ข้ามไปเนื้อหา

พระไชยบูลย์ ธมฺมชโย

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระไชยบูลย์ ธมฺมชโย

(ไชยบูลย์ สุทธิผล )
ส่วนบุคคล
เกิด22 เมษายน พ.ศ. 2487 (80 ปี)
นิกายมหานิกาย
การศึกษานักธรรมชั้นโท
วท.บ. (เศรษฐศาสตร์เกษตร)
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี
อุปสมบท27 สิงหาคม พ.ศ. 2512
พรรษา55
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาส

พระไชยบูลย์ ธมฺมชโย หรืออดีตพระเทพญาณมหามุนี เป็นพระภิกษุชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ประธานมูลนิธิธรรมกาย และเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา ในข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร[1][2] ปัจจุบันหนีคดี

ประวัติ

พระไชยบูลย์ ธมฺมชโย เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2487 ณ คุ้งน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี บิดาชื่อจรรยงค์ สุทธิผล มารดาชื่อจุรี สุทธิผล[3]

ในวัยเด็กมักค้นคว้าหาความรู้ด้านธรรมะ และคำถามที่ติดอยู่ในใจเสมอคือ "เราเกิดมาทำไม และอะไรคือเป้าหมายชีวิต" จึงได้แสวงหาคำตอบเรื่อยมา ขณะที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยหลังจากได้ฟังการบรรยายธรรมจากวิทยากรท่านต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อนตั้งชุมนุมยุวพุทธ

พ.ศ. 2506 เมื่อขณะศึกษาอยู่ชั้น ม. 8 (เทียบเท่า ม. 6 ปัจจุบัน) กำลังเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ได้อ่านพบหนังสือชื่อ "วิปัสสนาบันเทิงสาร" ลงเรื่องแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งได้ศึกษาวิชชาธรรมกายมาจากพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จึงได้ไปขอเรียนการปฏิบัติธรรมจากแม่ชีท่านนี้[ต้องการอ้างอิง]

เมื่อเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ได้บรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2512 ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีพระเทพวรเวที (ปัจจุบันคือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ) เป็นพระอุปัชฌาย์[4] พระครูพิพัฒน์ธรรมคณี เป็น พระกรรมวาจาจารย์ พระวิเชียรกวี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ธมฺมชโย" แปลว่า "ผู้ชนะโดยธรรม"

สมณศักดิ์

  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระสุธรรมยานเถร[5]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ อธิมุตธรรมวรากร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระเทพญาณมหามุนี ศรีธรรมโกศล โสภณภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]
  • 4 มีนาคม พ.ศ. 2560 โปรดเกล้าฯ ให้ถอดถอนออกจากสมณศักดิ์ เนื่องจากหลบหนีคดีจากหลายฐานความผิด ได้แก่ ร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจร[8]

ถอดถอนสมณศักดิ์

วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560 ราชกิจจานุเบกษาได้มีการเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์

วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560 ราชกิจจานุเบกษาได้มีการเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์ ความว่า

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์

ด้วย พระเทพญาณมหามุนี (พระไชยบูลย์ สุทธิผล) วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานีเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีกระทำความผิดข้อหาร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจรตามที่ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ ที่ ๙๔๒/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙ และยังถูกกล่าวหาในคดีอาญาฐานอื่นอีกหลายฐานความผิด ซึ่งอัยการคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งฟ้องในบางคดีด้วยแล้วแต่พระเทพญาณมหามุนีไม่ยอมมอบตัวตามหมายเรียก และได้หลบหนีคดีดังกล่าว จึงไม่สมควรดำรงอยู่ในสมณศักดิ์ต่อไป และได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมต่อไปแล้ว

บัดนี้ ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอดถอน พระเทพญาณมหามุนี (พระไชยบูลย์ สุทธิผล) ออกจากสมณศักดิ์ ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2560

ประกาศ ณ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560

ผู้รับสนองพระราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

การก่อสร้างวัดและมูลนิธิ

ไฟล์:หลวงพ่อและคุณยายช่วงแรกก่อสร้างศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม.jpg
ช่วงแรกก่อสร้างศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม
ช่วงก่อสร้างศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 พระไชยบูลย์และหมู่คณะรวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาได้พัฒนาผืนนา 196 ไร่ เป็นสำนักสงฆ์ตามระเบียบการสร้างวัด ให้ชื่อว่า "ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม" ในวันมาฆบูชา ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระธรรมกายเมื่อ พ.ศ. 2524

หลังพระไชยบูลย์ได้ก่อตั้งมูลนิธิธรรมกาย ต่อมาได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกและสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2529 และเข้าเป็นสมาชิกขององค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกใน พ.ศ. 2533[ต้องการอ้างอิง]

หลังงานกฐินใน พ.ศ. 2552 ได้เริ่มก่อสร้างศาสนสถานขึ้นอีกหลังหนึ่ง โดยให้ชื่อว่า "อาคารร้อยปีคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง" ตามชื่อของอุบาสิกาที่ได้สอนธรรมะปฏิบัติให้แก่พระไชยบูลย์

งานด้านศาสนา

พระไชยบูลย์ได้ดำริให้มีโครงการธรรมทายาทและอุปสมบทหมู่ ระดับอุดมศึกษา ภาคฤดูร้อน เริ่มต้นปี พ.ศ. 2515 อบรมธรรมทายาท ฝึกสมาธิเป็นหลัก มีผู้สนใจเบื้องต้น 50 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 จึงปรับให้ธรรมทายาทเข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทด้วย สถิติ พ.ศ. 2522-2556 มีผู้ผ่านการอบรมแล้วกว่า 12,000 รูป[9]

พระไชยบูลย์ได้ดำริให้มีโครงการธุดงค์ปีใหม่ จัดเป็นประจำทุกปี เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2529 โดยเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้มาศึกษาและปฏิบัติธรรมร่วมกันในช่วงวันหยุดปีใหม่ สามารถร่วมกิจกรรมกันได้ทั้งครอบครัว [10]

โครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ธรรมทายาทนานาชาติ (IDOP: International Dhammadayada Ordination Program) เริ่มมีการอบรมให้แก่ชาวต่างชาติในปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา ต่อมาปี พ.ศ. 2546 ปรับหลักสูตรอบรมเป็น 3 ภาษา (อังกฤษ, จีน และญี่ปุ่น) ใช้เวลาอบรม 4 สัปดาห์ เริ่มอบรมในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี มีการอบรมทั้งพระและสามเณรควบคู่ไปด้วยกัน

ปัจจุบันได้มีชาวต่างประเทศจากทั่วโลกมาบรรพชาอุปสมบทที่วัดพระธรรมกายแล้วเป็นจำนวนถึง 450 คนจาก 40 ประเทศทั่วทุกทวีป [11] คือ

  • ทวีปยุโรป ได้แก่ อังกฤษ เอสโตเนีย สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย สาธารณรัฐเชค โรมาเนีย เดนมาร์ค ฝรั่งเศส รัสเซีย
  • ทวีปอเมริกา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ปานามา เม็กซิโก เวอร์จินไอร์แลนด์
  • ทวีปแอฟริกา ได้แก่ อูกันดา เอธิโอเปีย คองโก
  • ทวีปโอเชียเนีย ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โซโลมอนไอร์แลนด์
  • ทวีปเอเชีย ได้แก่ เนปาล ญี่ปุ่น จีนไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน อินเดีย ลาว ศรีลังกา มองโกเลีย บังกลาเทศ กัมพูชา และไทย

ในปี พ.ศ. 2551 ได้ดำริให้มีโครงการตักบาตรพระ 500,000 รูปทุกวัดทั่วไทย เพื่อนำจตุปัจจัยไทยธรรมไปถวายแด่พระสงฆ์ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเป็นหนึ่งในโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก [12][13]

ได้ดำริให้มีโครงการอบรมสามเณรธรรมทายาท "ยุวชนรอบวัด" เริ่มครั้งแรกปี พ.ศ. 2551 – พ.ศ. 2556 รวมสามเณรเข้าอบรมแล้วกว่า 500 รูป [14]

ในปี พ.ศ. 2551 ได้ดำริให้มีโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก โดยมีโครงการย่อยชื่อ โครงการเด็กดีวีสตาร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ฟื้นฟูศีลธรรมและวัฒนธรรมชาวพุทธ ให้แก่เยาวชนของประเทศไทย ต่อมาได้ขยายโครงการดังกล่าวไปยังประเทศมองโกเลีย และวางแผนเผยแผ่ไปยังประเทศต่างๆ ต่อไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2553 โครงการดังกล่าวได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 จัดขึ้นโดยการรวมพลเด็กดีวีสตาร์จากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ 1 ล้านคน ภายใต้แนวคิด Change the world โดยให้เด็กดีวีสตาร์ได้เรียนรู้การพูดประโยคสำคัญในภาษาต่าง ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาศีลธรรมและความดีงามเพื่อวางแผนการเผยแพร่พระพุทธศาสนาออกไปยัง 208 ประเทศในอนาคต นอกจากนั้นได้มีการเหรียญเด็กดีวีสตาร์และทุนการศึกษาแก่เด็กดีวีสตาร์ที่มีผลการประเมินด้านคุณธรรมโดดเด่น 60,000 ทุน และมอบเหรียญครูผู้นำฟื้นฟูศีลธรรมโลกที่เป็นผู้สนับสนุนให้เด็กดีวีสตาร์ได้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมพัฒนาศีลธรรมผ่านกิจวัตรกิจกรรม งานเด็กดีวีสตาร์ 1 ล้านคนนี้ ได้รับเกียรติจากประธานาธิบดีของสหพันธรัฐคาร์มิเกีย กล่าวสุนทรพจน์ และ มีปรารภที่ริเริ่มนำโครงการเด็กดีวีสตาร์ ไปสานต่อที่สหพันธรัฐคาร์มิเกียผ่านกระทรวงศึกษาธิการต่อไป [15][16]

ได้ดำริให้มีโครงการอุปสมบทหมู่ 1 แสนรูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย เริ่มปี พ.ศ. 2553 - 2558 เพื่อสร้างศาสนทายาทสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ผู้อุปสมบทได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง[17]

ได้ดำริให้มีโครงการบวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน 100,000 คน เริ่มปี พ.ศ. 2553 - 2554 ณ ศูนย์อบรมประจำอำเภอทั่วประเทศ และศูนย์สาขาทุกทวีปทั่วโลก เพื่ออบรมปลูกฝังศีลธรรมและอุดมการณ์พระพุทธศาสนา ให้สตรีชาวพุทธนับล้านคน ให้เป็นผู้มีความมั่นคงในพระรัตนตรัย และการพัฒนาศีลธรรม[18]

การเผยแผ่ศาสนาไปยังต่างประเทศ

ในปี พ.ศ. 2535 วัดพระธรรมกายภายใต้การนำของพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) ได้ขยายงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไปวัดศูนย์สาขาในประเทศไทยและต่างประเทศ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศนั้น ได้สร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งแรกขึ้นที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ปัจจุบันมีวัดศูนย์สาขาในทวีปอเมริกา ทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา โอเชียเนีย และทวีปเอเชีย รวมทั้งวัดสาขาและศูนย์ปฏิบัติธรรมในประเทศไทยกว่า 100 แห่ง[19]

ได้ดำริให้มีโครงการถวายพระประธานแด่วัดพุทธในต่างประเทศ เริ่มในปี พ.ศ. 2550 โดยถวายพระประธานแด่วัดต่างๆในประเทศศรีลังกา จำนวน 222 องค์ และปี 2551 ถวายพระประธานให้กับวัดในประเทศบังคลาเทศ จำนวน 250 องค์ รวม 472 องค์[20]

โครงการอบรมและบรรพชาสามเณร ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน ๑๒๖ รูป ระหว่างวันที่ ๒๑-๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่วิทยาลัยพุทธศรีวิจายะ เมืองบันเตน โดยมูลนิธิธรรมกายได้ความเมตตาจากพระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม เดินทางมาเป็นพระอุปัชฌาย์ในการบวชครั้งนี้ และพระอนุรุทธะ เถโร จากศรีลังกา ให้เกียรติไปร่วมงานบวชครั้งนี้ด้วย[21]

ได้ดำริให้มีโครงการสอบตอบปัญหาศีลธรรมเพื่อสันติภาพโลก (World-PEC : World-Peace Ethics Contest) เริ่มโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2549 มีผู้สมัครสอบกว่า 100,000 คน รวม 72 เชื้อชาติ จาก 6 ทวีปทั่วโลก[22]

จัดให้มีโครงการวิสาขบูชานานาชาติ ในประเทศมองโกเลีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ อินเดีย และแอฟริกาใต้[23]

ประเทศมองโกเลีย เริ่มในปี พ.ศ. 2551 ล่าสุด จัดเมื่อปี พ.ศ. 2556 ณ สนามกีฬาแห่งชาติ เมืองหลวงอูลานบาตาร์ มีการนั่งสมาธิ จุดโคมประทีป และลอยโคมประทีป ถวายเป็นพุทธบูชา โดยได้รับความร่วมมือจากท่านลามะมุงจากัล แห่งองค์กรใจเปี่ยมสุข (Peaceful Mind Foundation), อาสาสมัครชาวมองโกเลียหลายร้อยคน และสมาชิกจากชมรมพุทธแห่งมองโกเลีย (IBS of Mongolia) จาก 30 มหาวิทยาลัย จำนวน 1,200 กว่าคน และสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ NTV - ถ่ายทอดสดตลอดพิธี มีผู้ร่วมงานก่า 10,000 คน[24]

จัดให้มีโครงการวิสาขบูชานานาชาติ ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ในปี 2551 งานวิสาขบูชาที่วัดพระธรรมกายโจฮันเนสเบิร์ก โดยมีผู้มีบุญทั้งชาวไทยและชาวท้องถิ่นพร้อมใจกันไปร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก งานนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ วิเชสิงเห เอกอัครราชทูตศรีลังกา ประจำกรุงพริทอเรีย (Pretoria) เมืองหลวงของประเทศแอฟริกาใต้ นำพลเมืองชาวศรีลังกาในความดูแลของท่าน มาทำ การเฉลิมฉลอง พุทธชยันตีด้วยการปฏิบัติบูชา ทำให้ บรรยากาศอบอุ่นอบอวลไปด้วยชาวพุทธหลากหลาย เชื้อชาติ[25]

งานด้านสาธารณสงเคราะห์

โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในปี พ.ศ. 2549 วิกฤตการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือ ทางวัดพระธรรมกายและมูลนิธิธรรมกาย ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน กว่า 30 องค์กร ในนามสหพันธ์รวมใจไทยทั้งชาติ ได้มอบถุงยังชีพ ในจังหวัดน่าน และจังหวัดอุตรดิตถ์ [26] [27]

โครงการช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยไซโคลนนากีส ประเทศสหภาพพม่า ส่งขอไปช่วยจำนวน 6 ครั้ง ระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม – 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 รวมเป็นจำนวนกว่า 20,000 ชุด ได้แก่ ยารักษาโรค ถุงยังชีพ น้ำดื่ม เครื่องอุปโภค และผ้าไตรจีวร มูลค่ากว่า 7,000,000 บาท พร้อมทั้งหน่วยแพทย์ พยาบาลช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศพม่า[28]

โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในปี พ.ศ. 2553 มอบถุงยังชีพใน 20 จังหวัด เป็นจำนวนกว่า 60 วัด รวมเป็นถุงยังชีพกว่า 40,000 ชุด รวมน้ำหนักกว่า 80 ตัน[29]

โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในปี พ.ศ. 2554 มอบถุงยังชีพไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 30 จังหวัด เป็นจำนวนเป็นถุงยังชีพกว่า 400,000 ชุด อีกส่วนหนึ่งยังนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย [30][31]

โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล ในปี พ.ศ. 2558 เปิดศูนย์ช่วยเหลือ 2 ศูนย์ ที่เมือง Godawari และศูนย์ที่เมือง Dharmasthali โดยภายในศูนย์ มีการเปิดโรงทานเลี้ยงผู้ประสบภัย[32][33]

รางวัล

  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2537: ได้รับการถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2547: องค์การอนามัยโลก ได้มอบถวายรางวัลงดบุหรี่โลก World No Tobacco Day Awards 2004ประจำปีพุทธศักราช 2547 แด่พระราชภาวนาวิสุทธิ์(สมณศักดิ์ในขณะนั้น) จากผลงานการรณรงค์ให้เยาวชนและประชาชนเลิกสุราและบุหรี่[34]
  • 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548: ได้รับการถวายโล่เกียรติคุณ จากวุฒิสภา ในการบำเพ็ญกุศลเพื่อผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ
  • 22 เมษายน พ.ศ. 2548: Mr. S.P. Varma เลขาธิการสมาคม Akhil Bharat Rachanatmak Samaj (All Indian Gandhian Worker Society หรือ ABRS) ได้มาถวายรางวัลมหาตมคานธีเพื่อสันติภาพ (Mahatama Gandhi Peace Award) สำหรับความทุ่มเทแรงกายแรงใจในการส่งเสริมสันติภาพ และการพัฒนาเยาวชน ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2549: การประชุมขององค์กรยุวสงฆ์โลก WBSY มอบรางวัลผู้นำชาวพุทธ ที่มีผลงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาดีเด่นในระดับโลกหรือUniversal Peace Award จากองค์การยุวพุทธสงฆ์โลก ประเทศศรีลังกา
  • พ.ศ. 2550: มูลนิธิธรรมกายได้รับรางวัลเทลลี (Telly award) ครั้งที่ 28 จำนวน 12 รางวัล จากผลงาน Dhamma Media Channel; DMC[35]
  • พ.ศ. 2551 ได้รับรางวัลสถานีโทรทัศน์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาดีเด่น จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
  • 24 เมษายน พ.ศ. 2552: คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ถวายรางวัลผู้ทำประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ระดับ วัชรเกียรติ[36][37]
  • 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556: ได้รับโล่เกียรติคุณผู้นำในการอนุรักษ์และปกป้องพุทธสถาน MES AYNAK จากสมาพันธ์พิทักษ์โบราณสถานแห่งอัฟกานิสถาน[38]
  • 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ น้อมถวายโล่ประกาศเกียรติคุณ เพื่อเชิดชูเกียรติคุณของ พระเทพญาณมหามุนี(หลวงพ่อธัมมชโย) ที่เมตตาส่งพระภิกษุไปเผยแผ่ธรรมะยังภาคพื้นโอเชียเนีย จนเกิดความตื่นตัวด้านการศึกษาค้นคว้างานวิชาการพระพุทธศาสนา [39]
  • 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์ แห่งโลก (ยพสล.) ถวายรางวัลผู้นำพุทธโลก (World Buddhist Outstanding Leader Award) เป็นรางวัลสำหรับผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา [40] [41]

ข้อวิพากษ์วิจารณ์

ช่วง พ.ศ. 2540-2541 สื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) และทีมงาน เช่น ประเด็นการยักยอกทรัพย์ และการบริหารเงินบริจาค และพยายามเปลี่ยนการเรียกนามของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) เป็น "นายไชยบูลย์ สุทธิผล" ด้วยข้อกล่าวหาทางพระธรรมวินัยขั้นปาราชิก ในข้อหายักยอกทรัพย์วัดของตนเอง[ต้องการอ้างอิง] ศิษย์บางส่วนออกมาปกป้องพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) ว่าถูกขบวนการทำลายล้างวางแผนทำลายชื่อเสียงวัดพระธรรมกายและพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) ผ่านสื่อมวลชนและการกดดันทางการเมืองและเจ้าคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์[ต้องการอ้างอิง] อีกทั้งเชื่อว่าบุคคลในห้องกระจกอาจมีส่วนรู้เห็นในการปลอมแปลงพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชเพื่อหวังผลในการจับสึกพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เนื่องจากพระลิขิตทั้งห้าฉบับมีข้อผิดปกติอยู่มากเช่น มีการใช้เลขอารบิกในเอกสารที่ปกติใช้แต่เลขไทย ไม่มีใครเคยเห็นพระลิขิตฉบับจริงพบเพียงเอกสารสำเนา และผู้รับรองพระลิขิตก็คือพระราชรัตนมงคล ซึ่งต่อมาก็ได้ถูกดำเนินคดีปลอมแปลงเอกสารของสมเด็จพระสังฆราช ในขณะที่คณะวัดพระธรรมกายพยายามออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงข้อสงสัยอยู่เป็นระยะ[ต้องการอ้างอิง] อย่างไรก็ตามขบวนการโจมตีวัดพระธรรมกายก็ยังคงพยายามชี้นำสังคมให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยวัดพระธรรมกายอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน[ต้องการอ้างอิง] ภายหลังสื่อมวลชนทั้งหลายได้ออกมาขอขมาวัดพระธรรมกาย เพราะว่าได้ลงข่าวที่ไม่เป็นความจริงลงไปอย่างมากมาย ทำให้วัดพระธรรมกายและพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) ได้รับความเสียหาย

ระหว่างคดียังคงอยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาลพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) และคณะวัดพระธรรมกายได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ในระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว สื่อมวลชนบางสำนักได้นำเสนอข่าวแพร่สะพัดออกไปในทางเสื่อมเสีย จึงได้มีการฟ้องกลับสื่อมวลชน ซึ่งต่อมาศาลอาญาได้พิพากษาว่าการกระทำดังกล่าวของสื่อมวลชนเป็นความผิด[ต้องการอ้างอิง] และให้ประกาศข้อความขอขมาวัดพระธรรมกายและพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ทางหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทั้งมติชน กรุงเทพธุรกิจ สยามรัฐ

กระทั่งในปี พ.ศ. 2549 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ถอนฟ้องคดีทั้งหมดของพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)[ต้องการอ้างอิง] หลังจากนั้นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ประกาศรับรองความบริสุทธิ์ของพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)[ต้องการอ้างอิง] และมหาเถรสมาคมได้ส่งผู้แทนมายังวัดพระธรรมกายเพื่อถวายคืนตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายแก่พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)[ต้องการอ้างอิง] สำหรับประเด็นนี้นักวิชาการบางคน เช่น ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิจารณ์เหตุการณ์บ้านเมืองซึ่งถูกคดีอาญาหมิ่นประมาทผู้อื่น ศาลสั่งจำคุกเมื่อเดือนมิถุนายน 2555[ต้องการอ้างอิง] ในขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนวัดพระธรรมกายได้ออกมาแย้งในรูปแบบต่าง ๆ ว่า คดีของวัดพระธรรมกายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีการใช้อิทธิพลของผู้มีอำนาจระดับสูงกดดันหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินคดีกับวัดพระธรรมกายและพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เช่นกัน[ต้องการอ้างอิง] ด้วยเหตุผลที่วัดพระธรรมกายเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมถึงมีศิษยานุศิษย์ในทุกระดับชั้นของสังคมและทั่วโลก จึงเกรงว่าหมู่คณะวัดพระธรรมกายอาจมีอำนาจการต่อรองทางการเมืองการปกครองของประเทศไทย[ต้องการอ้างอิง]

กรณีวิจารณ์เมื่อขยายงานพระศาสนา

พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) มีแนวคิดรวมคณะสงฆ์ทั่วโลกให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยความหมายแล้วเพื่อให้งานพระพุทธศาสนาขยายกว้างและเข็มแข็ง เพื่อประชุมเปรียบเทียบคำสอนในศาสนาพุทธที่ปรากฏอยู่ในแต่ละนิกาย [42] จึงเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) ต้องการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตนเอง[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งทางกลุ่มผู้สนับสนุนได้โต้แย้งว่าการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับพุทธบริษัททั้งสี่นั้นเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคน ซึ่งการที่พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) ตั้งใจสร้างความสามัคคีของชาวพุทธทั่วโลกให้เกิดขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ควรแก่การส่งเสริมและสนับสนุนมากกว่าการมุ่งร้ายทำลายกันเองระหว่างหมู่พุทธศาสนิกชน[ต้องการอ้างอิง]

นอกจากนั้นในหมู่ของชาววัดพระธรรมกายได้รับคำสั่งสอนและให้คุณค่าของการกระทำความดีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันว่า คือการสร้างบารมีตามเยี่ยงอย่างพระบรมโพธิสัตว์ในกาลก่อน และ เป็นสิ่งที่ชาวพุทธที่ดีควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง[ต้องการอ้างอิง]

วัดพระธรรมกายภายใต้การนำของพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) มีความตั้งใจสร้างความสามัคคีของคณะสงฆ์และพุทธบริษัทสี่ทั่วโลก พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) ได้ดำริโครงการต่าง ๆและสร้างงานบุญพิธีอันยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การระดมทุนเพื่อการสร้างศาสนวัตถุขนาดใหญ่, การฝึกอบรมในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการอบรมธรรมทายาท ซึ่งมีทั้งในรูปแบบของการอุปสมบทพระภิกษุ อบรมธรรมทายาทหญิง อบรมอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก โครงการเด็กดีวีสตาร์ โครงการตอบปัญหาธรรมะทางก้าวหน้า เป็นต้น โดยให้เหตุผลเพื่อการเผยแผ่และค้ำจุนพระพุทธศาสนา ในขณะที่ชาวพุทธชาวไทยส่วนหนึ่ง มองการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่สุดโต่ง ไม่สันโดษ ไม่สมถะ แอบแฝงเป็นพุทธพาณิชย์

ข้อกล่าวหากรณีอาบัติปาราชิก

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมาการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ นำโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ประชุมเพื่อพิจารณาสถานภาพของพระธัมมชโย และเชิญผู้แทนมหาเถรสมาคมมาชี้แจง กรณีไชยบูลย์ สุทธิผล (พระธัมมชโย) ได้อาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุมาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกใน 2 กรณี คือ กรณีการไม่ยอมคืนที่ดินให้วัดพระธรรมกาย และการกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกมีความบกพร่องจึงเป็นเหตุให้บิดเบือนคำสอน ซึ่งถือเป็นขั้นอนันตริยกรรม[43][44][45] ทั้งที่พระลิขิตมีข้อโต้แย้งมากมายว่าเป็นพระลิขิตปลอมดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น และในการกล่าวหาผู้ที่ถูกสงสัยว่าต้องปาราชิกนั้นจะต้องมีการตั้งอธิกรณ์ในหมู่สงฆ์ตามหลักสัมมุขาวินัยเท่านั้น จะพิพากษาโดยผู้ใดผู้หนึ่งลอย ๆ ไม่ได้ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชย่อมเข้าใจในประเด็นนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

แต่คณะกรรมาการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติมีความเห็นว่า พระธัมมชโยอาบัติปาราชิกตามพระลิขิต อีกทั้งมหาเถรสมาคมได้มีมติครั้งที่ 191/2542 และครั้งที่ 193/2542 ซึ่งเป็นมติรับทราบและให้ดำเนินการตามพระดำริสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ตั้งแต่ปี 2542 แต่ในทางปฏิบัติพบว่ามีการดำเนินการเพียงรับโอนที่ดินให้ตกเป็นของวัดเท่านั้น ส่วนกรณีอาบัติปาราชิกและต้องขาดจากความเป็นพระนั้น กลับละเว้นไม่ดำเนินการมาเป็นเวลา 16 ปีเพื่อให้พระธัมมชโยพ้นจากการเป็นภิกษุสงฆ์ คณะกรรมการฯ จึงได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องบังคับการให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม[43][44][45]

คณะกรรมาการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนายังให้ความเห็นว่า เรื่องนี้จะต้องให้รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ บังคับการให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม และพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช โดยพระลิขิตสำคัญที่ทรงมีพระวินิจฉัยให้พระธัมมชโยพ้นจากความเป็นสงฆ์ ด้วยอาบัติปาราชิก ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด ลงวันที่ 26 เมษายน 2542 นั้น มีใจความสำคัญดังนี้

ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำทรงสอน โดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่องเป็นการทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกออกไป กลายเป็นสอง มีความเข้าใจ ความเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำสงฆ์ให้แตกแยก เป็นอนัตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบัน และอนาคต ที่หนัก

ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการทำที่ถูกต้อง คือต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ทันที (5 เมษายน พ.ศ. 2542)

ไม่คิดให้มีโทษ เพราะคิดในแง่ยกประโยชน์ให้ ว่าในขั้นต้นอาจมิใช่มีเจตนา ถือเอาสมบัติของวัดเป็นขอบตนจริงๆ แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระ ให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้ง ว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา

(สมเด็จพระญาณสังวร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร กทม. 26 เมษายน พ.ศ. 2542[43][44][45]

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 สมชาย สุรชาตรี โฆษกประจำสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถลงว่าตามเอกสารของมหาเถรสมาคมเมื่อปี 2542 ไม่มีคำสั่งหรือเอกสารที่ระบุว่าพระธัมมชโยเป็นปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุตามพระลิขิตดังกล่าว[46] ด้านพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังเปิดประเด็นอีกด้วยว่าไม่แน่ใจว่าพระลิขิตนั้นเป็นของปลอมหรือไม่ และย้ำว่าพระธัมมชโยยังไม่ปาราชิก[47] ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) กรรมการและโฆษกมหาเถรสมาคมเผยว่า มหาเถรสมาคมเห็นว่าพระธัมมชโยไม่มีเจตนาขัดพระลิขิต และไม่มีเจตนาฉ้อโกง จึงถือว่าพ้นมลทิน และในปี 2549 ได้มีมติถวายคืนสมณศักดิ์ให้กับพระธัมมชโย อีกทั้งในปี 2554 ยังได้เลื่อนสมณศักดิ์จากยศพระราชภาวนาวิสุทธิ์เป็นพระเทพญาณมหามุนี[48] และพระธัมมชโยก็ได้ดำรงสมณเพศต่อมา และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ "พระเทพญาณมหามุนี" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554

ในวันต่อมา ไพบูลย์ นิติตะวัน กล่าวว่ามติของมหาเถรสมาคมในเรื่องดังกล่าวขัดต่อพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชที่รับรองโดยมติของมหาเถรสมาคมเอง และจะตรวจสอบมหาเถรสมาคม สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักเขียนและนักวิชาการอิสระ และไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กแสดงความไม่เห็นด้วยต่อมติดังกล่าว[49] นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน สุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพระพุทธะอิสระ) นำมวลชน 200 คนเดินทางไปวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยอ้างว่าจะมาทำบุญและนำตะกร้าขนาดใหญ่บรรจุกางเกงขาสั้น กางเกงใน ปลากระป๋อง ที่นอน รองเท้า สากกระเบือ ดอกไม้จันทน์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเงิน 1000 บาทเพื่อเป็นการแสดงการคัดค้านต่อมติมหาเถรสมาคม[50]

แต่ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 สมชาย สุรชาตรี ได้ให้สัมภาษณ์ว่ามติมหาเถรสมาคมเกี่ยวกับพระธัมมชโยเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์นั้นไม่มีจริง ในวันนั้นแค่รายงานเรื่องให้มหาเถรสมาคมทราบเรื่องเท่านั้น[51] ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 มหาเถรสมาคมได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ภายหลังจากการประชุมพระพรหมเมธีได้แถลงว่า เรื่องของพระธัมมชโยที่ถือว่ายุติลงแล้วตั้งแต่ปี 2542 ที่ประชุม มส.ไม่สามารถนำกลับมาพิจารณาใหม่ได้เพราะจะทำให้ มส. เป็นอาบัติปาราชิกทั้งคณะตามข้อกำหนดของพระธรรมวินัย[52]

ข้อกล่าวหากรณีบุกรุกป่าสงวนภูเรือ

ศาลจังหวัดเลยอนุมัติหมายจับพระธัมมชโย กรณีบุกรุกป่าสงวนภูเรือ[53]

กรณีพัวพันคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าชุดตรวจสอบเส้นทางการเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ได้สรุปผลการสอบสวนเส้นทางเงินกรณีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด สั่งจ่ายเช็ครวม 878 ฉบับ เป็นเงิน 11,367 ล้านบาท ให้กับกลุ่มบุคคลและนิติบุคคลรวม 7 กลุ่ม ซึ่งเข้าข่ายเป็นการยักยอกทรัพย์หรือสนับสนุนให้ลักทรัพย์ เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวไม่มีมูลหนี้ต่อกันจริง

ในกลุ่มวัดพระธรรมกาย พระเทพญาณมหามุณี (พระธัมมชโย) และมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง นั้นคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้หารือร่วมกับหัวหน้าพนักงานอัยการร่วมสอบสวนแล้ว พิจารณาเห็นว่า

ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2552 – 15 กุมภาพันธ์ 2554 กลุ่มวัดพระธรรมกาย พระเทพญาณมหามุณี (พระธัมมชโย) และมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ได้รับเช็คจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น รวม 21 ครั้ง เป็นเงิน 1,205,160,000 บาท โดยที่ไม่มีมูลหนี้กับทางสหกรณ์ฯ พฤติการณ์ดังกล่าวของพระเทพญาณมหามุณีกับพวก อาจมีส่วนเป็นผู้สนับสนุนนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ในการยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์ หรือสนับสนุนให้ลักทรัพย์นายจ้างหรือรับของโจร ความผิดฐานฟอกเงินและความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต[54] [55]

คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จะได้นำผลการสอบสวนปากคำพยาน พร้อมเอกสารทางการเงินเกี่ยวกับผู้รับเช็คทั้ง 878 ฉบับ ส่งมอบให้กับพนักงานอัยการคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย [54][55]

17 พฤษภาคม 2559 ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับพระเทพญาณมหามุณี ฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร หลังจากที่ไม่ได้มารายงานตัวตามหมายเรียกของกรมสอบสวนคดีพิเศษ[56] ซึ่งทำให้มีเหตุการณ์ปิดล้อมวัดพระธรรมกายโดยคสช.ประกาศใช้ ม.44 บุกและนำกำลังของเข้าหน้าที่ DSI และทหารกว่า 5000 นาย โดยเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2560 - 10 มี.ค. 2560 มีศิษย์วัดพระธรรมกายและผู้ไม่เห็นด้วยมาขัดขวางเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ปิดล้อมวัดนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน

อ้างอิง

  1. DSIส่งหนังสือเวียนแจ้งเจ้าคณะจังหวัดปทุม-มส. “พระธัมมชโย” ตกเป็นผู้ต้องหา เร่งคดีให้เสร็จ 2-3 สัปดาห์
  2. ธัมมชโยเป็นผู้ต้องหาแล้วดีเอสไอแจ้งเจ้าคณะ-มส.
  3. ประวัติหลวงพ่อธัมมชโย: มาเกิดเพื่อสมานสามัคคี
  4. ประวัติหลวงพ่อธัมมชโย: เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ฉบับพิเศษ, เล่ม 108 ตอนที่ 213, 6 ธันวาคม 2534,หน้า 7
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 113 ตอนที่ 23 ข, 5 ธันวาคม 2539,หน้า 20
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 129 ตอนที่ 6 ข, 15 กุมภาพันธ์ 2555,หน้า 2
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2017-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 134 ตอนที่ 8 ข, 5 มีนาคม 2560,หน้า 1
  9. ธรรมทายาท INTENSIVE COURSE สร้างคนดีภายใน ๓ เดือน
  10. ธุดงค์ปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๗ สร้างความใส ส่งความสุข
  11. บรรพชาอุปสมบท พระภิกษุสามเณรนานาชาติ
  12. "ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม 266 วัด และ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้วายชนม์ใน 4 จังหวัดภาคใต้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-30. สืบค้นเมื่อ 2009-06-18.
  13. "โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-09. สืบค้นเมื่อ 2009-06-18.
  14. หมดเวลา...ปัญหาวัยรุ่น กับ..ยุวชนรอบวัด
  15. เราคือเด็กดี V-Star ผู้นำฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  16. V-Star in MONGOLIA ดาวแห่งความดีสว่างไสวบนดินแดนมองโกเลีย
  17. "โครงการอุปสมบทหมู่เข้าพรรษา 1 แสนรูปทุกหมู่บ้านทั่วไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-02-28.
  18. บวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน 1 ล้านคน
  19. วัดศูนย์สาขาในต่างประเทศ
  20. นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ถวายโล่ประกาศเกียรติคุณ แด่พระราชภาวนาวิสุทธิ์
  21. พิธีบรรพชาสามเณร ๑๒๖ รูป ครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศอินโดนีเซีย
  22. World-PEC ครั้งที่ ๑ ปรากฏการณ์คลื่นแห่งธรรมนำสู่สันติภาพโลก
  23. วิสาขบูชา ในต่างประเทศ
  24. งานลอยโคมวิสาขประทีป เป็นพุทธบูชา ครั้งแรก ณ ประเทศ มองโกเลีย
  25. Peace for Africa ก้าวแรกของสันติภาพที่แท้จริงในแอฟริกาใต้
  26. มูลนิธิธรรมกาย โดยพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ช่วยเหลือวัดที่ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ใน จ.น่าน
  27. พุทธบริษัท ๔ ร่วมใจช่วยเหลืออุทกภัยภาคเหนือ
  28. มูลนิธีธรรมกาย ช่วยเหลือผู้ประสบภัย พายุนาร์กีส
  29. ธารน้ำใจ ช่วยภัยน้ำท่วม
  30. ธารน้ำใจ ..ช่วยภัยน้ำท่วม
  31. ชาวคลองหลวง และชาววัดพระธรรมกาย ร่วมใจป้องกันภัยน้ำท่วม
  32. มูลนิธิธรรมกาย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว พร้อมทั้งตั้งโรงทานที่เมือง dharmasthali ประเทศเนปาล
  33. มูลนิธิธรรมกาย ช่วยเหลือชาวเนปาลอย่างต่อเนื่อง
  34. "Tobacco-free Campaign , The World Fellowship of Buddhist Youth". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-31. สืบค้นเมื่อ 2009-06-20.
  35. DMC ได้รับ ๑๒ รางวัล Telly Awards รางวัลสื่อมาตรฐานระดับโลก
  36. ถวายรางวัลผู้ทำประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2552 เว็บไซต์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย[ลิงก์เสีย]
  37. "กรรมาธิการศาสนาฯ ถวายรางวัลผู้ทำประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2552 เว็บไซต์ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-26. สืบค้นเมื่อ 2009-06-18.
  38. Mes Aynak (เมส ไซนัค) ความหวังและทางรอด
  39. พิธีมอบรางวัลผู้นำพุทธโลกและพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ จากมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์
  40. พิธีมอบรางวัลผู้นำพุทธโลกและพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ จากมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์
  41. "เผยรายชื่อผู้รับรางวัล 'ผู้นำพุทธโลก'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-02. สืบค้นเมื่อ 2015-02-01.
  42. เป้าหมายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย[ลิงก์เสีย]
  43. 43.0 43.1 43.2 ไพศาล พืชมงคล . "คณะกรรมาธิการศาสนา สปช. ชี้ธัมมชโยเป็นปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช จี้ผู้รับผิดชอบดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคม". www.facebook.com. เรียกข้อมูลวันที่ 18 กุมพาพันธ์ 2558
  44. 44.0 44.1 44.2 "กรรมาธิการศาสนา สปช.ชี้ กรณี "พระธัมมชโย" ต้องปฏิบัติตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช[ลิงก์เสีย]". ไทยพีบีเอสนิวส์ . เรียกข้อมูลเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558
  45. 45.0 45.1 45.2 "สปช.จี้มส.จัดการ‘ธัมมชโย’กรณีพระวินิจฉัยต้องปาราชิก[ลิงก์เสีย]". คมชัดลึกออนไลน์ . เรียกข้อมูลเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558
  46. "ธัมมชโย" ไร้หลักฐานการปาราชิก, ไทยรัฐ, สืบค้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558
  47. ผอ.สำนักพุทธฯ เปิดประเด็นต้องพิสูจน์ 'พระลิขิต' ปลอมหรือไม่, ไทยรัฐ, สืบค้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558
  48. มติมหาเถรสมาคม "พระธัมมชโย" ไม่ปาราชิก อย่านำเรื่องนี้กลับมาพูดอีก, มติชนออนไลน์, สืบค้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558
  49. 'สปช.'ชนมติมหาเถรฯ ลุยสอบ'กก.หลายรูป'[ลิงก์เสีย], เดลินิวส์, 21 กุมภาพันธ์ 2558, สืบค้นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558
  50. พระพุทธะอิสระคว่ำบาตรมติมหาเถรสมาคม เก็บถาวร 2015-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, โพสต์ทูเดย์, 21 กุมภาพันธ์ 2558, สืบค้นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558
  51. ยัน มส.ไม่เคยมีมติให้'ธัมมชโย'รอดปาราชิก เก็บถาวร 2015-04-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เดลินิวส์, 24 กุมภาพันธ์ 2558, สืบค้นวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558
  52. มหาเถรสมาคม ยันมติ 'ธัมมชโย' พ้นอาบัติปาราชิก (ชมคลิป), ไทยรัฐ, 27 กุมภาพันธ์ 2558, สืบค้นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558
  53. หมายจับ ธัมมชโย รุกป่าภูเรือ
  54. 54.0 54.1 DSI ชงอัยการฟัน "ธัมมชโย-พวก" ส่อหนุนยักยอกเงินเครดิตยูเนียน, โพสต์ทูเดย์, 29 ตุลาคม 2558, สืบค้นวันที่ 8 ธันวาคม 2558
  55. 55.0 55.1 DSI ชงอัยการสั่งฟ้อง ′ธัมมชโย-พวก′ รับเช็คสหกรณ์ฯคลองจั่นกว่า 1 พันล้าน, มติชน, 29 ตุลาคม 2558, สืบค้นวันที่ 8 ธันวาคม 2558
  56. ด่วน!!! ศาลอาญา อนุมัติหมายจับ'ธัมมชโย' ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร, เนชั่น, สืบค้นวันที่ 18 พฤษภาคม 2559

ดูเพิ่ม