ธงชาติสิงคโปร์
การใช้ | ธงชาติ |
---|---|
สัดส่วนธง | 2:3 |
ประกาศใช้ | 3 ธันวาคม พ.ศ. 2502 (65 ปี)(ค.ศ. 1959) |
ลักษณะ | ธงแถบตามยาวสองสีแบ่งครึ่งกลางธง แถบสีแดงอยู่ด้านบน แถบสีขาวอยู่ด้านล่าง ที่มุมธงบนด้านคันธงมีรูปพระจันทร์เสี้ยว ถัดจากรูปดังกล่าวมีรูปดาวห้าแฉก 5 ดวง เรียงเป็นรูปห้าเหลี่ยมด้านเท่า รูปเหล่านี้เป็นสีขาว |
ธงชาติสิงคโปร์ เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ประกอบด้วยแถบสองสีแบ่งครึ่งกลางธง แถบสีแดงอยู่ด้านบน แถบสีขาวอยู่ด้านล่าง ที่มุมธงบนด้านคันธงมีรูปพระจันทร์เสี้ยว ถัดจากรูปดังกล่าวมีรูปดาวห้าแฉก 5 ดวง เรียงเป็นรูปห้าเหลี่ยมด้านเท่า รูปเหล่านี้เป็นสีขาว ธงนี้เริ่มใช้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ซึ่งเป็นปีที่สิงคโปร์ได้สิทธิปกครองตนเองจากจักรวรรดิอังกฤษ และถือเป็นธงชาติของรัฐเอกราชเมื่อสิงคโปร์ประกาศเอกราชในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965)
ความหมายสำคัญขององค์ประกอบต่างๆ ในธง อันได้แก่ สีแดง หมายถึงภราดรภาพและความเสมอภาคของมนุษย์โดยทั่วหน้า สีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์และความดีงามที่แพร่หลายและคงอยู่ตลอดกาล รูปพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งเป็นจันทร์เสี้ยวข้างขึ้น หมายถึงความเป็นชาติใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้น ดาว 5 ดวง หมายถึงอุดมคติ 5 ประการของชาติ ได้แก่ ประชาธิปไตย สันติภาพ ความก้าวหน้า ความยุติธรรม และความเสมอภาค
ประวัติ
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สิงคโปร์อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ โดยเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมช่องแคบ หรือสเตรดส์เซตเทิลเมนต์ ธงของอาณานิคมช่องแคบมีลักษณะเป็นธงแสดงสัญชาติสีน้ำเงินของอังกฤษ ตรงมุมล่างขวามีรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดสีแดง มีแถบวายสีขาวพาดผ่าน และมีมงกุฎสีทอง 3 องค์ที่ใช้สื่อถึงดินแดนทั้ง 3 แห่งของอาณานิคมช่องแคบ นั่นคือ สิงคโปร์ มะละกา และปีนัง[1]
อาณานิคมที่เมืองสิงคโปร์ไม่มีธงเป็นของตนเอง จนเมื่อปี ค.ศ. 1911 ได้มีการประกาศใช้ตราประจำเมืองสิงคโปร์ ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสิงคโปร์ถูกยึดครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น ก็มีการใช้ธงฮิโนมารุในกองทัพและตามงานสาธารณะต่างๆ[2] จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง สิงคโปร์ก็ถูกยกสถานะเป็นคราวน์โคโลนี จึงมีการประกาศใช้ธงของตนเอง เป็นธงที่มีลักษณะคล้ายกับธงของอาณานิคมช่องแคบ แต่มีมงกุฎเพียง 1 องค์ และมีแถบวายสีแดงพาดผ่าน[3][4]
สิงคโปร์ได้รับสิทธิ์ในการปกครองตนเองภายใต้จักรวรรดิอังกฤษเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1959[5] หกเดือนต่อมา เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1959 นายยูซฟ บิน อิซฮัก ได้เข้ารับตำแหน่งเป็น ยังดีเปอร์ตวนเนการา คนที่สองของสิงคโปร์ และได้มีการประกาศใช้ธงชาติใหม่ พร้อมกับเพลงชาติและตราแผ่นดินใหม่ ซึ่งธงชาตินี้ก็ได้ถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน [6]
ธงชาติของสิงคโปร์นั้นใช้เวลาในการออกแบบสองเดือน มีคณะกรรมาธิการนำโดยนายโต ชิน ไชย เป็นผู้ออกแบบ ในช่วงแรกนั้น นายโตต้องการให้ธงชาติทั้งผืนเป็นสีแดง แต่คณะรัฐมนตรีสิงคโปร์ไม่เห็นด้วย เนื่องจากในสมัยนั้นสีแดงมีความเกี่ยวโยงกับลัทธิคอมมิวนิสต์[7] นายลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ระบุไว้ว่า ประชาชนชาวจีนในสิงคโปร์ต้องการให้ธงชาติใหม่มีดาว 5 ดวง เหมือนกับธงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนประชาชนชาวมาเลย์ต้องการให้ธงชาติมีพระจันทร์เสี้ยว สัญลักษณ์ทั้งสองจึงถูกนำมาผสมผสานกันให้เกิดเป็นธงชาติสิงคโปร์[8][9]
-
ธงของอาณานิคมช่องแคบ ระหว่าง ค.ศ. 1874 - 1925
-
ธงของอาณานิคมช่องแคบ ระหว่าง ค.ศ. 1925 - 1946
-
ธงของอาณานิคมสิงคโปร์ ระหว่าง ค.ศ. 1946 - 1952
-
ธงของอาณานิคมสิงคโปร์ ระหว่าง ค.ศ. 1952 - 1959
ธงสำคัญอื่น ๆ
[แก้]นอกเหนือไปจาธงชาติ ยังมีธงสำคัญอย่างที่ใช้ในทางราชการดังนี้
ภาพธง | ประเภทการใช้ | คำอธิบาย | สัดส่วน กว้าง:ยาว |
---|---|---|---|
ธงประธานาธิบดี | ธงซึ่งใช้หมายตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นธงที่ดัดแปลงลักษณะมาจากธงชาติ พื้นเป็นธงสีแดง มีรูปหมู่ดาวและเดือนเสี้ยวขนาดใหญ่อยู่กลางธง ตามเอกสารของทำเนียบประธานาธิบดีระบุว่าสีพื้นและรูปสัญลักษณ์ดังกล่าวให้เป็นไปตามลักษณะที่ปรากฏในธงชาติ ธงนี้ชักขึ้นประจำทำเนียบประธานาธิบดีระหว่างเวลา 8:00 น. - 18:00 น. หรือจนกว่าประธานาธิบดีจะออกจากทำเนียบเพื่อไปยังที่พักส่วนตัว[10] | 2:3 | |
ธงแสดงสัญชาติสีแดง | "ธงเรือแดงของสิงคโปร์" ซึ่งใช้โดยเรือพลเรือนที่ขึ้นทะเบียนของประเทศสิงคโปร์ เป็นธงสีแดงมีรูปเดือนเสี้ยวและดาวห้าดวงบรรจุภายในวงแหวน ความกว้าง 1 ส่วน ความยาว 2 ส่วน อ้างอิงตามองค์การการเดินเรือและการท่าเรือแห่งประเทศสิงคโปร์ (Maritime and Port Authority of Singapore - MPA) ธงนี้ใช้บนเรือของสิงคโปร์แทนธงชาติ นายเรือ เจ้าของเรือ และเจ้าหน้าที่ของเรือในบังคับสิงคโปร์ลำใดไม่ชักธงนี้จะถูกปรับตามอัตราโทษที่กำหนดไว้ใน[11] | 1:2 | |
ธงแสดงสัญชาติสีขาว | กระทรวงกลาโหมของสิงคโปร์ได้กำหนดธงนาวีสำหรับกองทัพเรือขึ้นในปี พ.ศ. 2510 และกำหนดให้ใช้ในเรือทุกลำที่สังกัดในกองทัพเรือสิงคโปร์ เอกสารกำหนดแบบธงของกระทรวงกลาโหม โดยกำหนดชื่อของธงนี้เป็น "Singapore Naval Force Ensign" หมายเลขเอกสารที่ Misc. 1 of 1967 ระบุไว้ว่า "ธงนาวีสิงคโปร์ (Singapore Naval Force Ensign) เป็นธงสีขาว มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงที่มุมธงบนด้านคันธงบรรจุรูปเดือนเสี้ยวเคียงดาวห้าดวงเรียวเป็นรูปวงกลม รูปทั้งหมดนี้สีขาว และมีรูปดาวแปดทิศสีแดงมีเส้นในขาวที่มุมธงล่างด้านชายธง สัดส่วนความกว้างต่อความยาวของธงเป็น 1:2 เดือนเสี้ยวและหมู่ดาวมาจากสัญลักษณ์ที่ปรากฏในธงชาติ ดาวแปดทิศหมายถึงเข็มทิศของนักเดินเรือ"[12][13][14] ธงดังกล่าวนี้ได้เข้ามาใช้แทนที่ธงเรือสีน้ำเงิน (ซึ่งปัจจุบันใช้สำหรับเรืออื่นของรัฐบาลที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการทหาร)[15] ในพิธีการหนึ่งของกองทัพเรือที่ Telok Ayer Basin เมื่อ พ.ศ. 2510[15] | 1:2 | |
ธงแสดงสัญชาติสีน้ำเงิน | ธงเรือรัฐบาลของสิงคโปร์ได้มีการกำหนดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2503 และใช้ในเรือของรัฐบาลทุกลำที่ไม่ได้สังกัดกองทัพ เช่น เรือยามฝั่ง เป็นต้น เอกสารกำหนดแบบธงของกระทรวงกลาโหมสิงค์โปร์ซึ่งกำหนดชื่อของธงนี้เป็น "State Marine Ensign" หมายเลขเอกสารที่ Misc. 6 of 1960 บรรยายความไว้ว่า "ธงเรือรัฐบาล (The State Marine Ensign) เป็นธงพื้นสีน้ำเงิน มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงที่มุมธงบนด้านคันธงบรรจุรูปเดือนเสี้ยวเคียงดาวห้าดวงเรียวเป็นรูปวงกลม รูปทั้งหมดนี้สีขาว และมีรูปดาวแปดทิศสีแดงสลับขาวที่มุมธงล่างด้านชายธง สัดส่วนความกว้างต่อความยาวของธงเป็น 1:2 สีน้ำเงินหมายถึงทะเล เดือนเสี้ยวและหมู่ดาวมาจากสัญลักษณ์ที่ปรากฏในธงชาติ ดาวแปดทิศหมายถึงเข็มทิศของนักเดินเรือ"[15][16][17] | 1:2 |
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ), National Geographic Society (U.S (1918). "The Flags of the British Empire". National Geographic Magazine. National Geographic Society. 32: 383. สืบค้นเมื่อ 12 January 2009.
- ↑ Foong, Choon Hon; Xie Song Shan (2006). ETERNAL VIGILANCE: The Price of Freedom. Singapore: Asiapac Books Pte Ltd. pp. 115–16. ISBN 981-229-395-7.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Singapore, Flag of". Encyclopædia Britannica. 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 December 2008. สืบค้นเมื่อ 14 September 2008.
- ↑ Corfield, Justin J.; Robin Corfield (April 2006). Encyclopedia of Singapore. Rowman & Littlefield Publishers, Inc. pp. 68. ISBN 0-8108-5347-7.
- ↑ Wheatley, Paul; Kernial Singh Sandhu, Hussein Alatas, Institute of Southeast Asian Studies (1989). Management of Success: The Moulding of Modern Singapore. Institute of Southeast Asian Studies. p. 1067. ISBN 978-981-3035-42-3.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Toh, Chin Chye (1989). "Dr. Toh Chin Chye [oral history interview, accession no. A1063, reel 1]" (Interview). National Archives of Singapore.: "State symbols". Access to Archives Online (a2o), National Archives of Singapore. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 February 2012. สืบค้นเมื่อ 4 November 2007.
- ↑ Zaubidah Mohamed (18 December 2004). "The national flag of Singapore". Singapore Infopedia, National Library Board. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 May 2008. สืบค้นเมื่อ 4 November 2007.
- ↑ Lee Kuan Yew (1998). The Singapore Story: Memoirs of Lee Kuan Yew. Singapore: Times Editions. pp. 342–343. ISBN 978-981-204-983-4.
- ↑ "National Pride" (PDF). Synergy. Contact Singapore. September–October 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 21 September 2010. สืบค้นเมื่อ 15 December 2009.
- ↑ "Ceremonies and Protocol – The Presidential Standard". The Istana, Office of the President of the Republic of Singapore. 17 April 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-19. สืบค้นเมื่อ 2008-12-03.
- ↑ "รัฐบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-20. สืบค้นเมื่อ 2010-08-02.
- ↑ Herman Felani (1 November 2003). "War Ensign (Singapore)". Flags of the World. สืบค้นเมื่อ 2008-12-07.
- ↑ Ministry of the Interior and Defence (1967). "Singapore Naval Force ensign". Government of Singapore. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-05. สืบค้นเมื่อ 19 November 2009.
- ↑ "SAF Core Values". Republic of Singapore Navy. 2005-07-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-19. สืบค้นเมื่อ 2009-11-19.
- ↑ "State Ensign (Singapore)". Flags of the World. 2006-08-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-05. สืบค้นเมื่อ 2009-11-30.
- ↑ "1960, Misc. 6 - State Marine ensign". Government of Singapore. 1960. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-05. สืบค้นเมื่อ 2009-11-30.
- เอกสาร
- Smith, Whitney (1966). A History of the Symbols of Singapore. Flag Bulletin. Vol. 5. Winchester, Mass.: Flag Research Center. pp. 60–67. ISSN 0015-3370..
- "No conflict, clear-cut symbol of unity". The Sunday Times. 1981-08-09. p. 13.
- Aslaksen, Helmer (2007-03-11). "The mathematics and astronomy of the Singapore flag". Department of Mathematics, National University of Singapore. สืบค้นเมื่อ 2007-11-03.
- หนังสือ
- Singapore Legislative Assembly (1959). State Arms and Flag and National Anthem of Singapore (Legislative Assembly (New Series) Misc. 2 of 1959). Singapore: Printed at the Government Printing Office.
- State Arms & Flag of Singapore. Singapore: Publicity Division, Ministry of Culture. 1977.
- Crampton, William (1992). The World of Flags : A Pictorial History (Rev. ed.). London: Studio Editions. p. 88.
- The National Symbols Kit. Singapore: Prepared by Programmes Section, Ministry of Information and the Arts. 1999. A kit on the key symbols of Singapore consisting of eight fact sheets, one booklet, one CD and one national flag.
- สื่ออื่น
- Singapore Broadcasting Corporation (1988). Flag and Anthem, 3 December 1959 [videorecording]. Singapore: Television Corporation of Singapore. A documentary on the national flag and anthem of Singapore. Gives an account on how the present design of the flag was arrived at, and includes an interview with the national anthem's composer, Zubir Said.