พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัลเดมาร์ที่ 4
Knight of the Holy Sepulchre
พระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์กในศิลปะเฟรสโกร่วมสมัยภายในโบสถ์นักบุญปีเตอร์, เนสวึด
พระมหากษัตริย์เดนมาร์กและเวนด์
ครองราชย์24 มิถุนายน 1340 – 24 ตุลาคม 1375
ก่อนหน้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2
ถัดไปโอลาฟที่ 2
พระมหากษัตริย์แห่งชาวกอท
ครองราชย์1361–1375
ถัดไปโอลาฟที่ 2
ประสูติค.ศ. 1320
ทีคึบ, เฮลซิงเงอร์, ประเทศเดนมาร์ก
สวรรคต24 ตุลาคม ค.ศ. 1375(1375-10-24) (54–55 ปี)
ปราสาทกัวเรอ, เชลลันด์เหนือ, ประเทศเดนมาร์ก
ฝังพระศพครั้งแรกที่ปราสาทวอร์ดิงบอร์ก ครั้งที่สองที่โบสถ์ซอรือ
คู่อภิเษกเฮลวิกแห่งชเลสวิช (สมรส 1340; เสียชีวิต 1374)
พระราชบุตร
กับพระองค์อื่น ๆ...
พระนามเต็ม
วัลเดมาร์ คริสตอฟเฟอร์เซน
ราชวงศ์แอสตริดเซน
พระราชบิดาพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดายูเฟเมียแห่งพอเมอเรเนีย

พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก หรือ วัลเดมาร์ อัทแทร์ดัก (เดนมาร์ก: Valdemar IV Atterdag; พระฉายานาม แปลว่า "ผู้กลับคืนมา"; ค.ศ. 1320 - 24 ตุลาคม ค.ศ. 1375) พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ระหว่าง ค.ศ. 1340 ถึง 1375[1] พระองค์เป็นที่รู้จักจากการรวมประเทศเดนมาร์กกลับคืนมาได้ ซึ่งบอบช้ำกับภาวะล้มละลายและการจำนองประเทศเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการสงครามของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน

ครองราชย์[แก้]

พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องในพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์กและยูเฟเมียแห่งพอเมอเรเนีย พระองค์ทรงใช้พระชนม์ชีพวัยเยาว์ในช่วงลี้ภัยอยู่ในราชสำนักของจักรพรรดิลูทวิชที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในบาวาเรีย หลังจากพระราชบิดาของพระองค์พ่ายแพ้สงคราม และพระองค์สวรรคต ส่วนพระเชษฐาทั้งสองคือ อดีตยุวกษัตริย์อีริคและเจ้าชายอ็อทโทถูกคุมขัง ด้วยน้ำมือของพวกขุนนางฮ็อลชไตน์ พระองค์จึงเป็นผู้อ้างสิทธิราชบัลลังก์และพยายามเอาคืน[2]

ตามมาด้วยการลอบสังหารเกอร์ฮาร์ดที่ 3 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์คโดยนีลส์ เอ็บเบอเซนและน้องชายของเขา เจ้าชายวัลเดมาร์ได้รับการประกาศให้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กที่มหาวิหารวีบอร์กในวันนักบุญจอห์น วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1340 โดยเอ็บเบอเซน พระองค์เสกสมรสกับเฮลวิกแห่งชเลสวิช บุตรีของอีริคที่ 2 ดยุกแห่งชเลสวิช และด้วยสิ่งที่พระราชบิดาทิ้งไว้ให้พระองค์ พระองค์สามารถควบคุมพื้นที่หนึ่งในสี่ของคาบสมุทรจัตแลนด์ทางตอนเหนือของแม่น้ำคองกือ พระองค์ไม่ได้ทรงถูกบังคับให้ลงนามในกฎบัตรเหมือนพระราชบิดา อาจเป็นเพราะเดนมาร์กไม่มีพระมหากษัตริย์มาเป็นเวลาหลายปี และไม่มีใครคาดคิดว่ากษัตริย์พระชนมายุ 20 พรรษา จะสร้างปัญหาให้แก่ขุนนางมากกว่าในรัชสมัยของพระราชบิดาเสียอีก แต่กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 เป็นกษัตริย์หนุ่มที่ชาญฉลาดและมีความมุ่งมั่น พระองค์ตระหนักว่าหนทางเดียวในการปกครองเดนมาร์กคือการเข้าควบคุมดินแดนด้วยพระองค์เอง เอ็บเบอเซนปลดปล่อยจัตแลนด์กลางออกจากพวกฮ็อลชไตน์ในการปิดล้อมที่ปราสาทซอนเดนบอร์กในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1340 แต่เอ็บเบอเซนและน้องชายถูกสังหารในการรบ

การจำนองเดนมาร์ก[แก้]

ในรัชสมัยพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก พระราชบิดา เดนมาร์กนั้นล้มละลายและถูกจำนองเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 ทรงพยายามหาทางชำระหนี้และทวงคืนที่ดินของเดนมาร์ก โอกาสแรกมาพร้อมกับสินสอดทองหมั้นของพระราชินีเฮลวิก พระมเหสี การจำนองในส่วนที่เหลือของจัตแลนด์เหนือได้รับการชำระหนี้โดยภาษีที่กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงเรียกเก็บจากชาวนาในทางตอนเหนือของแม่น้ำคองกือ ในปีค.ศ. 1344 พระองค์ทรงได้รับดินแดนฟรีเซียเหนือคืนมา ซึ่งพระองค์ทรงเรียกเก็บภาษีทันทีเพื่อชำระหนี้ในดินแดนทางตอนใต้ของจัตแลนด์ (7,000 เหรียญเงิน) ชาวนาที่ถูกเรียกเก็บภาษีมากเกินไปเริ่มไม่พอใจต่อระบบที่ต้องการเงินไม่สิ้นสุด[3]

กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงหันไปยังเกาะเชลลันด์ บิชอปแห่งรอสกิลด์ ซึ่งเป็นเจ้าของปราสาทโคเปนเฮเกนและเมือง ได้ส่งมอบคืนพื้นที่ทั้งสองแก่กษัตริย์วัลเดมาร์ โดยต้องทรงให้การรับประกันว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในการรวบรวมภาษีผ่านการค้าช่องแคบเออเรซุนด์ พระองค์จึงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ปกครองโคเปนเฮเกน กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงสามารถยึดหรือซื้อปราสาทและป้อมปราการอื่นๆ ได้จนกระทั่งพระองค์สามารถขับไล่พวกฮ็อลชไตน์ออกไปได้ เมื่อพระองค์ไม่ทรงมีพระราชทรัพย์ พระองค์ทรงใช้กองทัพยึดเมืองคาลุนด์บอร์กและปราสาทซอบอร์ก ในช่วงระหว่างการรบนั้น พระองค์เสด็จไปยังเอสโตเนียเพื่อเจรจากับอัศวินทิวทอนิกซึ่งยึดครองเอสโตเนียอยู่ ชาวเดนส์ไม่เคยอพยพไปที่นั่นเลย กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงยอมละทิ้งเอสโตเนียของเดนมาร์กด้วย 19,000 เหรียญเงิน อันเป็นจังหวัดทางตะวันออกที่ห่างไกล ทำให้พระองค์ทรงมีพระราชทรัพย์ในการไถ่ถอนจำนองส่วนที่เหลือของเดนมาร์กซึ่งพระองค์มองว่ามีความสำคัญต่อพระองค์ยิ่งกว่า[3]

ในช่วงปีค.ศ. 1346 กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 ทรงทำสงครามครูเสดในลิทัวเนีย นักพงศาวดารคณะฟรานซิสกันเด็ทมาร์ ฟ็อน ลือเบ็คบันทึกว่า กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 เสด็จไปยังลือเบ็คในปีค.ศ. 1346 จากนั้นทรงไปยังปรัสเซียร่วมกับอีริคที่ 2 ดยุกแห่งซัคเซิน-เลาเอินบวร์คเพื่อต่อสู้กับชาวลิทัวเนีย อย่างไรก็ตามสงครามครูเสดต่อต้านชาวลิทัวเนียก็ไม่เกิดขึ้น กษัตริย์วัลเดมาร์จึงเสด็จเดินทางไปแสวงบุญที่เยรูซาเลมแทน (โดยไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของสมเด็จพระสันตะปาปา)[4] พระองค์ประสบความสำเร็จและได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินภาคีคณะพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงถูกสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 ตำหนิที่พระองค์เสด็จแสวงบุญโดยไม่ได้รับการอนุญาตก่อน

เมื่อเสด็จกลับมาเดนมาร์ก กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงระดมกองทัพ ในปีค.ศ. 1346 พระองค์ทรงยึดปราสาทวอร์ดิงบอร์กคืน ฐานทัพใหญ่ของพวกฮ็อลชไตน์ ในช่วงปลายปี กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงสามารถเรียกร้องดินแดนทั้งเกาะเชลลันด์เป็นของพระองค์ได้ พระองค์ทรงทำให้ปราสาทวอร์ดินบอร์กเป็นตำหนักที่ประทับ ทรงขยับขยายปราสาทและทรงสร้างหอคอยสูงให้เป็นสัญลักษณ์ของเมือง ชื่อเสียงของกษัตริย์วัลเดมาร์ในเรื่องความโหดร้ายของพระองค์ทำให้หลายคนที่ต่อต้านพระองค์ต้องมาขบคิดกันอย่างระวัดระวังในเรื่องการเปลี่ยนฝ่าย นโยบายภาษีของพระองค์ได้บดขยี้ชาวนาที่ต้องหวาดกลัวแต่ก็ต้องจ่ายเงิน ในปีค.ศ. 1347 กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงขับไล่ชาวเยอรมันออกไปและเดนมาร์กได้กลายเป็นชาติอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อทรงมีรายรับมากขึ้น กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงมีความสามารถในการจ่ายเพื่อสร้างกองทัพขนาดใหญ่และทรงใช้กลอุบายในการครอบครองปราสาทนูบอร์กและเกาะฟึน รวมถึงหมู่เกาะเล็กๆ กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงหันไปสนพระทัยสคาเนีย ซึ่งสวีเดนได้ยึดครอง ในช่วงนั้นเกิดพิบัติภัยไปทั่วภูมิภาค

กาฬมรณะ[แก้]

ใน ค.ศ. 1349 กาฬมรณะได้มาถึง ตามพงศาวดารบันทึกว่า กาฬโรคต่อมน้ำเหลืองมาถึงเดนมาร์กด้วยเรือผีมาเกยตื้นที่ชายฝั่งทางตอนเหนือของจัตแลนด์ บรรดาผู้ที่ไปตรวจสอบบนเรือพบว่าผู้ตายหน้าบวมดำ แต่พวกเขาก็อยู่บนเรือและสามารถขนทรัพย์สินมีค่าออกจากเรือ และตัวเห็บที่เป็นพาหะนำโรคได้ถูกเคลื่อนย้านออกมาจากเรือด้วย ผู้คนเริ่มล้มตายนับพัน สองปีถัดมาก็มีการระบาดไปทั่วเดนมาร์กราวกับไฟป่า ในรีเบเขตทางศาสนา 12 เขตถูกยุบเหลือสังฆมณฑลเดียว ประชาชนในเมืองเล็กๆ ตายหมดกลายเป็นเมืองร้าง ตัวเลขของการระบาดระหว่างปีค.ศ. 1349 - 1350 อยู่ระหว่างร้อยละ 33 ถึงร้อยละ 66 ของประชาชนเดนมาร์ก ชาวเมืองมักได้รับผลกระทบหนักกว่าประชาชนชาวนา ทำให้หลายคนต้องละทิ้งชีวิตในเมืองออกไป กษัตริย์วัลเดมาร์ไม่ทรงได้รับผลกระทบใดๆ พระองค์ใช้ประโยชน์จากการตายของศัตรูด้วยโรคระบาดในการยึดครองที่ดินและทรัพย์สิน พระองค์ปฏิเสธที่จะลดภาษีในปีถัดมา แม้ว่าชาวนาจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง ขุนนางเองก็รู้สึกว่ารายได้ของพวกเขาลดลงและรับภาระภาษีที่หนักเช่นกัน จึงจะเกิดการลุกฮือจลาจลขึ้นในปีถัดๆ ไป[5]

เศษเสี้ยวแผ่นดินชิ้นสุดท้าย[แก้]

ใน ค.ศ. 1350 พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4ทรงสร้างพันธมิตรกับโปแลนด์เพื่อต่อสู้กับคณะอัศวินทิวทอนิก[6]

ใน ค.ศ. 1354 กษัตริย์และขุนนางมีการประชุมกันที่ราชสำนักเดนมาร์กและพยายามหาข้อยุติความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย ข้อกำหนดในกฎบัตรระบุว่า การประชุมราชสำนักเดนฮอฟจะต้องมีการประชุมอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยกำหนดในวันนักบุญจอห์น วันที่ 24 มิถุนายน ระบบการเมืองเก่าที่จัดตั้งในปีค.ศ. 1282 ได้รับการฟื้นคืนและสิทธิของทุกคนได้กลับคืนสู่ระบบดั้งเดิมก่อนกฎบัตรของกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 2 ซึ่งทำลายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์[7]

กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงตอบโต้ด้วยการระดมพลและเคลื่อนทัพผ่านทางตอนใต้ของคาบสมุทรจัตแลนด์ เพื่อแย่งชิงดินแดนจำนวนมากที่เหล่าเคานท์เยอรมันยึดไปจากเดนมาร์กในหลายปีก่อนหน้า การก่อจลาจลแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วทั้วเกาะฟึน และพระองค์ทรงทำลายดินแดนที่เหลืออยู่ของพวกฮ็อลชไตน์ และยึดครองส่วนที่เหลือของเกาะได้ ดังนั้นกฎบัตรจึงไม่มีประโยชน์อะไร เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเพิกเฉยต่อข้อกำหนดทั้งหลาย และการก่อกบฏยังคงเกิดขึ้นประปราย ในปีเดียวกันนั้นเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินซึ่งสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วยุโรปเหนือ[5]

มีบทกวีที่มีชื่อเสียง เขียนโดยเจนส์ ปีเตอร์ จาค็อบเซน งานเขียนชื่อว่า กัวส์ซัน (Gurresange) ซึ่งเกี่ยวกับพระสนมของกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ชื่อ โทเว ได้ถูกสังหารตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระราชินีเฮลวิก[8][9] แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่มีลักษณะเป็นพงศาวดาร แต่ก็อาจจะเป็นการสับสนว่าเป็นเรื่องของพระองค์ หรือ พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก บรรพบุรุษของพระองค์

ในปีค.ศ. 1358 กษัตริย์วัลเดมาร์เสด็จกลับไปยังเกาะฟึน เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกับนีลส์ บุกก์ (ราวค.ศ. 1300 - 1358) ผู้นำชาวจัตแลนด์และเหล่าขุนนางและบิชอปทั้งหลาย พระมหากษัตริย์ทรงปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอของพวกเขา พวกเขาจึงเดินออกจากการประชุมด้วยความรังเกียจกษัตริย์ เมื่อพวกเขาเคลื่อนขบวนมาถึงเมืองมิดเดลฟาร์ต เพื่อหาเรือนำพาพวกเขาข้ามกลับจัตแลนด์ มีการว่าจ้างชาวประมงเพื่อพาพวกเขากลับ แต่ชาวประมงเหล่านั้นสังหารพวกเขา กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงถูกประณามว่าอยู่เบื้องหลัง และประชาชนที่ดื้อรั้นในจัตแลนด์จึงออกมาทำการกบฏอย่างเปิดเผยอีกครั้ง พวกเขาตัดสินใจที่จะสนับสนุนกันและกันต่อสู้เพื่อฟื้นฟูสิทธิที่พระมหากษัตริย์ทรงประกาศยกเลิกให้กลับคืนมาอีกครั้ง[10]

กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงหันไปสนใจสคาเนียอีกครั้งซึ่งยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรสวีเดน ในปีค.ศ. 1355 เจ้าชายอีริคแห่งสวีเดนทรงก่อกบฏต่อพระเจ้ามักนุสที่ 4 แห่งสวีเดน ผู้เป็นพระราชบิดา และยึดครองสคาเนียรวมถึงท่าเรือต่างๆ ของสวีเดน พระองค์ครองราชย์เป็นกษัตริย์อีริคที่ 12 กษัตริย์มักนุสที่ 4 ทรงหันไปหากษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก เพื่อทำข้อตกลงกันช่วยเหลือในการต่อสู้กับกษัตริย์อีริคที่ 12[11] แต่กษัตริย์อีริคกลับสวรรคตอย่างกระทันหันใน ค.ศ. 1359 กองทัพเดนมาร์กข้ามช่องแคบเออเรซุนด์ และพยายามบีบบังคับกษัตริย์มักนุสให้มอบเมืองเฮลซิงบอรย์ให้เดนมาร์ก ในปีค.ศ. 1360 การยึดครองเฮลซิงบอรย์ สร้างความมุ่งมั่นของกษัตริย์วัลเดมาร์ในการยึดครองทั้งแคว้นสคาเนีย กษัตริย์มักนุสไม่มีกองทัพที่เข้มแข็งพอที่จะยึดสคาเนียคืน[12] กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงยึดทั้งฮัลลันด์, บเลกิงเงและสคาเนีย[13]

นโยบายต่างประเทศ หลังปีค.ศ. 1360[แก้]

ภาพ กษัตริย์วัลเดมาร์ อัทแทร์ดักยึดเมืองวิสบีเพื่อเรียกค่าไถ่ วาดโดย คาร์ล กุสตาฟ เฮลควิสท์ (ค.ศ. 1851–1890)

กษัตริย์วัลเดมาร์ไม่ทรงทำอะไรมากต่อสันนิบาตฮันเซอที่กำลังสั่งสมอำนาจจนกลายเป็นมหาอำนาจของภูมิภาค ก่อนที่จะมีความขัดแย้งเล็กๆ กับกษัตริย์มักนุส กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงตัดสินใจโจมตีเกาะเกิตลันด์ของสวีเดน โดยเฉพาะเมืองวิสบี พระองค์ทรงระดมกองทัพขึ้นเรือและบุกเกิตลันด์ในปีค.ศ. 1361 กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงสู้รบกับชาวเกิตลันด์ และเอาชนะได้ในการสู้รบหน้าเมือง เดนมาร์กสังหารทหารเกิตลันด์ไปกว่า 1,800 นาย เมืองยอมจำนนเมื่อกษัตริย์วัลเดมาร์ทรงทำลายกำแพงเมืองบางส่วนและบุกเข้ามา เมื่อทรงยึดครองได้แล้ว พระองค์ทรงมีพระบัญชาให้ตั้งถังเบียร์ขนาดใหญ่สามถัง และทรงแจ้งให้เหล่าผู้อาวุโสในเมืองทราบว่า หากถังที่ทรงตั้งไว้ทั้งสามถังนี้ไม่มีเงินหรือทองบรรจุไว้จนเต็มภายในสามวัน พระองค์จะเข้าปล้นสะดมเมืองแทน กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงประหลาดพระทัยยิ่งนักเมื่อถังทั้งสามถูกเติมเต็มเสียก่อนที่คืนแรกจะผ่านไปเสียอีก โบสถ์ถูกปล้นเอาทรัพย์สินมีค่าและคนร่ำรวยถูกจับใส่เรือ เพื่อนำไปอยู่ที่วอร์ดิงบอร์ก อันเป็นเมืองที่ประทับของกษัตริย์วัลเดมาร์ พระองค์ทรงเพิ่มพระอิสริยยศ "พระมหากษัตริย์แห่งเกิตลันด์" ไว้ในพระนามาภิไธยด้วย แต่การกระทำของพระองค์ที่ทำต่อเมืองวิสบี ซึ่งเป็นเมืองสมาชิกของสันนิบาตฮันเซอ จะส่งผลร้ายแรงกลับมาในภายหลัง

กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงพยายามแทรกแซงการสืบราชบัลลังก์สวีเดน ด้วยการจับกุมเอลิซาเบธแห่งฮ็อลชไตน์ บุตรสาวของเกอร์ฮาร์ดที่ 3 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์ค ศัตรูเก่าของพระราชบิดาของพระองค์ โดยเอลิซาเบธมีการหมั้นหมายกับมกุฎราชกุมารโฮกุนแห่งสวีเดน พระองค์ทรงบีบบังคับให้เอลิซาเบธไปเป็นนางชี กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงชักจูงให้กษัตริย์มักนุส เห็นว่า พระราชโอรสองค์รององค์นี้ควรเสกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก พระราชธิดาองค์เล็กของพระองค์ กษัตริย์สวีเดนทรงเห็นชอบ แต่ขุนนางไม่เห็นด้วยและรวมตัวกันบีบบังคับให้กษัตริย์มักนุสสละราชบัลลังก์ พวกเขาตัดสินใจเลือกอัลเบร็คท์แห่งเมคเลินบวร์ค ขุนนางชาวเยอรมันขึ้นเป็นกษัตริย์สวีเดน อัลเบร็คท์เป็นศัตรูของกษัตริย์วัลเดมาร์ เมื่อกษัตริย์อัลเบรกท์ครองราชย์พระองค์พยายามหยุดยั้งแผนการของกษัตริย์วัลเดมาร์ในทันที พระองค์ชักชวนให้รัฐฮันซาร่วมกับสวีเดน เนื่องจากกษัตริย์วัลเดมาร์ทรงพยายามข่มขู่รัฐอื่นในแถบเออเรซุนด์และคุกคามการค้าปลาเฮร์ริงที่สร้างกำไร

กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงโจมตีกองเรือฮันซาโดยพยายามผลักดันพวกเขาให้ออกจากพื้นที่ประมงในเออเรซุนด์ รัฐสมาชิกฮันซาได้เรียกร้องให้จัดการการกระทำนี้ โดยเมืองลือเบ็คเป็นแกนนำ พวกเขาส่งสาส์นถึงกษัตริย์วัลเดมาร์และวิพากษ์วิจารณ์การที่พระองค์ทรงแทรกแซงการค้า ในปีค.ศ. 1362 รัฐฮันซา สวีเดนและนอร์เวย์รวมกันเป็นพันธมิตรเพื่อต่อต้านกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ต้องชดใช้ พวกฮันซาส่งกองเรือเข้าทำลายเมืองชายฝั่งของเดนมาร์กและพวกเขาสามารถยึดครองและปล้นสะดมโคเปนเฮเกนและบางส่วนของสคาเนียได้สำเร็จ กองทัพต่างชาติร่วมกับกลุ่มขุนนางที่ก่อกบฏในจัตแลนด์ บีบบังคับให้กษัตริย์วัลเดมาร์ต้องเสด็จหนีออกจากเดนมาร์กในเทศกาลอีสเตอร์ ปีค.ศ. 1368

กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงแต่งตั้งเฮนเนง พอเดอบัสค์ (ราวค.ศ. 1350 - 1388) พระสหายสนิทและที่ปรึกษาของพระองค์ ให้ไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับสันนิบาตฮันซาแทนพระองค์ พวกเขาตกลงที่จะสงบศึกตราบใดที่กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงยอมรับสิทธิในการค้าเสรีและสิทธิในการทำประมงในเออเรซุนด์ พวกฮันซายึดครองเมืองหลายเมืองตามชายฝั่งสคาเนียและป้อมปราการเฮลซิงบอรย์เป็นเวลา 15 ปี พวกเขายังบีบบังคับให้พระมหากษัตริย์ทรงอนุญาตให้สันนิบาตฮันซาสืบทอดดินแดนของราชอาณาจักรเดนมาร์ก หลังจากกษัตริย์วัลเดมาร์สวรรคต กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงถูกบีบบังคับให้ลงพระนามในสนธิสัญญาสตราลซุนด์ (ค.ศ. 1370) ซึ่งยอมรับสิทธิของสันนิบาตฮันซาในการค้าปลาเฮร์ริง และการยกเว้นภาษีสำหรับกองเรือการค้า กษัตริย์เสด็จกลับเดนมาร์หลังจากต้องอยู่นอกประเทศถึง 4 ปี กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงได้รับเกาะเกิตลันด์ แม้ว่าจะทรงพ่ายแพ้แต่พระองค์ยังสามารถกองกู้สถานะของพระองค์เองและแผ่นดินเดนมาร์กได้[14] [15]

สวรรคต[แก้]

ซากปราสาทกัวเรอ ใน ค.ศ. 2007
โลงพระศพกษัตริย์วัลเดมาร์ อัทแทร์ดักใน โบสถ์ซอรือ

แม้ขณะที่พระองค์ทรงรับมือกับศึกฮันซา พระองค์ก็ทรงพยายามปราบปรามเหล่าขุนนางกบฏซึ่งพยายามเรียกคืนสิทธิของพวกเขา ที่พวกเขาได้บีบบังคับให้พระราชบิดาของกษัตริย์วัลเดมาร์มอบสิทธินั้นแก่พวกเขา ในช่วงที่พระองคทรงพยายามควบคุมจัตแลนด์ทางตอนใต้ พระองค์ก็ทรงพระประชวร กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงขอความช่วยเหลือจากสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 ซึ่งทรงตกลงขับไล่ชาวเดนมาร์กที่กบฏออกจากศาสนา แต่ก่อนที่จะทรงดำเนินการเสร็จสิ้น กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 เสด็จสวรรคตที่ ปราสาทกัวเรอ ในเชลลันด์เหนือ วันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1375 พระบรมศพถูกฝังที่โบสถ์ซอรือในปีค.ศ. 1375 เมื่อพระสหายสนิทอย่าง พอเดอบัสค์ เสียชีวิต ศพของเขาได้ถูกนำฝังเคียงข้างกษัตริย์[16]

พระราชมรดก[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4
ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูลHans Majestæt
(ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับDeres Majestæt
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์เดนมาร์ก พระองค์ค่อยๆ ได้รับดินแดนที่สูญเสียไปกลับคืนมาสู่ราชอาณาจักรเดนมาร์กในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา การปกครองที่หนักหน่วงของพระองค์ การเก็บภาษีอันไม่มีที่สิ้นสุด และการแย่งชิงสิทธิถือครองที่เหล่าขุนนางถือครองมาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านตลอดรัชกาลของกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 พระองค์พยายามสร้างเดนมาร์กขึ้นมาใหม่ในฐานะมหาอำนาจในยุโรปเหนือ ได้รับการยอมรับจากชาวเดนมาร์กในช่วงแรก แต่นโยบายของกษัตริย์วัลเดมาร์ต้องเผชิญกับการต่อต้านอันขมขื่นจากตระกูลผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ในจัตแลนด์ พระองค์ทรงขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยอาศัยอำนาจของกองทัพ และขุนนางผู้จงรักภักดี จะกลายเป็นรากฐานการปกครองเดนมาร์กจนถึงปีค.ศ. 1440 ชาวต่างชาติจำนวนมากได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ราชสำนักและเสนาบดี โดยส่วนใหญ่เป็นขุนนางเชื้อสายเยอรมัน-สลาฟ หนึ่งในนั้นคือ เฮนเนง พอเดอบัสค์ ซึ่งรับตำแหน่งอัครเสนาบดีตั้งแต่ค.ศ. 1365 ถึง ค.ศ. 1388

กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 มักจะทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์ในยุคกลางของเดนมาร์กที่สำคัญที่สุด แหล่งข้อมูลระบุว่า พระองค์ทรงชาญฉลาด ช่างถากถาง กล้าได้กล้าเสียและปราดเปรื่อง ซึ่งทรงมีความสามารถทั้งทางนโยบายและเศรษฐกิจ พระนัดดาของพระองค์คือ อัลเบร็คท์ที่ประสูติแต่เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์กแห่งเดนมาร์ก พระธิดาองค์ที่สองของพระองค์ นั้นไม่ประสบความสำเร็จเหมือนสมเด็จตา โดย อัลเบร็คท์ที่ 2 ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค สมเด็จปู่ของอัลเบร็คท์น้อยนั้นได้รับเสนอให้เป็นผู้สืบทอดของกษัตริย์วัลเดมาร์ ทั้งๆ ที่ทรงมีพระนัดดาอีกพระองค์คือ เจ้าชายโอลาฟแห่งนอร์เวย์ ซึ่งประสูติแต่เจ้าหญิงมาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก พระราชธิดาองค์เล็กของพระองค์ กับพระเจ้าโฮกุนที่ 6 แห่งนอร์เวย์ จะได้รับการเลือกจากขุนนางให้เป็นผู้สืบทอดก็ตาม

พระสมัญญานามว่า "อัทแทร์ดัก" มักถูกตีความว่า "วันใหม่อีกครั้ง" (ความหมายตามตัวในอักษรเดนมาร์ก) หรือ "ผู้กลับคืนมา" แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นความหวังใหม่มาสู่ราชอาณาจักร หลังจากช่วงเวลาของพระมหากษัตริย์เดนมาร์กนั้นเป็นเรื่องเลวร้าย นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจที่ไขว้เขวตามวลีภาษาเยอรมันต่ำกลางว่า "เทอร์ทาเกอ" ("ter tage" ("these days"; วันเหล่านี้)) ซึ่งถูกตีความว่า "ช่วงยุคสมัยที่เรามีชีวิตอยู่!" ในชีวประวัติของกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 เฟล็ตเชอร์ พรัตต์ ได้ระบุว่าคำนี้หมายถึง "วันอื่นๆ" นั่นคือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันนี้ จะเป็นวันดีหรือไม่ดี วันพรุ่งนี้ก็เป็นเพียงแค่วันอื่นวันหนึ่ง

มีเรื่องราว เพลงบัลลาด และบทกวี เขียนถึงกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 พระองค์ได้รับการ "ประดิษฐกรรมขึ้นมาใหม่" ในฐานะกษัตริย์วีรบุรุษคนหนึ่งของเดนมาร์กในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งเดนมาร์กต้องต่อสู้กับเยอรมนีเพื่อแย่งชิงดินแดนดั้งเดิมทางตอนใต้ของจัตแลนด์ใต้ในสงครามชเลสวิชครั้งที่หนึ่งและสงครามชเลสวิชครั้งที่สอง

พระราชโอรสธิดา[แก้]

ในทศวรรษที่ 1330 วัลเดมาร์ที่ 5 ดยุกแห่งชเลสวิช (อดีตเคยถูกขุนนางตั้งเป็นกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 3) ได้เป็นพันธมิตรกับกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 เพื่อสู้รบกับเกอร์ฮาร์ดที่ 3 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์ค ผู้เป็นลุงของเขา และดยุกวัลเดมาร์ที่ 5 ได้เสนอให้กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 อภิเษกสมรสกับเฮลวิกแห่งชเลสวิช น้องสาวของเขา เฮลวิกได้นำแคว้นจัตแลนด์เหนือที่ถูกจำนอง ซึ่งกินเนื้อที่หนึ่งในสี่ของจัตแลนด์มาเป็นสินสอด (ให้แก่ฝ่ายชาย) พระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นที่ปราสาทซอนเดนบอร์กในปีค.ศ. 1340 เฮลวิกเป็นบุตรสาวของอีริคที่ 2 ดยุกแห่งชเลสวิชกับอเดเลดแห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์ค หลังจากพิธีอภิเษกสมรส ทั้งสองพระองค์เสด็จไปยังวีบอร์ก เพื่อประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ[17] ทรงมีพระโอรสธิดาร่วมกัน ดังนี้

  พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา
เจ้าชายคริสตอฟเฟอร์ ดยุกแห่งลอลันด์ ค.ศ. 1341 11 มิถุนายน ค.ศ. 1363 ไม่ทรงอภิเษกสมรส
- เจ้าหญิงมาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก ค.ศ. 1345 ค.ศ. 1350 หมั้นหมาย กับ
ไฮน์ริชที่ 3 ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค
สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
- เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์ก ดัชเชสแห่งเมคเลินบวร์ค ค.ศ. 1347 ค.ศ. 1370 อภิเษกสมรส ค.ศ. 1362 กับ
ไฮน์ริชที่ 3 ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค
มีโอรสธิดา 4 คน ได้แก่
อัลเบร็คท์ที่ 4 ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค
ยูเฟเมียแห่งเมคเลินบวร์ค
มาเรียแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน
อิงเงอร์บอร์กแห่งเมคเลินบวร์ค พระอธิการิณีแห่งอารามคณะกลาริสในริบนิตซ์-ดามการ์เทิน
- เจ้าหญิงคาทารีนาแห่งเดนมาร์ก ค.ศ. 1349 ค.ศ. 1349 สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
- เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์ก ค.ศ. 1350 11 มิถุนายน ค.ศ. 1363 สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 แห่งเดนมาร์ก 15 มีนาคม ค.ศ. 1353 28 ตุลาคม ค.ศ. 1412 อภิเษกสมรส วันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1363 กับ
พระเจ้าโฮกุนที่ 6 แห่งนอร์เวย์
มีพระโอรส 1 พระองค์ ได้แก่
พระเจ้าโอลาฟที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

มีหลักฐานว่าพระองค์ทรงมีพระโอรสนอกสมรสได้แก่ อีริค เชลลันด์สฟาร์ ประสูติที่โอเคอบูการ์ด บนเกาะเชลลันด์ ศพถูกฝังที่มหาวิหารรอสกิลด์พร้อมมงกุฎ แต่หลักฐานอื่นระบุว่าทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก[18]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Valdemar Atterdag −1375". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  2. "Valdemar Atterdag −1375". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  3. 3.0 3.1 "Valdemar Atterdag og genopbygning af kongemagten 1340–75". danmarkshistorie (Aarhus University). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-21. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  4. Janus Møller Jensen. Denmark and the Crusades. 2007 p.41
  5. 5.0 5.1 Danmarks Historie II www.perbenny.dk
  6. "Kalendarz dat: 1350". Dzieje.pl (ภาษาโปแลนด์). สืบค้นเมื่อ 4 September 2022.
  7. "Danehof". danmarkshistorie (Aarhus University). สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  8. Tunbridge, Laura (2010). The Song Cycle. Cambridge University Press. p. 113.
  9. "Leo Hussain, eroul serii la Gurre-Lieder". Adevărul. 9 September 2013. สืบค้นเมื่อ 26 November 2014.
  10. "Niels Bugge, approx. 1300–1358". danmarkshistorien.dk. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  11. "Magnus Eriksson". Svenskt biografiskt lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  12. "Erik Magnusson". Svenskt biografiskt lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  13. "Chronology of Sweden". worldtimeline.info. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  14. "Podebusk, Erik −1573". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  15. "A Medieval battle in Visby, Gotland". visbysweden.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-27. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  16. "Valdemar Atterdag, ca. 1321–1375". danmarkshistorien.dk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-13. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
  17. Alf Henrikson: Dansk historia (Danish history) (1989) (Swedish)
  18. "Erik Sjællandsfar Prins af Danmark". toveogflemming.dk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-26. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Fletcher Pratt (1950) The Third King, a biography of Valdemar Atterdag, Sloane. ISBN 978-1299313118
  • Peter Lundbye (1939) Valdemar Atterdag: Danmarks Riges Genopretter, skildret i ny historisk Belysning efter de samtidige Kilders Beretning, Copenhagen: Ejnar Munksgaard.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก ถัดไป
ว่าง
ลำดับก่อนหน้า
พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2

พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
(ค.ศ. 1340 - ค.ศ. 1375)
พระเจ้าโอลาฟที่ 2
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 3 แห่งเดนมาร์ก
ดยุกแห่งเอสโตเนีย
(ค.ศ. 1340 - ค.ศ. 1346)
ว่าง
แผ่นดินถูกขายให้ภาคีลิโวเนีย
ลำดับถัดไป
พระเจ้าอีริคที่ 14 แห่งสวีเดน