พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ไชยา)
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร | |
---|---|
วัสดุ | สำริด |
ความสูง | 63 เซนติเมตร (25 นิ้ว)[1] |
สร้าง | พุทธศตวรรษที่ 14 |
ช่วงเวลา/วัฒนธรรม | ศรีวิชัย |
ค้นพบ | พ.ศ. 2448 วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี[2] |
ค้นพบโดย | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ |
ที่อยู่ปัจจุบัน | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร |
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณี[3] เป็นประติมากรรมสำริดส่วนองค์ท่อนบนของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะศรีวิชัย ค้นพบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี[2] ปัจจุบันเป็นของสะสมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร[1] เป็นหนึ่งในประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่สวยงามและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศไทย[2]
ลักษณะ
[แก้]ลักษณะของประติมากรรมเป็นภาพครึ่งตัวบนตั้งแต่ส่วนเหนือสะดือของบุคคลยืนเอียงกาย ใบหน้ากลมมน มีคิ้วสันนูนโค้ง จมูกโด่ง ปากจีบเป็นกระจับ และแววตาเหลือบมองลงต่ำ สวมเครื่องประดับศีรษะคาดว่าเป็นชฎามงกุฏ ส่วนยอดหักหายไป ประดับร่างกายด้วยสรอยประคำ, สร้อยคอ, ต้นแขนสวมพาหุรัด และผ้าเฉียงบ่าบนไหล่ด้านซ้าย คล้องทับด้วยสายยัชโญปวีตประดับหัวกวาง ประติมากรรมแตกหักสูญหายที่แขนขวาส่วนศอกลงไป[1]
ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่าประติมากรรมนี่มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่พบประดับบนประติมากรรม พระอคัสตยะ จากจันทิบานอน (Candi Banon) ศิลปะชวาภาคกลาง[1] ประติมากรรมมีลักษณะศิลปะศรีวิชัยซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียหลังคุปตะ-ปาละ โดยมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าประติมากรรมนี้ปั้นและหล่อขึ้นในไชยาหรือเมืองใดเมืองหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศไทยจนถึงเกาะชวา ในประเทศอินโดนีเซีย[2]
ประวัติ
[แก้]สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้ทรงค้นพบประติมากรรมนี้ที่วัดพระบรมธาตุไชยา[4] (บางแหล่งระบุว่าเป็นวัดเวียง[1][5]) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ. 2448 โดยพบที่บริเวณนอกกำแพงชั้นนอกทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตามที่ระบุไว้ในจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์[6] มานิต วัลลิโภดมสันนิษฐานว่าจุดที่พบอยู่ใกล้กับวิหารพระศิลาแดงสามองค์ซึ่งมีระบุสัญลักษณ์เป็นกล่องสี่เหลี่ยมไว้ในแผนผังของวัดที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าว[3] พุทธทาสภิกขุระบุว่าเมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพ "ทอดพระเนตรเห็นตั้งแต่บนหลังช้าง ช้างยังไม่ทันจะทรุดตัวลงอย่างเรียบร้อย ท่านรีบลงมาอย่างกะว่าจะหล่นลงมา ตรงไปอุ้มรูปนี้ขึ้นด้วยพระองค์เอง" พร้อมนำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งพระองค์ "ทรงจ้องอย่างตื่นเต้น และตรัสด้วยความตื่นเต้นว่า 'อะไรของเธอ ๆ ดำรง'"[3]
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนี้เก็บรักษาไว้ในพระบรมมหาราชวังนับจากนั้น และถูกนำมาเก็บเป็นของสะสมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ให้กับพิพิธภัณฑ์[3]
กรมศิลปากรสันนิษฐานว่ารูปเคารพนี้อาจเป็นองค์เดียวกับพระโพธิ์สัตว์ปัทมปาณี ที่มีกล่าวถึงในจารึกวัดเสมาเมือง (หลักที่ 23)[3] จากปี พ.ศ. 1318 เนื้อหาสรรเสริญพระเกียรติยศของกษัตริย์ศรีวิชัย คือ พระวิษณุที่๒ พระนามว่าพระศรีวิชเยนทรราชา ซึ่งตอนหนึ่งระบุว่าพระองค์สร้างปราสาทอิฐสามหลัง เพื่ออุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้า 1 พระองค์และพระโพธิสัตว์ 2 พระองค์ คือพระวัชรปาณีโพธิสัตว์ (ผู้ถือวัชระ) และพระปัทมปาณีโพธิสัตว์ (ผู้ถือดอกบัว)[7] โดยพระโพธิสัตว์ปัทมปาณีถือเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่มีผู้นับถือมากในศาสนาพุทธแบบมหายานและวัชรยาน ซึ่งแพร่หลายในชวากลางราวพุทธศตวรรษที่ 13 -14 ประติมากรรมชิ้นนี้จึงถือเป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์กันระหว่างอาณาจักรศรีวิชัยในคาบสมุทรมลายูกับราชวงศ์ไศเลนทร์ในชวากลาง[1]
ความสัมพันธ์กับพุทธทาสภิกขุ
[แก้]ประติมากรรมพระโพธิสัตว์องค์นี้มักถูกนำไปเกี่ยวโยงกับพุทธทาสภิกขุและสวนโมกข์ของท่าน ดังที่ปรากฏเป็นประติมากรรมหลักและเป็น "เอกลักษณ์" ของสวนโมกข์[8]
ในปี พ.ศ. 2486 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้อาราธนาพระอินทปัญโญ (ฉายาเมื่อบวชของพุทธทาสภิกขุ) ให้เข้าเฝ้าฯ ที่วังวรดิศ เพื่อปรึกษาหารือเรื่องโบราณคดีเมืองไชยา โดยมีหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) เป็นผู้ประสานงาน และทรงแสดงพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ให้แก่พระอินทปัญโญชมเป็นครั้งแรก พระอินทปัญโญมองด้วย "ความตกตะลึง [และ]ไม่เคยเห็นองค์ที่งามที่สุดขนาดนี้มาก่อน" ความงดงามของประติมากรรมนี้ทำให้ "จิต[...]สงบและรู้ถึงใบหน้าที่มีเมตตาธรรมอย่างเปี่ยมล้นจากรูปปั้น[นี้]"[4] ท่านเคยปรารภถึงความงามไว้ว่า
ใบหน้าของรูปปฏิมาอวโลกิเตศวรนี้ แสดงอารมณ์สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติอย่างสมบูรณ์พร้อม ช่างน่าทึ่งจริงๆ เพราะจะดูเป็นคนบริสุทธิ์ทางจิตใจก็ได้ จะมองให้เห็นเป็นคนยอดทางปัญญาก็ได้ จะมองในทางมีเมตตาก็ได้ หรือจะมองว่ามีความอดทนเป็นเลิศก็ได้ เยี่ยมยอดจริงๆ ศิลปินที่ปั้นรูปปฏิมานี้ จะต้องเป็นคนที่มีจิตใจดีมาก จิตใจสงบมาก มีความรู้ทางธรรมสูงเป็นเลิศ และเป็นยอดศิลปินในทางปั้นด้วย ถึงจะทำหน้าที่นี้ได้
กล่าวกันว่าพระอินทปัญโญเกิดความสนใจในโบราณคดีและการศึกษาประวัติศาสตร์ของศรีวิชัยและคาบสมุทรภาคใต้ของไทยจากความประทับใจในครั้งนี้[4] จนต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงมีส่วนร่วมมากในกิจกรรมโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในพื้นที่[10]
ขณะก่อสร้างสวนโมกข์ พระอินทปัญโญได้ให้อดีตพระโกวิท เขมานันทะ เป็นผู้หล่อรูปปั้นจำลองของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรมาไว้[10] สาเหตุการนำมาตั้งนั้น ท่านระบุว่า "...[ให้]ตั้งไว้ในที่เห็นโดยง่าย พอคุณเป็นทุกข์อะไรขึ้นมาโกรธอะไรขึ้นมา มองหน้าอวโลกิเตศวรจะหาย เอาไปใช้แบบนี้ ดูหน้าแล้วสบายใจ"[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร". พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. 2015. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรศิลปะศรีวิชัยที่ค้นพบในภาคใต้ของดินแดน ประเทศไทยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 – 13". Journal of Liberal Arts, Prince of Songkla University. 12 (1): 157–179. 2019-07-08. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 ศิลปวัฒนธรรม นำชม (2021-05-26). "ประติมากรรมชำรุด แต่งามที่สุดในสยาม". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 สุวินัย ภรณวลัย (2006-09-26). "พุทธบูรณารำลึก 100 ปี ชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 22)". MGR Online. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.
- ↑ ฐิติมา ธรรมบำรุง (2018-05-12). "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร". คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด โครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-01. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.
- ↑ นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา (1974). จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: ประชาช้าง.
- ↑ ยอร์ช เซเดส์ และคณะ (2021-06-26). "จารึกวัดเสมาเมือง". ฐานข้อมูจารึกในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.
- ↑ nintara1991 (2019-05-30). "พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์แห่งสวนโมกข์ ความงดงามที่ทำให้เจริญในธรรม". Goodlifeupdate. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.
- ↑ 9.0 9.1 พุทธทาส (1998). พุทธทาส สวนโมกขพลาราม กำลังแห่งการหลุดพ้น. นนทบุรี: หจก.ภาพพิมพ์. ISBN 9747680386.
- ↑ 10.0 10.1 สุมาลัย กาลวิบูลย์. "ประวัติและผลงานของท่านพุทธทาส" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.