ความสัมพันธ์ไทย–สเปน
ไทย |
สเปน |
ความสัมพันธ์ไทย–สเปน เป็นทวิภาคี และความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1870 ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานเอกอัครราชทูตอยู่ที่มาดริด รวมถึง สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่บาร์เซโลนา และซานตากรุซเดเตเนริเฟ[1] ขณะที่ ประเทศสเปนมีสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้ง สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่จังหวัดภูเก็ต และเชียงใหม่[2]
ประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ทางการทูต
[แก้]เมื่อสเปนได้ตั้งฐานทัพ และอาณานิคมไว้ ณ กรุงมะนิลา ในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ในช่วงหลายสิบปีก่อนที่สเปนจะเข้ามาติดต่อกับไทยนั้น โปรตุเกสได้เริ่มสร้างสัมพันธภาพทางการทูตและการค้ากับราชอาณาจักรสยามไว้แล้ว แต่ในช่วง ค.ศ.1580–1640 พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน กษัตริย์แห่งสเปนได้ผนวกโปรตุเกสเข้าไว้ในอาณาจักรสเปน ทำให้สเปนพยายามเผยแผ่คริสต์ศาสนา และติดต่อค้าขายกับดินแดนซึ่งชาวโปรตุเกสเคยติดต่อด้วยเป็นประจำ เช่น อาณาจักรอยุธยา เป็นต้น
ในปี ค.ศ. 1598 ฟรันซิสโก เด เตโย เด กุซมัน ข้าหลวงใหญ่แห่งกรุงมะนิลา ได้ส่งนาย ฆวน เตโย เด อากิร์เร มาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงส่งพระราชสาส์นแสดงความสนพระทัยที่จะค้าขายกับสเปน โดยผลที่เกิดขึ้นคือ การลงนามในสนธิสัญญาที่รับรองสิทธิของชาวสเปนในการอยู่อาศัย เจรจา และปฏิบัติตามศาสนาของตนในอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรสยาม นับเป็นสัญญาฉบับที่สองที่ไทยตกลงเซ็นกับประเทศตะวันตก ปรากฎในจดหมายถวายความต่อ พระเจ้าเฟลิเปที่ 3 แห่งสเปน ความว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชสาส์นจากพระเจ้ากรุงสยาม...ในพระราชสาส์นนั้น พระเจ้ากรุงสยามทรงประสงค์การพาณิชย์และการค้ากับหมู่เกาะนี้ (หมู่เกาะฟิลิปปินส์)...โดยที่ได้เห็นว่า พระมหากษัตริย์องค์นี้โปรดเช่นนั้น ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1598) ข้าพระพุทธเจ้าได้แต่ง ฆวน เตโย พร้อมคณะทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามเป็นการตอบพระราชสาส์น โดยได้กล่าวถึงความนิยมชมชื่นอย่างใหญ่หลวงสำหรับพระราชไมตรีที่ทรงแสดงต่อข้าพระพุทธเจ้า และความนิยมชมชื่นสำหรับพระราชปรารถนาที่จะให้ชาวสเปนค้าขายในราชอาณาจักร...ฆวน เตโย ได้ออกเดินทางไปสยาม และเมื่อปฏิบัติการทูตสมบูรณ์แล้ว เขาได้ทำข้อตกลงด้วยว่า (สยาม) ควรเปิดเมืองท่าเมืองหนึ่งสำหรับการค้าเพื่อให้ชาวสเปนสามารถไปเมืองนั้นได้และตั้งหลักแหล่งได้โดยอิสระ และได้รับการยกเว้นจากภาษีทั้งปวง"[3]
ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1870 ทั้งสองราชอาณาจักรได้สร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ด้วยการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพ การค้า และการเดินเรือ โดยจุดประสงค์หลักของสนธิสัญญาคือการสร้างสถานกงสุลสเปนในกรุงเทพมหานคร โดยการออกแบบของอาโดลโฟ ปักตอน สถาปนิกซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตที่ส่งมาจากประเทศจีน จึงนับเป็นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน[4] อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ โดยเกิดการติดต่ออย่างเป็นทางการเพียงเล็กน้อย เท่านั้น[5]
ในปี ค.ศ. 1883 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตประจำประเทศสเปนคนแรก โดยสำนักงานประจำอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ[6] การติดต่อ และผลประโยชน์ร่วมกันยังคงลดลง แม้จะมีการเสด็จเยือนสเปนครั้งประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี ค.ศ. 1897 ซึ่งได้พบกับมาเรีย คริสตินาแห่งออสเตรีย สมเด็จพระราชินีแห่งสเปน รวมทั้ง การเสด็จร่วมพิธีบรมราชาภิเษก พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปน ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1902[7]ก่อนที่จะมีนามในสนธิสัญญามิตรภาพ การค้าและการเดินเรือฉบับใหม่ในปี ค.ศ. 1925 แต่หลังจากสงครามกลางเมืองสเปน และสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตยุติลง จนกระทั่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 1950 โดยเฟร์นันโด บัซเกซ เมนเดส ได้เป็นทูตของสเปนคนแรกที่มีถิ่นพำนักถาวรอยู่ในกรุงเทพมหานคร[2]
ในปี ค.ศ. 1955 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทย ได้เดินทางเยือนแผ่นดินสเปนอย่างเป็นทางการ ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1960 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช และพระราชินี จะเสด็จเยือนมาดริด และเซบิยา ปีถัดมา สเปนได้ยกระดับการเป็นตัวแทนในกรุงเทพ เป็นสถานเอกอัครราชทูต ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1962 ดอน ซานเตียโก รุยซ์ ตาบาเนรา ได้รับการรับรองเป็นเอกอัครราชทูตสเปนคนแรกในประเทศไทย ปีถัดมา ไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด และแต่งตั้ง มนู อมาตยกุล ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด คนแรก[8]
การติดต่อกันอย่างเป็นทางการ ได้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งพร้อมกับการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในสเปน โดยเหตุการณ์ที่สำคัญคือ สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ. 1987 และ 2006 นับจากนั้นเป็นต้นมา สเปน และไทยได้รักษาความสัมพันธ์อันดีบนพื้นฐานของมิตรภาพอันลึกซึ้งระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ของทั้งสองประเทศ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1992 กองทัพเรือไทย ได้ว่าจ้างรัฐบาลสเปนในการสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เป็นเงิน 7,100 ล้านบาท คือเรือหลวงจักรีนฤเบศร[9]
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2010 กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสเปนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญของการไปเยือนในครั้งนี้คือ การลงนามแผนปฏิบัติการร่วมไทย (ค.ศ 2010–2015) และความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูตไทย–สเปน[10][2]
ในวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 2021 คณะรัฐมนตรีไทยได้มีมติเห็นชอบให้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์สเปนแห่งแรก ที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้แต่งตั้งการ์โลส โฆเซ ฆาลอน โอลิเบรัส ให้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ คนแรก[11]
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2021 สเปนได้จัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 614,500 โดส ให้กระทรวงสาธารณสุขไทย ในโอกาสวันชาติสเปน โดยรัฐบาลไทยไม่ประสงค์รับบริจาค สเปนจึงขายให้ในราคาถูก ประมาณ 2.9 ยูโรต่อโดส[12][13]
นอกจากนี้ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 2021 คณะรัฐมนตรีไทยยังได้มีมติเห็นชอบให้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์สเปนแห่งที่ 2 ที่จังหวัดภูเก็ต ให้แต่งตั้งกริสโตบัล โรดริเกซ โลเปซ ให้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ คนแรก[14] ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์สเปน 2 แห่ง และสถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อาคารเลครัชดา เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร มีอาณาเขตรับผิดชอบครอบคลุมไปถีงประเทศกัมพูชา พม่า และลาว[15] ส่วนสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสเปน อยู่ที่ถนนกาเยฆัวกินโกสตา ในเมืองมาดริด[16] และมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยในสเปน 2 แห่งที่บาร์เซโลนา และซานตากรุซเดเตเนริเฟ
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
[แก้]ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างไทยกับสเปน เป็นไปตามความสัมพันธ์ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับไทย นับตั้งแต่เริ่มต้นปี จนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 สเปน นำเข้าสินค้าจากไทยคิดเป็นร้อยละ 0.29 จากสินค้าที่สเปนนำเข้าทั้งหมด โดยไทยเป็นประเทศที่สเปนนำเข้าสินค้ามากเป็นอันดับที่ 35 และมากเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ โดยเป็นจำนวนเงิน 542 ล้านยูโร ขณะที่ สเปนส่งออกสินค้าให้กับไทย มากเป็นอันดับที่ 35 คิดเป็นร้อยละ 0.32 จากสินค้าที่สเปนส่งออกทั้งหมด โดยเป็นจำนวนเงิน 1,302 ล้านยูโร ดุลการค้าที่เกินดุลของไทย เป็นผลดีต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก และยังมีแนวโน้มเกินดุลเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยสเปน มีสัดส่วนการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องจักรกล มากที่สุดเป็นจำนวนเงิน 51.06 ล้านยูโร ตามด้วย ผลิตภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เคมี ขณะที่สเปน มีสัดส่วนการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องจักรกล มากที่สุด เป็นจำนวนเงิน 272.44 ล้านยูโร ตามด้วย ยาง และส่วนประกอบยานยนต์[2]
ในด้านการท่องเที่ยว ในปี ค.ศ. 2023 มีชาวสเปนเดินทางมาประเทศไทย 153,458 คน ขณะที่ ชาวไทยที่เดินทางไปประเทศสเปนอยู่ที่ 59,617 คน[15]
ความร่วมมือระหว่างประเทศ
[แก้]ความร่วมมือระหว่างสเปนและไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ ในด้านการศึกษา วัตถุประสงค์หลักของสเปนในประเทศไทยคือเพื่อส่งเสริมการสอนภาษาสเปนในทุกระดับ โดยมีอาจารย์จากหน่วยงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศสเปน (AECID) มาสอนในระดับมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และล่าสุดในปี ค.ศ. 2023 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[17] สำหรับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษานั้น ภาษาสเปนได้รับการส่งเสริมมากขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการ และการฝึกอบรมสายอาชีพของสเปน เพื่อการเผยแพร่สื่อการสอน และการฝึกอบรมออนไลน์ของครู และอื่น ๆ
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2016 มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางเทคโนโลยีในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสิ่งมีชีวิต ระหว่างศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสเปน กับศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพของไทย เพื่อส่งเสริม และให้ทุนสนับสนุนโครงการความร่วมมือทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมในด้านสุขภาพ และยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานไทย โดยศูนย์วิจัยพลังงาน สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีสเปน (CIEMAT) ในด้านพลังงานทดแทน รวมทั้ง ร่วมกับสถาบันสุขภาพการ์โลสที่สาม เพื่อวิจัยโรคเขตร้อนที่ได้รับการส่งเสริมโดยองค์การอนามัยโลก โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และธนาคารโลก นอกจากนี้ การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสภาอธิการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สเปน (CSIC) และศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความโดดเด่นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมในการเพาะปลูกข้าว ซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกหลักของโลก ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ได้มีการเปิดตัวโครงการความร่วมมือระหว่างเมืองเชียงใหม่ และกรานาดา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และแนวปฏิบัติที่ดีในเมืองอัจฉริยะ โดยเฉพาะเศรษฐกิจหมุนเวียน และการจัดการขยะ ภายใต้โครงการความร่วมมือระดับเมืองและระดับภูมิภาคระหว่างประเทศ (IURC)[18]
การปรากฏทางวัฒนธรรมของสเปนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และสเปนกำลังสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับตัวแทนทางวัฒนธรรมไทยที่หลากหลาย เช่น หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) บางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ มูลนิธิเพื่อนศิลปะ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และอื่น ๆ[2] นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 หอภาพยนตร์ และสถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย ได้มีการจัดฉายภาพยนตร์สเปน ในงานเทศกาลภาพยนตร์สเปน ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครเป็นประจำทุกปี[19]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ [1]List of foreign consulates in Spain.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 OFICINA DE INFORMACIÓN DIPLOMÁTICA FICHA PAÍS Reino de Tailandia กระทรวงการต่างประเทศ (ประเทศสเปน) สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2566
- ↑ อยุธยาในบันทึกสเปน ท้องถิ่นอยุธยาในหลักฐานสเปน museumthailand.com สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2566
- ↑ Treaty of Friendship, Commerce and Navigation between the Kingdom of Siam and the Kingdom of Spain สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2566
- ↑ Embajada: funciones e historia เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ (ประเทศสเปน) สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2023
- ↑ รายพระนามและรายนามอัครราชทูตและเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสเปน เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาดริด สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2566
- ↑ กรมศิลปากร, "The Spanish Coronation" by King Vajiravudh, พ.ศ. 2550
- ↑ ราชอาณาจักรสเปน เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ (ประเทศไทย) เขียนเมื่อ 12 เม.ย. ค.ศ. 2011 ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. ค.ศ. 2022 สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2023
- ↑ ประวัติ ร.ล.จักรีนฤเบศร เก็บถาวร 2023-10-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์เรือหลวงจักรีนฤเบศร เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2023
- ↑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนราชอาณาจักรสเปน ระหว่างวันที่ 6 - 9 ตุลาคม 2553 เว็บไซต์อาร์วายทีไนน์ สืบค้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2023
- ↑ มติคณะรัฐมนตรี 19 มกราคม พ.ศ. 2564 สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2023
- ↑ สเปนฉลองวันชาติด้วยการช่วยจัดหาวัคซีนให้ไทยสื่ออย่าชักใบให้เรือเสีย naewna.com เขียนโดยสุทิน วรรณบวร เมื่อ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021 สืบค้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2023
- ↑ "Spain's mighty effort to help Thais". Bangkok Post.
- ↑ มติคณะรัฐมนตรี 8 มีนาคม พ.ศ. 2565 สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2023
- ↑ 15.0 15.1 สเปน (Spain) เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ (ประเทศไทย) เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน ค.ศ. 2023 สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม ค.ศ. 2023
- ↑ ประวัติอาคารที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสเปน สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม ค.ศ. 2023
- ↑ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม เอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทยได้เดินทางไปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์บนเฟซบุ๊ก Embajada de España en Tailandia - สถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย 20 ตุลาคม ค.ศ. 2022 สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2023
- ↑ Chiang Mai and Granada eye on smart technologies: Two ancient cities look to the future เว็บไซต์โครงการความร่วมมือระดับเมืองและระดับภูมิภาคระหว่างประเทศ สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2023
- ↑ Spanish Film Festival 2021 เว็บไซต์หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2023