ออดรีย์ เฮปเบิร์น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Audrey Hepburn)
ออดรีย์ เฮปเบิร์น
เฮปเบิร์นเมื่อปี 1956
เกิดออดรีย์ แคธลีน รัสตัน
4 พฤษภาคม ค.ศ. 1929(1929-05-04)
อิแซลส์ บรัสเซลส์ เบลเยียม
เสียชีวิต20 มกราคม ค.ศ. 1993(1993-01-20) (63 ปี)
รัฐโว สวิตเซอร์แลนด์
สัญชาติบริติช
อาชีพ
  • นักแสดง
  • ผู้ใจบุญ
ปีปฏิบัติงาน
  • 1948–1989 (นักแสดง)
  • 1954–1993 (ผู้ใจบุญ)
ผลงานเด่นรายการทั้งหมด
คู่สมรส
คู่รักโรเบิร์ต วอลเดอส์ (1980–1993; เธอเสียชีวิต)
บุตร2 คน รวมถึงฌอน
บุพการี
ญาติ
รางวัลรายการทั้งหมด
ลายมือชื่อ

ออดรีย์ เฮปเบิร์น (อังกฤษ: Audrey Hepburn; 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1929 - 20 มกราคม ค.ศ. 1993) เป็นนักแสดงและนางแบบชาวอังกฤษเชื้อสายดัตช์ เธอเป็นหนึ่งในนักแสดงหญิงเพียงไม่กี่คน ที่ถูกจัดอันดับว่าเป็น 1 ใน 10 นักแสดงหญิงที่ยอดเยี่ยมที่สุดของโลกตลอดกาล เธอเป็นแฟชั่นไอคอลและได้รับการขนานนามว่า "เจ้าหญิงแห่งวงการฮอลลีวู้ดยุคทอง" เธอเกิดที่บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โตในอาร์เนม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยในช่วงวัยเด็กและในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอได้เรียนบัลเลต์ที่นี่ หลังจากนั้นย้ายไปยังลอนดอนในปี 1948 โดยเธอได้เรียนการแสดงและทำงานเป็นนางแบบ หลังจากนั้นมีผลงานแสดงภาพยนตร์ และแสดงในละครเวทีเรื่อง Gigi จนสามารถคว้ารางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ในปี 1954 จากภาพยนตร์เรื่อง "Roman Holiday" เธอยังเป็นแฟชั่นไอคอนแห่งยุค 50 และศตวรรษที่ 20 จากการเป็น แบรนด์แอมบาสเดอร์ ของ จีวองซี่ ที่เธอมักจะสวมใส่ในภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง เช่น "Breakfast At Tiffany's" เป็นต้น

ประวัติ[แก้]

ออเดรย์ คาธลีน รัสตัน (Audrey Kathleen Ruston) เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1929 ในเบลเยียม พ่อเป็นนายธนาคารสัญชาติอังกฤษ ส่วนแม่มีเชื้อสายขุนนางของเนเธอร์แลนด์ ผู้เป็นพ่อทิ้งครอบครัวไปตอนเธออายุหกขวบ จากนั้นแม่ก็พาเธอและพี่ชายต่างพ่ออีกสองคนโยกย้ายไปอยู่อังกฤษ

หลังจากพักอาศัยอยู่ต่างถิ่นได้ไม่นาน สงครามโลกครั้งที่สองก็สั่นคลอนแผ่นดินอังกฤษ ครอบครัวของเธอจึงหวนกลับไปเนเธอร์แลนด์ และเพื่อปกปิดพื้นเพเชื้อชาติอังกฤษ ออเดรย์จำต้องเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของแม่ และเปลี่ยนชื่อของตนเองเสียใหม่เป็น เอ็ดดา ฟาน ฮีมสตรา (Edda van Heemstra)

เด็กสาวออเดรย์ ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อ เหตุเพราะขาดสารอาหารในช่วงภาวะขาดแคลน เธอเคยพูดเล่าเมื่อครั้งให้สัมภาษณ์สื่อในภายหลังว่า ช่วงแร้นแค้นนั้น เธอและคนในครอบครัวแทบไม่มีอะไรจะกิน มื้อเช้ามีเพียงน้ำร้อนกับขนมปังคนละชิ้น มื้อเที่ยงมีแต่มันฝรั่งต้ม แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เธอจะเลิกให้การสนับสนุนผู้ยึดครองชาวเยอรมัน จนกระทั่งต่อมา ลุงของเธอถูกพลพรรคนาซีฆ่าตาย ทั้งเธอและสมาชิกในครอบครัวจึงเปลี่ยนใจไปอยู่ฝ่ายต่อต้านนาซี

หลังสงครามสิ้นสุด ออเดรย์เดินทางไปอังกฤษ มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักเต้นบัลเลต์ในอนาคต แต่ฝันของเธอก็ดับวูบลงเมื่อรู้ตัวในภายหลังว่ากล้ามเนื้อขาของเธอเป็นอุปสรรค ท้ายที่สุดเธอเบนเข็มไปสู่การแสดง และในปี 1951 ออเดรย์ เฮปเบิร์น (นามสกุลที่สองของตระกูล) เดินทางสู่นิวยอร์ก ปลายทางที่ฮอลลีวูด จนกระทั่งกลายเป็นนักแสดงมีชื่อเสียง

โรเบิร์ต มัตเซน (Robert Matzen) เจ้าของหนังสืออัตชีวประวัติ Dutch Girl ให้ความเห็นเรื่องอดีตช่วงยึดครองของนาซีที่เฮปเบิร์นไม่ปรารถนาจะเอ่ยถึงนั้น เป็นไปได้ว่าเธอเลือกที่จะปกปิดเรื่องเลวร้ายเหล่านั้นด้วยเหตุผลส่วนตัว ในช่วงสงครามเธอพักอาศัยอยู่ในเมืองอาร์เนม ที่ซึ่งนาซียึดครอง และเธอหารายได้จากการเต้นบัลเลต์ ซึ่งตอนนั้นเธอก็ต้องเต้นให้กับนาซี หรือแม้จะเต้นในที่สาธารณะ ผู้ชมส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชาวเยอรมันอยู่ดี เมื่อสงครามยุติแล้ว เธอจะถูกตัดสินอย่างไรถ้าเรื่องเหล่านี้ถูกเผยแพร่ในสื่อ

ในวัย 25 ปี ในปี 1954 ออเดรย์ เฮปเบิร์นสามารถคว้ารางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำในฐานะนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก "Roman Holiday"(1953) ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลออสการ์ รางวัลลูกโลกทองคำ และรางวัลแบฟตา เธอยังได้รับรางวัลโทนีจากการแสดงในเรื่อง Ondine (1954) นับแต่นั้นมาเธอก็กลายเป็นดาราระดับแถวหน้าของฮอลลีวูด สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการในเวลาต่อมาด้วยผลงานภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s, Charade หรือ My Fair Lady รวมเวลาทั้งสิ้น 19 ปีก่อนที่เธอจะถอนตัวออกจากวงการ ในปี 1969 เพื่อต้องการมากลับมาดูแลครอบครัวอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังคงปรากฏตัวต่อสื่อสาธารณชนและวงการภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง เช่น งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ปี 1986

รักแรกของออเดรย์เป็นรักที่เธอพบเจอในปี 1954 ระหว่างการซ้อมบทละครบรอดเวย์เรื่อง Ondine เขาคือ เมล เฟอร์เรอร์ (Mel Ferrer) ไม่กี่เดือนถัดมาทั้งสองก็แต่งงานกัน และมีโอกาสได้ร่วมแสดงหนังคู่กันอีกครั้งในปี 1956 เรื่อง War and Peace มีลูกชายคนแรก ฌอน เฮปเบิร์น เฟอร์เรอร์ (Sean Hepburn-Ferrer) หลังจากแท้งมาสามครั้ง และครองชีวิตคู่กับเฟอร์เรอร์นาน 14 ปี จนหย่าร้างกันในปี 1970

จากภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany's

จากประสบการณ์ในช่วงสงครามของเธอทำให้เธอมีแรงบันดาลใจในงานทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ เธอทำงานกับยูนิเซฟตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เธอยังอุทิศเวลาและกำลังกายให้กับองค์กร ตั้งแต่ปี 1988 ถึง 1992 เธอทำงานให้กับชุมชนในแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชีย โดยไม่แสวงหาผลประโยชน์ ในปี 1992 เธอได้รับเหรียญแห่งอิสรภาพของประธานาธิบดี สำหรับการทำงานให้ในฐานะทูตสันถวไมตรียูนิเซฟ

ปี 1980 เธออยู่กับนักแสดง โรเบิร์ต วอลเดอร์ส เธอเสียชีวิตจากมะเร็งที่ไส้ติ่ง ที่บ้านในสวิตเซอร์แลนด์ อายุได้ 63 ปี ในวันที่ 20 มกราคม 1993[1][2][3]

เธอได้รับรางวัลหลังการเสียชีวิตอย่างรางวัล The Jean Hersholt Humanitarian Award จาก Academy of Motion Picture Arts and Sciences สำหรับงานการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม เธอได้รับรางวัลแกรมมีจากผลงานบันทึกเสียงเกี่ยวกับการพูด ในผลงาน Audrey Hepburn's Enchanted Tales ในปี 1994 และในปีเดียวกันเธอได้รับรางวัลเอมมี ในสาขา Outstanding Achievement for Gardens of the World นอกจากนี้เธอยังอยู่อันดับ 3 จากการจัดอันดับ ดาราสาวตลอดกาลจากสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน

อ้างอิง[แก้]

  1. Givenchy, Hubert (2007). Audrey Hepburn. London: Pavilion. p. 19. ISBN 9781862057753.
  2. Ferrer, Sean (2005). Audrey Hepburn, an Elegant Spirit. New York: Atria. p. 148. ISBN 9780671024796.
  3. Paris, Barry (2001). Audrey Hepburn. City: Berkley Trade. p. 361. ISBN 9780425182123.