอลิมปิก. ข่าวสด
  10. "'แก้ว' เป็นปลื้ม ผบ.ทบ. ตกรางวัลเลื่อนยศเป็นร้อยตรี". ไทยรัฐ. 15 สิงหาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. หน้า 17 ต่อ 19 กีฬา, บทเรียนของฮีโร่ จาก 'กร' ถึง 'แก้ว' . "ไฮไลต์กีฬา". เดลินิวส์ฉบับที่ 23,833: วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558 แรม 9 ค่ำ เดือน 2 ปีมะเมีย
  12. 12.0 12.1 หน้า 17 ต่อ 19 กีฬา, ธเนศกลับใจคืนทีมชาติไทย. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,549: วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557 ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย
  13. ""แก้ว" แพ้สังขาร! พับแผนแก้มือชก อลป". ผู้จัดการออนไลน์. 27 พฤศจิกายน 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. หน้า 18 ต่อข่าวกีฬาหน้า 17, 'แก้ว-นิค'ไม่รอด ร่วงมวยอปล.. คมชัดลึกปีที่ 18 ฉบับที่ 5358: วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559
  15. หน้า 19, "สโมสรนักสู้" โดย "เบี้ยหงาย". ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21342: วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559 แรม 8 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก
  16. หน้า 17 ต่อ หน้า 19 กีฬา, แก้วคืนเวทีศึกมวยอช.ลุ้นตั๋วอลป.. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,760: วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย
  17. "อดีตฮีโร่ สวดยับมวยห่วย "แก้ว" แฉต่อยกันในแคมป์". ผู้จัดการออนไลน์. 10 มิถุนายน 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-13. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. หน้า 17 ต่อ หน้า 19 กีฬา, ฮีโร่แก้วรับติวรุ่นน้อง. เดลินิวส์ฉบับที่ 24,022: วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8-8 ปีมะแม
  19. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ประจำปี ๒๕๖๔ เก็บถาวร 2022-05-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๓ ข หน้า ๘๖, ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕
  20. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๖ เก็บถาวร 2022-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๒๓, ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖
  21. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา ประจำปี ๒๕๖๔ เก็บถาวร 2022-05-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๓ ข หน้า ๒๐, ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕
  22. สยามกีฬารายวัน. ปีที่ 28 ฉบับที่ 10155. วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555. หน้า 8
  23. มวยสยามรายวัน. ปีที่ 20 ฉบับที่ 7054. วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555. หน้า 2

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]