อาสนวิหารล็อง
อาสนวิหารแม่พระแห่งล็อง | |
---|---|
ทัศนียภาพจากภายนอก | |
49°33′51″N 3°37′30″E / 49.56417°N 3.62500°E | |
ที่ตั้ง | ล็อง จังหวัดแอน |
ประเทศ | ประเทศฝรั่งเศส |
นิกาย | โรมันคาทอลิก |
สถานะ | โบสถ์ประจำเขต (อาสนวิหารจนกระทั่งปี ค.ศ. 1790) |
ประเภทสถาปัตย์ | กางเขน |
รูปแบบสถาปัตย์ | กอธิก |
แล้วเสร็จ | ค.ศ. 1235 |
ขนาดอื่น ๆ | ยาว 110.50 เมตร (362.5 ฟุต) กว้าง 30.65 เมตร (100.6 ฟุต) |
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1840) |
อาสนวิหารล็อง (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Laon) หรือมีชื่อเต็มว่า อาสนวิหารแม่พระแห่งล็อง (Cathédrale Notre-Dame de Laon) สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระนางมารีย์พรหมจารี ปัจจุบันมีฐานะเป็นโบสถ์ประจำแพริชในนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งในอดีตเคยมีฐานะเป็นอาสนวิหารของอดีตมุขมณฑลล็องซึ่งในปัจจุบันอยู่ในการปกครองของมุขนายกประจำมุขมณฑลซัวซง อันเป็นผลจากการควบรวมตามความตกลง ค.ศ. 1801 อาสนวิหารตั้งอยู่ที่เมืองล็อง จังหวัดแอน แคว้นโอดฟร็องส์ ประเทศฝรั่งเศส
อาสนวิหารแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในสถานที่แห่งแรกในแบบสถาปัตยกรรมกอทิกในประเทศฝรั่งเศส โดยสร้างหลังจากอาสนวิหารแซ็ง-เดอนีและอาสนวิหารนัวยง และยังสร้างก่อนอาสนวิหารแม่พระแห่งปารีสอีกด้วย
อาสนวิหารล็องได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1840[1]
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
[แก้]อาสนวิหารสร้างในแบบสถาปัตยกรรมกอทิกในยุคแรก ซึ่งต่อมาเป็นแรงบันดาลใจในการก่อสร้างอาสนวิหารอีกหลายแห่ง ๆ อาทิ อาสนวิหารแม่พระแห่งปารีส
ตัวอาคารประกอบด้วยหอจำนวนห้าหอจากทั้งหมดเจ็ดตามแบบเดิม : หอแสงสว่างบริเวณจุดตัดกลางโบสถ์ หอคู่บริเวณหน้าบันฝั่งทางเข้าทิศตะวันตก และบริเวณปลายแขนกางเขนข้างละหนึ่งหอ
ทางเดินกลาง
[แก้]บริเวณกลางโบสถ์ประกอบด้วยทั้งหมด 11 ช่วงมุงด้วยเพดานโค้งแหลมหกแฉก (Sexpartite Vault) ที่มีความสูงถึง 26 เมตร โดยแบ่งเป็นทั้งหมดสี่ระดับ: ชั้นซุ้มโค้งและทางเดิน (Arcade), ระเบียงชั้นบน (Tribune), ระเบียงแนบ (Triforium), และหน้าต่างสูง ตามลำดับ บริเวณชั้นล่างเป็นชั้นซุ้มโค้งซึ่งสลับกันรับน้ำหนักโดยเสาสองแบบ เพื่อใช้รับน้ำหนักต่างกัน เสาแบบแรกเป็นเสาทรงกระบอกตัน มีหัวเสาแปดเหลี่ยมไว้รับน้ำหนักที่ถ่ายลงมาจากเพดานโค้งจำนวน 3 สาย ส่วนเสาแบบที่สองก็มีลักษณะเป็นทรงกระบอกเช่นกัน แต่หนาและแข็งแรงกว่า ใช้หัวเสาทรงสี่เหลี่ยมเพื่อรับน้ำหนักจากเพดานโค้งถึง 5 สาย
เสาใหญ่คู่สุดท้ายของบริเวณกลางโบสถ์ก่อนถึงบริเวณจุดตัดกลางโบสถ์นั้นประกอบด้วยเสากลมล้อมรอบด้วยเสาขนาดเล็กจำนวน 5 เสา ซึ่งใช้เพื่อช่วยรับน้ำหนักจากเสาหลัก บริเวณจุดรับน้ำหนักจากคานเป็นแป้นหัวเสาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
บริเวณชั้นบนของบริเวณกลางโบสถ์ มีระเบียงชั้นบนเป็นช่องทะลุถึงพื้นแบ่งเป็นสองช่องขนาดเท่าๆกัน เหนือขึ้นไปอีกชั้นเป็นระเบียงแนบซึ่งเป็นระเบียงตัน แต่ละช่วงแบ่งเป็นหน้าต่างระเบียงจำนวนสามช่อง และชั้นสุดท้ายซึ่งอยู่สูงที่สุดเป็นช่องหน้าต่างสูงช่วงละหนึ่งช่องตามปกติ
บริเวณกลางโบสถ์ถูกขนาบด้วยสองทางเดินข้าง บริเวณทิศเหนือ และทิศใต้ตามลำดับ ซึ่งมีเพดานโค้งเหมือนกัน ต่างกันเพียงแค่มีแค่ 4 แฉก ในบริเวณนี้ประกอบด้วยชาเปลจำนวน 27 แห่ง สร้างอยู่ระหว่างครีบยัน ซึ่งสามารถมองเห็นบริเวณกลางโบสถ์และบริเวณร้องเพลงสวดได้
เหนือสุดบริเวณหน้าบันทางเข้า เป็นที่ตั้งของหน้าต่างกุหลาบแบบแรยอน็อง ซึ่งมองเห็นได้เป็นบางส่วนเบื้องหลังออร์แกน
แขนกางเขน
[แก้]ในช่วงการก่อสร้างอาสนวิหารแห่งนี้ ล็องมีประชากรประมาณ 15,000 คน ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักร บริเวณแขนกางเขนก่อสร้างระหว่างปีค.ศ. 1170 ถึง 1185 อันเนื่องมาจากขนาดอันใหญ่โต: ยาว 54 เมตร กว้าง 22 เมตร ขนาบด้วยทางเดินข้างขนาดใหญ่ ราวกับว่ามีโบสถ์แห่งที่สองตั้งอยู่ในที่เดียวกัน
ในช่วงแรกของการก่อสร้าง บริเวณร้องเพลงสวดมีความลึกเพียงแค่ 3 ช่วงเท่านั้น ซึ่งต่อมาสั้นเกินไป จึงได้มีการตัดสินใจขยายออกเป็นจำนวนถึง 10 ช่วงด้วยกัน ทำให้แขนกางเขนตัดผ่านตัววิหารเกือบตรงกลางพอดี
บริเวณเหนือจุดตัดกลางโบสถ์เป็นหอรับแสงซึ่งมีความสูงถึง 30 เมตร (ด้านนอกสูงถึง 48 เมตร) บริเวณภายในของหอช่วงฐานเป็นระเบียงแนบซึ่งเป็นกำแพงตันไม่มีหน้าต่าง ลักษณะของหอมีหน้าตัดเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านล่างของหอเป็นระเบียงแนบ ซึ่งอยู่ภายใต้กลีบเพดานจำนวน 8 กลีบ (แบ่งเป็นข้างละ 2 กลีบ) เหนือขึ้นไปเป็นหน้าต่างจำนวน 8 บาน (แบ่งเป็นข้างละ 2 บาน) ใช้เพื่อส่องสว่างอาสนวิหารอันเป็นที่มาของชื่อหอ
การรับน้ำหนักของแขนกางเขนคล้ายคลึงกับบริเวณกลางโบสถ์ กล่าวคือ เสาแต่ละต้นรับน้ำหนักร่วมกันเป็นสี่ช่วง และสูงขึ้นไปอีกสองชั้นเหมือนกันทั้งสองข้าง
ระเบียงภาพ
[แก้]-
หน้าบันฝั่งทิศเหนือประกอบด้วยหอทั้งสอง (หอฝั่งทิศตะวันออกยังไม่ได้สร้าง)
-
รายละเอียดบริเวณหอ
-
กุญแจเพดาน
-
หน้าต่างกุหลาบฝั่งแขนกางเขนทิศเหนือ
-
อาสนวิหารมองจากทิศเหนือ
-
รายละเอียดของเพดานโค้งแหลมหกแฉก
-
บริเวณจุดตัดกลางโบสถ์ และหอรับแสง
-
เสาหลักบริเวณกลางโบสถ์ และหัวเสาทั้งสองแบบ
-
อาสนวิหารมองจากสถานีรถไฟ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://www.culture.gouv.fr/public/mistral/merimee_fr?ACTION=CHERCHER&FIELD_1=REF&VALUE_1=PA00115710 กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส