พระเจ้าเฮโรดมหาราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าเฮโรดมหาราช
กษัตริย์แห่งยูเดีย
ครองราชย์37 ปีก่อนค.ศ.– ประมาณ 4 ปีก่อนค.ศ.
ถัดไป
ประสูติประมาณ 74/73 ปีก่อนค.ศ.
สวรรคตประมาณ 4 ปีก่อนค.ศ.
เจริโค, ยูเดีย
ฝังพระศพน่าจะฝังที่เฮโรเดียม
สนม
พระราชบุตร
ราชวงศ์ราชวงศ์เฮโรด
พระราชบิดาAntipater the Idumaean
พระราชมารดาCypros
ศาสนาSecond Temple Judaism

พระเจ้าเฮโรดมหาราช (อังกฤษ: Herod the Great หรือ Herod I; ฮีบรู: הוֹרְדוֹס Horodos, กรีก: Ἡρῴδης (Hērōdēs)) (73 - 4 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งมณฑลยูเดีย[1] (Iudaea Province) ของจักรวรรดิโรมัน เฮโรดมิได้สืบเชื้อสายมาจากชาวยิว และตอนแรกเป็นเพียงคนรับใช้[2] [3] กล่าวกันว่าเป็น “ผู้บ้าอำนาจและฆาตกรรมครอบครัวของตนเองและรับบีอีกหลายคน” [4] ยูเดียในรัชสมัยของพระองค์เจริญรุ่งเรืองและมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญเป็นประวัติศาสตร์มากมาย

พระเจ้าเฮโรดมหาราชมักจะสับสนกับเฮโรด อันทิปาสที่มาจากราชวงศ์เฮโรเดียน (Herodian dynasty) เดียวกัน ผู้เป็นประมุขของกาลิลี ระหว่างปีที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราช จนถึง ค.ศ. 39 ในช่วงเวลาของนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมาและพระเยซู พระเจ้าเฮโรดทรงมีชื่อเสียงในงานสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ในกรุงเยรูซาเลมและบริเวณอื่น ๆ ในดินแดนโบราณรวมทั้งการก่อสร้างพระวิหารหลังที่สอง (Second Temple) ในกรุงเยรูซาเลมที่บางครั้งก็เรียกว่าพระวิหารของพระเจ้าเฮโรด พระราชประวัติของพระองค์ได้รับการกล่าวถึงบ้างในงานเขียนของโยเซพุส นักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน-ยิวสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 1

ในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า พระเจ้าเฮโรดมีพระราชโองการให้ประหารเด็กทุกคนในหมู่บ้านเบธเลเฮมเพราะทรงหวาดกลัวว่าเด็กที่เกิดใหม่จะเติบโตขึ้นมาเป็น “พระมหากษัตริย์แห่งชาวยิว” (King of the Jews) และยึดราชบัลลังก์ของพระองค์ ตามคำพยากรณ์ของแมไจตามที่บรรยายในพระวรสารนักบุญมัทธิว[5] แต่นักเขียนพระราชประวัติของพระเจ้าเฮโรดเมื่อไม่นานมานี้ค้านว่าเหตุการณ์การสังหารหมู่นั้น อาจจะมิได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์[6]

ใน​ช่วง​ครึ่ง​แรก​ของ​ศตวรรษ​ที่​สอง​ก่อน​สากล​ศักราช ยูเดีย​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​ราชวงศ์​เซเลอคิด​แห่ง​ซีเรีย ซึ่ง​เป็น​หนึ่ง​ใน​สี่​ราชวงศ์​ที่​เกิด​ขึ้น​หลัง​จาก​จักรวรรดิ​ของ​อะเล็กซานเดอร์​มหาราช​ล่ม​สลาย อย่าง​ไร​ก็​ตาม ประมาณ​ปี 168 ก่อนคริสต์ศักราช เมื่อ​กษัตริย์​ของ​ราชวงศ์​เซเลอคิด​พยายาม​จะ​นำ​เอา​การ​นมัสการ​ซูส​เข้า​มา​แทน​ที่​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ใน​พระ​วิหาร​ที่​กรุง​เยรูซาเลม ชาว​ยิว​ซึ่ง​นำ​โดย​ตระกูล​แมกคาบี​จึง​ก่อ​กบฏ พวก​แมกคาบี​หรือ​ฮัสโมเนียน​ปกครอง​ยูเดีย​ใน​ช่วง​ปี 142-63 ก่อนคริสต์ศักราช

ใน​ปี 66 ก่อนคริสต์ศักราช เจ้า​ชาย​แห่ง​ฮัสโมเนียน​สอง​องค์​คือ ฮีร์คานุส​ที่ 2 และ​อาริสโตบุลุส​น้อง​ชาย​ได้​ต่อ​สู้​กัน​เพื่อ​แย่ง​ชิง​บัลลังก์ หลัง​จาก​นั้น​เกิด​สงคราม​กลาง​เมือง​ขึ้น ทั้ง​คู่​จึง​ไป​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ปอมปีย์​แม่ทัพ​ของ​โรมัน​ซึ่ง​เวลา​นั้น​อยู่​ใน​ซีเรีย ปอมปีย์​ก็​ฉวย​โอกาส​เข้า​แทรกแซง​ทันที

ที่​จริง พวก​โรมัน​กำลัง​ขยาย​อิทธิพล​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก และ​ใน​เวลา​นั้น​พวก​เขา​ยึด​ครอง​อาณา​เขต​ส่วน​ใหญ่​ของ​เอเชีย​ไมเนอร์​ได้​แล้ว แต่​เนื่อง​จาก​ซีเรีย​มี​ผู้​ปกครอง​ที่​ไม่​เข้มแข็ง​สืบ​ต่อ​กัน​มา​หลาย​สมัย บ้าน​เมือง​จึง​ตก​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ไม่​มี​ขื่อ​ไม่​มี​แป​ซึ่ง​ขัด​กับ​ความ​พยายาม​ของ​โรม​ที่​ต้องการ​จะ​รักษา​ความ​สงบ​สุข​ใน​ดินแดน​ทาง​ตะวัน​ออก​เอา​ไว้ ดัง​นั้น ปอมปีย์​จึง​เข้า​ยึด​ครอง​ซีเรีย

ปอมปีย์​แก้​ปัญหา​ความ​ขัด​แย้ง​ใน​ราชวงศ์​ฮัสโมเนียน​ด้วย​การ​สนับสนุน​ฮีร์คานุส และ​ใน​ปี 63 ก่อนคริสต์ศักราช พวก​โรมัน​ได้​บุก​โจมตี​เยรูซาเลม​และ​ตั้ง​ฮีร์คานุส​เป็น​กษัตริย์ แต่​ฮีร์คานุส​ไม่​ได้​ปกครอง​อย่าง​เอกเทศ พวก​โรมัน​ได้​เข้า​มา​แล้ว​และ​พวก​เขา​จะ​ไม่​ถอน​อิทธิพล​ออก​ไป​จาก​ดินแดน​นี้ ฮีร์คานุส​กลาย​เป็น​ผู้​นำ​ประชาชน​ที่​ต้อง​ปกครอง​ภาย​ใต้​อำนาจ​ของ​โรม และ​ต้อง​พึ่ง​การ​สนับสนุน​จาก​โรม​เพื่อ​รักษา​บัลลังก์​เอา​ไว้ เขา​สามารถ​จะ​บริหาร​จัด​การ​เรื่อง​ราว​ภาย​ใน​ได้​ตาม​ที่​ต้องการ แต่​ใน​เรื่อง​ความ​สัมพันธ์​กับ​ชาติ​อื่น ๆ เขา​จะ​ต้อง​ทำ​ตาม​นโยบาย​ของ​โรม

ฮีร์คานุส​เป็น​ผู้​ปกครอง​ที่​ไม่​เข้มแข็ง แต่​เขา​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​จาก​อันทิพาเทอร์​ชาว​อิดูเมีย ซึ่ง​เป็น​บิดา​ของ​เฮโรด​มหาราช อันทิพาเทอร์​เป็น​ผู้​มี​อำนาจ​ที่​ให้​การ​ช่วยเหลือ​อยู่​เบื้อง​หลัง เขา​สามารถ​ควบคุม​พวก​ยิว​กลุ่ม​ต่าง ๆ ที่​คิด​จะ​ต่อ​ต้าน​กษัตริย์​ได้ และ​ใน​ไม่​ช้า​ตัว​เขา​เอง​ก็​มี​อำนาจ​เหนือ​ยูเดีย​ทั้ง​หมด เขา​ได้​ช่วย​จูเลียส ซีซาร์ รบ​กับ​ศัตรู​ใน​อียิปต์ และ​พวก​โรมัน​ได้​ให้​รางวัล​แก่​อันทิพาเทอร์​โดย​การ​ตั้ง​เขา​เป็น​ผู้​สำเร็จ​ราชการ​ที่​ขึ้น​กับ​โรม​โดย​ตรง ส่วน​อันทิพาเทอร์​เอง​ก็​แต่ง​ตั้ง​บุตร​ชาย​สอง​คน คือ​ฟาเซล ให้​เป็น​ผู้​ว่า​ราชการ​เยรูซาเลม​และ​เฮโรด ให้​เป็น​ผู้​ว่า​ราชการ​แกลิลี

อันทิพาเทอร์​ได้​สอน​ลูก​ของ​ตน​ว่า​ไม่​ว่า​จะ​ทำ​สิ่ง​ใด​ก็​ตาม​ไม่​อาจ​สำเร็จ​ได้​ถ้า​ปราศจาก​การ​เห็น​ชอบ​จาก​โรม เฮโรด​ก็​ได้​จำ​คำ​สอน​นี้​ไว้​อย่าง​ดี ตลอด​เวลา​ที่​อยู่​ใน​ตำแหน่ง เขา​พยายาม​จะ​เอา​ใจ​โรม​ที่​ช่วย​ให้​เขา​มี​อำนาจ และ​ขณะ​เดียว​กัน​ก็​เอา​ใจ​ชาว​ยิว​ที่​อยู่​ใต้​อำนาจ​ตน​ด้วย สิ่ง​ที่​ช่วย​เขา​ก็​คือ​ความ​สามารถ​ใน​การ​บริหาร​และ​การ​ดู​แล​กองทัพ เมื่อ​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​ว่า​ราชการ เฮโรด​ใน​วัย 25 ปี​ก็​กลาย​เป็น​ที่​ชื่น​ชอบ​ของ​ทั้ง​ชาว​ยิว​และ​ชาว​โรมัน​เนื่อง​จาก​เขา​ได้​ปราบ​ปราม​กองโจร​ทั้ง​หลาย​อย่าง​แข็งขัน​ให้​หมด​ไป​จาก​เขต​ปกครอง

หลัง​จาก​อันทิพาเทอร์​ถูก​ศัตรู​วาง​ยา​พิษ​ใน​ปี 43 ก่อนคริสต์ศักราช เฮโรด​ก็​กลาย​มา​เป็น​ผู้​มี​อำนาจ​มาก​ที่​สุด​ใน​ยูเดีย แต่​เขา​ก็​มี​ศัตรู​ด้วย พวก​ขุนนาง​ใน​เยรูซาเลม​ถือ​ว่า​เฮโรด​เป็น​ผู้​ช่วง​ชิง​อำนาจ และ​พยายาม​เกลี้ยกล่อม​ให้​โรม​ถอด​เขา​ออก​จาก​ตำแหน่ง ความ​พยายาม​นั้น​ล้มเหลว โรม​ยัง​ระลึก​ถึง​คุณ​ความ​ดี​ของ​อันทิพาเทอร์​และ​ชื่นชม​ความ​สามารถ​ของ​เฮโรด

วิธี​ที่​ปอมปีย์​แก้​ปัญหา​การ​สืบ​ราชบัลลังก์​ของ​ฮัสโมเนียน​ประมาณ 20 ปี​ก่อน​ได้​สร้าง​ความ​ขมขื่น​ให้​กับ​หลาย​ฝ่าย ฝ่าย​ที่​สนับสนุน​อาริสโตบุลุส​พยายาม​ที่​จะ​แย่ง​อำนาจ​คืน​มา​หลาย​ครั้ง​หลาย​หน​แต่​ไม่​ประสบ​ความ​สำเร็จ แต่​แล้ว​ใน​ปี 40 ก่อนคริสต์ศักราช พวก​เขา​ก็​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ชาว​ปาร์เทีย​ซึ่ง​เป็น​ศัตรู​ของ​โรม ระหว่าง​ที่​เกิด​ความ​โกลาหล​วุ่นวาย​ใน​กรุง​โรม​เนื่อง​จาก​สงคราม​กลาง​เมือง พวก​เขา​ได้​ฉวย​โอกาส​โจมตี​ซีเรีย ถอด​ถอน​ฮีร์คานุส และ​แต่ง​ตั้ง​สมาชิก​ของ​ราชวงศ์​ฮัสโมเนียน​คน​หนึ่ง​ที่​ต่อ​ต้าน​โรม​ให้​ขึ้น​ครอง​อำนาจ

เฮโรด​หนี​ไป​โรม​และ​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​อย่าง​อบอุ่น ชาว​โรมัน​ต้องการ​ขับ​ไล่​พวก​ปาร์เทีย​ออก​ไป​จาก​ยูเดีย​และ​ยึด​ดินแดน​นั้น​กลับ​มา และ​ตั้ง​ผู้​ปกครอง​ที่​ตน​เห็น​ชอบ พวก​เขา​ต้องการ​พันธมิตร​ที่​ไว้​ใจ​ได้​และ​เห็น​ว่า​เฮโรด​คือ​ผู้​ที่​เหมาะ​สม สภา​สูง​ของ​โรม​จึง​ได้​ตั้ง​เฮโรด​เป็น​กษัตริย์​แห่ง​ยูเดีย เพื่อ​จะ​รักษา​อำนาจ​ของ​ตน​ไว้ เฮโรด​ได้​ทำ​หลาย​สิ่ง​ที่​เป็น​การ​ประนีประนอม​ความ​เชื่อ สิ่ง​หนึ่ง​ก็​คือ​เขา​ได้​นำ​ขบวน​แห่​จาก​สภา​สูง​ไป​ยัง​วิหาร​แห่ง​จูปีเตอร์​เพื่อ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​ให้​แก่​เหล่า​เทพเจ้า​นอก​รีต

ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​กอง​ทหาร​โรมัน เฮโรด​เอา​ชนะ​ศัตรู​ใน​ยูเดีย​และ​ทวง​บัลลังก์​คืน​มา​ได้ เขา​แก้แค้น​ผู้​ที่​เคย​ต่อ​ต้าน​ตน​อย่าง​โหด​เหี้ยม เขา​กำจัด​ราชวงศ์​ฮัสโมเนียน​และ​เหล่า​ขุนนาง​ชาว​ยิว​ที่​สนับสนุน​ราชวงศ์​นี้ รวม​ทั้ง​ใคร​ก็​ตาม​ที่​ไม่​พอ​ใจ​จะ​อยู่​ใต้​อำนาจ​ผู้​ปกครอง​ที่​เป็น​มิตร​กับ​โรม

ใน​ปี 31 ก่อนคริสต์ศักราช เมื่อ​ออกเตเวียส​ได้​ชัย​ชนะ​เหนือ​มาร์ก แอนโทนี​ที่​อักทิอุม และ​กลาย​เป็น​ผู้​ปกครอง​ที่​มี​อำนาจ​แต่​ผู้​เดียว​ของ​โรม เฮโรด​ก็​กลัว​ว่า​ออกเตเวียส​จะ​สงสัย​ตน​เนื่อง​จาก​เคย​มี​มิตรภาพ​อัน​ยาว​นาน​กับ​มาร์ก แอนโทนี เฮโรด​จึง​รีบ​ไป​หา​ออกเตเวียส​เพื่อ​ยืน​ยัน​ว่า​ตน​ยัง​จงรักภักดี​อยู่ ผู้​ปกครอง​องค์​ใหม่​ของ​โรม​ก็​ได้​รับรอง​กับ​เฮโรด​ว่า​เขา​ยัง​เป็น​กษัตริย์​ของ​ยูเดีย​และ​มอบ​ดินแดน​เพิ่ม​ให้​อีก

ใน​ช่วง​หลาย​ปี​หลัง​จาก​นั้น เฮโรด​ได้​สร้าง​ความ​มั่นคง​ให้​กับ​อาณาจักร​ของ​ตน​โดย​ทำ​ให้​กรุง​เยรูซาเลม​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​วัฒนธรรม​กรีก เขา​ได้​ริเริ่ม​โครงการ​ก่อ​สร้าง​ขนาด​ใหญ่ เช่น ราชวัง​หลาย​หลัง, เมือง​ท่า​ซีซาเรีย, และ​พระ​วิหาร​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​ที่​ประกอบ​ด้วย​สิ่ง​ก่อ​สร้าง​ใหม่ ๆ ที่​ใหญ่​โต​หรูหรา ตลอด​ช่วง​เวลา​นั้น นโยบาย​ของ​เฮโรด​มุ่ง​เน้น​ที่​การ​รักษา​ความ​สัมพันธ์​กับ​โรม​ซึ่ง​เป็น​ขุม​กำลัง​ของ​ตน

อำนาจ​ปกครอง​ของ​เฮโรด​เหนือ​ยูเดีย​นั้น​เป็น​อำนาจ​เบ็ดเสร็จ​เด็ดขาด นอก​จาก​นี้ เฮโรด​ยัง​ใช้​อำนาจ​เหนือ​มหา​ปุโรหิต​ด้วย โดย​แต่ง​ตั้ง​ผู้​ที่​ตน​พอ​ใจ​ให้​ดำรง​ตำแหน่ง​นี้

ชีวิต​ส่วน​ตัว​ของ​เฮโรด​มี​แต่​เรื่อง​วุ่นวาย ใน​จำนวน​มเหสี​สิบ​คน​ของ​เฮโรด​มี​หลาย​คน​ที่​ต้องการ​ให้​บุตร​ชาย​ของ​ตน​สืบ​บัลลังก์​ต่อ​จาก​ราชบิดา แผน​ร้าย​ต่าง ๆ ใน​ราชวัง​ทำ​ให้​เฮโรด​ระแวง​สงสัย​และ​ทำ​สิ่ง​ที่​เหี้ยม​โหด ด้วย​ความ​หึง​หวง เขา​ได้​สั่ง​ประหาร​มา​เรียม​มเหสี​คน​โปรด และ​ต่อ​มา​สั่ง​ให้​รัด​คอ​บุตร​ชาย​สอง​คน​ของ​นาง​เนื่อง​จาก​มี​คน​กล่าวหา​ว่า​คบ​คิด​แผน​ชั่ว​ต่อ​ต้าน​ตน บันทึก​ใน​มัดธาย​เกี่ยว​กับ​การ​สั่ง​ฆ่า​เด็ก​ทุก​คน​ใน​เบทเลเฮม​จึง​สอดคล้อง​ลง​รอย​กับ​เรื่อง​ที่​ผู้​คน​รู้​กัน​ดี​เกี่ยว​กับ​นิสัย​ของ​เฮโรด​รวม​ทั้ง​ความ​มุ่ง​มั่น​ของ​เขา​ที่​จะ​กำจัด​ทุก​คน​ที่​สงสัย​ว่า​เป็น​ศัตรู

บาง​คน​บอก​ว่า​เนื่อง​จาก​เฮโรด​รู้​ตัว​ว่า​ไม่​เป็น​ที่​นิยม​ชม​ชอบ เขา​จึง​ตั้งใจ​จะ​ทำ​ให้​คน​ทั้ง​ชาติ​โศก​เศร้า​ใน​การ​ตาย​ของ​ตน​แทน​ที่​จะ​ดีใจ เพื่อ​ให้​แผนการ​สำเร็จ เขา​ได้​จับ​ประชาชน​ระดับ​ผู้​นำ​ของ​ยูเดีย​และ​สั่ง​ไว้​ว่า​ให้​ฆ่า​คน​เหล่า​นี้​เมื่อ​มี​การ​ประกาศ​การ​ตาย​ของ​เขา แต่​ก็​ไม่​ได้​มี​การ​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​สั่ง​นี้

เมื่อ​เฮโรด​สิ้น​พระ​ชนม์ โรม​ได้​แต่ง​ตั้ง​อาร์คีลาอุส​ให้​เป็น​ผู้​ปกครอง​ยูเดีย​ต่อ​จาก​ราชบิดา และ​แต่ง​ตั้ง​บุตร​ชาย​อีก​สอง​คน​ของ​เฮโรด​เป็น​เจ้า​ชาย​หรือ​เจ้า​ผู้​ครอง​แคว้น​ที่​ไม่​ขึ้น​กับ​โรม คือ​อันทีพัส​เป็น​ผู้​ครอง​แคว้น​แกลิลี​และ​พีเรีย ส่วน​ฟิลิป​เป็น​ผู้​ครอง​แคว้น​อิตูเรีย​และ​ทราโคนิทิส อาร์คีลาอุส​ไม่​เป็น​ที่​ชื่น​ชอบ​ของ​ราษฎร​และ​ของ​โรม หลัง​จาก​ปกครอง​ได้​สิบ​ปี​โดย​ไม่​มี​ผล​งาน​ที่​น่า​พอ​ใจ โรม​จึง​ปลด​เขา​ออก​จาก​ตำแหน่ง​และ​แต่ง​ตั้ง​ผู้​ว่า​ราชการ​ของ​โรม​เอง​ให้​ปกครอง ซึ่ง​ก็​คือ​ผู้​ที่​ดำรง​ตำแหน่ง​ก่อน​ปอนติอุส​ปีลาต ใน​ระหว่าง​นั้น อันทีพัส​ซึ่ง​ลูกา​เรียก​สั้น ๆ ว่า​เฮโรด ยัง​คง​ปกครอง​แคว้น​ของ​ตน​ต่อ​ไป​เช่น​เดียว​กับ​ฟิลิป นี่​เป็น​สถานการณ์​ทาง​การ​เมือง​ตอน​ที่​พระ​เยซู​เริ่ม​ทำ​งาน​ประกาศ​สั่ง​สอน—ลูกา 3:1

อ้างอิง[แก้]

  1. "Herod". Encyclopædia Britannica Online. Encyclopædia Britannica. 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-07-27. born 74 BC died March/April, 4 BC, Jericho, Judaea byname Herod the Great, Latin Herodes Magnus Roman-appointed king of Judaea ... his father, Antipater, was an Edomite (an Arab from the region between the Dead Sea and the Gulf of Aqaba)
  2. http://www.jewishvirtuallibrary.org/jsource/Archaeology/jericho.html
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-06. สืบค้นเมื่อ 2009-04-06.
  4. http://www.aish.com/literacy/JewishHistory/Crash_Course_in_Jewish_History_Part_31_-_Herod3_the_Great.asp
  5. MATTHEW 2:16 "When Herod realized that he had been outwitted by the Magi, he was furious, and he gave orders to kill all the boys in Bethlehem and its vicinity who were two years old and under, in accordance with the time he had learned from the Magi." 'HOLY' Bible, New International Version (Eng. Bible-NIV095-00301 ABS-1986-20,000-Z-1)
  6. "Most recent biographies of Herod the Great deny it entirely", Paul L. Maier, "Herod and the Infants of Bethlehem", in Chronos, Kairos, Christos II, Mercer University Press (1998), 170; see also Geza Vermes, The Nativity: History and Legend, London, Penguin, 2006, p22; E. P. Sanders, The Historical Figure of Jesus, Penguin, 1993, p.85

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระเจ้าเฮโรดมหาราช