ของที่ระลึกเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
ของที่ระลึก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 มีการจัดทำขึ้นมากมายโดยหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล และเอกชน ซึ่งในที่นี้จะรวบรวมรายละเอียดของที่ระลึกที่สำคัญดังนี้
สายรัดข้อมือ
[แก้]สายรัดข้อมือสีเหลือง ด้านนอกมีข้อความ "เรา (รูปหัวใจ) พระเจ้าอยู่หัว" และ "LONG LIVE THE KING" ด้านในมีข้อความ "ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี" และ "ทรงพระเจริญ" จัดทำขึ้นสองครั้งโดยคิง เพาเวอร์ โดยครั้งแรกจัดทำขึ้นจำนวน 1 ล้านเส้น แต่ละเส้นมีหมายเลขกำกับไม่เหมือนกัน บริจาคเส้นละ 100 บาทที่ธนาคารไทยพาณิชย์[1] ครั้งที่สองจัดทำจำนวน 10 ล้านเส้น ทุกเส้นหมายเลข 9 เหมือนกันหมด บริจาคเส้นละ 100 บาทเช่นกันแต่มาพร้อมบัตรถวายพระพร บริจาค ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย เซเว่นอีเลฟเว่น และที่ร้านคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ชั้น 7 เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซา[2] ซึ่งรายได้ทั้งหมดนำทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เสื้อยืดสีเหลือง
[แก้]จัดทำขึ้นโดยหลายหน่วยงาน ปักตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 บนหน้าอกด้านซ้ายของเสื้อ มีการรณรงค์ให้สวมในช่วงการเฉลิมฉลอง และทุกวันจันทร์ จนสิ้นสุดปี พ.ศ. 2549
แสตมป์
[แก้]แสตมป์ จัดพิมพ์โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มีทั้งหมด 3 ชุด
ชุดที่หนึ่ง
[แก้]แสตมป์ที่ระลึก งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (ชุด 1) วันแรกจำหน่าย 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 หนึ่งชุดมี 6 ดวง ราคาดวงละ 3 บาท (หนึ่งแผ่นมี 20 ดวง) พิมพ์ทั้งหมด 1 ล้านชุด ชีทที่ระลึก (แสตมป์ครบ 6 แบบในแผ่นเดียว) พิมพ์ 2 แสนชุด ซองวันแรกจำหน่าย 17,000 ชุด (ชุดละ 2 ซอง) [3]
ชุดที่สอง
[แก้]แสตมป์ที่ระลึก งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (ชุด 2) หรือแสตมป์ทอง วันแรกจำหน่าย 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 หนึ่งชุดมีดวงเดียว (หนึ่งแผ่นมี 6 ดวง) ราคาดวงละ 100 บาท พิมพ์ทั้งหมด 1.2 ล้านชุด ซองวันแรกจำหน่าย 17,000 ซอง[4]
ชุดที่สาม
[แก้]แสตมป์ที่ระลึก งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (ชุด 3) วันแรกจำหน่าย 5 ธันวาคม พ.ศ. 2549 หนึ่งชุดมี 6 ดวง ราคาดวงละ 5 บาท (หนึ่งแผ่นมี 20 ดวง) พิมพ์ 1.5 ล้านชุด มีชีทที่ระลึก (แสตมป์ครบ 6 แบบในแผ่นเดียว) 4 แสนชุด และซองวันแรกจำหน่าย 30,000 ชุด (ชุดละ 2 ซอง) [5]
ธนบัตร
[แก้]ธนบัตรชนิดราคา 60 บาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มเปิดรับแลกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 พร้อมแผ่นพับ ในราคาฉบับละ 100 บาท ซึ่งส่วนต่างจำนวน 40 บาทต่อฉบับจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดพิมพ์ในส่วนแรกจำนวน 9,999,999 ฉบับ แต่ด้วยความนิยม จึงเปิดให้จองเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง หมายเลขบนธนบัตร มีตั้งแต่ 9ธ0000001 จนถึง 9ธ9999999 ส่วนภาษาอังกฤษใช้รหัส 9K (หมวดเสริมที่ใส่แทนธนบัตรชำรุด และส่วนที่จองเพิ่ม ใช้รหัส 9S) ซึ่งตัวอักษร ธ แทนพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับ K ซึ่งหมายถึง King ลักษณะด้านหน้าธนบัตรเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ด้านหลัง เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สื่อถึงพระองค์และภาพเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก นอกจากนี้ ธนบัตร ฉบับนี้มีลวดลายพิเศษคือ มีฟอยล์พิเศษมีพระบรมสาทิสลักษณ์ มีเลข 60 มีข้อความทรงพระเจริญ เต็มไปทั่ว ฟอยล์ แถบโลหะมีข้อความทรงพระเจริญ สามารถอ่านได้เมื่อยกส่องดูกับแสงสว่าง เมื่อนำธนบัตร ส่องกับแสง Black Light จะปรากฏอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร บริเวณลายน้ำ
เหรียญ
[แก้]สำหรับเหรียญที่กรมธนารักษ์จัดทำขึ้น มีทั้งเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ[6][7]
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก
[แก้]- เหรียญทองคำธรรมดา ราคาหน้าเหรียญ 12,000 บาท
- เหรียญทองคำขัดเงาโฮโลแกรม ราคาหน้าเหรียญ 12,000 บาท ราคาจำหน่าย 16,000 บาท
- เหรียญเงินธรรมดา ราคาหน้าเหรียญ 600 บาท
- เหรียญเงินขัดเงาโฮโลแกรม ราคาหน้าเหรียญ 600 บาท ราคาจำหน่าย 1,500 บาท
- เหรียญคิวโปรนิกเกิลธรรมดา ราคาหน้าเหรียญ 20 บาท
- เหรียญคิวโปรนิกเกิลขัดเงา ราคาหน้าเหรียญ 20 บาท ราคาจำหน่าย 200 บาท
- เหรียญโลหะสองสี ราคาหน้าเหรียญ 10 บาท
เหรียญที่ระลึก
[แก้]- เหรียญที่ระลึกทองคำพ่นทรายธรรมดา ราคา 15,000 บาท
- เหรียญเงินพ่นทรายธรรมดา ราคา 500 บาท
- เหรียญทองแดงรมดำพ่นทราย ราคา 50 บาท
เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ
[แก้]ตัวเหรียญเป็นเหรียญเงิน รูปไข่ มีชนิดบุรุษและสตรี ราคา 600 บาท มีน้ำหนัก 22 กรัม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 มิลลิเมตร ผลิตจำนวน 136,000 เหรียญ
ด้านหน้า มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หันพระพักตร์ทางเบื้องขวา ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญมีข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9”
ด้านหลัง มีรูปตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549"
เข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
[แก้]เข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ได้จัดทำโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิต ซึ่งได้ตั้งเป้าการผลิตไว้ 1.4 ล้านเข็ม และจัดจำหน่ายในราคาเข็มละ 260 บาท
รูปแบบของเข็มที่ระลึก จะมีขนาดสูงประมาณ 4 เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นรูปตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ด้านหลังมีตราสำนักนายกรัฐมนตรีตอกไว้เป็นรหัสเพื่อป้องกันการปลอมแปลง และประดับด้วยคริสตัลของ "สวารอฟสกี้" ซึ่งนำเข้าจากประเทศออสเตรีย จำนวน 22 เม็ด ส่วนกล่องบรรจุ จะจัดทำด้วยหนังเทียมชนิดพิเศษสีน้ำเงิน ฝากล่องด้านหน้าจะเดินลายเส้นสีทองตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ด้านในมีตราสำนักนายกรัฐมนตรีและข้อความว่า “สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี” รวมทั้งจัดทำริบบิ้นสำหรับเสียบความหมายของตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ติดกับฝากล่อง เพื่อป้องกันมิให้แผ่นความหมายเสียดสีกับตัวเข็มที่ระลึก โดยจัดพิมพ์ความหมายตราสัญลักษณ์ฯ เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษบนแผ่นกระดาษขนาดเล็กเสียบไว้ เข็มที่ระลึกนี้สามารถสั่งจองได้ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพียงแห่งเดียว โดยไม่มีการวางจำหน่ายนอกสถานที่[8]
ภาพที่ระลึก
[แก้]จัดทำโดยภาครัฐและเอกชน ผลิตโดยบริษัท สยามแกลเลอรี่ จำกัด จำนวน 9,000,000 ภาพ จำหน่ายในรูปแบบกรอบวิทยาศาสตร์ กรอบไม้ และกรอบทอง ในวันที่ 10 มิถุนายน 2549 มีตั้งแต่พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์และภาพในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ตั้งแต่ 8 - 10 มิถุนายน 2549, ภาพพระประมุขแห่งประเทศ 25 ประเทศ, รวมทั้งภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9และพระราชินีทรงโบกพระหัตถ์ภาพพระองค์ทรงชุดทหารและอื่นๆอีกมากมาย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-08. สืบค้นเมื่อ 2006-06-24.
- ↑ http://www.dailynews.co.th/dailynews/pages/front_th/popup_news/Default.aspx?Newsid=83501&NewsType=1&Template=2
- ↑ http://www.siamstamp.com/catalogue/index.php?id=794
- ↑ http://www.siamstamp.com/catalogue/index.php?id=797
- ↑ http://www.siamstamp.com/catalogue/index.php?id=807
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-07-02. สืบค้นเมื่อ 2006-06-25.
- ↑ http://radio.mcot.net/raQuery.php?article_ID=535
- ↑ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, 19 ก.ค. 49