การอ้างก้อนหิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Appeal to the stone)

การอ้างก้อนหิน (อังกฤษ: appeal to the stone, argumentum ad lapidem ) เป็นเหตุผลวิบัติทางตรรกะ เป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับเหตุผลหนึ่งๆ โดยอ้างว่าไม่จริงหรือเหลวไหล ซึ่งอาจทำซ้ำๆ โดยไม่ให้เหตุผลอื่นๆ วิธีนี้คล้ายกับ proof by assertion ซึ่งเป็นการกล่าวสิ่งเดียวกันซ้ำๆ ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะค้านอย่างไร โดยคล้ายกันเพราะเป็นการกล่าวเพื่อให้เชื่อโดยไร้หลักฐาน นี่เป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัยเพราะเป็นการให้เหตุผลแบบอุปนัยเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ระบุ โดยสาระของการให้เหตุผลจะไม่ดี นี่เทียบกับเหตุผลวิบัติรูปนัยที่รูปแบบหรือโครงสร้างของการให้เหตุผลจะไม่ถูกต้อง

ตัวอย่าง[แก้]

การอ้างก้อนหินเป็นเหตุผลมี 4 ขั้นตอน ฝ่ายหนึ่งตั้งข้ออ้าง อีกฝ่ายปฏิเสธ ฝ่ายแรกถามว่าทำไมจึงปฏิเสธ อีกฝ่ายกล่าวปัดคำถามโดยไม่ให้เหตุผล
ฝ่ายแรก: โรคติดต่อเกิดจากจุลินทรีย์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
อีกฝ่าย: สิ่งที่คุณพูดไม่ถูก
ฝ่ายแรก: ทำไมถึงคิดว่าไม่ถูก
อีกฝ่าย: มันฟังดูเหมือนเรื่องเหลวไหล

อีกฝ่ายปฏิเสธข้ออ้างของฝ่ายแรกโดยไม่ได้ให้หลักฐานอะไรๆ ซึ่งอาจจะดีในกรณีที่ข้ออ้างของฝ่ายแรกขัดแย้งกันเอง หรือผิดรูปผิดร่างจนไม่สมเหตุสมผล

ประวัติ[แก้]

ดร. ซามูเอล จอห์นสัน ที่เป็นเหตุให้เกิดชื่อเหตุผลวิบัตินี้

กำเนิดชื่อ[แก้]

ชื่อ "การอ้างก้อนหิน" มาจากข้อโต้เถียงกันระหว่างนักพจนานุกรม ดร. ซามูเอล จอห์นสันกับเจมส์ บอสเวลล์เกี่ยวกับทฤษฎีอสสารนิยม (immaterialism) ซึ่งระบุว่าความเป็นจริงจะขึ้นอยู่กับการรับรู้โลกของบุคคล โดยวัตถุที่เป็นสสารจะเกี่ยวเนื่องกับการรับรู้ตัววัตถุนั้น[1]

หลังจากที่พวกเราออกมาจากโบสถ์ ก็ได้ยืนคุยกันสักพักหนึ่งเกี่ยวกับมุขนายกบาร์กลีย์ผู้ใช้คารมอันคมคายเพื่อพิสูจน์ว่าสสารไม่มีจริง และว่าทุกสิ่งทุกอย่างในเอกภพเป็นเพียงเรื่องจินตนาการ ผมได้ให้ข้อสังเกตว่า แม้เราจะเห็นพ้องกันว่าหลักการนี้ไม่เป็นจริง แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ว่าไม่จริงได้ ผมจะไม่มีวันลืมว่าจอห์นสันโต้ตอบได้เร็วแค่ไหน โดยเตะหินก้อนใหญ่อย่างแรงจนเท้าเด้งออกแล้วกล่าวว่า "ผมปฏิเสธมันอย่างนี้"[2]

— Boswell, James, The Life of Samuel Johnson

จุดมุ่งหมายของ ดร. จอห์นสันก็คือ ถ้าเขาสามารถเตะก้อนหินด้วยเท้า การเรียกก้อนหินว่า "อสสาร" ก็จะต้องเป็นเรื่องเหลวไหล[3]

การจัดหมวดหมู่[แก้]

เหตุผลวิบัติอรูปนัยทางตรรกะ[แก้]

เหตุผลวิบัติอรูปนัยทางตรรกะเป็นความเข้าใจผิดเพราะมีเหตุผลบกพร่อง เพราะอาศัยการให้เหตุผลแบบอุปนัย จึงอาจผิดพลาดแล้วทำให้เข้าใจว่าเป็นเหตุผลที่ดีแต่จริงๆ ไม่ใช่[4]

เหตุผลวิบัติโดยไม่เข้าประเด็น[แก้]

ข้อสรุปนอกประเด็นมีโครงสร้างคล้ายๆ กับการอ้างก้อนหิน เป็นการให้หลักฐานแก่ข้อสรุปนอกประเด็น ไม่ใช่ข้อสรุปเดิม[5] เช่น การปฏิเสธทฤษฎีอสสารนิยมของ ดร. จอห์นสันด้วยการเตะก้อนหิน จริงๆ ไม่ได้ปฏิเสธทฤษฎีโดยตรง แต่กลับระบุข้อสรุปที่ไม่เข้ากับทฤษฎี

การให้เหตุผลแบบอุปนัย[แก้]

การอ้างก้อนหินเป็นการให้เหตุผลแบบอุปนัย ส่วนเหตุผลวิบัติรูปนัยใช้การให้เหตุผลแบบนิรนัยและใช้โครงสร้างแบบรูปนัยเพื่อให้เหตุผล ซึ่งต่างกับการให้เหตุผลแบบอุปนัยซึ่งไม่ใช้วิธีเช่นนี้ การให้เหตุผลแบบอุปนัยมีข้อสรุปที่ไม่แน่นอนเพราะต้องอนุมานจากสถานการณ์ หรือบุคคล/วัตถุ หรือเหตุการณ์โดยเฉพาะๆ[6] ในบริบทของการอ้างก้อนหิน มีการให้เหตุผลแบบอุปนัยเพื่อคัดค้านข้ออ้างเดิมโดยไม่ได้ให้คำอธิบายเพิ่ม แต่การให้เหตุผลแบบอุปนัยอาจเปลี่ยนไปได้ถ้าได้ข้อมูลหรือหลักฐานใหม่ๆ ที่ล้มข้อสมมุติของการอุปนัยได้[7]

การให้เหตุผลแบบอุปนัยสมมุติว่าโอกาสเป็นไปได้ของข้อตั้งสามารถใช้เป็นหลักฐานสนับสนุน[ต้องการอ้างอิง] การให้เหตุผลแบบอุปนัยจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับความหนักแน่นของเหตุผล แต่แต่ละคนจะรู้สึกว่าหนักแน่นไม่เท่ากัน โดยขึ้นอยู่กับความคิดความรู้สึกที่มีอยู่แล้วในเรื่องนั้น

จุดอ่อนของการให้เหตุผลแบบอุปนัยเทียบกับการให้เหตุผลแบบนิรนัยก็คือ ไม่สามารถประเมินความสมเหตุสมผลหรือความแน่นอนของข้ออ้าง ความสมเหตุสมผลจะขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลที่ให้เป็นจริงหรือไม่ แต่ถ้าเป็นหลักฐานเท็จเพื่อพิสูจน์ว่าข้อสรุปเป็นเท็จ ก็อาจใช้ได้เหมือนกัน ดังนั้นการให้เหตุผลจะจัดว่าแน่นอนก็ต่อเมื่อข้อสมมุติ/ข้อตั้งของการให้เหตุผลนั้นเป็นจริง ไม่เหมือนกันกับการให้เหตุผลแบบนิรนัย การให้เหตุผลแบบอุปนัยจะพิสูจน์ความสมเหตุสมผลไม่ได้โดยนิรนัย ดังนั้น จึงเป็นปัญหาของการอุปนัย

โครงสร้างการให้เหตุผล[แก้]

การให้เหตุผล/ข้อโต้แย้ง (argument) ปกติจะมีข้ออ้าง (claim) ที่สนับสนุนด้วยการให้เหตุผล (reasoning) และหลักฐาน (evidence) ปกติจะเป็นข้อความหลายข้อที่แสดงข้อตั้ง (premise) เพื่อสนับสนุนข้อสรุป (conclusion) การอ้างก้อนหินมีข้อสรุปที่ชัดแจ้ง แต่จะไม่มีข้อตั้งต่างๆ เพื่อแสดงความสมเหตุสมผลของข้อสรุปที่อ้าง[8]

ตามทฤษฎีการให้เหตุผล (theory of argumentation) การให้เหตุผลหรือการนิรนัยจะต้องมีข้อสมมุติหรือข้อตั้ง ที่นำไปสู่ข้อสรุปหรือประเด็นที่ต้องการ การอ้างก้อนหินไร้หลักฐานเมื่อปฏิเสธข้ออ้างเดิม ซึ่งจำกัดการโต้แย้งของฝ่ายตรงข้าม

ปัญหา[แก้]

จำกัดการโต้เถียง[แก้]

เมื่อกำลังโต้เถียงกัน ถ้าฝ่ายหนึ่งยกข้ออ้างซึ่งอีกฝ่ายไม่เห็นด้วย "ภาระการพิสูจน์" (burden of proof) ก็จะตกอยู่กับฝ่ายที่ยกข้ออ้าง คือต้องให้เหตุผลสำหรับข้ออ้างนั้น โดยเฉพาะถ้าข้ออ้างขัดกับสิ่งที่ได้ยอมรับกันเป็นปกติแล้ว[9] เพราะการยกก้อนหินเป็นการคัดค้านข้ออ้างดั้งเดิม ดังนั้น ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่กับผู้ที่ยกข้ออ้างดั้งเดิม แต่ก็จะทำได้ยากเพราะการยกก้อนหินไม่ได้ระบุเหตุผลว่าทำไมจึงคัดค้าน[10]

อนึ่ง เทคนิคนี้มักใช้ร่วมกับเหตุผลวิบัติทางตรรกะอื่นๆ ที่จำกัดการสนทนาต่อๆ ไป[11] เช่น อาจจะโจมตีอีกฝ่ายแบบ ad-hominem[12] เพื่อจะได้ไม่ต้องกล่าวถึงประเด็น หรืออาจใช้กับวิธีหุ่นฟางเพื่อทำลายเครดิตของอีกฝ่าย[13]

ในทฤษฎี 2 ระบบของแดเนียล คาฮ์นะมัน[แก้]

นักจิตวิทยาชาวอิสราเอลแดเนียล คาฮ์นะมัน ได้ตั้งทฤษฎีสองระบบขึ้นเพื่อให้เหตุผลว่าทำไมจึงเกิดเหตุผลวิบัติทางตรรกะ ทฤษฎีระบุว่ามนุษย์ใช้ระบบ 1 และระบบ 2 ในกระบวนการตัดสินใจ ระบบ 1 จะทำงานได้อย่างรวดเร็วและปกติจะใช้ฮิวริสติกในการประเมินและการตัดสินใจสำหรับกิจการงานที่ไม่ต้องใส่ใจมาก กิจที่ต้องใส่ใจมากกว่าจะใช้ระบบ 2 เพื่อพิจารณาหาเหตุผลให้ได้ข้อสรุป[14]

เหตุผลวิบัติทางตรรกะหลายอย่างใช้ระบบ 1 เพื่อการตัดสินใจหาข้อสรุปที่รวดเร็วโดยอาศัยอารมณ์ความรู้สึก แต่ถ้าเป็นคนช่างคิดวิเคราะห์ข้อสรุปที่ตนเองได้และคิดอย่างมีระเบียบแบบแผน ก็อาจหลีกเลี่ยงเหตุผลวิบัติทางตรรกะได้[15]

โครงร่างการให้เหตุผลของทูลมิน[แก้]

ตัวอย่างโครงร่างการให้เหตุผลของทูลมิน

โครงร่างการให้เหตุผลออกทูลมิน (Toulmin’s argumentation framework) แสดงองค์ประกอบการให้เหตุผลเป็น claim (ข้ออ้าง), grounds (ฐาน), warrant (ข้อรับรอง), qualifier (คำจำกัด), rebuttal (ข้อโต้แย้ง) และ backing (ข้อสนับสนุน) ฐานของ assumption (ข้อสมมุติ) จะต้องมีข้อรับรองและข้อสนับสนุน เพื่อรองรับข้ออ้างและเพื่อพิสูจน์ว่า conclusion (ข้อสรุป) คงเส้นคงวา ข้ออ้างเบื้องต้นของการโต้แย้งก็คือข้อเท็จจริงที่ผู้ให้เหตุผลพยายามพูดให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับ ฐานของการให้เหตุผลก็คือหลักฐานที่ใช้สนับสนุนข้อเท็จจริงเบื้องต้น ข้อรับรองก็คือข้อสมมุติที่ใช้เชื่อมฐานกับข้ออ้าง ข้อสนับสนุนเป็นหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ข้ออ้างและสนับสนุนข้อรับรอง คำจำกัดใช้แสดงว่าข้ออ้างอาจจะไม่ถูกต้องเสมอ (เช่นคำว่า บางครั้ง โดยมาก บางส่วน) โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และท้ายสุด ข้อโต้แย้งเป็นข้ออ้างที่อีกฝ่ายเสนอในการโต้แย้งนี้[16]

การอ้างก้อนหินมีแต่ฐานกับข้ออ้างโดยที่ไม่มีข้อรับรองหรือข้อสนับสนุนที่สมเหตุสมผลเพื่อสนับสนุนข้ออ้าง อนึ่ง ก็จะไม่มีคำจำกัดด้วยซึ่งเท่ากับจำกัดข้อโต้แย้งของอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะการอ้างก้อนหินไม่ได้ให้หลักฐานที่สมเหตุผล จึงหาข้อโต้แย้งได้ยาก[ต้องการอ้างอิง]

วิธีที่คล้ายกันอื่นๆ[แก้]

Reductio ad absurdum[แก้]

การอ้างก้อนหินมีโครงสร้างที่คล้ายกันกับการให้เหตุผลแบบ reductio ad absurdum (แปลว่า การลดเหลือเป็นเรื่องเหลวไหล) ซึ่งระบุว่า ข้อสมมุติของการให้เหตุผล หรือวิธีการให้เหตุผลจะก่อข้อสรุปที่เหลวไหล[17] แม้การยกก้อนหินจะไม่ได้ระบุตรงๆ ว่าข้อความดั้งเดิมเหลวไหล แต่การปฏิเสธข้ออ้างดั้งเดิมก็มักจะสมมุติว่าข้ออ้างดั้งเดิมไม่ถูกต้องหรือเหลวไหล ส่วน reductio ad absurdum จะอ้างว่า ถ้าข้ออ้างดั้งเดิมเป็นจริง ข้อสรุปเหลวไหลบางอย่างอื่นก็จะเป็นจริงด้วย[18]

การทวนคำถาม[แก้]

การทวนคำถาม (begging the question, petitio principii) เป็นข้อสรุปที่อาศัยข้อสมมุติที่ต้องได้ข้อพิสูจน์หรือการอธิบายเพิ่มขึ้น[19] การทวนคำถามอาจเรียกได้ว่าเป็นการ "ไม่สนใจคำถามเพราะสมมุติว่ามันมีคำตอบแล้ว" การให้เหตุผลโดยโดยทวนคำถามมักจะสร้างคำถามเพิ่มขึ้น[20]

Ad nauseam[แก้]

คำละตินว่า ad nauseam หมายถึงการกล่าวอะไรซ้ำๆ จนน่าเบื่อหน่าย เป็นเหตุผลวิบัติที่ใช้ในการโต้เถียงโดยกล่าวความเห็นในเรื่องหนึ่งๆ อย่างซ้ำๆ เกินความจำเป็น เพราะการยกก้อนหินไม่มีหลักฐานเพื่อปฏิเสธข้ออ้าง จึงอาจถูกใช้ในรูปแบบ ad nauseam เพราะถ้าไม่สามารถยุติการโต้เถียงได้ ก็จะทำให้ทั้งสองฝ่ายโต้เถียงกันจนกระทั่งเบื่อหน่ายโดยไม่ได้ข้อสรุปที่สมควร[21]

ปฏิเสธนิยม[แก้]

ปฏิเสธนิยม (denialism) ก็คือการปฏิเสธความจริงแม้เมื่อมีหลักฐานที่หนักแน่น[22] โดยผู้ใช้น่าจะมีแรงจูงใจที่ซ่อนอยู่เช่น ประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อเลี่ยงความจริงที่ทำให้ไม่สบายใจ วิธีการโต้แย้งการปฏิเสธเช่นนี้ก็คือ การจำแนกรากฐานความเชื่อแล้วแสดงหลักฐานที่พิสูจน์ความเท็จของความเชื่อแต่ละอย่าง

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. "Subjective idealism | philosophy". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-07. สืบค้นเมื่อ 2020-11-03.
  2. Patey, Douglas Lane (January 1986). "Johnson's Refutation of Berkeley: Kicking the Stone Again". Journal of the History of Ideas. 47 (1): 139–145. doi:10.2307/2709600. JSTOR 2709600. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-10. สืบค้นเมื่อ 2020-11-03.
  3. Hallett, H. F. (1947). "Dr. Johnson's Refutation of Bishop Berkeley". Mind. 56 (222): 132–147. doi:10.1093/mind/LVI.222.132. ISSN 0026-4423. JSTOR 2250515. PMID 20243642. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-08-29. สืบค้นเมื่อ 2020-11-03.
  4. Audi, Robert, บ.ก. (2015). The Cambridge Dictionary of Philosophy (3 ed.). New York: Cambridge University Press. doi:10.1017/cbo9781139057509. ISBN 978-1-139-05750-9.[ลิงก์เสีย]
  5. McNair, G. H.; Davies, Arthur Ernest (1917-02-15). "A Text-book on Logic". The Journal of Philosophy, Psychology and Scientific Methods. 14 (4): 109. doi:10.2307/2012956. ISSN 0160-9335. JSTOR 2012956. S2CID 60139391. สืบค้นเมื่อ 2020-11-19.
  6. Feeney, Aidan; Heit, Evan, บ.ก. (2001-01-01). Inductive Reasoning. doi:10.1017/cbo9780511619304. ISBN 9780521856485. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-07. สืบค้นเมื่อ 2020-11-19.
  7. "Deductive and Inductive Arguments | Internet Encyclopedia of Philosophy" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-28. สืบค้นเมื่อ 2020-11-19.
  8. Eemeren, Frans Hendrik; Grootendorst, Robert (2004). A Systematic Theory of Argumentation. New York: Cambridge University Press. ISBN 978-0-511-18430-7. OCLC 69139196.
  9. Cargile, James (January 1997). "On the burden of proof". Philosophy. Cambridge University Press. 72 (279): 59–83. doi:10.1017/s0031819100056655. JSTOR 3751305. S2CID 170772287.
  10. Hannibal, Martin; Mountford, Lisa (September 2017). "15. The Burden of Proof". Law Trove. doi:10.1093/he/9780198787679.003.0015.
  11. HOW TO WIN AN ARGUMENT, Princeton University Press, 2017-10-31, pp. 1–134, doi:10.2307/j.ctvc77chr.5, ISBN 978-1-4008-8335-6, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-07, สืบค้นเมื่อ 2020-11-19
  12. "Definition of AD HOMINEM". www.merriam-webster.com (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-04. สืบค้นเมื่อ 2020-11-19.
  13. "Definition of STRAW MAN". www.merriam-webster.com (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-25. สืบค้นเมื่อ 2020-11-19.
  14. Arvai, Joseph (November 2013). "Thinking, fast and slow, Daniel Kahneman, Farrar, Straus & Giroux". Journal of Risk Research. 16 (10): 1322–1324. doi:10.1080/13669877.2013.766389. ISSN 1366-9877. S2CID 144799829. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-07. สืบค้นเมื่อ 2020-11-03.
  15. Risen, Jane; Gilovich, Thomas (2006), Sternberg, Robert J.; Roediger III, Henry L.; Halpern, Diane F. (บ.ก.), "Informal Logical Fallacies", Critical Thinking in Psychology, Cambridge: Cambridge University Press, pp. 110–130, doi:10.1017/cbo9780511804632.008, ISBN 978-0-511-80463-2, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-07, สืบค้นเมื่อ 2020-11-03
  16. Lab, Purdue Writing. "Toulmin Argument". Purdue Writing Lab (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-20. สืบค้นเมื่อ 2020-11-19.
  17. Odintsov, S. P. (2003-11-23). ""Reductio ad absurdum" and Łukasiewicz's modalities". Logic and Logical Philosophy. 11. doi:10.12775/llp.2003.008. ISSN 1425-3305.
  18. Rescher, Nicholas (2017). "Reductio ad absurdum". Historisches Wörterbuch der Philosophie online. doi:10.24894/hwph.3487. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-07. สืบค้นเมื่อ 2020-11-19.
  19. Garner, Bryan A. (2016). "Garner's Modern English Usage". Oxford Reference. doi:10.1093/acref/9780190491482.001.0001. ISBN 978-0-19-049148-2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-07. สืบค้นเมื่อ 2020-11-19.
  20. Griffith, Bryant (2016), "What Does it Mean to Question?", NextGeners, Rotterdam: SensePublishers, pp. 53–83, doi:10.1007/978-94-6300-642-2_3, ISBN 978-94-6300-642-2, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-07, สืบค้นเมื่อ 2020-11-19
  21. "AD NAUSEAM | meaning in the Cambridge English Dictionary". dictionary.cambridge.org (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-02. สืบค้นเมื่อ 2020-11-20.
  22. "Definition of DENIALISM". www.merriam-webster.com (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-28. สืบค้นเมื่อ 2020-11-20.