ข้ามไปเนื้อหา

ประวัติศาสตร์ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในประเทศไทยมีประวัติศาสตร์กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมาแต่อดีต ที่ปรากฏคำเรียกเกี่ยวกับพฤติกรรมรักร่วมเพศอย่าง "กะเทย" หรือ "บันเดาะ" หรือ "บันเฑาะก์" หรือ "เล่นสวาท" ในฝ่ายชาย และ "เล่นเพื่อน" ในฝ่ายหญิง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 เริ่มมีการใช้คำว่า "Homosexual"[ต้องการอ้างอิง] ส่วนพฤติกรรมรักร่วมเพศของคนทั่วไปเริ่มเป็นที่รับรู้ในสมัยหลังประชาธิปไตย และในยุคหลังเริ่มมีสื่อของเกย์ มากขึ้น นอกจากนี้กะเทยและเกย์ยังถูกแต่งเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์และนวนิยายอีกด้วย

ประวัติ

[แก้]

จุดเริ่มต้น

[แก้]

จากหลักฐานพฤติกรรมรักร่วมเพศมาตั้งแต่ในอดีต ในทางศาสนาพุทธตั้งแต่ครั้งบรรพกาลมีนิยายว่าด้วยการรักร่วมเพศ ทั้งในส่วนพุทธชาดก อีกทั้งภาพพฤติกรรมรักร่วมเพศที่ปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนังของวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่น ภาพที่มีเรื่องราวเชิงสังวาสเพศเดียวกันที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ (รัชกาลที่ 1–3) วัดสุวรรณาราม (รัชกาลที่ 3) วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี (รัชกาลที่ 1–3) วัดประตูสาร (รัชกาลที่ 3) วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ (ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 25 หรือต้นรัชกาลที่ 5) และวัดบวกครกหลวง (ต้นพุทธศตวรรษที่ 25) เป็นต้น[1]

ในพระไตรปิฎก ยังได้ระบุคำสำคัญอย่าง "กะเทย" หรือ "บันเดาะ" หรือ "บันเฑาะก์" ที่มีความหมายว่า "ชายที่มีราคะจัด ชอบประพฤตินอกรีตในการเสพกามและยั่วยวนชายอื่นให้ประพฤติตาม"[ต้องการอ้างอิง] และยังบัญญัติบุคคลที่ไม่สามารถบวชได้ในทางพุทธศาสนา คำว่ากะเทย (เขียนว่า "กเทย") ยังพบอยู่ใน พะจะนะพาสาไท ที่เขียนโดย บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ในปี พ.ศ. 2397 โดยเป็นคำแปลของคำภาษาอังกฤษว่า "Hermaphrodite"[2]

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ร.2 มีบันทึกว่า พระสังฆราชวัดมหาธาตุรูปหนึ่งมีพฤติกรรมรักร่วมเพศกับลูกศิษย์หนุ่ม ร่วมกับสัมผัสจับต้อง ลูบคลำอวัยวะเพศ ถูกถอดจากสมณศักดิ์และเนรเทศให้ออกไปจากวัดมหาธาตุ[3]

อีกเหตุการณ์ในสังคมไทยในอดีต[4] ในปี ค.ศ. 1634 อดีตเจ้าหน้าที่การค้าของฮอลันดา ประจำกรุงศรีอยุธยา ที่ชื่อนายโยส สเคาเต็น ถูกลงโทษประหารชีวิตโดยรัฐบาลฮอลแลนด์ที่เมืองปัตตาเวีย ในข้อหามีพฤติกรรมรักร่วมเพศซึ่งเป็นความผิดอย่างร้ายแรงใน สังคมตะวันตก โดยนายสเคาเต็นรับสารภาพและอ้างว่า ได้รับตัวอย่างพฤติกรรมรักร่วมเพศจากคนกรุงศรีอยุธยา แต่ถึงกระนั้น บันทึกและเรื่องบอกเล่าในหลักฐานของประวัติศาสตร์ไทยก็มีไม่มาก เนื่องจากเป็นพฤติกรรมน่ารังเกียจ น่าอับอาย เป็นเรื่องอัปมงคล สมควรแก่การปกปิดหากกระทำผิดต่อวงศ์ตระกูลและครอบครัว ในทัศนคติของสังคมสมัยนั้น[ต้องการอ้างอิง]

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

[แก้]

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เกิดกรณีกรมหลวงรักษรณเรศร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 มีพฤติกรรมรักร่วมเพศกับบรรดาโขนละครชายที่เลี้ยงไว้ จนเป็นที่รับรู้กันทั่วไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขัดเคืองพระราชหฤทัย จึงโปรดเกล้าให้ถอดจากกรมหลวงให้เรียกว่า "หม่อมไกรสร" แล้วให้ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา[5] อย่างไรก็ตาม ไม่อาจสรุปได้ว่าการรักร่วมเพศมีโทษประหารชีวิตเนื่องจากพี่ชายของกรมหลวงรักษรณเรศรซึ่งมีพฤติกรรมรักร่วมเพศเช่นกัน ไม่ถูกตำหนิหรือลงโทษ[ต้องการอ้างอิง]

หลักฐานพฤติกรรมชายที่รักร่วมเพศ หรือที่เรียกว่า "เล่นสวาท" ยังปรากฏหลักฐานในประชุมประกาศในรัชกาลที่ 4 ที่บันทึกพฤติกรรมของพระภิกษุที่ว่า "...บางจำพวกเป็นคนเกียจคร้าน กลัวจะเกณฑ์ให้ราชการ หลบลี้หนีเข้าบวชเป็นภิกษุ สามเณร อาศัยพึ่งพระศาสนาเลี้ยงชีวิต แล้วประพฤติอนาจารทุจริตต่างๆ จนถึงเล่นสวาทเป็นปาราชิกก็มีอยู่ โดยมาก..."[6] คำว่า "เล่นสวาท" ยังถูกใช้อย่างกว้างขวางในยุคนั้น

ส่วนพฤติกรรมการ "เล่นเพื่อน" ที่เป็นพฤติกรรมของหญิงที่รักร่วมเพศ มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงชาววังเพราะอยู่รวมกันหลายคน จึงมีการประกาศใช้กฎมณเฑียรบาลข้อที่ 124 ดังความว่า "อนึ่งสนม กำนัลคบผู้หญิงหนึ่งกัน ทำดุจชายเป็นชู้เมียกัน ให้ลงโทษด้วยลวดหนัง 50 ที ศักคอประจานรอบพระราชวัง ที่หนึ่งให้เอาเป็นชาวสตึง ที่หนึ่งให้แก่พระเจ้าลูกเธอหลานเธอ"[7] พฤติกรรมของผู้หญิงในพระราชสำนักเป็นที่โจษจัน มากจนในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเคยมีพระราชหัตถเลขากำชับสั่งพระเจ้าลูกยาเธอฯ ทั้งหลายห้ามเล่นเพื่อนด้วย[8][9]

กลอนยาวเรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ แต่งโดยคุณสุวรรณ มีเนื้อหาล้อเลียนความสัมพันธ์ของหม่อมสุดกับหม่อมขำ สองหม่อมห้ามของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ[10] ในหนังสือบันทึกรายวันของเทาแซนด์ แฮรีส ทูตอเมริกันที่เข้ามาในสยามเมื่อ พ.ศ.2399 ปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า "การเล่นเพื่อนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากเหมือนดังว่าเป็นการกระทำของสัตว์ ไม่มีโทษหนักหนาอะไร และไม่เคยมีการลงโทษกัน เว้นไว้แต่ในกรณีของพระสงฆ์"[11]

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงออกกฎหมายที่พาดพิงถึงพฤติกรรมรักร่วมเพศ อย่างเช่น ประมวลกฎหมายลักษณะ ร.ศ. 127 มาตรา 124 ที่กล่าวว่า "ผู้ใดกระทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์ ด้วยชายก็ดี หญิงก็ดี หรือกระทำ ชำเราด้วยสัตว์เดียรฉานก็ดี ท่านว่ามันมีความผิด ต้องรวางโทษติดคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป จนถึง 3 ปี แลให้ปรับตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไปถึง 500 บาทด้วยอิกโสด 1"[12]

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่สังคมได้ได้รับวัฒนธรรมตะวันตกค่อนข้างมาก พระองค์ยังทรงเข้าใจเรื่องพฤติกรรมรักร่วมเพศได้เป็นอย่างดี ถึงขนาดทรงนิพนธ์บทความในหนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิตของพระองค์ ในหัวเรื่อง "กะเทย" และ "ทำไมกะเทยจึงรู้มากในทางผัวๆ เมียๆ ?" ที่ให้ความรู้ อธิบายความเข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่เกิดการรังเกียจหรือทำร้ายบุคคลในกลุ่มดังกล่าว[ต้องการอ้างอิง]

ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการใช้คำว่า "Homosexual" เพิ่มมาอีก จากงานเขียนบทความเรื่อง "กามรมณ์และสมรส" ในหนังสือรวมปกฐกถาเกี่ยวกับปัญหาชีวิตของคนทั่วไปตามหลักจิตวิทยา อธิบายให้ความรู้ด้านจิตวิทยามากกว่าเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมรักร่วมเพศ โดยในยุคนี้เป็นยุคที่วงการแพทย์ไทยได้เริ่มเข้ามาศึกษาและหาแนวทางแก้ไขรักษา กลุ่มที่มีพฤติกรรมดังกล่าว[ต้องการอ้างอิง]

ยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย

[แก้]

ในยุคนี้พฤติกรรมรักร่วมเพศ ได้เกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไปมากขึ้น ประชาชนสามารถสื่อสารเรื่องราวนี้ได้อย่างกว้างขวาง เช่น หนังสือพิมพ์รายวันศรีกรุง ฉบับประจำวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2478 ระบุว่ามีการเปิดซ่องที่มีเฉพาะโสเภณีชายของนายถั่วดำ หรือการุณ ผาสุก โดยถั่วดำล่อลวงเด็กชายวัย 10–16 ปี มาร่วมอยู่ด้วยในห้องแถวเช่า ตำบลตรอกถั่วงอก อำเภอป้อมปราบ พร้อมทั้งสอนวิธีสำเร็จความใคร่ให้กับเด็ก และให้เด็กสำเร็จความใคร่กับแขก ได้รับเงินค่าขายบริการเยี่ยงหญิงโสเภณี ซึ่งเรื่องราวของนายถั่วดำ ทำให้กลายเป็นคำสแลงที่เรียกพฤติกรรมรักร่วมเพศจนถึงปัจจุบัน[13]

อีกข่าวดัง จากการลงข่าวในหนังสือพิมพ์สยามนิกร ประจำวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2493 ที่รายงานถึงพฤติกรรมของเหล่านักโทษในคุก ที่มักเสพเมถุนทางทวารหนัก หรือเว็จมรรค ทำให้เรื่องราวพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นที่รับรู้ในสังคมมากขึ้น และตอกย้ำถึงความผิดธรรมชาติ ผิดศีลธรรม โดยคนส่วนใหญ่ในยุคนั้น ถือกันว่าเป็นเรื่องงน่าอับอาย และน่ารังเกียจต่อผู้มีพฤติกรรมดังกล่าว[ต้องการอ้างอิง]

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้]

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัย และตั้งบ้านเรือนย่านถนนสีลมและพัฒน์พงษ์ มากขึ้น รักร่วมเพศจึงเริ่มเปิดเผยมากขึ้น เช่น ใช้พื้นที่สวนสาธารณะต่าง ๆ ในย่านสนามหลวง สะพานพุทธ สวนลุมพินี และวังสราญรมย์ แสดงความรักต่อกันโดยไม่อายสายตา หรือการรื่นเริงสังสรรค์ที่มีกะเทยแต่งตัวเป็นหญิง และจากข้อมูลในคอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องเซ็กส์" ของลุงหนวด ในนิตยสารคู่ทุกข์คู่ยาก ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2526 เขียนไว้ว่า

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กะเทยไทยเริ่มออกค้าประเวณีกับทหารสหประชาชาติ ในสมัยนั้นสังคมไทยยังคิดว่า กะเทยเป็นกลุ่มเดียวเท่านั้นที่เป็นพวกรักร่วมเพศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 เริ่มมีธุรกิจการขายบริการทางเพศในประเทศไทย เพื่อสนองความต้องการให้กับชาวต่างชาติเป็นหลัก ตามย่านถนนสีลมและพัฒน์พงษ์ เป็นต้น ในข่าวจากหนังสือพิมพ์สยามนิกรในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2508 พูดถึงการกวาดล้างกะเทยที่มั่วสุม ขายบริการทางเพศ ย่านประตูน้ำ ถ.เพชรบุรี และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทั้งยังก่ออาชญากรรม โดยการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และฆ่าฝรั่งที่มาซื้อบริการทางเพศ

สีเสียด แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เขียนวิจารณ์ในคอลัมน์ "สารพันปัญหา" ว่า

"พฤติกรรมประเภทนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเป็นความวิปริตหรือเป็นโรคจิตอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ เป็นเพราะรับเอาวัฒนธรรมดังกล่าวมาจากประเทศตะวันตก ที่ยอมรับและชื่นชอบต่อพฤติกรรมดังกล่าวเข้ามาในสังคมไทย โดยชาวต่างชาติและคนไทยที่ไปศึกษาในต่างประเทศ เป็นผู้นำมาประพฤติปฏิบัติในสังคม อันถือว่าเป็นความเสื่อมทรามและไม่เหมาะสมในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง"

ส่วนทางด้านงานวิชาการ ปีเตอร์ แจ็กสัน กล่าวว่า สื่อมวลชนมักนำเสนอเกย์ในสังคมไทยในเรื่องที่เสื่อมเสีย เช่นเรื่องอาชญากรรม การล่อลวงเด็ก การขายตัว ต่างชาติมาถ่ายภาพยนตร์และวิดีโอเกย์ลามกในประเทศไทย การระบาดของโรคเอดส์ในกลุ่มเกย์ ดังนั้นเกย์ในสังคมไทยยังไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวเองนัก และสังคมไทยยังสับสนกับกลุ่มผู้รักร่วมเพศ โดยมองว่ากลุ่มผู้รักร่วมเพศ เป็นพวกกะเทยหรือลักเพศมากกว่าความหมายทางด้านพฤติกรรมรักร่วมเพศ[ต้องการอ้างอิง]

ยุคสื่อสิ่งพิมพ์เฟื่องฟู

[แก้]

สื่อสิ่งพิมพ์ เริ่มได้รับความนิยมอย่างมาก โดยนิตยสารแปลก เป็นนิตยสารที่กลุ่มผู้รักร่วมเพศนิยมอ่านกันมากที่สุด โดยเฉพาะคอลัมน์ของ "โก๋ ปากน้ำ" ที่นำเสนอเรื่องเล่า การระบายความในใจ ประสบการณ์ การมีเพศสัมพันธ์แบบชายกับชาย ทำให้ "โก๋ ปากน้ำ" โด่งดัง และส่งผลทำให้ยอดจำหน่ายขายดีในท้องตลาด นิตยสารแปลกยังได้บัญญัติคำอย่าง "เกย์คิงและเกย์ควีน" ให้เป็นที่รู้จักในสังคมไทย

นิตยสารอื่นที่กำเนิดขึ้นมาเพื่อกลุ่มรักร่วมเพศ อย่าง "บีอาร์" ของบุรินทร์ วงศ์สงวน นิตยสารสำหรับสตรี ที่มีรูปการตีพิมพ์ภาพหนุ่มหล่อกึ่งเปลือย และยังมีนิตยสารแนวเกย์เขียนโดย อาทิตย์ สุรทิน ควบคู่กันไป[ต้องการอ้างอิง]

และยังมีนิตยสารแมน "MAN" ของพจนาถ เกศจินดา ได้ปรากฏ ตัวเข้ามาเพื่อกลุ่มรักร่วมเพศโดยเฉพาะ ซึ่งมีภาพเปลือยของดาราชายพร้อมบทสัมภาษณ์เป็นจุดขาย นอกจากนี้ยังมีนิตยสารบันเทิงชื่อ "จักรวาลดาว" ของพิชัย สัตยพันธ์ ที่นำเสนอภาพกึ่งเปลือยของดาราชาย

ส่วนนิตยสารหนุ่มสาว ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับผู้ชายและผู้หญิง เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ บันเทิง และสาระความรู้ทั่วไป ที่ระยะหลังเริ่มตีพิมพ์ผู้ชายกึ่งเปลือยเพิ่มมากขึ้น และในปี 2524 ได้มีนิตยสารสำหรับกลุ่มเกย์และเลสเบียนโดยเฉพาะที่ชื่อ "เชิงชาย" ทั้งเนื้อหาและรูปภาพภายในของชายและหญิง ในปี 2526 นิตยสารมิถุนา ได้ออกมาสู่ท้องตลาด เป็นเล่มขนาดใหญ่ ต่อมานิตยสารนีออน โดย ปกรณ์ พงษ์วราภา เป็นนิตยสารเกย์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2528

ในระยะนี้เกิดนิตยสารเกย์เป็นจำนวนมาก เช่น นิตยสารมรกต (ชื่อเดิมเพทาย) และเกสร (นิตยสารในเครือมิถุนา) ปี 2529 มิดเวย์ ปี 2530 Him ปี 2531 เกิดนิตยสาร My way และในปีต่อมาได้แก่ The Guy ในช่วงกลางศตวรรษที่ 2530 ต่อมาได้พัฒนาเป็นนิตยสารสำหรับผู้อ่านกลุ่มผู้รักร่วมเพศ ได้แก่ Violet ลับเฉพาะชาวสีม่วง เมล์ (Male) ฮีท (Heat) ไวโอเล็ท ฮอทกาย แมน และจีอาร์ เป็นต้น และในช่วงศตวรรษที่ 2540 มีนิตยสารออกหลายฉบับอย่างเอ็มคอร์ เคเอกซ์เอ็ม ดิ๊ก เอชเอ็มแอนด์เอ็ม เกย์ และแม็กซ์ เป็นต้น

แพร่หลายในสื่อ

[แก้]
น้องตุ้ม นักมวยสาวประเภทสอง

นอกเหนือจากสิ่งพิมพ์ในยุคเริ่มต้นแล้ว สังคมไทยเริ่มเข้าใจต่อกลุ่มผู้รักร่วมเพศดีขึ้น แม้ในระยะแรกจะมีภาพทางลบ ในสื่อภาพยนตร์ยังถ่ายทอดเรื่องราว อย่างเรื่อง "เกมส์" ในปี พ.ศ. 2519 ซึ่งถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องเกย์เป็นครั้งแรก แต่นำเสนอเกี่ยวกับความเสียใจของผู้หญิง ที่มีความสัมพันธ์กับผู้ชายที่เป็นเกย์

ต่อมาพิศาล อัครเศรณี นำเสนอภาพยนตร์เกี่ยวกับสาวประเภทสองคณะโชว์คาบาเร่ต์แห่งเมืองพัทยา เรื่อง "เพลงสุดท้าย" ภาคที่ 1 ในปี พ.ศ. 2528 และภาคที่ 2 ในปี พ.ศ. 2529 ต่อมา ดร.เสรี วงษ์มณฑา นำเสนอละครเวทีที่โด่งดังอย่างมากเรื่อง "ฉันผู้ชายนะยะ" ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2516 เริ่มปรากฏนวนิยายเรื่อง "รักร่วมเพศ" ทั้งนำเสนอเรื่องราวของคนรักร่วมเพศโดยตรง และการนำมาใช้สร้างเป็นตัวละครในนวนิยาย[14]

ส่วนละครโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์เช่น น้ำตาลไหม้ ชายไม่จริงหญิงแท้ รักไร้อันดับ ซอยปรารถนา 2500 ท่านชายกำมะลอ ปัญญาชนก้นครัว รักเล่ห์เพทุบาย ไม้แปลกป่า เมืองมายา สะพานดาว กามเทพเล่นกล รัก 8009 เป็นต้น ที่มีนักแสดงบางส่วนเป็นเกย์และที่ไม่ได้เป็น มาสวมบทบาท

นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ไทยที่มีตัวละครเป็นสาวประเภทสอง กะเทย รวมถึงเนื้อหารักร่วมเพศจำนวนมากในเวลาต่อมา อย่างเช่น พรางชมพู กะเทยประจัญบาน, ปล้นนะยะ, ว้ายบึ้ม เชียร์กระหึ่มโลก, บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์, Go Six: โกหก ปลิ้นปล้อน กระล่อน ตอแหล, หอแต๋วแตก และ รักแห่งสยาม เป็นต้น

ปัจจุบัน

[แก้]

ปี พ.ศ. 2530 มีการรวมตัวของหลายฝ่ายเพื่อรณรงค์ด้านโรคเอดส์ที่ระบาดอยู่อย่างจริงจัง โดยจัดตั้งกลุ่มเพื่อส่งเสริมและรณรงค์ให้ความรู้การป้องกันโรค นอกจากนี้ยังมี "กลุ่มเส้นสีขาว" เคลื่อนไหวให้มีการตื่นตัวต่ออันตรายของโรคเอดส์ ผ่านการแสดง ต่อมามีการจัดตั้งกลุ่ม "ภราดรภาพยับยั้งโรคเอดส์แห่งประเทศไทย" ให้ความรู้และรณรงค์เกี่ยวกับโรคเอดส์อย่างกว้างขวาง

ในปี พ.ศ. 2544 ได้มีการจัดตั้งกลุ่มฟ้าสีรุ้งโดย นายกมลเศรษฐ์ เก่งการเรือ นักสังคมสงเคราะห์ เพื่อรณรงค์เรื่องการป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มชายผู้รักร่วมเพศ เรียกร้องสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ และความเท่าเทียมในสังคม สร้างความเข้าใจอันดีในกลุ่มรักร่วมเพศต่อสังคม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (Rainbow Sky Organization of Thailand) อันถือได้ว่า เป็นสมาคมของคนรักร่วมเพศแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย[ต้องการอ้างอิง] โดยร่วมมือกับองค์กรอย่างศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่นอย่าง องค์กรบางกอกเรนโบว์ (Bangkok Rainbow Organization) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2545

หลังจากมีการจัดการประชุมระดับนานาชาติ เรื่องเพศวิถีและสิทธิมนุษยชนในเอเชีย ซึ่งเป็นการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ครั้งแรกในประเทศไทย โดยศาสตราจารย์ ดร.ปีเตอร์ แจ็คสัน, นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ประเทศออสเตรเลีย (ANU) จึงมีการรวมตัวขององค์กร สมาคม กลุ่มต่างๆ รวมทั้งนักรณรงค์ทางด้านสังคมที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ จัดตั้งเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ในประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2548 เพื่อร่วมกันทำงาน ประสานงาน ประชาสัมพันธ์ และสื่อสารความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย

ในปี 2552 มีผู้ต่อต้านไพรด์พาเรดในจังหวัดเชียงใหม่อย่างรุนแรงเกือบเป็นจลาจล

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ได้มีการจัดงานบางกอกนฤมิตไพรด์ ซึ่งเป็นการจัดขบวนเฉลิมฉลองเดือนแห่งสิทธิความหลากหลายทางเพศครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร และเป็นการจัดกิจกรรมใหญ่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นครั้งแรกหลังจุดสูงสุดของการระบาดทั่วของโควิด-19 และการประท้วงครั้งใหญ่ของเยาวชน[15] โดยบางกอกนฤมิตไพรด์ เป็นการเดินขบวนบนถนนสีลม จากวัดพระศรีมหาอุมาเทวีผ่านจุดตัดถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ไปสิ้นสุดที่ถนนธนิยะ ทั้งนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงตัวแทนพรรคการเมือง อาทิ พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล, พรรคไทยสร้างไทย และพรรคกล้า เป็นต้น ได้เข้าร่วมขบวนดังกล่าวด้วย[16][17] ปีต่อมาผู้จัดได้ย้ายเส้นทางการเดินขบวนเป็นจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผ่านแยกปทุมวัน สยามสแควร์ ศูนย์การค้าในกลุ่มวันสยาม แยกราชประสงค์ และสิ้นสุดขบวนที่เซ็นทรัลเวิลด์[18]

ในปี พ.ศ. 2567 มีการจัดไพรด์พาเหรดในหลายจังหวัดทั่วประเทศ[19] และเป็นปีแรกที่รัฐบาลไทยได้ร่วมสนับสนุนงานบางกอกไพรด์อย่างเป็นทางการด้วย[20]

อ้างอิง

[แก้]
  1. วราภรณ์ วิชญรัฐ. "เชิงสังวาสของเพศเดียวกันในจิตรกรรมฝาผนังแบบแผนประเพณีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1-5)" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  2. ปาลเลอกัวร์, พะจะนะพาสาไท (พระนคร : ม.ป.ท., 2397)
  3. "สิทธิทางเพศกับการบวชในสังคมไทยตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท" (PDF). พระปลัดระพิน พุทฺธิสาโร. p. 6.
  4. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ร.2
  5. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, กรมศิลปากร, 2538, น.131-132
  6. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า, ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2399-2400
  7. "บันทึกรัก "หม่อมเป็ดสวรรค์" สัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันในราชสำนัก หญิง-หญิง "เล่นเพื่อน"". ศิลปวัฒนธรรม.
  8. บุนนาค, โรม (24 April 2020). "เล่นเพื่อน เล่นสวาท เขาเล่นอะไรกัน! ร.๔ กำชับโอรสธิดา อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด!!". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 26 April 2024.
  9. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ, พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน (1923). ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๓.
  10. "แอบฟังเรื่องเล่า 'เลสเบี้ยน' ในวังหน้าผ่านบทกลอน 'หม่อมเป็ดสวรรค์'". brandthink.
  11. เอนก นาวิกมูล. (2547). หญิงชาวสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: แสงดาว. 44.
  12. กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ส่วนที่ 6 หมวดที่ 1 มาตรา 242, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, มร.5ย/24
  13. จากถั่วดำถึงตุ๋ย
  14. "การใช้เรื่องรักร่วมเพศในนวนิยายไทย พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2525". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-26. สืบค้นเมื่อ 2009-05-30.
  15. matichon (2022-05-27). "ชัชชาติ ผนึกพรรคการเมือง ร่วมเปิดเทศกาล Pride Month ปักหมุดหนุนความหลากหลายทางเพศ". มติชนออนไลน์.
  16. ""บางกอกนฤมิต ไพรด์" ครั้งแรกขบวนพาเหรด "ไพรด์" ในกรุงเทพฯ". Thai PBS. 2022-06-05.
  17. มติชนสุดสัปดาห์ (2022-06-05). "นฤมิตไพรด์ : หลากกลุ่มร่วมฉลอง Pride Month รวมพลังปลุกศักดิ์ศรี-ทวงสิทธิให้ LGBTQ". มติชนสุดสัปดาห์.
  18. ""บางกอกไพรด์ 2023" ว่าด้วย LGBTQIAN+ ผู้ขับเคลื่อน GDP และการตลาดแบบสาดสีรุ้ง". www.sanook.com/news. 2023-06-02.
  19. "เปิดพิกัดงาน Pride ทั่วไทยจัดเต็มตลอดเดือนมิถุนายน 67". posttoday. 2024-05-30.
  20. นายกฯ เปิดงาน “Bangkok Pride Festival 2024” เฉลิมฉลองสิทธิพื้นฐานชาว Pride ย้ำรัฐบาลจะเดินหน้าไปกับทุกคน ไม่หยุดยั้งแค่ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม พร้อมช่วยผลักดันเรื่องคำนำหน้าชื่อ

ดูเพิ่ม

[แก้]

หนังสือและบทความ

[แก้]

เว็บไซต์

[แก้]