หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล สุขสวัสดิ์
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล สุขสวัสดิ์ | |
---|---|
หม่อมเจ้าชั้น 4 | |
สวามี | หม่อมเจ้าประสพสุข ศุขสวัสดิ |
พระบุตร | 6 คน |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ |
พระมารดา | หม่อมแสง ดิศกุล ณ อยุธยา |
ประสูติ | 24 ธันวาคม พ.ศ. 2460 |
สิ้นชีพตักษัย | 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561 (100 ปี) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร |
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล ศุขสวัสดิ (ราชสกุลเดิม ดิศกุล; 24 ธันวาคม พ.ศ. 2460 – 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติแต่หม่อมแสง ดิศกุล ณ อยุธยา[1]
พระประวัติ[แก้]
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล มีพระนามลำลองว่า “ท่านหญิงเพียน” เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติแต่หม่อมแสง ดิศกุล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ศตะรัต) มีโสทรภราดาและโสทรภคินี 5 องค์ ได้แก่[2] หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล, พรพิลาศ บุนนาค, หม่อมเจ้าพวงมาศผกา ดิศกุล, หม่อมเจ้าศุกรวรรณดิศ ดิศกุล และเราหิณาวดี กำภู[3]
ทรงสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนราชินี แล้วทรงศึกษาต่อโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงทรงสอนหนังสือที่โรงเรียนศึกษาวิทยา ถนนสีลม[4]
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลเสกสมรสกับหม่อมเจ้าประสพสุข ศุขสวัสดิ (พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ประสูติแต่หม่อมเจริญ) มีโอรส-ธิดา 6 คน ได้แก่
- หม่อมราชวงศ์พิมลพักตร์ ศุขสวัสดิ (เกิด 6 กันยายน พ.ศ. 2483)
- หม่อมราชวงศ์จำเริญลักษณ์ โสฬสจินดา (เกิด 11 กันยายน พ.ศ. 2484)
- พลอากาศโท หม่อมราชวงศ์ประเสริฐศักดิ์ ศุขสวัสดิ (เกิด 15 มกราคม พ.ศ. 2486)
- หม่อมราชวงศ์ดำรงเดช ศุขสวัสดิ (เกิด 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2489)
- หม่อมราชวงศ์วิไลกัญญา วิชัยดิษฐ์ (เกิด 15 มกราคม พ.ศ. 2492)
- หม่อมราชวงศ์อุษณิษา ศุขสวัสดิ (เกิด 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2498)
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลมีศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก เคยบวชชีและสร้างกุฏิด้วยองค์เอง ณ วัดเขาพุทธโคดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยดำรงตนอย่างสมถะเป็นเวลาหลายปี[4]
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลเป็นเจ้านายที่ได้เกศากันต์และมีชนม์ชีพอยู่เป็นองค์สุดท้ายก่อนสิ้นชีพตักษัยด้วยพระอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ[4] เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 13.55 น. ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิริชันษา 100 ปี ศพตั้งสวดที่วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร จนถึงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561[5] นับเป็นหม่อมเจ้าองค์สุดท้ายของราชสกุลดิศกุลและสุขสวัสดิ์ ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองทึบ พร้อมฉัตรเบญจา 4 คันประกอบเกียรติยศ ภายหลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนชั้นหีบทองทึบเป็นโกศแปดเหลี่ยม และในวันที่ 10 ตุลาคมปีเดียวกัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในการพระราชทานเพลิงศพ[4]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ หม่อมเจ้าหญิง จงจิตรถนอม ดิศกุล. จดหมายถึงหญิงใหญ่ (ฉบับชำระใหม่). กรุงเทพ : สถาพรบุ๊คส์, 2551. ISBN 978-974-16-6535-8
- ↑ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา. กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, พ.ศ. 2547. หน้า หน้าที่. ISBN 974-272-911-5
- ↑ ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้". ช่อง 7 HD. 10 ตุลาคม 2561. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-07. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "บุคคลในข่าว (หน้า 4)". ไทยรัฐออนไลน์. 5 ตุลาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)