ข้ามไปเนื้อหา

วิชัย สังข์ประไพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิชัย สังข์ประไพ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด16 มกราคม พ.ศ. 2498 (69 ปี)
อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย
พรรคการเมืองความหวังใหม่ (2535–?) ประชาธิปัตย์ (2561–2566)
คู่สมรสทิพวรรณ สังข์ประไพ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล
ประจำการพ.ศ. 2522–2555
ยศ พลตำรวจตรี

พลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ (เกิด 16 มกราคม พ.ศ. 2498) เป็นอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)[1] อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และนายกสมาคมศิษย์เก่า​มหาวิทยาลัยศรีปทุม​ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล อดีตผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 และอดีตที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของฉายา "มือปราบหูดำ"

ประวัติ

[แก้]

พล.ต.ต.วิชัย มีชื่อเล่นว่า "แต้ม" เกิดวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2498 ในครอบครัวชาวนาที่ค่อนข้างยากจน ที่อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยการเป็นลูกคนที่ 4 ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 7 คน โดยที่พ่อแม่เมื่อเสร็จสิ้นจากการทำนาแล้วก็รับจ้างก่อสร้างเป็นกรรมกร [2]

ในวัยเด็กเคยใฝ่ฝันอยากเป็นทหาร เพราะประทับใจจากการที่เห็นทหารในเครื่องแบบนั่งเรือผ่านหน้าบ้านที่อยุธยา เข้าสู่กรุงเทพมหานครแล้ว ได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนบางยี่ขันสงเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงเรียนสงเคราะห์ลูกหลานของพนักงานโรงงานสุราบางยี่ขัน ซึ่ง พล.ต.ต.วิชัย เป็นลูกคนแรกด้วยของครอบครัวที่ได้เข้าเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ[2] จากนั้นได้สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารแล้วแต่ไม่ได้ จึงเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5, โรงเรียนนักเรียนพลตำรวจนครบาล รุ่นที่ 25, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม, หลักสูตรอบรมโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่นที่ 35, ปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และศึกษาเพิ่มเติมหลักสูตรนักเรียนนายร้อยอบรม รุ่นที่ 25, หลักสูตรโรงเรียนผู้กำกับการ รุ่นที่ 35 และหลักสูตรการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน สถาบันพระปกเกล้า (ปรม. รุ่นที่ 6) ได้ติดยศ ร้อยตำรวจตรี (ร.ต.ต.) เมื่อปี พ.ศ. 2524

พล.ต.ต.วิชัย ได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจมือปราบชื่อดังที่มากประสบการณ์และมีประวัติการทำงานด้านนี้อย่างโชกโชน เคยวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายมาแล้วอย่างน้อย 18 ศพ เคยผ่านคดีสำคัญ ๆ มาแล้วมากมาย ทั้งในส่วนของนครบาลและภูธร ในยุคที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ย้ายไปประจำการที่จังหวัดบุรีรัมย์ และย้ายกลับมาประจำการที่นครบาลอีกครั้ง ในยุคของ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เป็นรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ[2]

นอกจากนี้แล้วยังเคยเป็นนายเวรของ พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สมัยเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ต.วิชัย เป็นเจ้าของแนวคิดที่แหวกแนวและสร้างความฮือฮาให้สังคม คือ โครงการปะ-ฉะ-ดะ ที่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเคลื่อนที่เร็วด้วยการใช้รถมอเตอร์ไซด์แบบชอปเปอร์เพื่อเข้าถึงพื้นที่ก่ออาชญากรรมได้อย่างรวดเร็ว[3]

เคยได้รับรางวัลต่าง ๆ มาแล้วมากมาย เช่น รางวัลสืบสวนดีเด่นของกรมตำรวจ ปี พ.ศ. 2539, รางวัลข้าราชการดีเด่นของสมาคมวิชาชีพผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2543, รางวัลปราบปรามยาเสพติดดีเด่นของ ป.ป.ส.จากสำนักนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2545 และ ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้น[4]

ในวิกฤมหาอุทกภัยเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 พล.ต.ต.วิชัย ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 1 ได้นำกำลังตำรวจชุมชนสัมพันธ์ทั้งชายและหญิงไปจัดแสดงดนตรีที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อขอรับเงินบริจาคด้วย[5]

ในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555 พล.ต.ต.วิชัย ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปช่วยราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเวลา 30 วัน หลังจากก่อนหน้านั้น ได้มีคำสั่งเช่นเดียวกันนี้กับ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่สามารถจัดการกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มคนเสื้อหลากสีได้ จากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองจเรตำรวจแห่งชาติ[6]

ต่อมาในวันที่ 20 กันยายน ปีเดียวกัน พล.ต.ต.วิชัย ได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการ หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติกล่าวหา พล.ต.ต.วิชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 กับพวก ว่าใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต จับกุมผู้กล่าวหาแล้วบีบบังคับให้ใช้หนี้เจ้าหนี้พนันมีมูลความผิด [7]พล.ต.ต.วิชัยเคยเป็นกรรมการอิสระบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก​ จำกัด (มหาชน)

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

พล.ต.ต.วิชัย แม้จะได้รับฉายาว่า มือปราบหูดำ อันเนื่องจากมีปานดำที่ใบหูข้างซ้าย แต่ผู้ใกล้ชิดและผู้ใต้บังคับบัญชาจะนิยมเรียกว่า "ผู้การแต้ม" ตามชื่อเล่น ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ นางทิพวรรณ สังข์ประไพ เมื่อสมัยที่ยังรับราชการเป็นตำรวจจะนอนที่ทำงานทุกวัน จะกลับบ้านต่อเมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น[2] มีงานอดิเรก คือ เล่นกีฬา วิ่งออกกำลังกาย และอ่านหนังสือประเภทพ็อคเก็ตบุ๊ค ปัจจุบัน กิจกรรมทางสังคม เป็นประธานของสโมสรฟุตบอลจังหวัดนนทบุรี และเป็นเจ้าของค่ายมวย "ว.สังข์ประไพ" ซึ่งมีนักมวยที่ได้แชมป์ระดับเวทีมาตรฐานทั้งเวทีมวยราชดำเนิน และเวทีมวยลุมพินี มีอาหารที่ชื่นชอบคือ งูเห่า[8]

การเมือง

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2556 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดูแลงานด้านจัดระเบียบความเรียบร้อยและการปราบปรามยาเสพติด[9] แต่ต่อมา พล.ต.ต.วิชัย ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559 โดยระบุสาเหตุของการลาออกว่าจะไปประกอบธุรกิจส่วนตัว ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ได้ลงนามอนุมัติพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม ปีเดียวกัน

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.496/2558 ยกฟ้อง พล.ต.ต.วิชัย [10]

ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พล.ต.ต.วิชัยได้เข้าสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์[11] และได้รับการวางตัวให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคในพื้นที่เขต 9 กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบไปด้วย เขตหลักสี่ เขตจตุจักร (ยกเว้นแขวงจตุจักรและแขวงจอมพล) ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 พล.ต.ต.วิชัยได้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตของกรุงเทพมหานคร เขต 8 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาในวันที่ 12 กันยายน พล.ต.ต.วิชัยได้ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และประกาศยุติบทบาททางการเมือง[12]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. มติครม. 18 ตุลาคม พ.ศ. 2565
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 บ้านนี้สีฟ้า, รายการทางบลูสกายแชนแนล: จันทร์ที่ 2 กันยายน 2556
  3. ‘ปะ-ฉะ-ดะ’ ชุดจู่โจมพันธุ์ดุ! เขี้ยวเล็บใหม่ ‘มือปราบหูดำ’ เก็บถาวร 2010-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากบางกอกทูเดย์
  4. ดาวเด่น-ดาวดับ ความแตกต่าง "วิสุทธิ์ กับ วิชัย" เก็บถาวร 2017-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากผู้จัดการออนไลน์
  5. ตร.ระดมช่วยเหลือน้ำท่วม จากเว็บไซต์ช่อง 7
  6. [1]เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ก.ตร.มติเอกฉันท์! "คำรณวิทย์"นั่ง ผบช.น.-"วินัย"นั่ง ผบช.ภ.1 จากผู้จัดการออนไลน์
  7. ""ผู้การแต้ม" ยื่นขอออก! รับไม่ได้ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลผิดบีบผู้ต้องหาใช้หนี้พนัน จากผู้จัดการออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-24. สืบค้นเมื่อ 2012-09-21.
  8. บอกข่าวเล่าเรื่อง, รายการทางช่อง 9: เสาร์ที่ 27 มีนาคม 2553
  9. ใต้ฟ้ากรุงเทพฯ โดย ประกาย, หน้า 16 กทม.-จราจร. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,183: วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556 แรม 8 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-22. สืบค้นเมื่อ 2016-11-29.
  11. ""ผู้การฯแต้ม" ตัดสินใจสวมเสื้อ ปชป. เตรียมลงกทม.เขต 4". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-10. สืบค้นเมื่อ 2021-05-10.
  12. ""ผู้การแต้ม" ประกาศหยุดบทบาททางการเมือง ยื่นลาออกจากประชาธิปัตย์แล้ว". ไทยรัฐ. 12 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2011-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๕๗, ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2010-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๘ ข หน้า ๑๐๓, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]