ข้ามไปเนื้อหา

เทรีซา เมย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บารอนเนสเมย์แห่งไมย์เดนเฮด
เมย์ ใน ค.ศ. 2024
นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร
ดำรงตำแหน่ง
13 กรกฎาคม 2559[1] – 24 กรกฎาคม 2562
(3 ปี 11 วัน)
กษัตริย์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ก่อนหน้าเดวิด แคเมอรอน
ถัดไปบอริส จอห์นสัน
หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม
ดำรงตำแหน่ง
11 กรกฎาคม 2559 – 23 กรกฎาคม 2562
ก่อนหน้าเดวิด แคเมอรอน
ถัดไปบอริส จอห์นสัน
สมาชิกรัฐสภา
เขต เมเดนเฮด
ดำรงตำแหน่ง
1 พฤษภาคม 2540 – 30 พฤษภาคม 2567
ก่อนหน้าเขตเลือกตั้งใหม่
ถัดไปโจชัว เรย์โนลด์ส
คะแนนเสียง18,846 (33.3%)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
เทรีซา แมรี บราซิเออร์

(1956-10-01) 1 ตุลาคม ค.ศ. 1956 (68 ปี)
อีสต์เบิร์น, อังกฤษ
ศาสนาคริสตจักรแห่งอังกฤษ[2][3]
พรรคการเมืองพรรคอนุรักษนิยม
คู่สมรสฟิลิป เมย์ (สมรส 1980)
ลายมือชื่อ

เทรีซา แมรี เมย์ บารอนเนสเมย์แห่งไมย์เดนเฮด (อังกฤษ: Theresa Mary May, Baroness May of Maidenhead; เกิด 1 ตุลาคม ค.ศ. 1956) คือนักการเมืองชาวบริติช อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2559-2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ช่วงปี 2553-2559 และสมาชิกรัฐสภาจากเขตเมเดนเฮดตั้งแต่ปี 2540 ทั้งยังเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยม-ประเทศเดียว (One-Nation Conservative) ผู้สนับสนุนการรวมตัวของประเทศต่าง ๆ (อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ) ในสหราชอาณาจักรต่อไป นอกจากนี้เมย์ยังเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยมเสรี (liberal conservative) ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เธอได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรต่อจากนายเดวิด แคเมอรอนหลังการเข้าเฝ้า ฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2559

ในอดีตเทรีซา เมย์ เคยทำงานประจำอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 2520 - 2526 ต่อมาที่สมาคมผู้ให้บริการหักบัญชีชำระเงิน ระหว่างปี 2528 - 2540 ขณะเดียวกันก็ยังได้ตำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเมืองเมอร์ตันประจำเขตเดิร์นสฟอร์ดในกรุงลอนดอนไปด้วย จนกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาสามัญชนในการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2540 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่ประสบความสำเร็จในการหาเสียงการเลือกตั้งในปี 2535 และปี 2537 นอกจากนี้เมย์ยังเคยดำรงตำแหน่งหลากหลายตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเงาภายใต้การนำของวิลเลียม เฮก, เอียน ดันแคน สมิธ, ไมเคิล ฮาวเวิร์ด และเดวิด แคเมอรอน เช่น ผู้นำเงาแห่งสภาสามัญชน และรัฐมนตรีเงาประจำกระทรวงแรงงานและสวัสดิการ รวมถึงดำรงตำแหน่งประธานพรรคอนุรักษนิยมช่วงปี 2545 - 2546 อีกด้วย

หลังการจัดตั้งคณะรัฐบาลผสมของแคเมอรอนในปี 2553 เมย์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีด้านสตรีและความเท่าเทียม ซึ่งภายหลังได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีด้านสตรีและความเท่าเทียมในปี 2555 ต่อมาหลังจากที่พรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาสามัญชนได้สำเร็จ เมย์ก็ถูกแต่งตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยอีกครั้ง และเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่วาระของนายเจมส์ ชูเตอร์ เอด เมื่อกว่า 60 ปีก่อน ซึ่งตลอดการดำรงตำแหน่งเมย์ได้ผลักดันนโยบายการปฏิรูปตำรวจ การจัดการกับปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง และได้ริเริ่มนโยบายจำกัดผู้อพยพ[4]

ต่อมาหลังจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปในการออกเสียงประชามติว่าด้วยสมาชิกภาพในสหภาพยุโรป เดือนมิถุนายน 2559 ที่มีนายเดวิด แคเมอรอน เป็นหนึ่งในแกนนำรณรงค์หาเสียง แคเมอรอนก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้สถานภาพผู้นำพรรครัฐบาลอย่างพรรคอนุรักษนิยมสิ้นสุดลงไปด้วย เมย์จึงได้ประกาศว่าเธอจะลงชิงตำแหน่งเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมคนต่อไป และกลายมาเป็นผู้สมัครตัวเต็งของการแข่งขันนี้อย่างรวดเร็ว เมย์ชนะการหยั่งเสียงในหมู่สมาชิกพรรครอบแรกในวันที่ 5 กรกฎาคม โดยมีคะแนนนำผู้สมัครคนอื่น ๆ ค่อนข้างมาก สองวันถัดมาเมย์ชนะการหยั่งเสียงรอบที่สองด้วยคะแนน 199 เสียง และเข้าสู่การแข่งขันกับผู้สมัครอีกคนอย่าง นางแอนเดรีย ลีดซัม ในรอบถัดไป จนกระทั่งวันที่ 11 กรกฎาคม นางลีดซัมประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน ส่งผลให้เมย์กลายเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวและได้รับประกาศเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมในวันเดียวกันนั้นเอง เทรีซา เมย์ จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งสหราชอาณาจักรคนที่สองในประวัติศาสตร์ ถัดจากมาร์กาเรต แทตเชอร์

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Theresa May to succeed Cameron as UK PM on Wednesday". BBC. 11 July 2016. สืบค้นเมื่อ 11 July 2016.
  2. Gimson, Andrew (20 October 2012). "Theresa May: minister with a mind of her own". The Observer. London. May said: 'I am a practising member of the Church of England, a vicar's daughter.'
  3. Howse, Christopher (29 November 2014). "Theresa May's Desert Island hymn". The Daily Telegraph. London. The Home Secretary declared that she was a 'regular communicant' in the Church of England
  4. "Boring and competent Theresa May is what the nation needs after shock Brexit vote". The Independent. 1 July 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-13. สืบค้นเมื่อ 11 July 2016.