โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
โรงเรียนนายร้อยตำรวจ Royal Police Cadet Academy | |
---|---|
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | รร.นรต. /RPCA |
ประเภท | โรงเรียนทหาร-ตำรวจ |
สถาปนา | พ.ศ. 2444 |
ผู้บัญชาการ | พล.ต.ท.เสนิต สำราญสำรวจกิจ |
ผู้อำนวยการ | พลตำรวจโท ปิยะ อุทาโย |
สี | เลือดหมู-ดำ |
เพลง | มาร์ชนักเรียนนายร้อยตำรวจ |
เว็บไซต์ | rpca |
โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (Royal Police Cadet Academy : RPCA) เป็นหน่วยงานระดับกองบัญชาการ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตั้งอยู่ที่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีภารกิจหลักในการฝึกอบรม ให้การศึกษา อบรมหล่อหลอมนักเรียนนายร้อยตำรวจให้มีคุณลักษณะเหมาะสมที่จะเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร และฝึกอบรมผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรอื่น ผู้ที่ศึกษาตามหลักสูตรหลักของในโรงเรียนนายร้อยตำรวจเรียกว่า "นักเรียนนายร้อยตำรวจ" (นรต.) .ผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงตามหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจจะได้รับการแต่งตั้งยศเป็น "ว่าที่ร้อยตำรวจตรี" โดยนายตำรวจสัญญาบัตรที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระองค์ท่าน หรือองค์ผู้แทนพระองค์ตลอดมา
ประวัติ
[แก้]พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2444 ณ มณฑลนครราชสีมา อันเป็นรากฐานเริ่มต้นของโรงเรียนนายร้อยตำรวจยุคปัจจุบัน โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือที่ 67/719 ลงวันที่ 19 เมษายน ร.ศ.121 (พ.ศ. 2445) กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นแล้ว แต่ติดขัดเรื่องที่ในการตั้งโรงเรียน จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ย้ายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไปตั้งที่ ต.ห้วยจระเข้ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาและลงพระปรมาภิไธยพระราชทานพระบรมราชานุญาต เป็นหนังสือถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ 2 ฉบับ ฉบับแรกหนังสือที่ 59/234 ลงวันที่ 20 เมษายน ร.ศ.121 ฉบับที่ 2 หนังสือที่ 131/361 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม ร.ศ.121 โปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ย้ายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตามความกราบบังคมทูลขอของกรมหลวงดำรงราชานุภาพ อันเป็นหลักฐานที่แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้น
สำหรับประวัติสถานที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ [1] ตั้งแต่เมื่อแรกเริ่มตั้งขึ้นในประเทศไทย จนกระทั่งมีที่ตั้งล่าสุดที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้มีการย้ายสถานที่ตั้งตามลำดับดังนี้
- สมัยที่ 1 โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร นครราชสีมา พ.ศ. 2444 มีนายร้อยโท ม.ร.ว.แดง (หม่อมแดง) ผู้บังคับการกองตำรวจภูธรเขต 3 นครราชสีมา ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นคนแรก
- สมัยที่ 2 โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร ห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม (ครั้งที่ 1) พ.ศ. 2447 - พ.ศ. 2458
- สมัยที่ 3 โรงเรียนนายหมวด คลองไผ่สิงโต กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2458 - พ.ศ. 2464
- สมัยที่ 4 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2464 - พ.ศ. 2476
- สมัยที่ 5 โรงเรียนนายร้อยทหารบก (ยศ.) กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2476 - พ.ศ. 2489 ทั้งนี้ ได้มีการเริ่มนับรุ่นของนักเรียนนายร้อยตำรวจ ครั้งแรกเป็น นรต.รุ่นที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2480 ในขณะที่ศึกษาร่วมกับนักเรียนนายร้อยทหารบก
- สมัยที่ 6 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2497
- สมัยที่ 7 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2497 - ปัจจุบัน
ซึ่ง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น เป็นผู้วางรากฐานให้ย้ายสถานที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไปตั้ง ณ อ.สามพราน จ.นครปฐม เมื่อ พ.ศ. 2497 และเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขณะเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ได้เสด็จทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ณ อ.สามพราน จ.นครปฐม อย่างเป็นทางการ
แม้ว่าจะได้ทรงพระราชทานก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2444 ณ กองตำรวจภูธรเขต 3 นครราชสีมา แต่โรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ถือเอาวันที่ 19 เมษายน ร.ศ.121 (พ.ศ. 2445) เป็นวันสถาปนาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาและลงพระปรมาภิไธยตอบหนังสือของกรมหลวงดำรงราชานุภาพไว้เป็นหลักฐาน
ปัจจุบันโรงเรียนนายร้อยตำรวจบริหารงานภายใต้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และ พระราชบัญญัติโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ศ. 2551
ธงชัยประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
[แก้]โรงเรียนนายร้อยตำรวจได้รับพระราชทานธงชัยประจำหน่วยตำรวจจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พร้อมกับหน่วยอื่นของตำรวจอีก 5 หน่วย เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยดังกล่าวด้วยพระองค์เอง ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ผืนธงชัยมีลักษณะเช่นเดียวกับธงชาติ ภายในยอดธงบรรจุเส้นพระเกศาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และบรรจุพระพุทธรูปองค์เล็กเรียกว่า "พระยอดธง" เอาไว้ ธงชัยจึงถือเป็นตัวแทนของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเหล่าข้าราชการตำรวจ นักเรียนนายร้อยตำรวจ และปวงชนชาวไทยให้ความเคารพ
ธงชัยประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจนี้ มีลักษณะและการได้มาเช่นเดียวกันกับธงชัยเฉลิมพล ซึ่งได้ทรงพระราชทานแก่หน่วยทหารทุกประการ โดยสำนักราชเลขาธิการได้บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับ "ธงชัยประจำหน่วยตำรวจ" นี้ไว้ ตามหลักฐานต่าง ๆ ปรากฏชื่อธงดังกล่าว ได้แก่ "ธงชัยเฉลิมพลประจำกองตำรวจ" "ธงชัยประจำกอง" "ธงชัย" "ธงประจำกอง" ซึ่งก็คือธงเดียวกัน
ในวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันตำรวจ คณะนายตำรวจปกครองและนักเรียนนายร้อยตำรวจ จะทำการอัญเชิญธงชัยประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจนี้ไปทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนาม
โครงสร้างส่วนราชการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
[แก้]โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยแบ่ง หน้าที่ภารกิจออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายปกครองและการฝึก ฝ่ายวิชาการ และมีหน่วยงานขึ้นตรงต่อ โรงเรียนนายร้อยตำรวจอีกจำนวนหนึ่ง ดังนี้[2]
1. ฝ่ายบริหาร รับผิดชอบด้านการบริหารงานทั่วไปของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้แก่ การสรรหาและคัดเลือก การบริหารงานบุคคล การคลัง แผนและงบประมาณ นิติการ ยานพาหนะ อาคาร และสถานที่ พิพิธภัณฑ์ โภชนาการ และการแพทย์ ประกอบด้วยส่วนราชการดังนี้ (ก) กองบังคับการอำนวยการ แบ่งเป็นดังต่อไปนี้
- 1) ฝ่ายสรรหาและคัดเลือก
- 2) ฝ่ายบริหารงานบุคคล
- 3) ฝ่ายคลัง
- 4) ฝ่ายแผนและงบประมาณ
- 5) ฝ่ายนิติการ
- 6) ฝ่ายยานพาหนะ อาคารและสถานที่
- 7) ฝ่ายพิพิธภัณฑ์
- 8) ฝ่ายโภชนาการ
- 9) ฝ่ายแพทย์
2. ฝ่ายปกครองและการฝึก รับผิดชอบด้านการปกครองบังคับบัญชา ให้คำปรึกษา แนะนำ สนับสนุนงานกิจกรรมต่าง ๆ ของนักเรียนนายร้อยตำรวจ นักเรียนเตรียมทหารในส่วนของสำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ นักเรียนอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รวมทั้งจัดการฝึกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การฝึกแบบตำรวจ การฝึกยุทธวิธีตำรวจ การฝึกพลศึกษาและต่อสู้ป้องกันตัว ประกอบด้วยส่วนราชการ ดังนี้
(ข) กองบังคับการปกครอง แบ่งเป็นดังต่อไปนี้
- 1) ฝ่ายปกครอง 1 (ปกครองนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 1-4)
- 2) ฝ่ายปกครอง 2(ปกครองนักเรียนอบรม)
- 3) ฝ่ายปกครอง 3 (ปกครองนักเรียนเตรียมทหาร โดยปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงเรียนเตรียมทหาร จว.นครนายก)
- 4) ฝ่ายกิจกรรมนักเรียน
- 5) ฝ่ายอำนวยการ
(ค) ศูนย์ฝึกตำรวจ แบ่งเป็นดังต่อไปนี้
- 1) กลุ่มงานการฝึกแบบตำรวจ
- 2) กลุ่มงานยุทธวิธีตำรวจ
- 3) กลุ่มงานพลศึกษาและต่อสู้ป้องกันตัว
- 4) ฝ่ายอำนวยการ
3. ฝ่ายวิชาการ รับผิดชอบด้านการให้ความรู้ทางวิชาการต่าง ๆ เช่น การเรียนการสอน การวิจัย การฝึกอบรม และการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ประกอบด้วยส่วนราชการ ดังนี้
(ง) คณะตำรวจศาสตร์ แบ่งเป็นดังต่อไปนี้
- 1) กลุ่มงานคณาจารย์
- 2) สำนักงานคณบดี
(จ) คณะนิติวิทยาศาสตร์ แบ่งเป็นดังต่อไปนี้
- 1) กลุ่มงานคณาจารย์
- 2) กลุ่มงานนักนิติวิทยาศาสตร์
- 3) สำนักงานคณบดี
(ฉ) คณะสังคมศาสตร์ แบ่งเป็นดังต่อไปนี้
- 1) กลุ่มงานคณาจารย์
- 2) สำนักงานคณบดี
(ช) ศูนย์บริการทางการศึกษา แบ่งเป็นดังต่อไปนี้
- 1) ฝ่ายสนับสนุนการเรียนการสอน
- 2) ฝ่ายพัฒนาการศึกษา
- 3) ฝ่ายบริหารงานวิจัย
- 4) ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
- 5) ฝ่ายบริหารและธุรการ
4. หน่วยงานขึ้นตรงต่อโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รับผิดชอบในงานเชิงรุกเพื่อให้การปฏิบัติงาน เป็นไปด้วยความรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบด้วยส่วนราชการ ดังนี้
(ซ) สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยบริการ แบ่งเป็นดังต่อไปนี้
- 1) ฝ่ายระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย
- 2) ฝ่ายระบบสารสนเทศ
- 3) ฝ่ายวิทยบริการ
- 4) ฝ่ายบริหารและธุรการ
(ฌ) สำนักประกันคุณภาพการศึกษา แบ่งเป็นดังต่อไปนี้
- 1) ฝ่ายมาตรฐานการศึกษา
- 2) ฝ่ายตรวจสอบและประเมินผล
- 3) ฝ่ายบริหารและธุรการ
(ญ) สำนักเลขานุการ (ฎ) สำนักสภาการศึกษาและส่งเสริมกิจการ
หลักสูตร
[แก้]โรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีภารกิจหลักในการให้การศึกษาอบรมทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และการอบรมหล่อหลอมคุณลักษณะความเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรให้แก่ผู้ที่เข้ารับการศึกษาอบรมในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งหลักสูตรหลักและเป็นหลักสูตรประจำของโรงเรียนนายร้อยตำรวจคือ "หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ"
หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ (การตำรวจ) มุ่งเน้นการศึกษาอบรมให้นักเรียนนายร้อยตำรวจมีวิชาความรู้และการอบรมหล่อมหลอมคุณลักษณะอันดีใน 3 ด้าน คือ
- 1) มีความรู้ทางวิชาการพื้นฐานของระดับปริญญาตรี
- 2) มีความรู้ทางวิชาชีพ ที่เป็นความรู้เฉพาะในด้านตำรวจ
- 3) มีบุคลิกลักษณะและมีภาวะความเป็นผู้นำตำรวจ มีคุณลักษณะทางร่างกายและจิตใจที่เหมาะสมจะเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร และมีคุณธรรมจริยธรรม
สภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้มีการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจให้มีความทันสมัย มีความเหมาะสมกับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาโดยตลอด นอกจากนั้น โรงเรียนนายร้อยตำรวจยังได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการเปิดหลักสูตรร่วมกัน เช่น ร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
อุดมคติของตำรวจ
[แก้]- เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่
- กรุณาปรานีต่อประชาชน
- อดทนต่อความเจ็บใจ
- ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก
- ไม่มักมากในลาภผล
- มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
- ดำรงตนในยุติธรรม
- กระทำการด้วยปัญญา
- รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต
พระนิพนธ์โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายีมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกองค์ที่ 16 เมื่อพุทธศักราช 2499
เพลงประจำสถาบัน
[แก้]- มาร์ชนักเรียนนายร้อยตำรวจ (เพลงมาร์ชประจำสถาบัน)
- มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์ (เพลงประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
- สามพราน
- สนสามพราน
- ขวัญดาว
- ลาก่อนสามพราน
- ลาแล้วสามพราน
- สามพรานแดนดาว
ฟังเพลงประจำสถาบัน ทั้ง 8 เพลง
ทำเนียบผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
[แก้]ทำเนียบผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ | ||
---|---|---|
รายนามผู้บัญชาการ | วาระการดำรงตำแหน่ง | |
1. พลตำรวจโท สมชาย ไชยเวช | พ.ศ. 2532 - 2534 | |
2. พลตำรวจโท จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ | พ.ศ. 2534 - 2535 | |
3. พลตำรวจโท นิรดม ตันตริก | พ.ศ. 2535 - 2536 | |
4. พลตำรวจโท อัยยรัช เวสสะโกศล | พ.ศ. 2536 - 2537 | |
5. พลตำรวจโท โกศล รัตนาวะดี | พ.ศ. 2537 - 2537 | |
6. พลตำรวจโท เขตต์ นิ่มสมบุญ | พ.ศ. 2537 - 2539 | |
7. พลตำรวจโท ชิดชัย วรรณสถิตย์ | พ.ศ. 2539 - 2540 | |
8. พลตำรวจโท เสรี เตมียเวส | พ.ศ. 2540 - 2540 | |
9. พลตำรวจโท หม่อมหลวงฉลองลาภ ทวีวงศ์ | พ.ศ. 2540 - 2541 | |
10. พลตำรวจโท สุนทร นุชนารถ | พ.ศ. 2541 - 2545 | |
11. พลตำรวจโท วงกต มณีรินทร์ | พ.ศ. 2545 - 2546 | |
12. พลตำรวจโท ชัยยันต์ มะกล่ำทอง | พ.ศ. 2546 - 2547 | |
13. พลตำรวจโท วุฒิ พัวเวส | พ.ศ. 2547 - 2548 | |
14. พลตำรวจโท พงศพัศ พงษ์เจริญ | พ.ศ. 2548 - 2550 | |
15. พลตำรวจโท อมรินทร์ อัครวงษ์ | พ.ศ. 2550 - 2553 | |
16. พลตำรวจโท อารีย์ อ่อนชิต | พ.ศ. 2553 - 2556 | |
17. พลตำรวจโท ศักดา เตชะเกรียงไกร | พ.ศ. 2556 - 2559 | |
18. พลตำรวจโท ดร. ปิยะ อุทาโย | พ.ศ. 2559 - 2561 | |
19. พลตำรวจโท สมชาย พัชรอินโต | พ.ศ. 2561 - 2562 | |
20. พลตำรวจโท อาชวันต์ โชติกเสถียร | พ.ศ. 2562 - 2563 | |
21. พลตำรวจโท นิรันดร เหลื่อมศรี | พ.ศ. 2563 - 2564 | |
22. รองศาสตราจารย์ พลตำรวจโท ดร.ธัชชัย ปิตานีละบุตร | พ.ศ. 2564 - 2565 | |
23. พลตำรวจโท ดร.เสนิต สำราญสำรวจกิจ | พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน |
นักเรียนนายร้อยตำรวจ
[แก้]คำขวัญประจำชั้นปี
[แก้]เมื่อ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้ก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่ อ.สามพราน จว.นครปฐม ได้ให้ พ.ต.อ.วิจิตร สุกโชติรัตน์ ทำหน้าที่เป็นอนุศาสนาจารย์ และสอนวิชาจริยธรรมแก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ (พ.ต.อ.วิจิตร สุกโชติรัตน์ นั้นขณะครองสมณเพศ มีสมณศักดิ์ทางสงฆ์เป็นพระมหา)
ขณะก่อสร้างอาคารต่างๆภายในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ต.อ.วิจิตรฯ ได้ขอคำแนะนำจากพระเถระผู้ใหญ่ขอตั้งคำขวัญประจำชั้นปีของนักเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อเป็นกุศโลบายและแนวทางในการอบรมปลูกฝัง นรต. ซึ่งเมื่อก่อสร้างอาคารต่างๆเสร็จใน พ.ศ. 2497 (นรต.รุ่นที่ 9,10,11) ก็ได้ตั้งคำขวัญประจำชั้นปีของนักเรียนนายร้อยตำรวจติดไว้ประจำอาคารนอนของ นรต.ทั้ง 4 อาคาร ดังนี้
นรต.ชั้นปีที่ 1 คำขวัญคือ “ขันตีอุตสาหะ” หมายความว่า ให้ นรต.ชั้นปีที่ 1 ต้องมีขันติ คือความอดทน และอุตสาหะ คือพากเพียรรับการฝึกหนัก ต้องมุมานะอดทนในการเปลี่ยนชีวิตจากคนธรรมดาให้เป็นผู้ที่รับการฝึก นรต.ชั้นปีที่ 2 คำขวัญคือ “วิจัยกรณี” หมายความว่า จะต้องแยกแยะวิจัยกรณีต่างๆ เพื่อก้าวไปสู่ความก้าวหน้าในขั้นต่อๆไป นรต.ชั้นปีที่ 3 คำขวัญคือ “รักษ์วินัย” หมายความว่า จะต้องรักษาระเบียบวินัยและขนบธรรมเนียมอันดีงามต่างๆ นรต.ชั้นปีที่ 4 คำขวัญคือ “เกียรติศักดิ์” หมายความว่า จะต้องเป็นผู้ที่มีเกียรติยศ ศักดิ์ศรี รักษาเกียรติของตำรวจและสถาบันให้ดีที่สุด
คำขวัญของนักเรียนนายร้อยตำรวจนั้น เป็นกุศโลบายที่จะฝึกให้ นรต.มีคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ที่จะเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร และกำลังจะสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งจะฝึกให้ นรต.รู้จักความเป็น "ผู้ใต้บังคับบัญชา"ที่ดีในชั้นปีที่ 1-2 และเป็น "ผู้บังคับบัญชา" ที่ดีในชั้นปีที่ 3-4 คำขวัญดังกล่าวมักจะถูกเรียกให้คล้องจองคือ "เกียรติศักดิ์ รักษ์วินัย วิจัยกรณี ขันตีอุตสาหะ"
สีประจำชั้นปี
[แก้]- ชั้นปีที่ 1 "สีฟ้า" หมายความว่า ให้เป็นคนที่เปิดกว้างเหมือนท้องฟ้า เพื่อรับการฝึก การอบรมต่างๆ ต้องเป็นคนเปิดกว้างทั้งจิตใจและสติปัญญา
- ชั้นปีที่ 2 "สีเหลือง" เป็นสีของการศึกษา หมายความว่า ให้มีความตั้งใจศึกษาทุกๆด้านที่ รร.นรต. ให้การฝึกศึกษาแก่ นรต.
- ชั้นปีที่ 3 "สีม่วง" เป็นสีที่เกิดจากการผสมระหว่างสีแดงเลือดหมูกับสีดำ อันเป็นสีของตำรวจ หมายความว่า จะต้องมีความพร้อมที่จะเป็นตำรวจอย่างเต็มตัว
- ชั้นปีที่ 4 "สีเขียว" เป็นสีที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์เต็มที่ ถ้าเป็นต้นไม้ก็คือต้นไม้ใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขา เป็นที่พึ่ง ให้ร่มเงาแก่สรรพสัตว์และมนุษย์ได้
สีประจำชั้นปีนี้จะถูกใช้เป็นสีประจำกองร้อย (อาคารนอน) และเป็นสีหมวก ซึ่งการเลื่อนชั้นการศึกษาของ นรต.นั้นจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้มี พิธีประดับเลขชั้นปีและเปลี่ยนหมวกสี แล้ว ซึ่งจะกระทำในวันรุ่งขึ้นหลังจากมี พิธีวิ่งรับหมวก (Long March) ในวันเริ่มต้นเปิดภาคการศึกษา
เครื่องแบบนักเรียนนายร้อยตำรวจ
[แก้]- เครื่องแบบเต็มยศ
- เครื่องแบบครึ่งยศ
- เครื่องแบบสโมสร
- เครื่องแบบปกติขาว
- เครื่องแบบปกติเสื้อนอกคอแบะกากี
- เครื่องแบบปกติเสื้อเชิ้ตคอพับกากี (มีผ้าผูกคอ)
- เครื่องแบบฝึก
- เครื่องแบบสนาม (ฟาติก)
- เครื่องแบบสนามชนิดปล่อยเอว (เวสมอร์แลนด์)
- ชุดศึกษา
- ชุดลำลอง
- ชุดกีฬาขาสั้น
- ชุดกีฬาขายาว
- ชุดวอร์ม
หมวก มีทั้งสิ้น 7 แบบ
- หมวกปีกทรงแข็งสีกากี มียอดโลหะสีเงิน (หมวกยอด) หุ้มด้วยผ้าเสิร์จ
- หมวกทรงหม้อตาลสีกากี ผ้าเสิร์จ
- หมวกทรงหม้อตาลสีขาว
- หมวกทรงหม้อตาลสีกากี
- หมวกแก๊ปทรงอ่อนพับปีกสีกากี ผ้าเสิร์จ (นรต.หญิง)
- หมวกแก๊ปทรงอ่อนพับปีกสีกากี (นรต.หญิง)
- หมวกแก๊ปทรงอ่อนพับปีกสีขาว (นรต.หญิง)
- หมวกหนีบสีกากี
- หมวกแก๊ปทรงตึง (สีประจำกองร้อย)
- หมวกแก๊ปทรงอ่อนสีดำ
- หมวกทรงอ่อนสักหลาดสีดำ (เบเร่ต์)
รองเท้า มีทั้งสิ้น 4 แบบ
- รองเท้าหุ้มข้อหนังสีดำ (ฮาล์ฟ)
- รองเท้าหุ้มส้นหนังสีดำ (คัทชู)
- รองเท้าสูงครึ่งน่องหนังสีดำ (คอมแบท)
- รองเท้ากีฬาผ้าใบหุ้มส้นสีขาว
ส่วนประกอบเครื่องแบบ
- หน้าหมวกตราแผ่นดิน เป็นตราแผ่นดินรูปอาร์มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจูลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- อาร์มคอรูปตราสัญลักษณ์โรงเรียนนายร้อยตำรวจสีเงิน
- อินทธนูแข็งสีแดงเลือดหมูประดับสายพาดดิ้นเงิน
- เครื่องหมาย "ร"
- เครื่องหมายเลขไทยตามชั้นปี
- ป้ายชื่อโลหะ
- แพรแถบย่อข้าราชการตำรวจ
- กระบี่สั้นนักเรียนนายร้อยตำรวจพร้อมสายกระบี่
- กระบี่ยาว พร้อมสายกระบี่ชนิดสามชาย (ใช้ในการฝึกและการสวนสนาม)
เครื่องหมายการผ่านการฝึก และความสามารถพิเศษประกอบเครื่องแบบ
- เครื่องหมายหลักสูตรต่อต้านปราบปรามการก่อความไม่สงบ (ตปส.)
- เครื่องหมายหลักสูตรการโดดร่ม จากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ตชด. (ค่ายนเรศวร) ปีกร่มชนิดทำด้วยดิ้นเงิน
- เครื่องหมายความสามารถการยิงปืนพกในระบบ เอ็น.อาร์.เอ (N.R.A.)
- เครื่องหมายความสามารถการยิงปืนยาว
หลักสูตรต่าง ๆ ของนักเรียนนายร้อยตำรวจ
[แก้]นอกจากนักเรียนนายร้อยตำรวจจะต้องศึกษาภาควิชาการ และการอบรมหล่อหลอมด้านความคิดจิตวิญญาณแล้ว นรต.ทั้งหมดจะต้องเข้ารับการฝึกหลักสูตรต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- หลักสูตรการต่อต้านปราบปรามการก่อความไม่สงบ (ตปส.) สำหรับ นรต.ชั้นปีที่ 1 ฝึกในช่วงปิดภาคการศึกษาภาคปลาย ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม โดยอยู่ในการควบคุมการฝึกโดยกองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นหลักสูตรที่มุ่งหมายให้ นรต.สามารถฝึกการเป็นผู้นำหน่วยสนามขนาดเล็กได้ และยังนำพื้นฐานการฝึกภาคสนามไปประยุกต์ใช้งานในหน้าที่ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจฝึกรับใช้ประชาชนในชนบท สำหรับ นรต.ชั้นปีที่ 2 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "หลักสูตรพ่อแม่สมมุติ" ฝึกในช่วงปิดภาคการศึกษาภาคต้น ประมาณเดือนกันยายน ซึ่งโรงเรียนนายร้อยตำรวจจะส่งตัว นรต.ชั้นปีที่ 2 ไปพักอาศัย กินอยู่ และใช้แรงงานกายเสมือนเป็นลูกแท้ๆของประชาชนที่มีอาชีพเกษตรกร หรือทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น เป็นหลักสูตรที่มุ่งหมายให้ นรต.มีความเข้าใจในวิถีชีวิตของประชาชนรากหญ้า เข้าใจในความยากลำบากของประชาชน ให้ นรต.ลดแนวคิดเชิงอำนาจนิยม ให้เรียนรู้การทำงานร่วมกับชุมชน ท้องถิ่น และสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- หลักสูตรการโดดร่ม สำหรับ นรต.ชั้นปีที่ 2 ฝึกในช่วงปิดภาคการศึกษาภาคปลาย ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน โดยอยู่ในการควบคุมการฝึกโดยกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร) หลักสูตรนี้มุ่งหมายฝึกฝนความเข้มแข็งทางด้านร่างกายและจิตใจ การตัดสินใจในภาวะวิกฤติด้วยสติ การก้าวผ่านความกลัว เสริมสร้างภาวะผู้นำ เสริมสร้างความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและมีสติแม้ว่าจะต้องอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอันตราย
- หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจสัมผัสปัญหาชุมชน สำหรับนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 ฝึกในช่วงปิดภาคการศึกษาภาคต้น ประมาณเดือนกันยายน
- หลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจฝึกปฏิบัติงานในสถานีตำรวจ สำหรับนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 โดยให้ฝึกงานสายป้องกันปราบปราม, สืบสวน, จราจร, อำนวยการ ฝึกในช่วงปิดภาคการศึกษาภาคปลาย ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม โดยส่งตัวให้ไปฝึกในสถานีตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรต่าง ๆ
- หลักสูตรฝึกหัดงานสอบสวน สำหรับ นรต.ชั้นปีที่ 4 ฝึกหลังจากเสร็จสิ้นการศึกษาภาคต้น ประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน โดยส่งตัวให้ฝึกในสถานีตำรวจนครบาลต่าง ๆ
- หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพสืบสวนสอบสวนคดีอาญา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะส่งตัวนายตำรวจที่สำเร็จการศึกษา นรต.ชั้นปีที่ 4 และประดับยศเป็น ว่าที่ร้อยตำรวจตรีแล้ว เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ณ สถาบันส่งสริมงานสอบสวน ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กันยายน ใช้ระยะเวลาฝึกอบรมเป็นเวลา 8 เดือน ก่อนจะแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป
นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง
[แก้]เมื่อปีการศึกษา 2552 (ตรงกับ นรต.รุ่นที่ 66) โรงเรียนนายร้อยตำรวจได้เปิดรับสมัครนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงเป็นรุ่นแรก จำนวน 70 นาย โดยคัดเลือกจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 60 นาย และข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเพศหญิงอายุไม่เกิน 25 ปี อีก 10 นาย ผลปรากฏว่ามีผู้สมัครสอบคัดเลือกถึงกว่า 17,000 คน และได้รับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงเข้าฝึกศึกษามาอย่างต่อเนื่องโดยทุกปี จนถึงปี 2561 รวมเป็นจำนวน 10 รุ่น (นรต.รุ่น 66-75) ซึ่ง นรต.หญิง รุ่นที่ 75 ได้สำเร็จการศึกษาแต่งตั้งยศเป็น ว่าที่ร้อยตำรวจตรีหญิงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และรับการแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งต่างๆเมื่อเดือนตุลาคม 2565
นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงนั้น มีการฝึกศึกษาร่วมกันกับนักเรียนนายร้อยตำรวจชายอย่างเท่าเทียมทุกอย่าง ไม่มีการแบ่งแยกการฝึกกัน แตกต่างกันเพียงอาคารที่พัก ให้พักในอาคารเฉพาะนักเรียนหญิงแยกต่างหากจากอาคารที่พักนักเรียนนายร้อยตำรวจชาย
ปัจจุบันนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ชะลอการรับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง เนื่องจากมีแนวนโยบายให้รับนักเรียนนายร้อยตำรวจจากผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารเป็นหลัก ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังมีการเปิดสอบแข่งขันบุคคลหญิงทั่วไปเข้ารับการฝึกอบรม(นอร.) และบรรจุแต่งตั้งเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรหญิง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง
รายนามนักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]- พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก (รุ่นที่ 18) อดีตรองนายกรัฐมนตรี
- พลตำรวจเอก ธีรวุฒิ บุตรศรีภูมิ (รุ่นที่ 20) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
- พลตำรวจเอก สันต์ ศรุตานนท์ (รุ่นที่ 20) อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- พลตำรวจเอก สุนทร ซ้ายขวัญ (รุ่นที่ 20) อดีตรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ (รุ่นที่ 22) อดีตรองนายกรัฐมนตรี
- พลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์ (รุ่นที่ 23) อดีตรองนายกรัฐมนตรี
- พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (รุ่นที่ 24) อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- พลตำรวจโท วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ (รุ่นที่ 24) อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (รุ่นที่ 25) รองนายกรัฐมนตรี
- พลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ (รุ่นที่ 25) อดีตรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- ร้อยตำรวจเอก ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ (รุ่นที่ 25) อดีตรองนายกรัฐมนตรี
- พันตำรวจโท[3] ทักษิณ ชินวัตร (รุ่นที่ 26) อดีตนายกรัฐมนตรี
- พลตำรวจเอก วงกต มณีรินทร์ (รุ่นที่ 26) อดีตผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
- พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี (รุ่นที่ 28) อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม
- พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว (รุ่นที่ 29) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
- พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง (รุ่นที่ 30) อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง (รุ่นที่ 30) อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี
- พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง (รุ่นที่ 31) อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา (รุ่นที่ 36) อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข (รุ่นที่ 36) อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง (รุ่นที่ 37) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- พันตำรวจโท กานต์ เทียนแก้ว (รุ่นที่ 37) ผู้ก่อตั้งและอดีตหัวหน้าพรรคพลังประชาชน
- พันตำรวจเอก ดุษฎี อารยวุฒิ (รุ่นที่ 37) อดีตเลขาธิการปปท.และอดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม
- พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ (รุ่นที่ 38) อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ (รุ่นที่ 40) รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ (รุ่นที่ 41)รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- พลตํารวจเอก สุรเชชษฐ์ หักพาล (รุ่นที่ 47) อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ อดีตปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
- พันตำรวจเอก จตุรวิทย์ คชน่วม (รุ่นที่ 53) อดีตรองผู้บังคับการตำรวจรถไฟ และโฆษกกองบังคับการตำรวจรถไฟ
- พันตำรวจเอก ธรณิศ ศรีสุข (รุ่นที่ 54) อดีตผู้บังคับหมวด (สัญญาบัตร 1) กองร้อยรบพิเศษที่ 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
- พันตํารวจเอก วชิรา ยาวไทยสงค์ (รุ่นที่ 55) อดีตผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง
- พันตำรวจตรี กฤตติกุล บุญลือ (รุ่นที่ 60) อดีตเป็นผู้บังคับหมวด กองร้อยรบพิเศษที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
- พันตํารวจตรี ศิวกร สายบัว (รุ่นที่ 67) อดีตสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง
- พันตํารวจตรี รุ่งคุณ จันทโชติ (รุ่นที่ 67) อดีตสารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
- พันตำรวจตรี ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ (รุ่นที่ 69) สารวัตรกองกำกับการที่ 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (สว.กก.3 บก.สส.บช.น.)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประวัติโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เก็บถาวร 2015-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, โรงเรียนนายร้อยตำรวจ.
- ↑ ประกาศโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการเป็นคณะ สถาบัน ศูนย์ หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ศ. 2552
- ↑ บันทึกไทย บันทึกโลก : ถอดยศ "พ.ต.ท."ทักษิณ ชินวัตร | 28-12-58 | ไทยรัฐนิวส์โชว์ | ThairathTV, สืบค้นเมื่อ 2024-01-17