ศาสนายาห์เวห์
ศาสนายาห์เวห์ (อังกฤษ: Yahwism) เป็นชื่อเรียกสมัยใหม่ของศาสนาอิสราเอลโบราณและยูดาห์[1] ศาสนายาห์เวห์เป็นศาสนาหนึ่งในกลุ่มศาสนาเซไมต์โบราณสมัยยุคเหล็ก มีความเชื่อแบบพหุเทวนิยมโดยพื้นฐานและมีกลุ่มเทพและเทวีต่าง ๆ ที่วงศ์วานอิสราเอลนับถือ[2] เทวราชของเหล่าเทพคือพระยาห์เวห์ ซึ่งได้รับการนับถืออย่างสูงในฐานะพระเป็นเจ้าของราชอาณาจักรอิสราเอลทั้งสอง และแอเชราห์ พระชายา[3] รองลงมาเป็นเทพชั้นสอง เช่น บาอัล ชามัช ยาริค มอต และอัสตาร์ตี โดยแต่ละองค์จะมีนักบวชและผู้เผยพระวจนะเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีพระราชวงศ์บางส่วนเป็นศาสนิกชน[4][5]
ศาสนายาห์เวห์ประกอบด้วยเทศกาล พิธีสังเวย การกล่าวคำสัตย์ พิธีส่วนตัว และการตัดสินทางศาสนาเพื่อยุติข้อพิพาท[6] มีศาสนสถานหลายแห่งที่อุทิศแด่พระยาห์เวห์ทั่วอิสราเอล ยูดาห์ และสะมาเรียตลอดประวัติศาสตร์ศาสนา ไม่เฉพาะแต่พระวิหารในกรุงเยรูซาเลม[7][8] กระนั้นพระวิหารในกรุงเยรูซาเลมมีความสำคัญสำหรับกษัตริย์แห่งอิสราเอลและยูดาห์ ผู้นำศาสนาในฐานะอุปราชทางโลกของพระเป็นเจ้า[9]
แนวคิดที่ว่ามีเทพองค์อื่นนอกเหนือจากหรือเทียบเท่าพระยาห์เวห์ค่อย ๆ ลดลงจากกระแสความคิดทางศาสนาใหม่ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเริ่มในช่วงสหราชอาณาจักรอิสราเอล ราชอาณาจักรอิสราเอลทางเหนือและราชอาณาจักรยูดาห์ทางใต้มีธรรมเนียมร่วมในการนับถือพระยาห์เวห์ ความเปลี่ยนแปลงทางเทววิทยาในยุคหลังเกี่ยวกับสถานะของพระยาห์เวห์จำกัดอยู่ในคนกลุ่มเล็กเมื่อแรกเริ่ม[10] ก่อนจะขยายวงกว้างในช่วงความผันผวนทางการเมืองสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 7–6 ก่อนคริสตกาล ศาสนายาห์เวห์เปลี่ยนผ่านจากพหุเทวนิยม (หรือการนับถือพระยาห์เวห์เป็นหลักในบันทึกบางแหล่ง) สู่เอกเทวนิยมที่พระยาห์เวห์เป็นพระผู้สร้างและเทพองค์เดียวที่ควรค่าแก่การนับถือเมื่อสิ้นสุดการจองจำที่บาบิโลเนีย[11] หลังจากนั้นศาสนิกชนหลายกลุ่มของศาสนายาห์เวห์รวมตัวกันเป็นศาสนายูดาห์สมัยพระวิหารที่สองเมื่อมีการตั้งเยฮุดเมดินาตาในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล[12][13] ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของศาสนายูดาห์และศาสนาสะมาริตัน รวมถึงศาสนาอับราฮัมต่อมาอย่างศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Miller 2000, p. 1.
- ↑ Sommer 2009, p.145: It is a commonplace of modern biblical scholarship that Israelite religion prior to the Babylonian exile was basically polytheistic. [...] Many scholars argue that ancient Israelites worshipped a plethora of gods and goddesses [...].
- ↑ Niehr 1995, p. 54-55.
- ↑ Handy 1995, pp. 39–40.
- ↑ Meier 1999, p. 45–46.
- ↑ Bennett 2002, p. 83.
- ↑ Davies 2010, p. 112.
- ↑ Miller 2000, p. 88.
- ↑ Miller 2000, p. 90.
- ↑ Albertz 1994, p. 61.
- ↑ Betz 2000, p. 917 "With the work of the Second Isaiah toward the end of the Babylonian Exile, Israelite monotheism took on a more forceful form of expression. Yahweh is proclaimed as the creator of the cosmos (Isa. 40:21-23, 28). Foreign deities do not exist; there is only one true God, Yahweh (40:12-31; 43:8-13; 46:5-13)."
- ↑ Moore & Kelle 2011, p. 402.
- ↑ Pummer 2016, p. 25.