ข้ามไปเนื้อหา

พระตำหนักแดง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระตำหนักแดง
ตำหนักแดง
พระตำหนักแดงภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566
ประเภทพระตำหนัก
ที่ตั้งแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
การใช้งานดั้งเดิมสถานที่ประทับส่วนพระองค์
สถานะยังมีอยู่
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทย
ผู้ดูแลกรมศิลปากร
ขึ้นเมื่อ9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519
เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคล
เลขอ้างอิง0000015

พระตำหนักแดง สร้างขึ้นภายในพระบรมมหาราชวังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อพระราชทานเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระโสทรเชษฐภคินีพระองค์เล็ก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรื้อพระตำหนักฝ่ายในภายในเขตพระราชฐานชั้นในเพื่อเปลี่ยนเป็นตำหนักตึกทั้งหมด ดังนั้น จึงโปรดให้รื้อตำหนักแดงไปปลูกที่พระราชวังเดิม เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) โดยตำหนักแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกนั้นเป็นที่ประทับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ปัจจุบันตำหนักส่วนนี้ได้ถูกรื้อไปปลูกเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี ส่วนที่สองเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ประวัติ

[แก้]

พระตำหนักแดงเป็นตำหนักที่สร้างขึ้นด้วยเครื่องไม้เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระโสทรเชษฐภคินีพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระองค์ทรงมีหน้าที่กำกับเครื่องใหญ่ในโรงวิเสศต้น (ห้องครัว) และการสดึง เป็นต้น เนื่องจากตำหนักแห่งนี้ทาสีแดง จึงเรียกว่า พระตำหนักแดง

พระตำหนักแดงภายในพระบรมมหาราชวัง ประกอบด้วย ตำหนัก 2 หลัง โดยหลังแรกเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ตราบจนพระองค์สิ้นพระชนม์ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ทรงเชิญสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนีมาประทับภายในพระบรมมหาราชวัง โดยประทับ ณ ตำหนักแดงหลังนี้ ชาววังจึงเรียกตำหนักแห่งนี้ว่า "พระตำหนักตึก" ส่วนตำหนักแดงหลังที่ 2 นั้น สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยบริเวณหลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เพื่อใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พร้อมกับพระราชโอรส คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้เสด็จออกไปประทับ ณ พระราชวังเดิม ซึ่งในระยะเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรื้อหมู่ตำหนักภายในเขตพระราชฐานชั้นในเพื่อสร้างเปลี่ยนตำหนักไม้เป็นตำหนักตึก พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักแดงที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีไปปลูกที่พระราชวังเดิมด้วย เมื่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีเสด็จสวรรคต ตำหนักแดงในส่วนที่ประทับของพระองค์ได้รื้อไปถวายเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม

ต่อมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ได้เสด็จไปประทับ ณ พระบวรราชวัง (พระราชวังบวรสถานมงคล) ทรงให้รื้อตำหนักแดงที่ถวายเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามไปปลูกถวายเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี พร้อมทั้งทรงรื้อตำหนักแดงในส่วนที่ประทับเดิมของพระองค์ที่พระราชวังเดิมนั้นมาปลูก ณ พระบวรราชวัง

ลักษณะสถาปัตยกรรม

[แก้]
พระแท่นบรรทม ของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ใน พระตำหนักแดง

เป็นอาคารสร้างขึ้นด้วยไม้ทั้งหลังเป็นทรงไทย มีขนาด 7 ห้องเสา ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเรือนทั่วไป หลังคาทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องเกล็ดเต่า หน้าจั่วเป็นแบบลูกฟักหน้าพรหม หรือลูกฟักปะกน กรอบหน้าบันประกอบไปด้วย ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ แสดงให้เห็นถึงฐานันดรศักดิ์ของผู้อาศัย ตัวอาคารภายนอก ด้านทิศใต้และตะวันออก มีเสานางเรียงรับเชิงชายคาแสดงให้เห็นถึงลักษณะของอาคารหรือสถานที่สำคัญในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่มักสร้างเสาสูงจากพื้นเพื่อรับเชิงชายคามีทางเข้าสู่ภายในตัวอาคารอยู่ทางด้านทิศเหนือภายในตัวอาคารกั้นแบ่งออกเป็น 2 ห้อง อันแสดงเป็นห้องโถงอยู่ทางทิศตะวันออก และห้องบรรทมอยู่ทางทิศตะวันตก ต่อจากด้านทิศตะวันตกมีห้องท้ายพะไลแต่งเป็นห้องสรง หน้าต่างมีทั้งหมด 16 บาน ลักษณะของหน้าต่างทุกบานมีหย่องหน้าต่างแกะสลักเป็นลวดลายดอกพุดตานและขาสิงห์อยู่ตอนล่างซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ปัจจุบัน

[แก้]

หลังจากได้ย้ายพระตำหนักแดงมาปลูกไว้บริเวณด้านหลังของหมู่พระวิมานแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปพระตำหนักแดงอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจึงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อปฏิสังขรณ์ตำหนักให้คืนสู่สภาพดังเดิม หลังจากนั้นกรมศิลปากรได้ทำการย้ายตำหนักแดงจากที่ตั้งเดิมมาตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ปัจจุบันพระตำหนักแดงเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครใช้จัดแสดงสิ่งของส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]